บิดามารดาเป็นพรหมของบุตร
บิดามารดาท่านอุปการะเลี้ยงดูบุตร ธิดา ด้วยความรัก เมตตา ผู้เป็นบุตรควรรู้คุณท่าน ตอบแทนคุณท่าน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้า ๒๙๔
“บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั่นแลบัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์”
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มาตุโปสกสูตร)
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖หน้า ๑๖๐
“ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราสามารถพอที่จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ชนสันธชาดก)
มารดาบิดา เป็นบุพการี คือ ผู้ที่กระทำอุปการะแก่บุตรมาก่อน เป็นผู้ประเสริฐของบุตร เป็นผู้ที่เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโตอย่างปลอดภัย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ท่านเป็นผู้พร่ำสอนให้บุตรออกจากความชั่ว แล้วให้ตั้งอยู่ในความดีสอนให้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ พร้อมทั้งให้ศึกษาศิลปวิทยา วิชาชีพต่างๆ เพื่อให้บุตรมีความรู้ติดตัวอันจะเป็นบ่อเกิดแห่งการงานประการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของบุตรดำเนินไปด้วยความไม่เดือดร้อนในภายภาคหน้า เป็นต้นนี้คือ พระคุณของท่านซึ่งนำมากล่าวเป็นบางส่วน เพราะแท้ที่จริงแล้ว พระคุณของท่านทั้งสองมีมาก ไม่สามารถพรรณนาให้หมดสิ้นได้ และในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงแสดงถึงพระคุณที่มารดาบิดามีต่อบุตรไว้มากมาย และเป็นบุคคลที่บุตรจะตอบแทนพระคุณท่านอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะท่านทั้งสองมีพระคุณต่อบุตรเป็นอย่างมาก เป็นผู้มีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้ แก่บุตรทั้งหลาย
การตอบแทนพระคุณท่านอย่างสูงสุด คือ ให้ท่านทั้งสองดำรงตั้งมั่นใน ศรัทธา ศีล จาคะ (การสละวัตถุสิ่งของ, สละความตระหนี่) และ ปัญญา กล่าวคือ ให้ดำรงตั้งมั่นในกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับบุตรธิดาทุกคนแล้ว ทุกๆ วันจึงเป็นโอกาสของการทำความดี ไม่จำกัดเฉพาะวันใดวันหนึ่งเท่านั้น ควรน้อมระลึกถึงพระคุณของท่านและกระทำตอบแทน บุคคลมีความกตัญญูกตเวที (รู้อุปการที่ผู้อื่นกระทำให้แล้ว กระทำตอบแทน) เป็นผู้ที่บัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว และมงคล คือ ความเจริญก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นแล้ว ถ้าหากบุตรธิดาคนใดได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจธรรม แล้ว คอยเกื้อกูลให้บิดามารดาได้ฟัง ได้ศึกษาด้วยนั้น ยิ่งจะเป็นการตอบแทนพระคุณของท่านได้ดีอย่างยิ่งทีเดียว เพราะจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาซึ่งจะเป็นที่พึ่งในชีวิตของท่านได้อย่างแท้จริง
ความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นคุณธรรมประการหนึ่งที่ควรจะอบรมเจริญให้มีขึ้น ถึงแม้ว่าบุตรธิดาจะยังไม่สามารถกระทำตอบแทนมารดาบิดาได้อย่างสูงที่สุดก็ตาม แต่การที่ได้รู้ว่า ท่านทั้งสองนั้นเป็นผู้ที่มีพระคุณเลี้ยงดูเรามาแล้ว ทำการเลี้ยงท่านเป็นการตอบแทน กระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งดำรงตนอยู่ในความถูกต้องดีงาม ย่อมเป็นสิ่งที่บุตรธิดาจะพึงกระทำ เมื่อมีโอกาสแล้ว ไม่ควรปล่อยโอกาสอันดีงามนี้ให้ผ่านไป ควรตั้งใจทำหน้าที่ของบุตรธิดาให้ดีที่สุด เท่าที่จะกระทำได้ ไม่มีคำว่ายาก และไม่มีคำว่าสาย ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่มีความจริงใจและมีความตั้งใจอย่างมั่นคงที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม กล่าวคือ ความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา (เป็นต้น) ไม่ควรเลยที่จะทำให้ตนเองต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง เพราะมีโอกาสแล้ว สามารถจะเลี้ยงดู หรือ กระทำในสิ่งที่ดีงามตอบแทนมารดาบิดาได้ แต่ก็ไม่ได้กระทำ ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ได้ยกมา ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาและพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ครับ
ขอเชิญคลิกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
บุตรควรรู้คุณของมารดาบิดาอย่างไร
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...