ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๒

 
khampan.a
วันที่  19 มิ.ย. 2559
หมายเลข  27895
อ่าน  4,051

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๒

~ เมื่อได้ประจักษ์ในสภาพความจริงของกุศล และ อกุศลแล้ว ผู้ที่เข้าใจจริงก็ย่อมเจริญกุศลยิ่งขึ้น แล้วก็ละอกุศลให้น้อยลง

~ เรื่องของศีลทั้งหมด (กุศลศีล) เป็นเรื่องของทานการให้ที่ยิ่งใหญ่กว่าการให้วัตถุ เป็นมหาทานทีเดียว เพราะเหตุว่า ถ้าท่านไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นให้เดือดร้อนด้วยเจตนาที่จะฆ่า หรือเจตนาที่จะถือเอาโภคสมบัติของบุคคลนั้น หรือกระทำทุจริตประการอื่น ก็เท่ากับเป็นการให้สิ่งที่มีประโยชน์แก่บุคคลนั้น คือ ท่านไม่ได้ให้การเบียดเบียนบุคคลนั้นให้เดือดร้อน

~ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ และทรงแสดงเป็นขณะ และเป็นสมัยที่ยากที่จะมีได้ ถ้าบุคคลหนึ่ง บุคคลใดเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นสัตว์ดิรัจฉานในอบายภูมิที่ไม่สามารถที่จะฟังเข้าใจในอรรถ ในธรรม ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา ให้รู้ชัดในสภาพธรรมความเป็นจริงได้ ขณะนั้นก็เป็นที่น่าเสียดาย

~ การเข้าไปหา (บุคคลผู้มีปัญญา) ในที่นี้หมายความถึง การฟังธรรม ไม่ใช่เข้าไปหาเฉยๆ แต่หมายความว่า เพื่อฟังธรรม เพื่อสนทนาธรรม เพื่อเสพธรรมที่ได้ยิน ได้ฟังนั้น เพราะเหตุว่า ถ้าฟังเพียงครั้งเดียว ลืมไปแล้วบ้าง หรือว่า มีเรื่องอื่นเป็นที่สนใจ ทำให้ไม่ระลึกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ้าง แต่การที่จะให้มีความเข้าใจละเอียดชัดเจนนั้น ก็ต้องอาศัยการเสพให้คุ้น คือ ฟังบ่อยๆ ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่า ท่านจะเป็นผู้ที่มีศรัทธาแล้ว ก็ไม่ควรจะขาดการเข้าไปหา ซึ่งหมายความถึงการเสพคุ้น การฟังบ่อยๆ นั่นเอง

~ ปัญหาสังคมเหล่านั้น ตั้งแต่ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) อทินนาทาน (ลักทรัพย์) จนถึงกาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) นั้น มาจากการสะสมกิเลสที่ไม่ได้ขัดเกลา แต่ว่าถ้าบุคคลใดเห็นโทษแล้วก็ละเว้น ขัดเกลา ก็ย่อมจะไม่เดือดร้อน

~ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะละคลายกิเลสเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปจริงๆ แม้แต่ในขั้นของความเข้าใจ ถ้าจะตามฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากตอนต้นนี้มาก แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่มีกำหนดรู้ได้ว่า เพิ่มขึ้นมากในตอนไหน แต่จะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปเรื่อยๆ

~ ถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น ย่อมเห็นว่าสิ่งใดเหมาะ สิ่งใดควร และข้อปฏิบัติใดจะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะเป็นหนทางที่ยาว แต่เริ่มต้นหรือตั้งต้นและดำเนินไปเรื่อยๆ ในหนทางที่ถูก ก็ดีกว่าไปติดอยู่ในหนทางที่ผิด ซึ่งไม่มีโอกาสจะทิ้งและหันมาสู่หนทางที่ถูกได้

~ ถ้ามีคนชั่วหรือคนที่เห็นผิดเป็นมิตร ย่อมคล้อยตามความเห็นนั้นๆ ได้ เพราะถ้ามีเพื่อนที่เห็นผิด ก็จะชักชวนให้ฟังในเรื่องที่ผิด แล้วก็ชักชวนไปสู่สถานที่ซึ่งมีการเห็นผิด การปฏิบัติผิด บางท่านแล้วแต่เพื่อนฝูงจะไป แม้แต่ในที่ที่มีความเห็นผิด เหมือนกับเป็นผู้ที่ติดในหมู่คณะและในสำนัก อย่าลืมว่า ถ้าเกิดเพลี่ยงพล้ำ ไม่พิจารณาธรรมโดยรอบคอบ อาจจะค่อยๆ คล้อยตามความเห็นนั้นไปทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่รู้สึกตัว

~ คำว่า “ธรรมกาย” เป็นอีกชื่อหนึ่งของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะ คำว่า “กาย” เป็นที่ประชุม หรือที่รวม เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่เราได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษา ย่อมมาจากธรรมกาย คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการตรัสรู้ และด้วยการทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียด ถ้าเข้าใจในความหมายอื่นก็ไม่ถูก เพราะธรรมกายเป็นอีกชื่อหนึ่งของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะ “กาย” หมายถึงที่ประชุม หรือที่รวมของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้

~ ยังมีจิตใจโอนเอียง ที่จะขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าว แม้เพียงเล็กน้อย นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ ได้ทีละเล็กทีละน้อย นี่เป็นการเกิดขึ้นและเป็นการเจริญเติบโตของความเห็นผิด


~ การที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ว่า ธรรมใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ก็จะไม่พ้นไปจากความเห็นผิด หรือมงคลตื่นข่าว ซึ่งถ้ามีความสนใจนิดหนึ่ง ก็จะพาไปสู่ความสนใจ และความขวนขวายยิ่งขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็จะไม่แสวงหาพระธรรมที่แท้จริง และจะไม่พิจารณาเหตุผลโดยละเอียด

~ แต่ละคนก็สะสมมาที่จะมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นปรมัตถธรรม เป็นอกุศลเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะเกิด ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดด้วยประการต่างๆ แต่ว่าคนที่สะสมมาที่จะเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิด ก็ย่อมจะต้องเข้าใจผิด เห็นผิด และปฏิบัติผิด ตามการสะสมของบุคคลนั้นๆ

~ กุศลพร้อมที่จะเกิดจริงๆ ด้วยประการหนึ่งประการใด เมตตาก็เกิดได้แทนที่จะไม่อดทน ทางวาจาก็ยังสามารถที่จะเกื้อกูลในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในสิ่งที่เป็นเหตุผล แทนที่ขณะนั้นจะมีแต่อกุศลวิตก (ตรึกไปในทางที่เป็นอกุศล) ที่เห็นแต่ความไม่น่าพอใจของคนอื่น

~ ทุกคนก็โกรธ แต่ว่ามีใครบ้างที่จะอภัย แล้วมีใครบ้างที่จะเห็นโทษของอกุศล แม้แต่เพียงการรังเกียจในกายวาจาของบุคคลอื่น ก็เป็นอกุศลแล้ว แทนที่จะเป็นมิตร เพราะเหตุว่าถ้าเป็นมิตร ต้องเป็นไมตรี ไม่มีความรังเกียจ แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีกายวาจาที่ไม่น่าพอใจ ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าบุคคลอื่นจะแสดงกายวาจาอย่างไรก็ตาม ผู้นั้นก็ยังเห็นประโยชน์ของเมตตาบารมี

~ การที่จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือฟังพระธรรม พิจารณาให้เข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตามในเพศของคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าเพศของบรรพชิตนั้นต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่จริงๆ สามารถที่จะสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติทั้งหมด สละ คือ ไม่มีความติดข้อง ไม่ใช่ว่าเมื่อไปแล้วก็ยังติดข้องอยู่

~ เมื่อหลงลืมสติ ก็สะสมกิเลสไว้มาก การขัด การละก็ยากขึ้น แล้วก็โอกาสที่จะเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรม ที่จะไปสู่กำเนิดอื่นก็มีมาก แต่ว่าผู้ที่เห็นคุณของพระธรรม แล้วก็เห็นประโยชน์ของการเกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่ละเว้นโอกาสที่จะศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติตามพระธรรม

~ ธรรมที่ได้ฟังจากพระวินัยปิฎกก็ดี พระสุตตันตปิฎกก็ดี พระอภิธรรมปิฎก ก็ดี จะเห็นได้ถึงพระมหากรุณาคุณอย่างยิ่งของพระผู้มีพระภาค ที่ทรงเกื้อกูลพุทธบริษัททุกโอกาส แม้แต่ธรรมปลีกย่อย เล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นโอวาทที่ทรงพร่ำสอนเพื่อที่จะให้พุทธบริษัทเจริญกุศล เป็นผู้ที่ไม่ประมาททั้งสิ้น

~ กว่ากิเลสจะหมด ต้องเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ไม่ได้ปรารถนาอย่างอื่น แม้ในขณะที่เจริญกุศล ก็เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส การตั้ง ไม่ได้หมายความว่าไปตั้ง แต่หมายความว่า ไม่ได้หวังอะไร แต่ว่ามีการขัดเกลากิเลส ขณะที่โกรธ ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจ ขณะที่หลงไม่รู้ความจริง ก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิด เพียงขณะที่เจริญกุศลแล้วปรารถนาอย่างอื่น ขณะนั้นก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิดแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงขณะจิตที่เป็นอกุศล (เพราะขณะที่เป็นอกุศล ตั้งจิตไว้ผิดอยู่แล้ว)

~ ทางวาจา กิเลสก็มีกำลังที่จะทำให้กระทำวจีทุจริตได้ มุสาวาท พูดสิ่งที่ไม่จริง กุศลจิตจะทำให้ทำอย่างนี้ไหม? ไม่เลย มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องพูดสิ่งที่ไม่จริง แต่เพราะอกุศลจิตมีกำลัง จึงทำให้พูดในสิ่งที่ไม่จริง ใครรู้ว่ากำลังพูดในสิ่งที่ไม่จริง คนที่กำลังพูดทราบใช่ไหม ว่ากำลังพูดในสิ่งที่ไม่จริง ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

~ เรื่องของกิเลสมีมาก และกิเลสเกิดขึ้นทำกิจการงานของกิเลส กิเลสจะทำกิจการงานของกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น กิเลสเกิดขึ้นขณะใดก็ทำกิจของกิเลสขณะนั้น

~ ความเป็นภิกษุ ต้องหมายความถึงสภาพของจิตที่สามารถจะสละความเกี่ยวข้องในเรื่องของบ้านเรือน ในเพศของคฤหัสถ์ ไม่มีการดูโทรทัศน์หรือว่า เรื่องรื่นเริงบันเทิงต่างๆ ต้องเป็นผู้สามารถตัดความผูกพันนั้นได้จริงๆ เพราะเหตุว่าความเป็นภิกษุ ก็เป็นสภาพจิตที่สูงกว่าคฤหัสถ์

~ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจ ต้องไม่ลืม ... "เพื่อเข้าใจ"

~ ความจริง มีทุกขณะ แต่ก็หลงทุกขณะ คือ ไม่รู้ความจริง จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม

~ คุณพ่อคุณแม่ มีความสุขมาก ถ้าลูกๆ เป็นคนดี

~ เป็นคฤหัสถ์ก็ชวนกันฟังธรรม ได้ ชวนกันทำในสิ่งที่ดีได้ ไม่ใช่ชวนกันไปบวช

~ พุทธบริษัทก็มีหน้าที่ที่จะกระจายข่าวให้รู้กัน ทั่วๆ กัน มากขึ้น เพื่อจะได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าถ้าไม่มีความเข้าใจพระธรรมแล้วบวชทำไม?

~ ถ้าบวช ไม่ใช่เพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่อนุโมทนา (คือ ไม่ชื่นชมยินดีด้วย)

~ การที่จะแสดงความจริงของพระธรรมวินัยให้คนอื่นได้รับทราบ เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยเขาให้พ้นจากภัยที่เกิดจากตัวเองและภัยต่อการที่จะทำลายพระศาสนาด้วย

~ คฤหัสถ์ยุคนี้ดีใจกันใหญ่ ถวายเงินแก่พระภิกษุ สมัยโน้นภิกษุรับเงินและทอง คฤหัสถ์เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา (ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่เพศบรรพชิต) แต่สมัยนี้คฤหัสถ์ชักชวนกันมอบเงินให้แก่พระภิกษุ เป็นการรักษาพระพุทธศาสนา หรือ เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา?

~ ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง

~ สมบัติที่ประเสริฐสุดของชีวิตในสังสารวัฏฏ์ ก็คือ ขณะที่ได้เข้าใจพระธรรม

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๑

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
peem
วันที่ 19 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 19 มิ.ย. 2559

เมื่อถึงกาลที่พระศาสนาเกิดปัญหาเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ควรหรือ? ที่พุทธศาสนิกชนผู้ที่ศึกษาและเข้าใจในพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว จะปล่อยให้โอกาสนี้ล่วงไป โดยไม่เป็นผู้หนึ่ง ที่จักยืนหยัด บอก แสดง ความจริงที่ถูกต้อง โดยเปิดเผย เพื่อความเข้าใจความจริงโดยถูกต้องของชนทั้งหลาย ตามกำลังความสามารถของตน ของตน เพื่อความดำรงอยู่ของพระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง เพื่อดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ให้รุ่งเรืองต่อไปอีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างแท้จริง ดังที่พระสาวกทั้งหลายในอดีตกระทำ เราจึงมีโอกาสได้ฟังและเข้าใจคำจริง วาจาสัจจะ จากพระธรรมคำสอนที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 19 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 19 มิ.ย. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 19 มิ.ย. 2559

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Boonyavee
วันที่ 19 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 19 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
siraya
วันที่ 20 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pulit
วันที่ 20 มิ.ย. 2559

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
j.jim
วันที่ 20 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
j.jim
วันที่ 20 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 20 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Noparat
วันที่ 20 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 21 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
rrebs10576
วันที่ 22 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
kullawat
วันที่ 9 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ