พระผู้มีพระภาคทรงให้ฟังแต่พุทธวจนเท่านั้น ใช่หรือไม่

 
apiwit
วันที่  23 ก.พ. 2559
หมายเลข  27485
อ่าน  1,777

กระผมเคยได้ยินบทพุทธวจนมา และจะนำมากล่าวตามที่จำได้จากการฟัง คือ มีบทพุทธวจนะว่า สุตตันตะเหล่าใดที่เป็นสาวกภาษิต เป็นคำแต่งใหม่ มีภาษาประณีตงดงาม เธอจะไม่ฟังด้วยดี จะไม่เงี่ยหูฟัง และ จะไม่ตั้งจิตที่จะรู้ทั่วถึง ส่วน สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตที่จะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

จากบทพระวจนนี้ แสดงให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคทรงให้ฟังแต่คำตถาคตเท่านั้น โดยไม่ให้ฟังคำของสาวกใช่หรือไม่ครับ.

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตั้งใจฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบและตั้งจิตไว้ชอบในการศึกษา ว่า ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้จากการที่พระอริยสาวกทั้งหลายเห็นประโยชน์ของพระธรรมช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยให้คงอยู่อันจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาอย่างแท้จริง นั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด กล่าวได้ว่า พระไตรปิฎกและอรรถกถา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งหมด สำคัญอยู่ที่ว่าผู้นั้นจะศึกษาโดยละเอียดหรือไม่ หรือว่า จะปฏิเสธในทันทีทันใด เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งสะสมมาแตกต่างกัน หลักแห่งการติดสินว่าเป็นพระธรรมวินัยเป็นคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ว่า ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว พึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของศาสดา

ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาจริงๆ การที่จะปฏิเสธอรรถกถถา ย่อมเป็นการไม่สมควรเพราะอรรถกถาส่วนหนึ่งมาจากปกิณณกเทศนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และส่วนหนึ่งก็มาจากพระอรหันต์สาวกมีท่านพระสารีบุตรเป็นต้นท่านอธิบายไว้ เป็นการอธิบายพระบาลีคือพระพุทธพจน์ให้เข้าใจยิ่งขึ้น อันเป็นการอธิบายของพระอริยสาวกผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ควรค่าแก่การศึกษาพิจารณาไตร่ตรองเป็นอย่างยิ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นได้ศึกษาโดยละเอียดหรือยัง?

สำหรับพระสูตรที่ปรากฏในคำถามนั้น (อาณีสูตร) ในอรรถกถา ก็ได้ขยายความไว้ว่าสาวกภาษิต ในพระสูตร นี้ เป็นการกล่าวข้อความที่ไม่ใช่พระธรรมวินัย เป็นข้อความที่มีในลัทธิภายนอก ไม่ได้หมายถึงคำกล่าวของพระอริยสาวกซึ่งเป็นคำกล่าวที่กล่าวคล้อยตามพระพุทธพจน์ เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ไปสนใจในถ้อยคำหรือข้อความที่ผู้ไม่เข้าใจพระธรรรมได้กล่าวไว้ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย ซึ่งไม่ใช่คำสอนในทางพระพุทธศาสนา ก็ย่อมเป็นเหตุให้พระธรรมอันตรธาน

ดังข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ว่า

"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดและกล่าวในสมัยใด ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ ไม่ควรเล่าเรียน ไม่ควรศึกษา ไม่ควรเงี่ยโสตลงสดับ ก็จะเป็นเหตุให้พระธรรมอันตรธาน แต่ว่า ถ้าผู้ใดกล่าวพระสูตรที่นักปราชญ์รจนาไว้ เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิต คือ เป็นความเข้าใจของสาวก โดยที่ไม่มีในพระธรรมวินัย และก็ผู้นั้นก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรเล่าเรียน ควรศึกษา ควรเงี่ยโสตลงสดับ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้พระธรรมวินัยอันตรธาน"

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของการละตั้งแต่ต้น ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหนสอนเพื่อที่จะให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ สอนให้ติดข้อง นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงคำสอนใดที่สอนให้กระทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ หลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ต้องเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และขัดเกลาละคลายกิเลสเท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเิติมได้ที่นี่ครับ

ที่มาของอรรถกถา

ศาสนาเสื่อมเพราะสนใจในแนวคิดทางโลกมากกว่าพุทธพจน์ [อาณีตสูตร]

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
apiwit
วันที่ 26 ก.พ. 2559

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ