ถ้าไม่บัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ศาสนาจะเสื่อม หรือไม่

 
chatchai.k
วันที่  5 มี.ค. 2559
หมายเลข  27525
อ่าน  1,257

ขณะนี้มีบางท่านต้องการให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ศาสนาจะเสื่อมจากประเทศไทยหรือไม่ ถ้าไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ท่านวิทยากรและท่านทั้งหลายมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

มีพระพุทธพจน์เกี่ยวกับความเสื่อมของศาสนาในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น

ศาสนาเสื่อมเพราะสนใจในแนวคิดทางโลกมากกว่าพุทธพจน์ [อาณีตสูตร]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 มี.ค. 2559

พระพุทธศาสนา ได้แก่ พระธรรมคำสอน ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธบริษัท จะรักษา และปกป้องพระพุทธศาสนา ต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระองค์ทรงสอนให้สาวกรู้อะไร เมื่อศึกษาเข้าใจควรน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน จึงชื่อว่าช่วยกันรักษามิให้เสื่อมสูญ และปกป้องมิให้ใครมาบิดเบือนคำสอนว่าเป็นอย่างอื่น เป็นเหมือนสัทธรรมปฏิรูป พระพุทธองค์ทรงแสดง เหตุแห่งการเสื่อมสูญของพระศาสนาไว้ว่า ศาสนาจะเสื่อมสูญเพราะพุทธบริษัท ๔ เท่านั้น บุคคลภายนอกไม่สามารถทำลายคำสอนได้ นัยตรงกันข้ามพระศาสนาจะเจริญก็อยู่ที่พุทธบริษัทเท่านั้น คือ จะเจริญด้วยการศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม

ฉะนั้น การปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่อยู่ที่เราศึกษาและเข้าใจคำสอนย่อมอยู่ที่ใจของเรา ผู้อื่นไม่สามารถทำลายได้ จึงไม่เกี่ยวข้องเลยกับการจะต้องบัญญัติพระพุทะศาสนาเป็นพระพุทธศาสนาประจำชาติ หากพุทธบริษัทไม่มีความเข้าใจพระธรรม พระพุทธศาสนาก็อันตรธานไป

พระธรรมอันตรธานไปจากใจของผู้ที่ไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ยุคนี้สมัยนี้ยังเป็นกาละที่พระธรรมยังดำรงอยู่ ผู้ที่เข้าใจธรรมและแสดงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีอยู่ แต่ถึงอย่างไรนั้น ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาและมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ก็มีเป็นส่วนน้อย แม้ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนา ผู้ที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษา ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็มีมากทีเดียว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม ผู้ที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่สะสมศรัทธา สะสมการได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้วในอดีต เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจในสิ่งที่มีจริง จึงทำให้ได้ฟัง ได้ศึกษาสะสมปัญญาต่อไป

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 446

๑. กิมพิลสูตร

ว่าด้วยเหตุปัจจัยทำให้ศาสนาเสื่อม

[๒๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันใกล้เมืองกิมิลา ครั้งนั้น ท่านพระกิมพิละ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกาในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้ไม่มีความเคารพไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน ดูก่อนกิมพิละนี้ แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพาน

ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร

ว่าด้วยเหตุเสื่อมและเหตุเจริญแห่งศาสนา

[๑๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑ เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑ ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑ ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

จบ ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๔

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียด รอบคอบ จริงใจ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ใครก็ตามที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีการฟัง การศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา ย่อมไม่หายไปจากใจของผู้นั้น ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม

ที่สำคัญ พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่หนึ่งที่ใด แม้จะมีการเรียกร้องอย่างไร แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เห็นประโยชน์ของคำสอนของพระองค์ ยังมีความเห็นผิด เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่พระองค์ทรงแสดง แล้ว ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงที่เกิดจากการทรงตรัสรู้ของพระองค์ ที่ยากแสนยากกว่าจะได้ตรัสรู้ความจริงแล้วทรงแสดงความจริงนี้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้อง

เพราะฉะนั้นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นคุณค่าของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แทนที่จะไปคิดถึงเรื่องอื่น ก็ควรกลับมาที่การตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ นี้แหละคือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็เป็นการช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจของแต่ละคน ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ



...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 6 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 7 มี.ค. 2559

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 14 มี.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Tommy9
วันที่ 19 มี.ค. 2559

ประโยชน์อยู่ที่ชาวพุทธสนใจการศึกษาธรรม หากบัญญัติพุทธศาสนาไว้แต่ชาวพุทธไม่ศึกษาธรรม ก็ไม่มีประโยชน์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ