ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๑
~ สิ่งใดที่ผิดควรจะรักษาไว้ไหม? ไม่ควรอย่างยิ่ง
~ สิ่งที่จะนำไปสู่นรก คือ อกุศลกรรม
~ พระพุทธเจ้า พุทธะ คือ ปัญญา ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้เกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่การที่จะไปนั่ง ไปเดิน ไปยืน ไปนอน ทำขึ้นมา ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะให้ไม่รู้ ไม่ใช่ให้เข้าใจถูกต้อง
~ ที่ให้คนเข้าใจถูกต้อง ว่า "ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง" ผิดหรือถูก? (ถูก) , มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหรือเปล่า? (มี) เป็นสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง แล้วใครกล้าที่จะเปลี่ยน เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ว่า ชีวิตที่ไม่สงบมาจากการรับเงินและทอง เพราะเหตุว่าการสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ก็แสดงอยู่แล้วว่า บรรพชาอุปสมบท คือ เป็นผู้ที่สละทุกอย่างที่จะทำให้ไม่สงบ เพราะฉะนั้น เงินทอง เป็นจุดเริ่ม ของการที่จะมีความประพฤติที่เต็มไปด้วยกิเลสและไม่สงบ
~ ถ้าเป็นสิ่งที่ผิด ควรเลิกไหม หรือจะให้ผิดต่อไป? ควรเลิก
~ ทั้งหมดที่วุ่นวาย ไม่สงบ เพราะอกุศลธรรม
~ เป็นโอกาสที่มีค่า ที่เกิดมาชาติหนึ่งได้ฟังธรรม ได้สะสมความเข้าใจเพื่อเป็นคนดียิ่งขึ้น แล้วไม่เป็นโทษเป็นภัยกับใครแม้แต่กับตนเอง
~ ทุกคนต้องตายทั้งนั้น แต่ขอให้เห็นถูกในโทษของอกุศล จนไม่ทำอกุศลกรรม
~ คนชั่วเหมือนคนที่ตายแล้ว แม้มีทรัพย์สมบัติมาก แล้วไม่ได้แจกจ่ายทรัพย์สมบัตินั้นเลย แล้วตายไปจะลุกขึ้นมาแจก ไม่ได้
~ ไม่ว่าใครจะกล่าวความจริงและคำจริงใดๆ ทุกคำนั้นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะรู้ความจริงนั้นๆ เมื่อรู้ความจริงนั้นแล้ว ก็แล้วแต่แต่ละท่านว่า สามารถกล่าวคำจริงนั้นด้วยการสะสมมาที่จะเข้าถึงความจริงนั้นโดยลักษณะที่หลากหลายต่างกันอย่างไร จึงมีคำของพระเถระและพระเถรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า คำจริงทั้งหมดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าใครจะกล่าวในยุคใด สมัยใด
~ เมตตาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า อภัยได้ไหม เรื่องที่ไม่น่าอภัยมีเยอะ แต่อภัยได้ไหม แล้วจะอภัยหรือไม่อภัย ยังดื้อไม่อภัย หรือรู้ว่า ดื้อไปทำไม โทษอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ที่คนที่เราไม่อภัย แต่อยู่ที่ความไม่อภัยของตนเอง
~ โอกาสที่ประเสริฐสุด คือ แต่ละหนึ่งขณะที่มีโอกาสได้ฟังความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แล้วจะรู้จริงๆ ว่า สิ่งนี้ไม่ได้รู้โดยง่าย ผู้ที่จะรู้ได้ไม่ใช่บำเพ็ญความดีในเวลาสั้นๆ แล้วจะรู้ได้ แต่ต้องอาศัยการรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตรงต่อธรรม แล้วก็รู้ว่า หนทางเดียวที่สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงที่เคยหลงยึดถือว่า เที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มั่นคงแม้ในขณะนี้ ก็ต่อเมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงเมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว
~ อกุศลของใครก็ของคนนั้น คนนั้นน่ารังเกียจเพราะเหตุว่ามีธรรมที่เป็นอกุศลที่สะสมมามาก เพราะฉะนั้น กายวาจาของเขาก็ต้องเป็นไปตามการสะสม
~ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็มีโอกาสได้รู้ว่า กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล
~ คนที่ไม่รู้ คนที่มีอกุศล น่าสงสารไหม หรือจะโกรธเขาดี ถ้าสามารถจะช่วยคนนั้นให้เป็นคนดีสักนิดหนึ่ง พร้อมจะทำทันทีไม่รีรอเลย เพราะความดีเป็นสิ่งที่หายากมาก โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ยาก เกิดก็น้อย
~ ธรรมเป็นเรื่องตรง และเป็นเรื่องอุปการะทุกชีวิตที่สามารถเจริญขึ้นในกุศลธรรม ด้วยปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเข้าใจไม่ถูกต้องเพราะไม่รู้ ก็ทำทุกอย่างด้วยความไม่รู้ เพราะด้วยความไม่รู้จึงเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นอกุศลประเภทต่างๆ บ้าง
~ บุญ ไม่ใช่อยาก อยากเมื่อใด ไม่ใช่บุญเมื่อนั้น
~ ไม่มีทรัพย์สินเงินทองใดๆ เลย ก็เป็นบุญได้ เพราะบุญต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ธรรมฝ่ายดี จิตใจที่ดีงามเกิดเมื่อไหร่ แสดงความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ เช่น เคารพต่อปูย่าตายาย ขณะนั้นไม่มีเงินเลย ก็เป็นบุญแล้ว เพราะฉะนั้น บุญคือธรรมแน่นอน คือ เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งนั้นเป็นธรรมฝ่ายดีด้วย ไม่มีความโกรธ ไม่มีความติดข้องขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นบุญ
~ พระธรรมทั้งหมดเพื่อไม่ประมาท เพื่อเข้าใจถูกว่า กิเลสมีมาก และการค่อยๆ เข้าใจธรรม เป็นหนทางเดียวที่ทำให้สามารถละกิเลสได้ ถ้าใครคิดว่า ละได้โดยไม่เข้าใจธรรม ผู้นั้นเข้าใจผิด
~ ถ้าทำดีแล้วปลอดภัยแน่นอน ไม่มีสิ่งที่ทำให้เดือดร้อนใจด้วยประการใดๆ เลยทั้งสิ้น
~ ให้โดยไม่ผูกพัน หมายความว่า ให้แล้วไม่หวังอะไรเลย ไม่หวังจากคนที่ได้รับเลย ไม่มีความผูกพันว่า จะได้รับความสนิทสนม หรือว่าจะได้รับความคุ้นเคยต่างๆ นั่นจึงจะเป็นการให้โดยไม่ผูกพัน เพราะเหตุว่าเป็นการให้ที่แท้จริง เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลนั้น
~ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้คนซึ่งอยู่ในความมืดไม่เคยเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เลย ได้มีความเห็นที่ถูกต้อง ค่อยๆ ละความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย มิฉะนั้นแล้ว การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเพื่อประโยชน์อะไร?
~ ยากแสนยากต่อการสละเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นแต่เพียงการค่อยๆ ห่างออกจากกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ด้วยปัญญาและสติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรม) เพราะเหตุว่าถึงแม้จะออกจากเรือนไปสู่เพศบรรพชิต แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะเหตุว่าไม่สามารถออกจากกาม คือ ความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นการที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะออกจากบ้านไปสู่เพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยมุ่งตรงต่อพระวินัย เพราะเหตุว่าการเป็นบรรพชิตนั้น ไม่ใช่เพียงการอุปสมบท แต่ต้องเป็นผู้มีจิตมุ่งตรงที่จะรักษาพระวินัยบัญญัติ คือ ข้อควรประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต
~ ผู้ที่สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ก็ต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติ คือ บวชแล้วก็ศึกษาพระธรรมและประพฤติตามพระวินัย ไม่ใช่ว่าใครอยากจะทำอะไรก็ได้ รับเงินรับทองก็ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด
~ พ่อแม่ทุกคนหวังอย่างเดียว คือ ให้ลูกเป็นคนดี มีใครอยากให้ลูกเป็นโจรบ้างไหม? มีใครอยากให้ลูกทุจริตบ้างไหม? มีใครอยากให้ลูกโกหกบ้างไหม? มีใครอยากให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่ดีบ้างไหม? เมื่อจะตอบแทนคุณ ก็ทำดี ดีกว่าบวชแล้วทำไม่ดี เพราะฉะนั้น บวชไป ไม่ได้ตอบแทนคุณ เพราะเหตุว่า ทำผิดพระวินัย
~ ถ้าไม่โกรธจะดุร้ายไหม? เพราะฉะนั้น ใครที่ดุ ให้ทราบว่าเพราะความโกรธ จึงเป็นคนดุ ลักษณะของโทสะต้องเป็นลักษณะที่ดุร้าย
~ เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ไม่ได้บังคับให้อะไรเกิดได้ แต่ความเข้าใจยิ่งขึ้นก็จะค่อยๆ ทำให้อกุศลเบาบางลง เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย จะโกรธใคร มีประโยชน์กับใคร แม้แต่ตัวเอง มีประโยชน์หรือเปล่า? (ความโกรธ ไม่มีประโยชน์เลย) จิตเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริง ก็จะมีเมตตาแทน
~ ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไรต่อท่าน หรือแม้แต่เพียงการที่จะนึกถึงคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังแม้นานมาแล้ว เป็นการที่จะทดสอบได้ว่า แม้ในขณะนั้นจิตที่คิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศลยังโกรธ ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ได้เจริญขันติ (ความอดทน)
~ ไม่ใช่ว่าเพียรผิดๆ ก็ควรจะเพียร แต่ต้องระวังอย่างมากที่สุด ว่า ต้องไม่เพียรผิด เพราะว่าบางท่านเพียรมากที่จะปฏิบัติธรรม แต่ว่าไม่ได้พิจารณาข้อปฏิบัตินั้นว่า สมควรแก่การที่จะเพียรหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความเห็นผิด เมื่อเพียรไป ผลที่ได้ก็คือความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก
~ การตอบแทนคุณ ไม่ใช่ให้ประพฤติชั่ว การตอบแทนคุณโดยประพฤติชั่วไม่ใช่การตอบแทนคุณ ต้องเข้าใจถูกต้องด้วย ความดีคือคุณ เพราะฉะนั้น จะตอบแทนคุณก็คือทำความดีตอบ ไม่ใช่ไปทำความชั่วตอบ
~ อธิษฐาน หมายถึงความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล เพราะเหตุว่าจิตใจของคน ส่วนใหญ่แล้วอกุศลทั้งนั้น เกือบทั้งวัน โอกาสของกุศลน้อยมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอธิษฐานบารมี ก็เป็นผู้รู้ตัวว่า กิเลสยังเยอะ เพราะฉะนั้น ยังจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้ว ก็จะพลาดให้อกุศลทุกที
~ ทุกท่านได้ฟังพระธรรมเพื่ออะไร ต้องรู้จุดประสงค์ว่าเพื่ออะไร? เพื่อปัญญา ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง จะไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลยที่จะคิด ที่จะรู้ ที่จะเข้าใจธรรมได้ตามความเป็นจริง
~ แม้แต่การที่จะรักษาศีล ก็ต้องรู้ว่ารักษาเพื่ออะไร ถ้าเพื่อผลหรืออานิสงส์ของศีล อันนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่ายังหวังผลที่เป็นสุข ไม่ใช่เพื่อการขัดเกลากิเลส
~ จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา เจริญกุศล ขัดเกลาอกุศล
~ กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไร ทำร้ายจิตทันที
~ ศึกษาธรรม ก็กล้าแล้วที่จะรู้ความจริงซึ่งยากที่จะรู้ได้
~ กุศล กล้าที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง
~ ประโยชน์จริงๆ ของการเกิดมามีชีวิต ก็คือ ขอให้ได้เข้าใจพระธรรม
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๐
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
~ กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไร ทำร้ายจิตทันที
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
เมตตาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า อภัยได้ไหม เรื่องที่ไม่น่าอภัยมีเยอะ แต่อภัยได้ไหม แล้วจะอภัยหรือไม่อภัย ยังดื้อไม่อภัย หรือรู้ว่า ดื้อไปทำไม โทษอยู่ที่ไหน ไม่มใช่อยู่ที่คนที่เราไม่อภัย แต่อยู่ที่ความไม่อภัยของตนเอง
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ
ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไรต่อท่าน หรือแม้แต่เพียงการที่จะนึกถึงคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังแม้นานมาแล้ว เป็นการที่จะทดสอบได้ว่า แม้ในขณะนั้นจิตที่คิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศลยังโกรธ ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ได้เจริญขันติ (ความอดทน)
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ
ไม่ว่าใครจะกล่าวความจริงและคำจริงใดๆ ทุกคำนั้นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะรู้ความจริงนั้นๆ เมื่อรู้ความจริงนั้นแล้ว ก็แล้วแต่แต่ละท่านว่า สามารถกล่าวคำจริงนั้นด้วยการสะสมมาที่จะเข้าถึงความจริงนั้นโดยลักษณะที่หลากหลายต่างกันอย่างไร จึงมีคำของพระเถระและพระเถรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า คำจริงทั้งหมดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าใครจะกล่าวในยุคใด สมัยใด
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ
พระพุทธเจ้า พุทธะ คือ ปัญญา ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้เกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่การที่จะไปนั่ง ไปเดิน ไปยืน ไปนอน ทำขึ้นมา ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะให้ไม่รู้ ไม่ใช่ให้เข้าใจถูกต้อง
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ