ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณสดศรี สมพันธ์ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๙

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  20 ส.ค. 2559
หมายเลข  28097
อ่าน  2,469

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอังคาร ที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคุณสดศรี สมพันธ์ (คุณต่าย) และครอบครัว เพื่อไปสนทนาธรรม ที่บ้านพักในซอยหมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๕.๓๐ น.

อนึ่ง คุณต่ายได้เคยกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรมที่ร้าน Young Rabbit อาคารโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ มาแล้วสองครั้ง ท่านที่สนใจ สามารถคลิกชมภาพและความการสนทนาได้ที่ลิงค์ด้านล่างครับ
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ร้าน Young Rabbit อาคารโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ร้าน Young Rabbit อาคารโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘

สำหรับการสนทนาในครั้งนี้ คุณต่ายได้กราบเรียนท่านอาจารย์มาสนทนาในเวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. แต่เนื่องจากสภาพการจราจรจากบ้านพักท่านอาจารย์แถวถนนพัฒนาการ มายังบางแค มีความหนาแน่น ติดขัดมาก ท่านอาจารย์จึงเมตตาให้เลื่อนเวลาเป็นช่วงบ่ายแทน โดยให้ทุกๆ ท่านที่มา ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกันก่อน และเริ่มสนทนาธรรมในเวลาบ่ายโมง ซึ่งความการสนทนาในวันนี้ ท่านอาจารย์เมตตากล่าวถึงการที่บุคคลมีการฟังธรรมบ่อยๆ เป็นการสะสมอุปนิสัยในการฟังความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ จากการตรัสรู้และทรงแสดงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำให้เป็นบุคคลที่มีชีวิตน้อมไปสู่กุศลธรรม ความดีทุกประการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ไม่มีหนทางอื่น ไม่ใช่การที่จะไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความติดข้องต้องการ ด้วยความเป็นตัวตนที่จะไปปฏิบัติ ไปรู้ ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมะได้แน่นอน เพราะเป็นความเห็นผิดที่จะไปทำด้วยความเป็นตัวตน แต่จากการที่มีอุปนิสัยในการสะสมการฟังพระธรรม บ่อยๆ เนืองๆ จะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะ เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมด้วยความเป็นปรกติ โดยความเป็นอนัตตา ในขณะนี้เอง เมื่อเกิดก็เกิด เมื่อไม่มีเหตุปัจจัย ก็ไม่เกิด ไม่มีใครไปกำหนด บังคับ ให้เป็นไปตามความต้องการได้ เพราะธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น

ท่านอาจารย์ ธรรมะก็เป็นธรรมะที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แต่ว่า ทำไมเราต้องฟังอีก เพื่อจะได้เข้าใจขึ้น จะได้ไม่ลืม เพราะว่า ฟังแล้วก็ลืม แต่ถ้าฟังบ่อยๆ ก็คุ้นเคยกับการที่ชินกับธรรมะมากขึ้น เพราะว่าเราคิดทั้งวัน แต่เราคิดเรื่องที่เราคุ้นเคย เราคุ้นเคยเรื่องไหนมาก ก็มีปัจจัยที่จะทำให้คิดเรื่องนั้น โดยที่ว่า ไม่ไปบังคับให้คิด ไม่บังคับให้ถาม ไม่บังคับให้ตอบหรืออะไร แต่ว่าธรรมะทั้งหมด ถ้าไม่มีปัจจัย จะทำให้เกิดก็เกิดไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ ต้องทราบว่าสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ มีจริงๆ แล้วเราต้องฟังอีกนานเท่าไหร่กว่าจะเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า สิ่งที่มีนี้แหละ เกิด จึงมี มีแล้วก็หายไปคือดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ทุกอย่างหมด เดี๋ยวนี้เอง เป็นอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ที่เป็นอย่างนี้ ยังไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ อย่างนี้ได้ เพราะว่า ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประจักษ์แจ้งสูงสุด ไม่มีใครเสมอหรือเทียบได้ ปัญญาของสาวก-ผู้ฟัง ในครั้งอดีต ได้ฟังมาหลายชาติจนกระทั่งคุ้นเคย ชินกับการที่จะเข้าใจสิ่งที่มีตรงตามที่ได้ฟังว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นและดับไป

แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มฟัง ก็จะรู้ได้ว่า ฟังอีกนานเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นไร เพราะว่า สภาพธรรมก็จริงอย่างนี้ คือ เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ถ้าไม่เกิด ก็ไม่มี แต่ก็ลืมเสมอ จนกว่าจะเหมือนธรรมะเตือนตลอด บ่อยๆ ให้รู้ความจริงว่า วันหนึ่ง ก็สามารถจะเหมือนกับผู้ที่ได้ฟังมานานๆ และพอฟังแล้วก็เข้าใจได้ แล้วก็ประจักษ์ความจริงว่า สภาพธรรมะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อนั้นก็จะได้รู้ว่า ความต่าง ความห่าง ของการที่เริ่มฟัง กับการที่ได้ฟังจนชิน จนค่อยๆ เข้าใจขึ้น เหมือนการจับด้ามมีด แต่ละครั้งที่จับ เรารู้ไม่ได้เลยว่าสึกไปแค่ไหน? ตอนไหน? เมื่อไหร่สึกแล้ว เมื่อนั้นก็รู้ได้ว่า เพราะมีการจับมาเรื่อยๆ ถ้าไม่จับ ปล่อยทิ้งไว้ ด้ามมีดก็สึกไม่ได้!!!

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ เป็นอย่างด้ามมีดเลย ได้ฟังไป เหมือนการจับแต่ละครั้ง แต่ละครั้ง คือ เริ่มเข้าใจธรรมะ เพราะเวลานี้ ได้ยินแต่ "เรื่องของธรรมะ" แต่ "ตัวธรรมะ" ก็เป็นอย่างนี้ ก็ฟังเรื่องของธรรมะไป จนกว่า การฟังเรื่องนั้นแหละ ทำให้เข้าใจธรรมะที่กำลังปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น หนทางนี้ เป็นหนทางที่ไม่มีใครที่เป็นตัวตนที่จะไปละความเป็นตัวตน ไม่มีความไม่รู้ที่จะไปละความไม่รู้ แต่ต้องอาศัย "ความรู้" อย่างละเอียดยิ่ง อย่างมั่นคง แล้วสภาพธรรมะก็จะสามารถถึงที่สุด คือ รู้จริงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์แจ้ง สิ่งนี้ที่กำลังเกิดดับ

เพราะฉะนั้น มีผู้ที่ได้ฟังด้วยความอดทนมา แต่ละชาติ แต่ละชาติ จนสามารถที่จะ พอฟังคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็รู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรมะ ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย!!! "เสียง" มีจริงๆ เกิด ถ้าเสียงไม่เกิด เสียงก็ไม่ปรากฏ เสียงก็ไม่ได้ดับไป แต่เพราะ "เสียง" เกิด แล้วเสียงก็ดับไป ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลย ค่อยๆ คุ้นเคย กับสิ่งที่มี แม้ว่าเพียงขั้นฟัง ก็ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

เราอยู่มานานเท่าไหร่แล้ว ใครตอบได้? แสนโกฏิกัปป์ เกิดแล้วก็ตาย แล้วก็เกิดแล้วก็ตายอีก นับไม่ถ้วน แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะได้รู้ความจริง รู้แจ้งอริยสัจธรรม ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่? สี่อสงไขยแสนกัป จะใช้คำว่ากัป จะใช้คำว่าโกฏ จะใช้คำอะไรก็แสดงว่า นานมาก แล้วก็จะเห็นว่า แม้แต่ขณะที่ตั้งความปรารถนา ความปรารถนาก็ยังไม่มากพอที่จะได้รับคำพยากรณ์ ต้องมากจนกระทั่งได้รับคำพยากรณ์ หลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์แล้ว ว่าความปรารถนานี้จะสำเร็จ จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ต้องบำเพ็ญพระบารมี ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปุบปับ ก็จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น การที่เราได้ฟัง "คำ" ซึ่งเราไม่ได้ยินมานานแสนนาน ได้ยินแต่ เรา,เขา,ลูก,พี่น้อง,ทรัพย์สมบัติ แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า "ไม่ใช่เรา" และ "ไม่ใช่ของเรา" เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริง มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไป แต่เร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏอาการเกิดดับ ไม่ให้รู้ได้เลยว่านี่กำลังเกิดดับ เพราะเหตุว่า ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว ละคลายสิ่งที่ปิดกั้น แม้สภาพธรรมะขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น แต่ "ความไม่รู้" ก็บังหมด "เป็นเรา" มานานแสนนาน เพราะฉะนั้น เพียงแค่ชาตินี้ ชาติเดียว พอไหม? ที่จะรู้ว่า ธรรมะขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ อย่างนี้เลย เกิด-ดับ!!! ก็ต้องอาศัยเวลาที่มั่นคง ที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น!!!

เพราะว่า ทั้งหมด ไม่ใช่เราเลยทั้งสิ้น!!! เนื่องจากฟัง จนกระทั่งมีปัญญาที่สามารถที่จะรู้จริง ถึงความไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นเราไปจนกว่า ปัญญาจะค่อยๆ ละความเป็นเรา ทีละเล็ก ทีละน้อย จนสภาพธรรมะปรากฏในความไม่ใช่เราแน่นอน ขณะนั้นก็ค่อยๆ เป็นปัญญา ที่ประจักษ์แจ้งความจริง จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ ดับ (ความเห็นผิด) ไม่มีการเห็นว่าเป็นเราอีกต่อไป

ฟังแค่นี้ ไม่มีใครที่จะไปรู้ความเป็นอนัตตาที่เกิดดับ แต่เราก็ไม่รู้ว่า ฟังมาแล้วนานเท่าไหร่? เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่า มีความเข้าใจธรรมะมากแค่ไหน? แล้วก็ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น!!!

เพราะฉะนั้น เป็นธรรมะซึ่งยากที่จะรู้ได้ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลย จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดมาก็เป็นเราไปแล้ว ตายไปเกิดใหม่ ก็จำชาตินี้ไม่ได้เลย เหมือนจำชาติก่อนไม่ได้เลย แต่ละคนเป็นใคร? ชาติก่อน ใครรู้บ้าง? รู้ได้ไหม? แต่เป็นแล้ว

เพราะฉะนั้น ชาตินี้ พอถึงเวลาที่จากโลกนี้ไป ลืมหมด แม้แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ก็เพื่อลืม วันหนึ่งก็จำไม่ได้เลย ว่าเคยอยู่ตรงนี้ นี่คือ ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา มีแต่ธรรมะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก จนกว่าจะเข้าใจอย่างนี้ แต่ต้องฟังตั้งแต่ ทีละเล็ก ทีละน้อย และชาตินี้ก็อาจจะสั้นมาก ฟังได้แค่นี้ แต่บุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน คือการที่กำลังเข้าใจเดี๋ยวนี้ ก็จะสะสมติดตามไป ทำให้มีโอกาสได้ฟังอีก เหมือนเดี๋ยวนี้ ต้องเคยมีบุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน เพราะทำไมคนอื่นไม่ได้ฟัง?

แต่ต้องเห็นประโยชน์ว่า ต้องฟังต่อไป ว่าความจริงพิสูจน์ได้ มีพระอริยสาวกมากมาย พระโสดาบัน ดับความเห็นผิด ดับกิเลสตามลำดับขั้น จนถึงความเป็นพระอรหันต์ อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังคำใดแล้วมีความเข้าใจเกิดขึ้น คิดถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ตรัสรู้ แสดงธรรม ใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ซึ่งถูกปิดบังไว้ด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย คิดว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ เพราะเป็นธรรมะซึ่งเกิดดับ สืบต่อ เร็วมาก อาศัยการฟัง จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และฟังแล้ว ต้องพิจารณาว่า จริงไหม? ถ้าจริง คือ กำลังเข้าใจความจริง เพราะรู้ว่า "จริง" แต่ถ้ายังตอบไม่ได้ว่าจริงไหม ก็แปลว่าการฟังยังไม่พอ

เพราะฉะนั้น จิตเกิดทีละหนึ่งขณะ หมายความว่าอะไร? ไม่มีใครเลย นอกจากจิตเกิดขึ้น ทีละหนึ่ง เพราะฉะนั้น อยู่คนเดียว ตราบใดที่มีจิต ก็ถือจิตนั้น ว่าเป็นเรา!!! ทั้งๆ ที่จิตก็เกิดดับ เป็นหนึ่งคน แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละจิต ที่สะสมสืบต่อ จะไปแลกกันก็ไม่ได้ ขอยืมกันก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วไม่ให้ดับก็ไม่ได้ ไม่ให้เร็วสุดที่จะประมาณก็ไม่ได้ ไม่ให้จำ ก็ไม่ได้ ทุกอย่างหมด เป็นธรรมะ

เริ่มเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง? ด้วยปัญญา เพราะรูปกายไม่มีทางที่ใครจะเห็นได้ ต่อให้เป็นพระพุทธรูปที่ไหน ที่ไหน ก็ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เห็นพระองค์ได้ เมื่อเข้าใจพระธรรม!!!

เพราะฉะนั้น ก็สะสม "ความเข้าใจ" ซึ่งไม่ใช่เรา ความเข้าใจเป็นธรรมะ ถ้าความเข้าใจไม่ดับก็ต้องเข้าใจไปตลอด นี่เดี๋ยวก็ลืมแล้ว ก็แสดงว่าเราสะสมความไม่รู้ ความลืม ความหลง ความติดข้องมามาก เมื่อสะสมเหตุใดมามาก ก็เป็นปัจจัยให้สิ่งที่เกิดเพราะเหตุนั้น มาก เพราะฉะนั้น มีความไม่รู้มาก มีความติดข้องมาก พอลืมตาก็ติดข้องแล้ว ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น "เข้าใจ" อย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไรเลย!! เพราะถ้า "ทำ" ก็คือ "เรา" ก็ผิด!!! ฟังธรรมะต้องเข้าถึงความเป็นธรรมะ ทุกคำในพระไตรปิฎก กล่าวถึงอนัตตาทั้งหมด แม้แต่ "ละชั่ว" ไม่ได้บอกชื่อใครละ ไม่ได้บอกชื่อ ว่าคนไหนละ แต่ต้องเป็นธรรมะฝ่ายดี ที่เกิดขึ้นละชั่ว ทำดี ก็ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นธรรมะฝ่ายดี ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น อย่างคนที่แต่ก่อนฟังธรรมะก็ ขี้โกรธ พอฟังแล้วก็ เอ๊ะ!โกรธอะไร? โกรธคิ้วเขาหรือ? หรือว่าโกรธตาเขา โกรธจมูก หรือโกรธอะไร? ใช่ไหม และโกรธนั้น เป็นโทษกับใคร? ไม่ได้เป็นโทษกับคนที่ถูกโกรธเลย แต่เป็นโทษกับคนโกรธ ถ้าปัญญารู้อย่างนี้จริงๆ จะโกรธ หาโทษใส่ตัวไหม? เพราะว่า ใครไม่ได้รับผลเลย นอกจากเรา โกรธบ่อยๆ ก็กลายเป็นคนขี้โกรธ ทำอะไรบ่อยๆ ก็เป็นอย่างนั้นแหละ เป็นนิสัย ที่ใช้คำว่า นิสัย คือ ความคุ้นเคย บ่อยๆ

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ ฟังบ่อยๆ จะเป็นอุปนิสัย ที่คนไทยใช้คำว่า คนนี้มีอุปนิสัยอย่างไร เพราะฉะนั้น คนนี้ มีอุปนิสัยในการฟังธรรมะ!!! เพราะเห็นประโยชน์ของธรรมะ เพราะฉะนั้น แม้แต่การจะฟังธรรมะ ก็ไม่ใช่เรา แต่เพราะสะสม คุ้นเคย จนกระทั่ง สามารถจะทำให้ฟังธรรมะอีก ฟังธรรมะอีก นั่นก็คือ เป็นอุปนิสัย "นิสัย" มาจากคำภาษาบาลีว่า "นิสสย" ที่อาศัย "อุป" แปลว่า มีกำลัง ที่จะเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ต้องมาก ต้องบ่อย ถ้าเพียงครั้ง สองครั้ง ก็ไม่มาก ไม่บ่อย

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะคุ้นหู แล้วสามารถมีความเข้าใจได้เวลาได้ยินธรรมะเราก็เข้าใจ แล้วก็สามารถที่จะฟังต่อไป คือ ความละเอียดของธรรมะนั้น เข้าใจยิ่งขึ้น แล้วก็ฟังต่อไปอีก ก็เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็น "อุปนิสสยโคจร" เพราะว่า บางคนชอบรูปสวยๆ เสื้อผ้า เครื่องประดับต่างๆ บางคนชอบเสียงเพราะๆ บางคนก็ชอบกลิ่นหอม ไม่ใส่ไม่ได้ บางคนก็ชอบรสอร่อยๆ สำคัญ สำหรับเด็กตั้งเกิดจนแก่จนตาย ก็ติดในรส และการที่เราติดข้องในความสุขทางกาย ที่นอนต้องนุ่ม เบาะต้องนุ่ม ร้อนไป เย็นไป ต้องหาเครื่องปรับอากาศ สารพัด เป็นเรื่องของความติดข้องที่คุ้นเคย เพราะฉะนั้น จิตของเรา ตื่นมาก็แสวงหาสิ่งที่เป็นที่คุ้นเคย ที่ชอบ เป็นอุปนิสัย

แต่ถ้าอุปนิสัยเรา เป็นทางธรรมะ ฟังธรรมะ บ่อยๆ ตื่นขึ้นมา เราก็ฟังธรรมะแล้ว มีธรรมะเมื่อไหร่เราก็ฟัง จนกระทั่ง อุปนิสัย "ฟังธรรมะ" ใช้คำว่า "โคจร" หรือ อารมณ์ของจิต จิตไม่ไปหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงเวลา ก็เปิดฟังธรรมะ มีเวลาก็ดูรายการโทรทัศน์ที่เป็นธรรมะ เป็นอุปนิสัย

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้นี้ ก็จะเป็น "อารักขโคจร" คุ้มครองเรา ไม่ให้ไปในทางชั่ว เพราะเข้าใจอยู่แล้ว ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ห้ามใจห้ามไม่ได้ แต่มีปัจจัยที่จะให้กุศลเกิด กุศลจึงเกิดได้ แล้วกุศลจะเกิดเมื่อไหร่? เมื่อมีความเข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่ทำให้เจริญขึ้น ที่ใช้คำว่า "ภาวนา" ทำให้สิ่งที่ไม่เกิด เกิด ทำให้สิ่งที่เกิดแล้ว เกิดบ่อยขึ้น ก็สามารถที่จะทำให้จิตของเรา ผูกพันอยู่กับสิ่งที่ปรากฏทางตา ตอนนี้ยังไม่ผูกพัน เพราะฟังน้อย ก็ติดข้องในสิ่งที่เราจำได้ว่าเป็นอะไร

ชอบดอกไม้ บางคนที่บ้านปลูกดอกไม้เต็มเลย เพราะเหตุว่าเขาผูกพัน แต่ถ้าเราผูกพันในอารมณ์ คือ สภาพธรรมะ ไม่ใช่เรา เดี๋ยวนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าผูกพัน จิตของเราก็ละทิ้งสิ่งที่เคยผูกพันแต่ก่อน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ มาเป็นการผูกพัน เริ่มถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมะ ที่เป็น ปฏิปัตติ ซึ่งคนไทยใช้คำว่าปฏิบัติ แต่ต้องเข้าใจทุกคำ ไม่ใช่ไปคิดเอง นี่คือประโยชน์ของการฟังธรรมะ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความเคารพ ด้วยความไตร่ตรอง ด้วยความเข้าใจจริงๆ ในแต่ละหนึ่งคำ!!! ไม่อย่างนั้นเราปนหมดเลย

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณสดศรี สมพันธ์ และครอบครัว
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 20 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 20 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มานิสาโข่งเขียว
วันที่ 20 ส.ค. 2559

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 21 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 22 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 24 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ