ไม่มีเจตนา - ถูกรถชนโดยคนขับไม่ตั้งใจ

 
ฉีฟ่งจื้อ
วันที่  30 ม.ค. 2560
หมายเลข  28580
อ่าน  2,034

เรียน ท่านวิทยากร

ผู้ที่ประสพอุบัติเหตุถูกรถชนโดยคนขับไม่ตั้งใจ เป็นเพราะอกุศลกรรมที่ได้กระทำโดยไม่เจตนาใช่ไหมครับ และอีกประการหนึ่งถ้าเราขาดความรอบคอบในการปิดประตูบ้าน ผลคือมีจิ้งจกถูกประตูหนีบตาย ถ้าในปติวัตกาลเราเกิดมาจะได้รับผลโดยผู้อื่นไม่มีเจตนาทำกับเราหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตนาเป็นกรรม ไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายผู้อื่น ก็ไม่ถือว่าเป็นกรรมที่สำเร็จ และ ไม่ให้ผล และ การได้รับผลของกรรม ก็ต้องเกิดจากกรรมที่สำเร็จแล้ว อันเกิดจากเจตนาที่ดี หรือ ไม่ดี ไม่ใช่ ไม่มีเจตนา ซึ่งขออธิบายในประเด็นนี้ดังนี้ ครับ กฏัตตาวาปนกรรม ก็เป็นกรรมเล็กน้อย ขึ้นชื่อกรรมแล้ว จะต้องมีเจตนาแต่เป็นเจตนาที่ไม่มีกำลัง ครับ หากไม่มีเจตนาที่จะให้ เช่น ให้อาหารสุนัข แต่สัตว์มากินเองเพียงแต่เราเอาไปทิ้ง ไม่มีเจตนาให้ ก็ไม่เป็น กฏัตตาวาปนกรรม และ โดยนัยเดียวกันทางฝ่ายอกุศล ก็จะต้องมีเจตนาที่ไม่ดี หากโยนของลงไปแล้วไปโดนคนอื่น ไม่มีเจตนาทำร้ายผู้อื่น ก็ไม่เป็น กฏัตตาวาปนกรรม กรรมเล็กน้อยเลย ครับ

กฏัตตาวาปนกรรม ให้ผลทั้งปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล คือ ให้ผลนำเกิดในภูมิต่างๆ ตามสมควรแก่กรรม เช่น ถ้าเป็นฝ่ายกุศลให้ผลเกิดในสุคติภูมิ ถ้าเป็นกรรมฝ่ายอกุศลนำเกิดในอบายภูมิ ส่วนในปวัตติกาล ให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายตามควรแก่กรรม เช่น การเห็นสิ่งที่ดี การได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น ซึ่งกฏัตตาวาปนกรรมเป็นกรรมที่สักว่ากระทำ เป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ เป็นทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล กฏัตตาวาปนกรรมนั้น จะให้ผลได้ก็ต่อเมื่อไม่มีครุกรรม (กรรมหนัก) พหุลกรรมห รือ อาจิณณกรรม (กรรมที่มีกำลัง หรือกระทำบ่อยๆ เสพจนคุ้น) และ อาสันนกรรม (กรรมที่กระทำเมื่อใกล้ตาย)

ดังนั้น เมื่อไม่มีกรรม ๓ อย่างนี้แล้ว กฏัตตาวาปนกรรม ก็สามารถที่จะให้ผลได้ ท่านอุปมาไว้เหมือนกับเหมือนท่อนไม้ ที่คนบ้าขว้างไป จะตกไปในที่ๆ ไม่มีจุดหมาย

ซึ่งจากที่ผู้ถามยกตัวอย่างมา มีคำตอบชัดเจนแล้วที่ท่านอาจารย์สุจินต์อธิบายดังนี้ ครับ

ถาม ในเรื่องของกรรมที่ผมเคยอ่านเคยเรียนมาเล็กน้อย เป็นคนละภาคกับที่อาจารย์บรรยายในมโนรถปุรณี เกี่ยวกับกรรม ๑๒ ประการ เรียกว่ากรรม ๑๒ และผมเคยอ่านพบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุว่า ภิกษุทั้งหลาย เราถือว่า เจตนานั้นเป็นกรรมแต่อ่านไปพบกรรมอีกจำนวนหนึ่งใน ๑๒ ประการนั้น ปรากฏว่ามีกรรมชนิดหนึ่งที่ผู้ทำปราศจากเจตนา ที่เรียกว่า กฏัตตากรรม หรือ กฏัตตาวาปนกรรม ผมเคยนำเรื่องนี้เรียนถามผู้รู้บางท่าน ท่านกล่าวว่า กรรมชนิดนี้ถึงแม้จะขาดเจตนา แต่ก็ให้ผล เพราะฉะนั้นพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย เราถือว่า เจตนานั้นเป็นกรรม ท่านยกเว้นเอากรรมตัวนี้ เพราะกรรมตัวนี้ย่อมให้ผล แม้ว่าจะขาดเจตนาก็ตาม และผู้กล่าวในธัมมสากัจฉากัน ท่านก็อธิบายยกตัวอย่างเช่น เราโยนของแข็ง จะเป็นขวดเหล้าก็ตาม ขวดเบียร์ก็ตาม โยนออกไปนอกหน้าต่าง โดยปราศจากเจตนา คนเดินผ่านมาก็ถูกสิ่งเหล่านั้นเข้า เป็นเหตุให้เขาบาดเจ็บหรืออาจจะถึงตาย สิ่งเหล่านั้นมีผล คือความเจ็บปวดหรือความตายเกิดขึ้น การตายนี้จะต้องสนองแก่ผู้กระทำ แม้ว่าผู้นั้นขาดเจตนาก็ตาม กระผมอยากจะทราบคำอธิบายโดยละเอียดในทัศนะนี้จากอาจารย์ครับ ขอบคุณครับ

สุ. ไม่มีจิตสักขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเจตนาเจตสิก เจตนาเป็นเจตสิกดวงหนึ่งซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความถึงเป็นเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขณะใด ขณะนั้นต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตขณะใด ขณะนั้นต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วม ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิตซึ่งไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันต์ คือ กิริยาจิต ซึ่งไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเจตนาจึงมีทั้งที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่เป็นวิบาก ที่เป็นกิริยา

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าเป็นกรรมที่ปราศจากเจตนา น่าจะหมายความถึง กรรมที่ปราศจากปุพพเจตนา หมายความถึง เจตนาก่อนที่จะทำกรรมนั้น เช่น ความตั้งใจที่จะทำกุศลหรืออกุศล โดยปกติที่จะกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมย่อมมีปุพพเจตนาความตั้งใจที่จะทำก่อนที่การกระทำนั้นจะสำเร็จลง เช่น คิดที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ใครเป็นกุศลนะคะ แต่ยังไม่ได้ให้ แต่ปุพพเจตนามีแล้ว แล้วก็มีการตระเตรียม เช่น การถวายภัตตาหาร ก็จะต้องมีการซื้อหา มีการจัดเตรียมปรุงที่จะถวาย เหล่านี้ก็เป็นปุพพเจตนา แต่ถ้ายังไม่ได้ถวายแม้ว่าอาหารเสร็จแล้ว จัดว่าเป็นทาน การให้ หรือยัง กุศลยังไม่สำเร็จ ใช่ไหมคะ ต่อเมื่อใด ได้มีการให้ คือ การถวายแล้ว ขณะนั้นก็เป็นมุญจนเจตนา คือ เจตนาในขณะที่กำลังทำกุศล หลังจากนั้นถ้าเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็ไม่ลืม ยังมีอปรเจตนา คือ กุศลจิตระลึกถึงกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วบ่อยๆ แล้วแต่กำลังของกรรมนั้น ถ้าเป็นกรรมซึ่งมีกำลังมาก ก็ระลึกถึงบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เกิดความปีติโสมนัสมากเท่าไร ทำแล้วก็ลืมไป เยอะแยะ เช่น ถ้าจะถามท่านผู้ฟังว่า ทำกุศลกรรมอะไรบ้าง อาจจะนึกไม่ออก ใช่ไหมคะ แต่ว่าบางกุศลกรรมก็อาจจะนึกออก

เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าเป็นกรรมที่ไม่มีเจตนา ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลจิต ในขณะนั้นหมายถึงกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปุพพเจตนา คือ ไม่มีความตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้นก่อนที่จะกระทำกรรมนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั้นไม่มีเจตนาเลย ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตทุกครั้ง

ก่อนที่จะมาฟังธรรม มีเจตนาที่จะมาหรือเปล่า มี เป็นปุพพเจตนา เมื่อมาแล้วกำลังฟัง ก็เป็นมุญจนเจตนา เป็นกุศลจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมแต่ละกรรม บางกรรมมีปุพพเจตนา มีมุญจนเจตนา มีอปรเจตนา แต่ว่าบางกรรมมีมุญจนเจตนา ไม่มีปุพพเจตนา ไม่มีอปรเจตนา แต่ที่จะกล่าวว่า ไม่มีเจตนาเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ ลองคิดดูซิคะ เจตนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักดวงเดียวซึ่งปราศจากเจตนาเจตสิก แล้วแต่ว่าเจตนานั้นจะเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา หรือวิบากเจตนา หรือกิริยาเจตนา


เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์เพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

กตัตตาวาปณกรรม

เชิญคลิกอ่านเพอิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

กฏัตตากรรม หรือ กฏัตตาวาปนกรรม

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การขับรถชนคนตาย โดยไม่มีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นตาย เป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย หรือ แม้แต่การปิดประตู หน้าต่าง โดยที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปทับจิ้งจกหรือสัตว์อื่นๆ ตาย ย่อมไม่เป็นบาป เนื่องจากไม่มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์อื่น เมื่อไม่มีเจตนาฆ่า ย่อมไม่เป็นบาป บาป ไม่มีแก่ผู้ไม่ได้ทำ แต่ก็ต้องพิจารณาว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่พ้นไปจากการกระทำกรรม และการได้รับผลของกรรม ถ้ายังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ย่อมไม่พ้นจากการกระทำกรรม ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และไม่พ้นไปจากการได้รับผลของกรรมในชีวิตประจำวันในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนา ตามสมควรแก่กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต เหตุย่อมสมควรแก่ผล ผลที่เกิดขึ้นย่อมมาจากเหตุ

ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ตามสมควรแก่เหตุ เรื่องกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด กรรมในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาแต่ละบุคคลก็ได้กระทำมาอย่างมากมายมีทั้งดีและไม่ดี กรรมดี กับ กรรมชั่ว เป็นคนละส่วนกัน

การกระทำกรรมดี และ กรรมชั่ว นั้น เป็นการสะสมกรรมใหม่ เมื่อกรรมถึงคราวที่จะให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของกรรมดี ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกรรมชั่ว ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 2 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 17 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ