ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๐
~ ไม่ว่าภิกษุในครั้งพุทธกาล มีชีวิตในเพศบรรพชิตอย่างไร ตามพระธรรมวินัย ภิกษุทุกยุคสมัยต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย
~ กล้าที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะไม่ผิด
~ การกล่าวถึงสิ่งที่ผิดว่าผิด การกล่าวถึงสิ่งที่ถูกว่าถูก เป็นการอนุเคราะห์คนอื่น ด้วยความเป็นมิตรด้วยความหวังดีที่จะให้เขาเข้าใจได้ถูกต้องว่าอะไรถูก อะไรผิด
~ ถ้าใครสักคนหนึ่งมีโอกาสที่จะพ้นภัยจากความไม่รู้และประพฤติผิดทั้งทางธรรมและพระวินัย แล้วเราสามารถให้เขาเข้าใจถูกได้ ไม่ต้องตกลงไปในเหว ไม่ต้องสะสมความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลายมากมายเพิ่มขึ้นอีกตลอดชาติ จะดีไหมที่เราได้มีโอกาสช่วย แม้สักคนเดียว แต่ถ้าช่วยได้มากๆ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ ที่เราจะต้องช่วยกันทุกคน
~ มงคล ไม่ต้องคอย ไม่ต้องรอเมื่อไหร่จะสิ้นปี เพราะ ความดี ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความดีใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้น เป็นมงคล
~ ไหนๆ มา ตั้งใจจะสวดมนต์ ซึ่งพูดคำที่ไม่รู้จัก ก็สนทนาธรรมให้เข้าใจดีกว่าจะเป็นประโยชน์กว่าและเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย ทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมงคลจริงๆ ไม่ใช่สวด มงคลจริงๆ คือ ฟังธรรม มงคลจริงๆ คือ สนทนาธรรม เพราะฉะนั้น ที่กำลังกระทำอยู่และคิดว่าเป็นมงคล คือ จะสวดมนต์ให้เป็นมงคล นั่น ไม่เป็นมงคล แต่สนทนาธรรม เป็นมงคล และ ฟังธรรมก็เป็นมงคล แม้แต่ มงคล คืออะไร? มงคล คือ สิ่งที่นำความเจริญมาให้ อกุศล นำความเจริญมาให้ไหม? ไม่เลย เพราะเหตุว่าอกุศลต้องนำมาแต่ความเสื่อม มงคลคือสิ่งที่นำความสุขความเจริญมาให้ ความเจริญต้องเป็นกุศลธรรม และความสุขต้องเกิดจากกุศลธรรม
~ ถ้าจะทดแทนพระคุณมารดาบิดา ไม่บวช ทดแทนพระคุณมารดาบิดาได้มากกว่ามากทีเดียว ทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่ถ้าบวชเป็นพระภิกษุ ต้องถูกจำกัด (ด้วยพระวินัย)
~ ถ้ารู้จักว่าพระภิกษุคือใคร จะไม่มีผู้ใดให้เงินแก่พระภิกษุเลย ไม่ใช่เงินอย่างเดียว ทรัพย์สินเงินทองทั้งหมด ไม่ควรแก่ผู้ที่เป็นภิกษุ เพราะเหตุว่า ภิกษุคือผู้ที่สละความติดข้องในชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหมด สละทรัพย์สมบัติ สละมารดาบิดาวงศาคณาญาติ ความรื่นเริงอย่างคฤหัสถ์ สู่เพศที่สงบ
~ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูก กล้าพูดไหม ถ้าพูดสิ่งที่ถูก ผิดอย่างไร เป็นโทษอย่างไร คนฟังแล้วเข้าใจถูก เป็นประโยชน์หรือเปล่า?
~ กล้าที่จะทำผิด กิเลส (สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง) แน่ กล้าที่จะผิดต่อไป ก็เป็นกิเลส
~ ถึงเวลาที่จะให้ทุกคนที่ไม่รู้พระธรรมวินัยได้เข้าใจถูกต้องว่าอะไรถูก อะไรผิด เมื่อเป็นผู้ที่ตรง ก็จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำสิ่งที่ถูกต้อง คือ สิ่งใดที่ผิดจากพระธรรมวินัย ก็ไม่ส่งเสริม ทุกคนถ้าเข้าใจถูก ก็พูดถูก ทำถูก
~ บวชนาน แต่ไม่เข้าใจธรรมเลย ไม่ใช่เถระ บวชนานแต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ไม่ใช่เถระ
~ พระภิกษุ ไม่มีเงินทอง เพราะสละเงินทอง แล้ว ก่อนบวช
~ การเข้าใจธรรมอย่างเดียว ที่จะดำรงรักษาพระศาสนาทั้งพระธรรมและพระวินัย ไว้ได้
~ ทั้งหมดที่เป็นพฤติกรรมที่มองเห็นที่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย เพราะพุทธบริษัทไม่เข้าใจพระธรรม
~ กิเลสของท่านมีมากมายเหลือเกิน เมื่อท่านรู้ว่า กิเลสของท่านช่างมาก มีทั้งอย่างบาง อย่างเบา อย่างละเอียด อย่างแรง เป็นไปตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วว่า ปัญญาช่างน้อยเสียเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้สะสมอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นที่จะละกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
~ ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก แล้วกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ก็จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ประการที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
~ พระธรรมทั้งหมดเพื่อจะให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าทรงแสดงเรื่องของความโกรธ ก็ขอให้พิจารณาตัวของท่านว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน ถ้าโกรธลึก โกรธนาน ฝังใจจดจำ ซึ่งไม่ดี ก็จะตื้นขึ้น ด้วยการที่เกิดปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ นอกจากนั้นไม่มีหนทางอื่น
~ สิ่งใดที่เป็นอกุศลที่เกิดแล้ว ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็ตั้งต้นเสียใหม่ ถ้าคิดอย่างนี้ได้ ก็จะปลอดโปร่งใจมากทีเดียว ก็จะละคลายความกังวลที่เป็นอกุศล แล้วสืบต่อมาอาจจะเป็นแรมวัน แรมเดือน หรือบางคนอาจจะถึงแรมปี ถ้าคิดไม่ได้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิดแล้วก็ตั้งต้นเสียใหม่
~ ทุกชีวิตที่เกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติไม่แน่นอนเลย มีการเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นช่วงเวลาของอกุศล ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้การสะสมของกุศลและอกุศล ว่า ในกาลไหนจะเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก และในกาลไหนจะเป็นปัจจัยให้กุศลประเภทใดเกิดมาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรประมาทในการเจริญกุศล
~ ถ้ารู้จักตัวเองว่า อวิชชา (ความไม่รู้) ต้องมีมาก และขณะนี้กำลังสะสมวิชชา (ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เพื่อจะให้มีกำลังที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการเข้าใจลักษณะของธรรม ก็ไม่มีวิชชาที่จะละอวิชชาคือความไม่รู้
~ การที่จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือฟังพระธรรม พิจารณาให้เข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตามในเพศของคฤหัสถ์
~ ถ้าโกรธ เป็นอกุศล สามารถที่จะรู้ได้ไหมว่า เพราะมีอวิชชาจึงโกรธ หรือพอโกรธก็ยิ่งโกรธขึ้น เพราะว่าปัญญาไม่ได้เกิดเลย ไม่ได้พิจารณาเลยว่า ความโกรธที่เกิดขึ้นนี้มาจากอะไร มีอะไรเป็นมูล มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด มีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิด ถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน
~ ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี, ธรรมที่เป็นกุศล ไม่ใช่ธรรมที่เป็นอกุศล นี่ก็จะต้องเห็นประโยชน์แล้วใช่ไหมว่า เป็นประโยชน์ที่จะต้องเข้าใจธรรมที่เป็นกุศลโดยถูกต้อง และต้องเข้าใจธรรมที่เป็นอกุศลโดยถูกต้อง
~ เมื่อมีกาย มีวาจา มีการที่จะต้องกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้ากระทำในทางที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าเพียงผิดนิดเดียว ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นอกุศล
~ เห็นคุณค่าของการเป็นผู้มีจิตเหมือนผ้าเช็ดธุลีไหม? มีความอ่อนน้อม ไม่มีมานะ ไม่มีความสำคัญตน ถ้าเป็นผ้าเช็ดธุลีได้เสมอๆ ก็เป็นความสบายใจ ไม่ว่าใครจะประพฤติต่อท่านด้วยกาย วาจาอย่างไร ไม่เดือดร้อนเลย เพราะว่าไม่ถือตนว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญ
~ ตราบใดยังเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของพระธรรม แม้ว่าชาตินี้อาจจะได้เข้าใจธรรมขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่ถูก ต่อไปข้างหน้าก็จะไม่หลงผิด ไม่ไปทางผิด และก็รู้ว่าสามารถอบรมเจริญปัญญาต่อไปได้
~ กุศล กับ อกุศล ก็มีความแตกต่างกัน ถ้าใครก็ตามที่สละกุศล สละความถูกต้อง นั้น แสดงว่าเป็นเพราะความไม่รู้ ไม่เห็นคุณของกุศล แต่ถ้าใครก็ตามที่สละอกุศลเพื่อเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นก็เป็นเพราะการเป็นผู้เห็นคุณของกุศล เห็นคุณของความดีประการต่างๆ
~ เป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะนำไปสู่ทางแห่งความไม่รู้
~ สิ่งเดียวที่จะทำให้จิตพ้นจากโทษ พ้นจากความเศร้าหมอง พ้นจากกิเลส ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗๙
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...