ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๗
~ ผิดตั้งแต่ต้น ไม่เข้าใจธรรมแล้วไปบวชทำไม
~ พระภิกษุทุกรูป ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
~ คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องมีกิจ มีหน้าที่ หน้าที่ของคฤหัสถ์ก็เป็นหน้าที่เรื่องของการที่จะดำรงชีวิตไปตามเพศของคฤหัสถ์นั้นๆ พระภิกษุที่ท่านสละอาคารบ้านเรือนบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ต้องมีกิจ ไม่ใช่ว่าบวชแล้วสบาย แต่ท่านมีกิจที่ต่างจากคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์มีกิจในการที่จะดำรงชีวิตในทางโลก เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ต่างๆ ตามสบายของคฤหัสถ์ แต่ว่าผู้ที่เห็นว่า การขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตเหมาะควรสำหรับท่านที่ได้สะสมมา มากกว่าที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศของคฤหัสถ์ ท่านก็ละอาคารบ้านเรือน ละวงศาคณาญาติ ละทรัพย์สมบัติทั้งหมด ละกิจของคฤหัสถ์ทั้งหมดเพื่อกระทำกิจของบรรพชิต เป็นกิจเฉพาะของพระภิกษุทุกรูป
~ ในครั้งก่อนเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดงธรรม เมื่อได้เสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรม และก็มีผู้ที่ได้รับฟังพระธรรม เข้าใจแล้ว รู้จักอัธยาศัยของตนเองจริงๆ ว่า ใคร่ที่จะเป็นบรรพชิต จึงได้ขออุปสมบท ไม่ใช่ว่าขอบวชก่อน แล้วฟังพระธรรมทีหลัง แต่ว่าในครั้งนั้น ได้ฟังพระธรรมก่อน ได้เข้าใจพระธรรม แล้วก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เหมาะควรแก่เพศใด มีศรัทธาที่จะละอาคารบ้านเรือนอุปสมบทเป็นพระภิกษุหรือไม่
~ ทุกท่านที่บวช (เป็นพระภิกษุ) ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า เพราะฉะนั้นก็ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุทำให้กระทำสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ อาบัติ (การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ) มีมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ศึกษาให้ละเอียด และไม่มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ก็ย่อมจะต้องอาบัตินั้นอาบัตินี้ และบางท่านก็คงจะต้องอาบัติบ่อยๆ ทีเดียว
~ ความดีง่ายๆ ทำไม่ยาก ก็คือฟังพระธรรม ยากไหม? ฟังดนตรีก็เคยฟัง ฟังอย่างอื่นก็เคยฟัง แต่ความดีที่ไม่ต้องเสียเวลาไปทำให้เหนื่อยยากเลย แค่ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่สำหรับผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์หรือไม่ได้สะสมมา ก็เป็นการยาก เพราะฉะนั้น จากคนที่ไม่มีศรัทธาแล้วก็ไม่ฟัง ก็ควรที่จะสะสมศรัทธาที่เห็นประโยชน์ของการฟัง เพื่อที่จะได้ไม่ขาดการฟัง ความดีทำง่ายมาก แค่ฟังแล้วก็สะสม แล้วเป็นความดีที่ประกอบด้วยปัญญาด้วย
~ ปัญญาอยู่ในจิต ไม่ออกไปไหนเลย ฟ้าผ่าไม่ได้ ลมพัดไม่ได้ หรือว่าแสงแดดจะทำให้มัวหมองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิต เป็นที่เก็บที่ปลอดภัยที่สุด และปัญญาจะเจริญได้ สามารถติดตามไปได้ ในเมื่ออย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติเงินทองหรือแม้ร่างกายที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา ก็ติดตามไปไม่ได้
~ สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมด ธมฺม (ธรรม) เป็นคำภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็คือ สิ่งที่มีจริง ก็ต้องมีจริงๆ เห็นมีจริงๆ ได้ยินมีจริงๆ คิดมีจริงๆ ชอบมีจริงๆ หวานมีจริง เสียงมีจริงๆ ทุกอย่างที่มีจริง เป็นจริง เปลี่ยนเป็นภาษาบาลีก็คือ เป็นธรรม สิ่งที่มีจริง ใครสามารถเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย
~ ดูรูปร่างกายเหมือนไม่มีแผลเลย สะอาดเกลี้ยงเกลาหมดจด แต่จิต ถ้าเป็นบุคคลที่ถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง เป็นผู้มากด้วยความแค้นใจ เป็นผู้โกรธ นั่นคือผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า
~ เพียงอกุศลธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า แม้อกุศลธรรมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่มากด้วย จึงเป็นผู้ที่จะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรม ซึ่งมีอยู่ในตนได้ เพราะเหตุว่ามักจะรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลอื่น แต่ว่าผู้ที่ฉลาดจะต้องเป็นผู้ที่รังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
~ ขณะใดที่จิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศล ขณะนั้นจึงเป็นกุศล แม้แต่การที่จะรักษาศีล ก็ต้องรู้ว่ารักษาเพื่ออะไร ถ้าเพื่อผลหรืออานิสงส์ของศีล อันนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่ายังหวังผลที่เป็นสุข ไม่ใช่เพื่อการขัดเกลากิเลส
~ เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ถ้าพิจารณาจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังโกรธ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ยังมีความติด ความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) เพราะฉะนั้น ถ้ามีความโกรธมาก ก็แสดงว่า ยังเป็นผู้ที่ติดมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น
~ ผู้ที่เลว คือ ผู้ที่มีอกุศลจิต แสดงให้เห็นว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด เป็นผู้เลวในขณะนั้น
~ การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคย่อมมีได้ ถ้าไม่พิจารณาพระธรรมโดยละเอียดลึกซึ้งจริงๆ เพราะเหตุว่าแม้ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็ยังเข้าใจพระธรรมผิดได้ ขณะใดที่เข้าใจผิด คิดผิด ปฏิบัติผิด คิดว่าคำสอนที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นผู้ที่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
~ ขณะที่ไม่อภัยให้บุคคลอื่น ขณะนั้นลองพิจารณาดูว่า เพราะรักตัวเองหรือเปล่า ที่ทำให้ไม่สามารถจะอภัยในความผิด หรือในความบกพร่องของคนอื่นได้ ลึกลงไปจริงๆ เป็นเพราะความรักตัว ความยึดมั่นในตัวตนหรือเปล่า การสละความเห็นแก่ตัวขั้นอภัยทาน ทำให้สละความคิดร้าย สละความแค้นเคือง สละความผูกโกรธ สละความไม่หวังดี สละความไม่เป็นมิตร สละความไม่เกื้อกูล สละความไม่มีน้ำใจต่อคนอื่น
~ การฟังพระธรรมไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรมก็ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำก็ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งทุกท่านจะต้องเจริญกุศลเป็นบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ต่อไปเรื่อยๆ
~ เช้านี้เป็นเช้าที่ดีไหม ไม่ต้องไปคิดถึงฤกษ์งามยามดีทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับกุศลจิตเกิดขณะใด ในตอนเช้าก็เป็นเช้าดี ในตอนกลางวันก็เป็นกลางวันดี ในตอนเย็นก็เป็นเย็นดี แต่ว่าต้องเป็นผู้ละเอียด อย่าคิดเพียงเรื่องทานกุศลอย่างเดียว ว่าได้กระทำแล้วตอนเช้า ได้กระทำแล้วตอนกลางวัน หรือว่าได้กระทำแล้วในตอนเย็น แต่กาย วาจา และใจด้วย ที่จะต้องพิจารณาว่า เช้านี้เป็นเช้าดีหรือเปล่า ทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ
~ เมื่อมีกาย มีวาจา มีการที่จะต้องกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้ากระทำในทางที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าเพียงผิดนิดเดียว ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล
~ พระธรรมที่เป็นมงคลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงประการแรกสุด มงคลประการที่ ๑ คือ เว้น ไม่คบคนพาล เพราะเหตุว่าใครจะประมาทอย่างไรก็ตามว่าเก่ง ว่าเลิศว่าดี แต่อาศัยการสมาคม การคุ้นเคยทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดแม้ความเห็นก็เปลี่ยนไปได้ การกระทำต่างๆ ก็เปลี่ยนไปได้เหมือนกัน มิฉะนั้น จะไม่ทรงแสดงมงคลข้อที่ ๑ เลย คือ เว้น ไม่คบคนพาล
~ ทุกท่านมีพระธรรมเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) เพื่อที่จะให้เห็นโทษและเห็นกิเลสของตนเอง เพราะเหตุว่าคนอื่นจะชี้โทษของคนอื่นหรือชี้โทษของตนเองได้ไหม ไม่มีใครทราบว่า ท่านผู้ใดได้กระทำกรรมที่ไม่ดีอย่างไรบ้าง มีอกุศลจิตอย่างไรบ้าง แต่พระธรรมที่ได้รับฟังทุกวันๆ ถึงความละเอียดของสภาพของจิต แล้วก็ชี้ให้เห็นว่า อกุศลเป็นโทษอย่างไร กุศลต่างกับอกุศลอย่างไร และอกุศลมีมากมายโดยละเอียดเป็นประเภทๆ อย่างไร
~ ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม รู้ไหมว่า จิตนี้ไม่สะอาดเลย เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ วันหนึ่งๆ หัวหน้าใหญ่ก็ไม่พ้นจากโลภะ โทสะ และโมหะเป็นพื้นอยู่ ถ้าไม่เข้าใจธรรมเลย ก็ยิ่งสะสมทับถมทวีคูณ เพิ่มขึ้นในเรื่องของความดำ ความไม่สะอาด ความมืดสนิท
~ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วพระองค์จะทรงห้ามหรือ? นอกจากจะแสดงความจริงให้คนฟังเข้าใจด้วยตัวเอง แล้วค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นตามความเห็นถูก
~ การฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริง เพื่อสามารถละอกุศล จนกระทั่งดับหมดได้เมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมละเอียดขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ก็ยังระลึกได้ในสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจธรรม
~ เริ่มจากความเข้าใจถูกว่า ทุกอย่างที่มี ไม่มีใครบันดาลให้เกิดขึ้นเลย ต้องมีปัจจัยเฉพาะสิ่งนั้น เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป ไม่เป็นของใครเลย
~ ทุกคนที่เกิดมาแล้ว มีใครบ้างที่ไม่ตาย ตายวันไหนรู้ได้ไหม อาจจะเป็นเดี๋ยวนี้ได้ไหม แล้วก็มีความรู้อะไรบ้าง ตั้งแต่เกิดจนตายที่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยการไม่รู้ความจริงเลย กล่าวได้เลย ว่า ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
~ ผู้ที่ได้สะสมศรัทธาและเห็นประโยชน์ของการฟัง ก็เป็นผู้ที่มีปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วก็มีศรัทธาที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น
~ ขณะใดก็ตามที่เป็นคนดี คนอื่นไม่อนุโมทนา ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าใครอนุโมทนาก็เพราะว่า เขารู้ว่าสิ่งใดดีและใครทำดี เขาก็อนุโมทนาในความดี
~ ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และทรงแสดงอะไร ไม่มีทาง นั่งเฉยๆ อยู่ดีๆ แล้วคิดว่าจะรู้พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปไม่ได้
~ ปัญญาก็สามารถทำให้เข้าใจถูกต้องว่า อกุศลเป็นโทษแน่นอน ในขณะที่อกุศลเกิดทำร้ายใคร? ทำร้ายจิตที่กำลังเป็นอกุศลในขณะนั้น แล้วยังทำร้ายต่อไปถึงคนอื่นอีกมากมายตามกำลังของอกุศลนั้นๆ
~ อกุศลธรรมนั้นมีโทษ แม้จะเป็นอกุศลธรรมเพียงเล็กน้อยก็มีโทษ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ก็จะสะสมเพิ่มพูนขึ้น จนกระทั่งมีกำลังกล้า สามารถที่จะกระทำอกุศลกรรม ได้ ควรจะกลัวกิเลสของตนเองซึ่งมีกำลัง ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมนั้นๆ
~ ขณะใดที่กุศลมีกำลัง ขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ แต่กำลังก็ต้องค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้น แม้แต่กำลังที่จะมาฟังธรรม มีแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดที่ไม่ได้มาฟังธรรม หรือ ไม่ได้ฟังธรรม อะไรมีกำลัง ก็คือ อกุศลมีกำลัง แล้วทั้งกุศล และ อกุศล มาจากไหน ก็ต้องมาจากการที่ค่อยๆ เกิดค่อยๆ มี เพิ่มมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
~ ผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ ผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ จึงจะไม่เบียดเบียนตนเองและก็ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น
~ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำนี้เปลี่ยนไม่ได้
~ พูดผิดแล้วคนอื่นเชื่อ เป็นโทษไหม แล้วยังชักชวนให้คนอื่นเชื่อตามอีก เป็นโทษไหม?
~ ถ้ามีความเห็นผิดแล้ว ไม่ทิ้งความเห็นผิดนั้น ก็จะสะสมความเห็นผิดติดตามไปทุกภพทุกชาติ
~ ฟังธรรมเดี๋ยวนี้ เพื่อขัดเกลาจิตจากความไม่รู้ ให้เป็นความรู้ขึ้น
~ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เร่งรัดให้หมดกิเลส
~ ก้าวแรกของการที่จะศึกษาพระธรรมต้องจริงใจ และต้องไตร่ตรอง คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้ ต้องค่อยๆ ศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
~ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เป็นโทษกับใครเลย.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๖
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบบูชาพระคุณของท่านอาจารย์ฯ
ผู้เป็นเสมือนกัลยาณมิตร เป็นผู้แนะขุมทรัพย์
รู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้ศึกษาธรรมผ่านการฟังการสนทนาธรรมของท่านอาจารย์ฯ เพื่อความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้น เป็นโชคดีที่ล้ำค่าในขณะหนึ่งแห่งสังสารวัฎโดยแท้จริง
ขออนุโมทนาในกุศลของอ. คำปั่นและอาจารย์ทุกๆ ท่านด้วยครับ