สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา ... วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๙
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๙
คือ
สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา
... จาก ...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่มที่ ๕๔ หน้าที่ ๔๑๕ -๔๓๒
๕. สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา
(ว่าด้วยคาถาของพระสุภากัมมารธิดาเถรี)
[๔๗๑] พระสุภากัมมารธิดาเถรี ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
เพราะเหตุที่แต่ก่อน ข้าพเจ้ายังสาว นุ่งห่มผ้าอันสะอาด ได้ฟังธรรม ข้าพเจ้านั้นไม่ประมาท ก็ได้ตรัสรู้สัจจธรรม ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ยินดีอย่างยิ่งในกามทั้งปวง เห็นภัยในสักกายะ [ขันธ์ ๕] กระหยิ่มเฉพาะเนกขัมมะ [การบวช, การออกจากกาม] เท่านั้น.
ข้าพเจ้าละหมู่ญาติ ทาสและกรรมกร บ้านและไร่นา ความมั่งคั่ง และรมณียะสิ่งที่น่ารื่นรมย์ ที่เขาบันเทิงกันนักหนา.
ข้าพเจ้า ละสมบัติไม่ใช่น้อย ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างนี้ในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้ว.
ข้อที่ละทิ้งเงินทองเสียแล้ว กลับมายึดเงินทองนั้นอีก ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าปรารถนาแต่ความไม่กังวลห่วงใย ผู้ใดละทิ้งเงินทองแล้วกลับมายึดเงินทองนั้นไว้อีก ผู้นั้นจะโงหัวขึ้นมาได้อย่างไรในระหว่างบัณฑิตทั้งหลาย เงินและทองไม่มีเพื่อสันติความสงบสำหรับผู้นั้น เงินทองนั้นก็ไม่สมควรแก่สมณะ เงินทองนั้น ก็มิใช่อริยทรัพย์.
อนึ่ง เงินทองนี้ทำให้เกิดความโลภ ความมัวเมา ความลุ่มหลง ความติดดังเครื่องผูก มีภัย มีความคับแค้นมาก เงินทองนั้นไม่ตั้งอยู่ยั่งยืนเลย.
นรชนเป็นอันมาก ประมาท มีใจเศร้าหมองแล้ว เพราะเงินทองเหล่านี้ จึงต้องเป็นศัตรู วิวาทบาดหมางกันและกัน.
การถูกฆ่า การถูกจองจำ การต้องโทษมีตัดมือ เป็นต้น ความเสื่อมเสีย ความเศร้าโศกพิไรรำพัน ความพินาศเป็นอันมาก ของนรชนที่ตกอยู่ในกามทั้งหลาย ก็มองเห็นกันอยู่.
ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนศัตรู เพราะเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงชักจูงประกอบเรานั้นไว้ในกามทั้งหลาย จงรู้กันเถิดว่าเราเห็นภัยในกามทั้งหลายจึงบวช.
อาสวะทั้งหลาย ไม่ใช่หมดสิ้นไปเพราะเงินทองหรอกนะ กามทั้งหลายเป็นอมิตร เป็นผู้ฆ่า เป็นศัตรูเป็นดั่งลูกศรเสียบไว้.
ท่านทั้งหลายเป็นญาติ ก็เหมือนศัตรู เพราะเหตุไร จึงชักจูงประกอบเรานั้นไว้ในกามทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า เราบวช มีศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิแล้ว.
ก้อนข้าวที่ต้องไปยืนที่เรือนทุกๆ หลังได้มา การเที่ยวขอเขา ผ้าบังสุกุลจีวร และบริขารที่อาศัยของนักบวชผู้ไม่มีเรือน นี่แลเป็นของเหมาะสำหรับเรา.
กามทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของทิพย์และที่เป็นมนุษย์ เหล่าท่านผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่คายเสียแล้ว ท่านน้อมไปในสถานที่อันเกษม บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหวแล้ว.
ข้าพเจ้าไม่ร่วมด้วยกามทั้งหลาย ซึ่งช่วยอะไรไม่ได้ กามทั้งหลาย เป็นอมิตร เป็นผู้ฆ่า นำทุกข์มาให้ เทียบเสมอด้วยกองไฟ.
สภาวะนั่นไม่บริสุทธิ์ มีภัย มีความคับแค้น เป็นเสี้ยนหนาม และสภาวะนั้น เป็นความหมกมุ่น เป็นความไม่สม่ำเสมออย่างใหญ่ เป็นเหตุลุ่มหลง เป็นอุปสรรคที่น่าสะพรึงกลัว กามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงูพิษ ที่เหล่าปุถุชนคนทั้งบอดทั้งเขลาเพลิดเพลินกันนักหนา.
ความจริง ชนเป็นอันมากในโลก ติดอยู่ในเครื่องข้องคือกาม ไม่รู้ความจริงกันเลย ไม่รู้จักที่สิ้นสุดแห่งชาติและชรา มนุษย์เป็นอันมาก ที่เดินทางไปทุคติ มีกามเป็นเหตุ นำมาแต่โรคสำหรับตน.
กามทั้งหลาย ทำให้เกิดอมิตรอย่างนี้ เป็นเครื่องแผดเผา เป็นเครื่องเศร้าหมอง เป็นเหยื่อของโลก ผูกสัตว์ไว้ มีมรณะเป็นเครื่องพันธนาการ.
กามทั้งหลาย ทำให้คนบ้า ทำให้เพ้อ ทำให้จิตประมาทพลั้งเผลอ เพราะทำสัตว์ให้เศร้าหมอง พึงเห็นเหมือนลอบที่มารรีบดักไว้.
กามทั้งหลาย มีโทษไม่สิ้นสุด มีทุกข์มาก มีพิษมาก อร่อยน้อย ทำเป็นสนามรบ
มีแต่ทำกุศลกรรมให้เหือดแห้งลง.
ข้าพเจ้านั้น ละความย่อยยับ ซึ่งมีกามเป็นเหตุเช่นนั้นแล้ว ยินดียิ่งนักในพระนิพพาน ทุกเมื่อ จึงจักไม่กลับมาหาความย่อยยับนั้นอีก.
ข้าพเจ้า ละสนามรบของกามทั้งหลายแล้ว จำนงหวังแต่ความเยือกเย็น ยินดีในธรรมอันเป็นที่สิ้นสังโยชน์ (กิเลสเครื่องผูกมัด) ไม่ประมาทอยู่.
ข้าพเจ้าเดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางตรงไม่เศร้าโศก ไม่มีกิเลสดุจธุลี เป็นทางเกษมซึ่งเหล่าท่านผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่พากัน ข้ามมาแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลาย จงดูธิดาช่างทอง ผู้สวยงามซึ่งตั้งอยู่ในธรรมผู้นี้เถิด นางเข้าถึงธรรมที่ไม่หวั่นไหว เข้าฌานอยู่ที่โคนไม้.
วันนี้เป็นวันที่ ๘ นางมีศรัทธาบวชแล้ว เป็นผู้งามในพระสัทธรรม อันพระอุบลวรรณาช่วยแนะนำแล้ว ทรงวิชชา ๓ ละมฤตยูเสียแล้ว.
ภิกษุณีรูปนั้น เป็นไทแก่ตัว ไม่เป็นหนี้ อบรมอินทรีย์แล้ว สลัดโยคะ (กิเลสเครื่องร้อยรัด) ได้หมดแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ.
ท้าวสักกะ เจ้าแห่งหมู่สัตว์ พร้อมหมู่เทพเสด็จเข้าไปหาพระสุภา-กัมมารธิดาเถรีรูปนั้น ด้วยเทวฤทธิ์แล้ว ทรงนมัสการอยู่.
จบ สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา.
หมายเหตุ
- คาถาสุดท้าย แสดงถึงว่า ท้าวสักกะ พร้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ลงมากราบนมัสการพระเถรี เพราะได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่าน
- ๓ พระคาถาในตอนท้าย ก่อนถึงท้าวสักกะ เป็นพระคาถาที่ตรัสโดยพระพุทธเจ้า.
ข้อความบางตอนจากอรรถกถา
นรชนทั้งหลาย ยินดีแล้ว คือ เกิดความยินดีในทรัพย์นั้น ชื่อว่าประมาทแล้ว เพราะอยู่ปราศจากสติในกุศลธรรม ๑๐ เป็นผู้มีใจเศร้าหมอง คือชื่อว่าเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองด้วยสังกิเลส มีโลภะ เป็นต้น.
อาสวะทั้งหลาย มีกามาสวะเป็นต้น ไม่หมดสิ้นไปด้วยเงินด้วยทอง ที่แท้กลับกำเริบ ด้วยเงินทองเหล่านั้นทีเดียว. กามทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นอมิตร เพราะไม่มีไมตรี เหตุนำมาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล, ชื่อว่าผู้ฆ่า เพราะเป็นเสมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบ เหตุเป็นต้นเหตุแห่งความตาย, ชื่อว่าเป็นศัตรู เพราะเป็นเสมือนศัตรูผู้ผูกเวร เหตุติดตามนำมาแต่ความพินาศ, ชื่อว่าเป็นดังลูกศรเสียบไว้ เพราะลูกศรทั้งหลายมีราคะเป็นต้นเสียบติดไว้.
กามทั้งหลาย กระทำให้เป็นบ้า เพราะความเศร้าโศกโดยความพลัดพรากกัน เพราะกาม มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา หรือ นำความมัวเมายิ่งขึ้นโดยเพิ่มทวี.
เพราะเหตุที่ข้าพเจ้ายินดียิ่งแล้วในพระนิพพานมาตลอดกาล นับตั้งแต่เวลาที่บวชแล้ว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักไม่กลับมาหาสมบัติกามนั้นอีก. บทว่า รณํ ตริตฺวา กามานํ ความว่า ข้ามสนามรบของกามทั้งหลาย และทำสนามรบนั้น ให้เป็นอันประหารด้วยพระอริยมรรค อันเป็นกิจที่ข้าพเจ้าพึงทำ.
บทว่า ภุชิสฺสา ได้แก่ ชื่อว่าเป็นไทแก่ตัว เพราะละกิเลสทั้งหลายที่เป็นเสมือนความเป็นทาส, ชื่อว่าไม่มีหนี้ เพราะปราศจากหนี้มีกามฉันทะเป็นต้น.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอหรันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
© ข้อความโดยสรุป ©
สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา
(ว่าด้วยคาถาของพระสุภากัมมารธิดาเถรี)
พระสุภากัมมารธิดาเถรี ได้บำเพ็ญบารมีมาตั้งแต่ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สะสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม มาตามลำดับ พอมาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ (พระสมณโคดม) ท่านเกิดเป็นธิดาของช่างทองในกรุงราชคฤห์ เนื่องจากว่าท่านเป็นผู้ที่มีความสวยงามแห่งรูปสมบัติ จึงได้นามว่า“สุภา” (ผู้มีความงาม) [ส่วนคำว่า กัมมารธิดา (หมายถึงธิดาของช่างทอง) ] เมื่อท่านเจริญเติบโตแล้ว เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงราชคฤห์ ท่านจึงได้เข้าไปเฝ้าพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าท่านเป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้า จึงทรงแสดงธรรม คือ อริยสัจจธรรมที่พอเหมาะแก่อัธยาศัย จากการฟังพระธรรมในครั้งนี้ทำให้ท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อมาท่านเห็นโทษของการอยู่ครองเรือนและโทษของกาม จึงออกบวชในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ดำรงมั่นในศีลของภิกษุณี อบรมเจริญปัญญาเพื่อมรรคเบื้องสูงขึ้นไป เมื่อพวกญาติมาหาท่านพร้อมกับแสดงทรัพย์สมบัติเป็นจำนวนมากเพื่อเชื้อเชิญให้ท่านกลับมาบริโภคกาม ท่านจึงได้แสดงโทษของกามประการต่างๆ มากมาย (ตามที่ปรากฏในคาถา) โดยที่ไม่รับคำเชื้อเชิญของพวกญาติเลย ท่านอบรมเจริญวิปัสสนา ไม่นาน (คือบวชได้ ๘ วัน) ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และเมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงได้กล่าวคาถา ตามที่ปรากฏในพระสูตรนั่นแล.
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...