ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๖
~ เมื่อมีการสะสม มีความน้อมไปในการที่จะขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิต โดยมีเจตนาที่จะอุปสมบท (บวชเป็นภิกษุ) ก็จะต้องศึกษาโดยละเอียดในเรื่องของพระวินัย เพื่อที่จะให้เป็นผู้ที่ทรงคุณธรรมสูงยิ่งขึ้น ละคลายความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ยิ่งขึ้น แล้วก็มีข้อประพฤติปฏิบัติ ที่จะทำให้ต่างกับเพศคฤหัสถ์ ซึ่งสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ยิ่งขึ้นแต่ถ้าไม่ศึกษา ถึงแม้ว่าอุปสมบทแล้ว อุปนิสัยที่สะสมมาที่เป็นคฤหัสถ์ ก็จะทำให้คงความประพฤติเช่นคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น พระวินัยทั้งหมดจึงเป็นสิ่งซึ่งแสดงความต่างกันของเพศบรรพชิตและคฤหัสถ์
~ ปัญญา ทำให้กายวาจาเป็นไปในทางที่เป็นกุศล
~ อกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโลภะ (ความติดข้อง) ซึ่งทุกคนมีมาก แต่ว่าไม่ใช่ที่พึ่ง เพราะถ้ายิ่งมีโลภะมาก ยิ่งเดือดร้อนมาก แล้วในวันหนึ่งๆ ยังไม่ค่อยจะเห็นโทษของโลภะ เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่มีโลภะมาก และบางครั้งก็คิดว่า คงจะใช้โลภะเป็นที่พึ่ง หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จลงได้ด้วยโลภะ เพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการ แต่จะเห็นได้ว่า เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว ไม่สิ้นทุกข์ แต่ว่ากลับเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) หรือสภาพธรรมใดๆ ที่เป็นอกุศล เป็นที่พึ่งไม่ได้เลย
~ ต้องเป็นคนที่ตรง ธรรมถึงยากอย่างไร ก็ช่วยกันพยายามศึกษาให้เข้าใจ ช่วยกันต่อไป ดีกว่าละเลยแล้วปล่อยให้รู้ผิดๆ หรืองมงายต่อไป
~ เมตตา มีความเป็นมิตร หวังดี พร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูล โดยไม่เลือก แต่ว่า โลภะ เป็นความติดข้อง
~ ความดีทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ขณะนั้น เป็นการสละความติดข้องในตน มากน้อยตามกำลังของอุปนิสัยที่สะสมมา แต่ว่า ผู้มีปัญญา ละความเป็นตัวตน ก็ทำประโยชน์คนอื่น มากกว่าประโยชน์ของตนเอง
~ สติจะต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ เป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในกุศลธรรม คือ ในทาน ในศีล ในความสงบของจิต และในการอบรม เจริญปัญญา ถ้าเป็นไปในเรื่องอื่น ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นสติ แม้ว่าในภาษาไทย หรือในความเข้าใจทั่วไป จะใช้คำว่าสติ ก็ตาม
~ กาย วาจา ใจ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อยากจะวางใจให้ราบเรียบ สม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
~ ปัญญา สำคัญที่สุด ควรจะอบรมปัญญาให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง จะทำกิจละคลายอกุศลให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถจะดับสนิทเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ได้ ตามกำลังของปัญญาซึ่งเจริญขึ้น
~ ถ้าใครโทสะมาก ก็มีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะให้สภาพของโทสะเกิดขึ้นบ่อยๆ และเกิดขึ้นแรง ถ้าไม่มีปัญญารู้ว่า โทสะมีลักษณะมีกำลังปรากฏอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่สามารถที่จะละคลายโทสะได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องตัวตนที่จะไปวางใจ ทำใจ หรือว่าละคลาย หรือว่าทำกิเลสให้เบาบาง แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะทำกิจนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏเสียก่อน
~ ผู้ที่เห็นโทษภัยของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมขวนขวายที่จะละให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
~ กิเลสที่มีกำลังแรงเกิดได้เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ฉันใด ปัญญาที่คมกล้า ถ้าไม่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งมีกำลังแล้วจะเป็นปัญญาที่คมกล้าได้อย่างไร
~ กุศลในเรื่องของทานก็เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยวัตถุปัจจัย จะต้องมีการตระเตรียม แต่ส่วนมากท่านผู้ฟังก็สามารถที่จะกระทำทานกุศลได้ แต่สำหรับเรื่องของความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมนั้น ลองคิดดู ไม่น่าจะยากเลย สภาพของจิตที่อ่อนโยน ไม่กระด้าง ไม่ถือตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เป็นกุศลที่ควรจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เนืองๆ แต่แม้กระนั้นสำหรับกิเลสที่ได้สะสมมามาก ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้สภาพของจิตอ่อนโยนเช่นนั้น
~ ถ้าผู้ใดได้รับฟังพระธรรม เห็นคุณจริงๆ ว่า จะมีชีวิตด้วยความผาสุกจริงๆ ที่จะไม่ให้เดือดร้อนบุคคลอื่น หรือแม้ไม่เดือดร้อนใจของตนเอง ต้องเป็นผู้ที่พึ่งพระธรรมและน้อมประพฤติตามพระธรรม ก็จะทำให้จิตใจผ่องใสปลอดโปร่ง พ้นจากความเศร้าหมองได้
~ หลงลืมและไม่ทราบถึงสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ขณะนั้นก็จะหวั่นไหวไปด้วยกำลังของกิเลส และจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เศร้าหมอง
~ ที่จะให้เกลียดชังบุคคลอื่น ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จะเป็นสุขได้อย่างไร เกลียดชังคนอื่น แล้วจะเป็นสุขได้อย่างไร
~ ผู้ที่มีกุศลหรือเป็นกุศล ในขณะนั้นเป็นผู้ดี สภาพธรรมที่เป็นอกุศลไม่ใช่สภาพธรรมที่ดี ถ้าในขณะนั้นบุคคลใดก็ตามมีอกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ผู้ดี ไม่สามารถที่จะเป็นสภาพธรรมที่ดีได้ ในขณะที่เป็นอกุศลธรรม
~ สัจจะ (ความจริงใจ) เป็นธรรมที่ส่งเสริมให้กุศลทั้งหลายเกิดขึ้น และเจริญขึ้นด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นขณะใดที่กุศลไม่เกิด และเกิดระลึกได้ ว่าเราเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะเจริญกุศล ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะทำให้กุศลเกิดได้
~ ในขณะที่อกุศลกำลังเกิด ไม่เป็นผู้ที่จริงใจที่จะละคลายอกุศล ขณะนั้นก็ปล่อยให้อกุศลเจริญขึ้น แต่ว่าขณะที่อกุศลเกิดแล้ว เป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะละคลายอกุศล ขณะนั้นกุศลก็เกิดได้
~ พระธรรมทั้งหมดที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องละ ต้องลืมไม่ได้เลย ถ้าใครคิดว่าจะต้องการ หรือจะได้ นั่นคือความเป็นเรา ความเป็นตัวตน ซึ่งทำให้ต้องการ และไม่มีวันจะถึงอะไรเลย เพราะเหตุว่าโลภะ เป็นเครื่องเนิ่นช้า แล้วก็ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
~ ทุกอย่างที่เป็นกุศล หรือ อกุศลที่เคยสะสมไว้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด เพราะฉะนั้น เวลาใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใด หรืออกุศลประเภทใดเกิด ให้ทราบว่าเพราะมีปัจจัยที่สะสมมาระดับที่จะทำให้สำเร็จกิจ คือ สภาพธรรมในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ขณะใดที่ อกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นส่องไปถึงการสะสมของเราว่าเรายังมีการสะสมที่จะทำให้อกุศลธรรมระดับนี้เกิดขึ้น
~ ถ้าเป็นการช่วยเหลือด้วยจิตที่เมตตา ไม่ว่าจะกับใคร ไม่จำกัด ความเมตตา ความหวังดี หวังประโยชน์ เกื้อกูล ขณะนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าเราอาจจะลำบาก แต่กุศลจิตก็ทำ เพราะว่า ถ้าคนคิดถึงแต่ความสบาย ทำดีลำบาก ก็ไม่ทำดีเสียเลย สบายกว่า ถ้าคิดอย่างนั้น กุศลจิตก็ไม่เกิด
~ ธรรมดา ทุกคนเกิดมา เมื่อมีร่างกายก็ต้องมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วเราไปเล่นกีฬาเหนื่อย กับ เราทำประโยชน์ เหนื่อย อย่างไหนจะดีกว่ากัน
~ ความหมายของเมตตา ง่ายๆ ก็คือ ความเป็นเพื่อน ซึ่งความเป็นเพื่อนก็หมายความว่า ผู้ที่หวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ไม่หวังร้าย ถ้าใครเป็นเพื่อนใครแล้วหวังร้าย พูดร้าย คิดร้ายทำร้าย นั่นคือไมใช่เพื่อน
~ อันตรายที่สุดคือคลุกคลีกับความเห็นผิด
~ เวลาที่มีความเห็นผิด จะเห็นผิดไปอีกนานเท่าไร ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เริ่มเห็นผิด แล้วก็สะสมความเห็นผิด จึงได้ชาตินี้มีความเห็นผิด แล้วก็ยังคงจะเห็นผิดต่อไป ถ้าไม่พิจารณาด้วยความถูกต้องจริงๆ
~ ถ้าถามว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมอะไร ถ้าไม่รู้ ผู้นั้นก็ควรพิจารณาได้ว่า เป็นชาวพุทธแล้ว หรือยัง?.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๕
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...