ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๕

 
khampan.a
วันที่  1 พ.ค. 2559
หมายเลข  27739
อ่าน  1,861

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๕

~ ท่านผู้ใดมีความตระหนี่เกิดขึ้น สติระลึกได้ ยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ละคือความตระหนี่ เพราะฉะนั้นความตระหนี่ก็มีปัจจัยเกิดขึ้นได้ ท่านผู้ใดกำลังริษยา คนอื่นไม่รู้เลย สติระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมตน ก็คือผู้ที่เจริญสติระลึกว่าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ขัดเกลา การละคลายกิเลสจึงจะดับหมดสิ้นได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เป็นลำดับ แต่ไม่ใช่ว่าให้ท่านไปบังคับไว้ ตลอดเวลานั้นไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ให้เกิดริษยา ไม่ให้เกิดตระหนี่ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว ท่านจะไม่รู้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย


~
บางครั้งการที่จะกล่าวธรรมที่ถูกต้อง ให้ผู้อื่นได้ฟังได้พิจารณานั้น ไม่เป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้กล่าว แต่ว่าเป็นเรื่องขัดใจของผู้ฟัง ถึงคนอื่นจะขัดใจ แต่ถ้าท่านจะสามารถที่จะให้เขาออกจากอกุศล และดำรงอยู่ในกุศลได้ ก็ควรที่จะคิดว่า ความขัดใจของบุคคลนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องที่จะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลนั้น เป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะฉะนั้น ก็ควรจะพูด

~
การศึกษาพระไตรปิฎก เป็นสิ่งที่มีประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธบริษัท

~
อุบาสก อุบาสิกา ความหมายคือผู้นั่งใกล้พระธรรม ผู้นั่งใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย

~ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่คุ้นเคยก็ทำให้คิดถึงสิ่งนั้นเพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมขึ้น หนทางเดียว คือ ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่อยๆ

~
วาจาที่จะเป็นโทษให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเสียใจขณะนั้นก็เป็นเพราะโทสะ เคยคิดไหมที่จะสงบจากอกุศลประเภทนั้น?

~
ใครมีกิเลสมาก?คนโน้น คนนี้ หรือจิตทุกจิตที่เกิดมาแสนนานด้วยความไม่รู้ด้วยความติดข้อง เหมือนแผล เชื้อโรคเรื้อรัง เน่า เหม็นพระธรรม เท่านั้นที่จะเป็นยารักษาจิตจากความไม่รู้จึงจะค่อยๆ ละโรค (กิเลสที่เสียดแทงจิต) ทุกชนิดทั้งโรคโลภะ โรคโทสะ โรคมานะ (ความสำคัญตน) โรคริษยา สารพัดโรคซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

~
เวลาที่กุศลจิตจะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา (อบรมเจริญปัญญา) ก็ตาม ก็จะต้องเพราะมีความไม่ประมาท ประชุมลงในความไม่ประมาท มีความไม่ประมาทเป็นมูล กายทุจริตย่อมเกิดขึ้นได้ในขณะที่ประมาท สติไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมะนั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร วจีทุจริตเกิดได้ในขณะที่ประมาท สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะว่าวาจาเช่นนั้นควรหรือไม่ควร



~
การให้ธรรม ให้ความเข้าใจในธรรมนั้น (ธรรมทาน) ก็เป็นเหตุที่จะให้บุคคลนั้นเจริญกุศล เจริญสติ เจริญปัญญายิ่งๆ ขึ้น

~
การที่ท่านจะมีจิตศรัทธา เลื่อมใสทะนุบำรุงพระศาสนา ขอให้ตรงกับเหตุผลด้วย อย่าให้เป็นการให้โดยที่ท่านคิดว่าท่านจะส่งเสริมสนับสนุนบำรุงสำนักหนึ่งสำนักใด แต่ขอให้ท่านเป็นผู้ที่ทะนุบำรุงส่งเสริมพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นเรื่องของการเข้าใจธรรมะ เป็นสิ่งที่จะเกื้อกูลให้ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ ได้ทะนุบำรุงพระธรรมวินัยจริงๆ แต่ถ้าท่านประมาทไม่พิจารณาธรรมะโดยความรอบคอบ ไม่เข้าใจถูกต้องในข้อปฏิบัติ และท่านคิดว่าท่านจะทะนุบำรุงพระ ธรรมวินัย แต่ท่านไม่ได้ทะนุบำรุงพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าท่านไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นธรรมวินัย อะไรไม่ใช่ธรรมวินัย

~
จากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นพระอริยบุคคล ด้วยอะไร? ด้วยอวิชชา หรือด้วยปัญญา จากการที่จะเปลี่ยนสภาพจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคลนั้น เพราะความไม่รู้โน่นไม่รู้นี่ หรือว่าเพราะความรู้ทั่วจึงได้ละการยึดถือนามและรูปว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตน?

~ เวลานี้ท่านที่ยังไหวหวั่นไปเพราะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ก็ยังอยู่ในเขตแดนของกิเลส ยังไม่พ้นไปจากเขตแดนของกิเลสได้


~ หนทางเดียวที่จะแก้ทุกอย่างที่เลวร้ายได้ ก็คือ ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะเห็นชั่วเป็นดี แล้วประพฤติชั่ว แล้วคิดว่าไม่มีผล แต่ความจริง ทั้งหมดเป็นธรรม ธรรมที่เป็นเหตุเกิดแล้วต้องเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมที่เป็นผลของเหตุนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดมากที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความละเอียดของธรรมที่เป็นเหตุคือ กรรม และ ธรรมที่เป็นผล คือ วิบาก


~
ปัญญา เห็นความถูกต้อง ดีเป็นดี ชั่วเป็นชั่ว เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ปัญญานั้นเองก็จะรู้ว่าควรจะอบรมเจริญสิ่งใดให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาแล้วความดีทั้งหลายก็เจริญขึ้น ความไม่ดีทั้งหลายก็ลดน้อยลงจนไม่เหลือได้ถึงความเป็นพระอรหันต์

~
สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรม อย่าเพียงคิดว่า จะปฏิบัติหรือว่าชักชวนกันไปปฏิบัติ แต่ว่าควรที่จะพิจารณาว่า เคยกลัวบ้างไหมว่าจะปฏิบัติผิดบ้างหรือเปล่า? เพราะเหตุว่ามักจะสนใจที่จะไปปฏิบัติ หรือชักชวนกันไปปฏิบัติ แต่ว่าอาจจะไม่เคยกลัวว่าจะปฏิบัติผิด ซึ่งตามความจริงแล้ว การปฏิบัติต้องมีที่ผิดและที่ถูก เพราะเหตุว่าความเห็นมี ๒ ประการ คือ ความเห็นผิดก็มี ความเห็นถูกก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าความเห็นยังไม่ถูก การปฏิบัติก็ถูกไม่ได้


~ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานผู้ที่มีโอกาสไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและได้ฟังพระธรรม แล้วก็เกิดความเข้าใจและความเลื่อมใสแล้ว ก็เปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) การกล่าววาจาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็คือ จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป


~ สำหรับวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า กุศลจิตที่เกิดขึ้นกระทำกุศลกรรมต่างๆ เป็นไปตามฉันทะของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา ซึ่งบางท่านก็อาจจะช่วยเหลือบุคคลอื่น หรือว่าบางท่านก็อาจจะให้ทานวัตถุสิ่งของเป็นประโยชน์แก่คนอื่น กุศลธรรมเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามฉันทะทั้งในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของการไตร่ตรองเหตุผลในธรรม ซึ่งพระธรรมนี้จะต้องไตร่ตรองให้ได้เหตุผลจริงๆ มิฉะนั้นก็อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้


~ กุศลธรรมย่อมเป็นที่สรรเสริญชมเชย ไม่ว่าในขณะที่กำลังกระทำซึ่งมีผู้เห็น หรือแม้แต่ในกาลภายหน้า คือ ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงไป จะ ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ๒,๕๐๐ กว่าปี กุศลธรรมหรือธรรมฝ่ายดีก็เป็นธรรมฝ่ายดี ธรรมใดเป็นธรรมที่ประเสริฐ ธรรมนั้นก็เป็นธรรมที่ประเสริฐ



~ ทุกคนย่อมนอบน้อมในคุณธรรม สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคุณธรรม ไม่ว่าคุณธรรมนั้นจะมีอยู่ในผู้ใด และเมื่อนอบน้อมในผู้ใด ก็แสดงว่านอบน้อมในคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้น ไม่ใช่นอบน้อมในอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้น

~ ไม่มีใครช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นวรรณะใด ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว เมื่ออกุศลกรรมนั้นให้ผล ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ

~ บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลยว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการประทุษร้ายตนเอง ซึ่งบุคคลอื่นไม่ได้กระทำ นอกจากกิเลสของตนเองเป็นผู้กระทำ

~ เมื่อจิตผ่องใสเป็นกุศล การกระทำทางกายก็เป็นสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์

~ ขณะที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นปัญญารักษาจิต

~ ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรม ไม่ใช่เรา

~ สิ่งที่ประเสริฐสำหรับการได้เกิดมา คือ ได้เข้าใจธรรม

~ สภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ลึกซึ้ง ที่ลึกซึ้งก็เพราะไม่ใช่เรา เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน

~ ถ้าพระภิกษุท่านทำอะไรเหมือนอย่างคฤหัสถ์ได้ ทำไมบวช?

~ ตายดี คือ กุศลจิตเกิดก่อนตาย.

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๔

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 1 พ.ค. 2559

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรทุกๆ ท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 1 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Boonyavee
วันที่ 1 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 1 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
rrebs10576
วันที่ 1 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 พ.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 2 พ.ค. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pulit
วันที่ 2 พ.ค. 2559

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
bsomsuda
วันที่ 2 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 3 พ.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Noparat
วันที่ 3 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
jaturong
วันที่ 3 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Sottipa
วันที่ 6 พ.ค. 2559

กราบเท้าท่านอาจารย์ อนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ