ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๕

 
khampan.a
วันที่  10 ก.ค. 2559
หมายเลข  27969
อ่าน  2,193

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๕


~ การฟังพระธรรมก็ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องรีบๆ จบ แต่ว่าพระธรรมศึกษาเท่าไรก็ไม่จบ ตลอดชีวิต ทุกชาติๆ

~ บางท่านแม้มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ก็ยังอยากจะมีต่อไป บางท่านแม้รู้ตัวเองว่ายังมี แต่ก็ต้องการที่จะดับ ถึงยังดับไม่ได้ แต่ก็ศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้ถึงการดับได้ ท่านเหล่านี้จะศึกษาธรรมอย่างเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะว่าจะเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมที่ตน และก็เห็นอกุศลธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็มีความเพียรที่จะขัดเกลาให้เบาบางด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

~
การพูดมีหลายอย่างจริงๆ ตามอัธยาศัยที่สะสมมา เพราะฉะนั้น เพียงเสียงกระทบหู แล้วก็มีการได้ยินเรื่องราวต่างๆ ย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้มากน้อย ตามแต่การที่แต่ละท่านจะพิจารณาในแต่ละวัน ซึ่งถ้าขาดการพิจารณา จะไม่ทราบเลยว่าจิตหวั่นไหวไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมมากขึ้น การพูดก็จะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากขึ้น และพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์น้อยลง

~ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกแล้ว แม้คนอื่นมีความเห็นผิด ก็รู้ว่าการที่คนอื่นมีความเห็นผิดอย่างนั้นๆ ก็เป็นไปตามอัธยาศัยที่สะสมมา ไม่จำเป็นที่ต้องไปว่ากล่าว

~ แต่ละคนก็สะสมมาที่จะมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นปรมัตถธรรม (สิ่งที่มีจริงไม่เปลี่ยนลักษณะ) เป็นอกุศลเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดกับจิต ที่ไม่ดี) เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะเกิด ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดด้วยประการต่างๆ แต่ว่าคนที่สะสมมาที่จะเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิด ก็ย่อมจะต้องเข้าใจผิด เห็นผิด และปฏิบัติผิด ตามการสะสมของบุคคลนั้นๆ

~ ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็เป็นผู้ที่อบรมข้อประพฤติปฏิบัติที่จะเป็นผู้สงบ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ตามพระธรรมวินัยหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ก็เป็นโมฆบุรุษ (ผู้ว่างเปล่าจากคุณความดี) แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ตามพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า โมฆบุรุษ

~ เมื่อเกิดมาด้วยความไม่รู้ และก็ตายไปด้วยความไม่รู้ ก็เกิดอีกด้วยความไม่รู้ และก็ตายไปด้วยความไม่รู้ จะหมดความไม่รู้ได้ก็ต่อเมื่อความรู้ค่อยๆ เกิดขึ้น เช่น เวลาที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่รู้เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่พอฟังแล้วก็เริ่มรู้ ขณะใดที่รู้ ขณะนั้นก็ละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้เรื่องของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจะเพิ่มขึ้น

~ กิจของปัญญา คือ ละความไม่รู้ สำหรับกิจของอวิชชา คือ ทั้งๆ ที่เห็น ตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ความจริงของเห็น เป็นเราเห็น และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นสัตว์บุคคลที่ไม่ใช่อนัตตาเลยสักอย่างเดียว

~ ในขณะที่กำลังรู้จักอกุศลของคนอื่น ต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาจิตด้วยว่า ขณะนั้นเกิดเมตตา หรือว่าเกิดอกุศล ในขณะที่เห็นอกุศลของคนอื่น ถ้าจะเป็นผู้ที่ขาดทุนก็คือว่า เมื่อเห็นอกุศลของคนอื่นแล้วตนเองเกิดอกุศล แต่ถ้าจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ ก็คือ เมื่อเห็นอกุศลของคนอื่นแล้ว เกิดเมตตา เพราะเหตุว่าแม้ตนเองก็มีอกุศลอย่างนั้นเหมือนกัน

~ สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คำใดที่ตรัสแล้วไม่เปลี่ยน ได้ยินต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เห็นต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คิดนึกต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สุขต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกข์ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกิดตามความพอใจได้ แต่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ

~ การฟังพระธรรมจะต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์ และก็เป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผลจริงๆ เพื่อการประพฤติปฏิบัติจะได้ไม่คลาดเคลื่อน และไม่คล้อยตามในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุและเป็นผล เพราะเหตุว่าถ้าไม่พิจารณา ไม่เป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผลจริงๆ การเชื่อในมงคลตื่นข่าวต่างๆ ที่ไม่ใช่เหตุผล ก็เป็นทางที่จะทำให้ค่อยๆ ไกลออกไปจากข้อปฏิบัติที่ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ที่จะทำให้ปัญญาเจริญ และข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ



~ ถ้าไม่มีหิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) จะฟังพระธรรมไหม? ทำไมถึงฟัง ฟังเพื่อที่ต้องการจะเข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่มีโอกาสจะรู้ได้ถ้าไม่ฟังพระธรรม ในขณะที่เห็นอันตรายของความไม่รู้ ต้องการที่จะพ้นจากความไม่รู้ ต้องการเจริญความรู้ขึ้น ในขณะนั้นต้องมีหิริโอตตัปปะที่เห็นภัย แล้วก็เห็นโทษ แล้วก็กลัว ละอายอกุศล คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

~ การที่ปัญญาจะเจริญ นี้ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ง่ายเลย แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นผู้ที่สอบถามข้อสงสัยเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น เป็นผู้ที่พิจารณาผลจากการฟังพระธรรมของตนเอง เป็นผู้ที่สำรวมระวัง และก็เป็นผู้ที่มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย ก็ยังต้องเป็นผู้ที่ต้องอาศัยการฟังต่อไปอีก

~ ในเมื่อยังมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น ก็ไม่ควรที่จะคิดถึงแต่เพียงกิเลสของคนอื่น ในขณะนั้น ก็จะต้องคิดถึงกิเลสของตนเองด้วย

~ การฟังพระธรรมไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรมก็ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำก็ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งทุกท่านจะต้องเจริญกุศลเป็นบารมีต่อไปเรื่อยๆ

~ ทุกคนก็ต้องเดินทางชีวิตต่อไปอีกยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล และชีวิตข้างหน้าก็จะสุขทุกข์อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งถ้าทุกคนมีความมั่นใจจริงๆ และมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของกรรม ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล

~ ผู้ใดหนักด้วยมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ยึดมั่นในความเห็น แม้ไม่ตรงกับพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ และไม่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ว่าก็ไม่ทิ้งหรือว่าทิ้งไม่ได้ นั่นก็แสดงว่าความเห็นผิดหนักมากทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ถ่ายถอน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นถูก หรือว่าไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้ง รู้จริงในสภาพธรรมตามที่ปรากฏและตามที่ได้ทรงแสดงไว้

~
ถ้าบุคคลใดไม่มีความเห็นถูก การปฏิบัติก็ไม่ถูก การรู้แจ้งธรรมก็ถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกเป็นเบื้องต้นทีเดียว เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

~
ถ้าบุคคลที่ท่านเลื่อมใสนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เห็นผิด แล้วท่านก็ยึดมั่นติดในบุคคลนั้น จะทำให้ท่านขาดการฟังสัทธรรม

~ ถ้าเป็นผู้ที่ติดในบุคคลอย่างหนาแน่นทีเดียว ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นพูดผิด กล่าวผิด ก็เชื่อว่าถูก นี่ก็เป็นโทษอย่างยิ่ง

~ เรื่องทาน ถ้าท่านมีวัตถุที่จะสละได้ ท่านก็สละให้ไป เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เป็นครั้งเป็นคราว แต่กายวาจาของท่านเคยคึกคะนอง หรือว่าเคยเป็นไปในลักษณะที่เป็นไปด้วยกิเลสแรงกล้าอย่างใด ถึงขั้นทุจริตกรรม หรือ อกุศลกรรม ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจในการที่จะละกิเลส ขัดเกลากิเลส ท่านก็จะไม่ระมัดระวังในกาย วาจาของท่าน

~ ผู้ตระหนี่คือผู้ที่ไม่ยินดีในการให้ แล้วก็เสียดายในการที่จะบริจาคสิ่งที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนอื่น เมื่อไม่เป็นผู้ที่บริจาคไม่มีการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เวลาที่ใครพูดเรื่องนี้ ก็จะปลาบปลื้มใจไม่ได้ เพราะเหตุว่าตนเองไม่ได้บริจาค

~ จะมีคฤหัสถ์คนไหนใจร้ายที่จะใส่เงิน (ถวายเงินให้พระภิกษุ) เพื่อเป็นทางไปสู่อบายภูมิแน่นอนหลังจากที่ (พระภิกษุ) ท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว

~ บวชคืออะไร? บวชคือการสละชีวิตของคฤหัสถ์ (ซึ่งชีวิตของคฤหัสถ์) เต็มไปด้วยกิจธุระการงาน ทรัพย์สินเงินทองธุรกิจ เรื่องเพลิดเพลินต่างๆ

~ บวช หมายถึง การสละชีวิตคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตซึ่งสูงกว่าเพศคฤหัสถ์ราวฟ้ากับดิน นี้เป็นเหตุที่คฤหัสถ์กราบไหว้ผู้ที่บวช เพราะเหตุนี้ไม่ใช่เพราะเหตุอื่น ไม่ใช่เพราะชวนกันไปบวชหรือว่าบวชให้เต็มจำนวนแต่เพราะเหตุว่าอัธยาศัยอย่างนี้ใครมีบ้าง มิใช่ทุกคนเพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่มีอัธยาศัยที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตแล้วเห็นผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมมาอย่างนั้น จึงกราบไหว้ แสดงความเคารพในคุณความดีที่สะสมมาที่สามารถสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้

~ คฤหัสถ์รับเงินและทอง พระภิกษุรับเงินและทอง แล้วจะแตกต่างกันอย่างไร?

~ พระภิกษุ ถ้าไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ว่ายากแน่นอน

~ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพื่อจะได้ไม่ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

~ เริ่มต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ

~ ฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ตามความเป็นจริง

~ พระธรรมที่ได้ฟังในแต่ละคำ มากจากพระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๔

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Boonyavee
วันที่ 10 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 10 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 10 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 10 ก.ค. 2559

กราบขอบพระคุณค่ะ ทุกๆ คำแทนเสียงพระศาสดา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 10 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
siraya
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Noparat
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pulit
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peem
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
rrebs10576
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
kukeart
วันที่ 13 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 12 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ