สิกขาบท หรือ ข้อห้ามมิให้ภิกษุครอบครองทรัพย์สิน เงินทอง
สืบเนื่องจากกระทู้ การครอบครองทรัพย์สินของภิกษุ ผิดศีลหรือไม่
ขอท่านวิทยากรกรุณายกสิกขาบท หรือข้อบัญญัติ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุครอบครองทรัพย์สิน และเงินทอง มาแสดง เพื่อความชัดเจน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชีวิตพระภิกษุ เป็นชีวิตที่ขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง เงินทองไม่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ พระภิกษุผู้ที่ไม่ละอาย ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรมวินัย ก็มีการล่วงสิกขาบทต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ การรับเงินรับทอง การรับเงิน รับทอง เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ การที่จะแสดงอาบัติข้อนี้ ให้ตนเองเป็นผู้พ้นจากอาบัติได้ ต้องมีการสละให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อน แล้วจึงจะแสดงอาบัติตก แต่ถ้าไม่ทำการสละเลย แล้วแสดงอาบัติ ก็ไม่พ้นจากอาบัติเป็นผู้มีอาบัติติดตัวเป็นอันตรายมากในเพศบรรพชิต เพศบรรพชิตต้องเคารพพระธรรมวินัย ถ้าต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องบวช เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช ก็เพื่อขัดเกลากิเลส เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ครับ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกล่าวถึง ครอบครอง ทรัพย์สิน เพียงยินดีในเงินและทอง ทรัพย์สมบัติก็ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แล้ว ดั่ง สิกขาบทที่ว่า
[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 938
โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
ฯลฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูก่อนอุปนันทะ ข่าวว่าเธอรับรูปิยะจริงหรือ ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๓๗. ๘ อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ส่วนพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ทรัพย์สมบัติ เงินและทอง ไม่สมควรกับพระภิกษุ ดังพระสูตรที่ว่า
[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ 212
๑๐. มณิจูฬกสูตร
ฯลฯ
[๖๒๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละ นายคามณี เมื่อท่านพยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกไรๆ คล้อยตามวาทะ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนพึงติเตียนได้ เพราะว่าทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน
ดูก่อนนายคามณีทองและเงินควรแก่ผู้ใด เบญจกามคุณก็ควรแก่ผู้นั้น เบญจกามคุณควรแก่ผู้ใด ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น ดูก่อนนายคามณีท่านพึงทรงจำความที่ควรแก่เบญจกามคุณนั้นโดยส่วนเดียวว่า ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร อนึ่งเล่า เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดีพึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนบวชแล้ว ดังนั้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความจาก
[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ มณิจูฬกสูตร ว่า
“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตร ห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ... เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”
พระภิกษุ คือ เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้เว้นโดยทั่ว ได้แก่ เว้นจากกิเลส เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจในกาม จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ บวชเป็นบรรพชิตเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ ท่านสละอาคารบ้านเรือนแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีเรือน รวมถึงสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงด้วยไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น เมื่อสละสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรรับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง
ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่? เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่งที่สูงกว่านั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต จะต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามโดยประการทั้งปวง นี้คือชีวิตที่แท้จริงของบรรพชิต ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตใดมีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ยังมีจิตใจเหมือนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนทุกประการ นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริงถ้าต้องการทรัพย์สินเงินทอง อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ก็ไม่ต้องบวช เพราะผู้ที่เป็นพระภิกษุจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ จึงควรแก่การครองผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...