ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗๓
~ ถ้าจิตไม่ได้รับการขัดเกลา กิเลสกำเริบแน่
~ ปัญญา ไม่นำพาไปในทางชั่ว ไม่นำพาไปในทางเบียดเบียน
~ บวช เพื่อความสบาย ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย
~ ก่อนบวชต้องรู้ธรรม และรู้จุดประสงค์ด้วย ต้องประพฤติตามพระวินัยด้วย ขัดเกลากิเลสด้วย ศึกษาธรรมด้วย
~ การบวช ถ้าไม่ใช่เพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่อนุโมทนา
~ ภิกษุใดก็ตาม ที่ทำผิดแล้ว ไม่สำนึก นั่น ไม่ใช่ภิกษุ ไม่รู้เลยว่า บวชทำไม ไม่รู้เลยว่า บวชเพื่อศึกษาพระธรรม ไม่รู้เลยว่า บวชเพื่อขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ทั้งหมดที่คฤหัสถ์เห็น ซึ่งไม่ใช่การขัดเกลากิเลส นั่น ไม่ใช่ภิกษุ
~ เป็นพระภิกษุ โดยไม่ศึกษาธรรม ไม่ได้ เพราะเหตุว่า จะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจธรรม ความเข้าใจธรรมเท่านั้น ที่จะขัดเกลากิเลสได้ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก จะรักษาพระวินัย ไม่ได้
~ พระภิกษุ ขัดเกลากิเลส ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับเงินทองเลยทั้งสิ้น เป็นเรื่องของความสงบจากอกุศลทั้งหมด
~ พระภิกษุทุกรูป ต้องสำนึกตั้งแต่ก่อนบวช ว่า บวชเพื่อขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต
~ พระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด คำสอนที่สอนให้ติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือในบุคคลใด นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจในเหตุในผล อกุศลเป็นอกุศล เป็นโทษ กุศลเป็นกุศล ไม่เป็นโทษ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วก็น้อมไปที่จะละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ใช่ยังเป็นผู้ที่แข็งกระด้าง ว่ายาก ไม่ว่าพระธรรมจะว่าอย่างไรแต่ใจยังต้องการที่จะเป็นอกุศลต่อไปอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังพระธรรม
~ สังสารวัฏฏ์ฎ์ยืดยาว จนกระทั่งว่าทุกคนเคยเป็นทุกอย่าง แต่ว่าไม่ซ้ำกัน เพราะเหตุว่าภพหนึ่งชาติหนึ่งสั้นมาก และก็จะไม่ย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีก
~ สังสารวัฏฏ์ ยังเป็นไปตราบใดที่ยังมีกิเลส
~ โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี แต่ว่าใครจะละโลภะ โทสะ โมหะได้ในเมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้นถึงขั้นที่จะละได้
~ ความทุกข์เป็นของใครในขณะที่กำลังโกรธ
~ การอบรมเจริญปัญญา ต้องสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับหยดน้ำที่ตกลงไปละหยด ในที่สุดก็สามารถเต็มตุ่มได้ แม้จะเป็นการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ก็ยังดีกว่า ไม่มี เลย
~ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม อวิชชายิ่งจะเพิ่มมากขึ้น
~ ความเข้าใจ น้อยมาก เทียบส่วนไม่ได้เลยกับอกุศล
~ อกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้เลย
~ เมื่อมีเหตุคืออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะพาไปไหน อกุศลกรรมพาไปสู่สุคติไม่ได้เลย มีแต่จะนำพาลงไปสู่ที่ต่ำ คือ อบายภูมิเท่านั้น
~ เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศลกรรม แล้ว ยังจะกระทำอกุศลกรรม อีกหรือไม่? ถ้ากระทำ นั่น ไม่ใช่ปัญญา ขณะที่กระทำอกุศลกรรม จะเป็นปัญญาไม่ได้
~ โลภะเกิดในขณะใด ก็ผูกพันกับสิ่งนั้น ติดข้องในสิ่งนั้น ทำให้กุศลจิตเกิดไม่ได้ และผูกพันไว้ในสังสารวัฏฏ์อีกด้วย
~ อกุศล จะมาก จะน้อย ก็คืออกุศล ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย
~ หนีธรรมไม่พ้น แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมจนกว่าจะได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ
~ อุตส่าห์ตั้งใจเดินทางออกจากบ้านมาเพื่อฟังพระธรรม แต่กลับมาคิดถึงเรื่องอื่น (หรือคุยกัน,นั่งหลับ) ไม่ได้ใส่ใจถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง น่าเสียดายมาก
~ ปัญญาเป็นแสงสว่างที่จะนำทางชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง
~ ปัญญาเท่านั้น ที่จะทำให้เป็นผู้ละเอียด และรู้ถึงความควรและไม่ควร มากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน
~ บุญ (สภาพธรรม ที่ชำระจิตให้สะอาด) ไม่ยากเลย เพียงฟังพระธรรมเข้าใจ ก็เป็นบุญแล้ว ขณะ (ที่ฟังพระธรรม) นี้ จึงเป็นโอกาสของบุญจริงๆ
~ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงธรรมให้คนอื่นเป็นคนชั่ว หรือ เป็นคนเลว แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังเองที่ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง หนักแน่นในการที่จะเป็นคนดี แต่ว่าจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นด้วย
~ อยากเจริญเมตตาไหม หรืออยากจะท่อง วันหนึ่งท่องมาก แต่ว่าไม่เมตตาเลย หรือว่าไม่ต้องท่อง แต่คิดถึงใครก็คิดด้วยจิตที่เมตตา และก็คิดแต่ประโยชน์ที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น แล้วเวลาที่พบกัน ก็ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทาย มีปฏิสันถาร (ต้อนรับ) เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยากไหมหรือไม่ยากเลย ง่ายมาก อันนี้ต้องแล้วแต่จิตใจของแต่ละบุคคล แต่ว่าพระธรรมเริ่มจะส่องเป็นกระจกอย่างดีที่จะเห็นทุกซอกมุมของจิตใจของตนเองว่า เป็นบุคคลประเภทใด แต่ต้องเป็นผู้ตรงด้วย
~ ลักษณะของเมตตาพรหมวิหาร คือ อโทสเจตสิก (ความไม่โกรธ) เป็นสภาพธรรมที่ระงับพยาบาท เกิดร่วมกันไม่ได้เลย ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นรู้ได้ว่า ไม่เมตตาจึงโกรธ และขณะใดที่เมตตา ขณะนั้นรู้ได้ว่า เป็นสภาพจิตที่ห่างไกลกับความโกรธ ลักษณะของเมตตาเป็นสภาพที่เป็นมิตร เวลาเห็นมิตรรู้สึกอย่างไร ดีใจได้พบกัน มีความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคย ไม่มีภัยไม่มีอันตรายอะไรเลย นั่นคือสภาพลักษณะของเมตตา ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ
~ ในที่สุด ทุกคนก็จะต้องหายไปจากโลกนี้แน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ระหว่างที่ยังไม่หายไปนี้ ทำอะไร?
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗๒
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...