ความสามัคคีเป็นธัมมะอย่างไร

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  20 ก.พ. 2560
หมายเลข  28635
อ่าน  964

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนขอคำอธิบายค่ะ ว่า ความสามัคคีเป็นธัมมะอย่างไร ในพระไตรปิฎกและคำบรรยายของ ท่านอจ.สุจินต์ มีแสดงไว้อย่างไรบ้างคะ ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ก.พ. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 623

ว่าด้วยสามัคคี ๓ อย่าง

[๒๑๑] คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพนั้นว่า เป็นความพร้อมเพรียง มีความว่า คำว่า ความพร้อมเพรียง ได้แก่ สามัคคี ๓ อย่าง คือ

คณะสามัคคี ๑

ธรรมสามัคคี ๑

อนภินิพพัตติสามัคคี ๑

คณะสามัคคีเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลายแม้มาก พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดังน้ำเจือด้วยน้ำนม แลดูกันและกันด้วยจักษุเป็นที่รักอยู่ นี้ชื่อว่า คณะสามัคคี.

ธรรมสามัคคีเป็นไฉน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านั้นย่อมแล่นไป ผ่องใส ประดิษฐานด้วยดี พ้นวิเศษ โดยความเป็นอันเดียวกัน ความวิวาท ความขัดแย้งกัน แห่งธรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี นี้ชื่อว่า ธรรมสามัคคี.

อนภินิพพัตติสามัคคีเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลายแม้มาก ย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความบกพร่องหรือความเต็มแห่งนิพพาน. ธาตุของภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่ปรากฏ นี้ชื่อว่า อนภินิพพัตติสามัคคี


ความสามัคคีในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีหลากหลายนัย ทั้งเบื้องต้นจนถึงสูงสุด ซึ่ง ความสามัคคี มี ๓ อย่าง คือ

คณะสามัคคี

ความสามัคคี ที่หมายถึง โดยนัยสมมติ ที่เป็น คณะ กลุ่ม ที่สามัคคีกัน ซึ่งก็ไม่พ้นจากแต่ละคน แต่ละหนึ่ง ที่มีจิตใจ เมตตา หวังดี ไม่รังเกียจ ผูกโกรธกัน แต่ ใจคิดด้วยความเป็นมิตร เมื่อใจเป็นมิตร กาย วาจา ต่อหน้า และ ลับหลัง ก็เป็นไปเพื่อเกื้อกูลหวังดี เพื่อประโยชน์สุขของกันและกัน เมื่อ แต่ละหนึ่ง เป็นเช่นนี้ ใจที่ดี ก็ทำให้กลุ่มมีความสามัคคี มีความหวังดี ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน และหวังดีกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง คณะ กลุ่มนั้น ก็เป็นคณะที่มีความสุข เพราะ เริ่มจากตนเองที่มีจิตเป็นกุศล โดยนัยตรงกันข้าม อกุศลที่เกิดขึ้นแต่ละคน จะทำให้คณะสามัคคีไม่ได้เลย เพราะ แม้จะรวมเป็นหนึ่งเดียว แต่ เป็นการรวมตัวของอกุศลธรรม ก็ไม่เป็นความสามัคคีที่แท้จริง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งตามมา เพราะ เป็นอกุศลธรรม เพราะ ความสามัคคีที่แท้จริงหมายถึง เมตตา ความหวังดีที่เป็นกุศลธรรม

ความสามัคคี จะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องเริ่มจากแต่ละคน แต่ละหนึ่ง คือ เริ่มจากใจของตนเอง ที่มีความเมตตา มีความเข้าใจ หวังดี เริ่มจากคนรอบข้าง ใกล้ตัว เมื่อมีเมตตาที่เพิ่มขึ้น ก็ย่อมมีเพิ่มไปในบุคคลรอบข้าง สังคมข้างนอก คิดด้วยกุศลจิต กาย วาจา ก็น้อมไปในทางที่ดี ที่เป็นกุศล มี เมตตา หวังดี ไม่ผูกโกรธกัน ไม่อคติ สังคมก็น่าอยู่ เพราะ สภาพธรรมทีเป็นกุศล ย่อมนำมาซึ่ง ความรื่นรมย์กันของสังคม เพราะ อยู่ด้วยกันด้วย กาย วาจา และ ใจที่ดี ซึ่ง จะเริ่มมีได้ หรือ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในสังคม คือ แต่ละหนึ่ง เริ่มจากตนเอง ที่จะสนใจ ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมากขึ้น ก็เป็นการเสพคุ้น สิ่งที่จะทำให้เกิด กุศลธรรม เมื่อปัญญาความเข้าใจเกิด ความคิดนึกก็เป็นไปในทางที่ดี วาจา และ การกระทำก็ดีตามไปด้วย เมื่อ เกิด กุศลธรรม เกิดความดีงาม ก็ทำให้ สังคม หมู่คณะ อยู่ด้วยความสามัคคี ที่เป็นความสามัคคีด้วยกุศลธรรม

ธรรมสามัคคี

เมื่อพูดถึง ธรรม ก็หมายถึง สภาวะของสภาพธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก ที่เป็นกุศล อกุศล สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ย่อมเข้ากันได้ กับ อกุศล สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยนัยสมมติว่า สัตว์โลก คบกันโดยธาตุ คือ ตามธาตุที่อุปนิสัยเมือนกัน ผู้ที่ธาตุ นิสัยไม่ดี ก็ย่อมเข้ากันได้ กับผู้ที่มีอุปนิสัยไม่ดี ที่คล้ายกัน ในอกุศลธรรมเรื่องนั้น ส่วน ผู้ที่มีธาตุดี อุปนิสัยที่ดี ก็เข้ากันได้ กับผู้ที่มีอุปนิสัยที่ดี ซึ่งแท้ที่จริง เมื่อลึกลงไปที่สภาพธรรมก็คืออกุศลธรรมก็เข้ากันได้กับอกุศลธรรม อกุศลธรรม ย่อมเข้ากันไม่ได้ กับ กุศลธรรมเลย ยกตัวอย่างเช่น อกุศลจิตเมื่อเกิดขึ้น มีโลภมูลจิต เป็นต้น กุศลเจตสิก มี ศรัทธา หิริ ปัญญา ไม่สามารถเกิดขึ้นร่วมกันได้เลย แต่ โมหเจตสิก อกุศลเจตสิกอื่นๆ ย่อมเกิดร่วมกับ โลภเจตสิกได้ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น อกุศลธรรม ย่อมเข้ากันได้ กับ อกุศลธรรม แต่ ย่อมเข้ากันไม่ได้ กับ กุศลธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นกาลไหนๆ โดยนัยตรงกันข้าม กุศลธรรม ย่อมเข้ากันได้ กับ กุศลธรรม กุศลธรรมย่อมเข้ากันไม่ได้เลย กับ อกุศลธรรม เช่น กุศลจิต มีเมตตา เกิดขึ้น ขณะนั้น โทสะ ย่อมไม่เกิด แต่ มีความละอาย และ เกรงกลัวบาปเกิดขึ้น มี สติเกิดขึ้นในขณะนั้น

และ เมื่อกล่าวโดยนัยสูงสุด ที่เป็นธรรมสามัคคีแล้ว ธรรมที่ดี ที่รวมกันเกิดขึ้น เพื่อ ละสภาพธรรมที่ไม่ดี คือ อกุศลธรรม ที่ไม่ใช่ธรรมที่สามัคคี แต่เป็นไปเพื่อความทะเลาะเบาะแว้ง เป็นต้น และ นำมาซึ่งทุกข์ โทษ เพราะ อาศัยความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อธรรมสามัคคี คือ ปัญญา และ กุศลธรรมประการอื่นๆ มี สติ หิริ โอตตัปปะ ศรัทธา เป็นต้น ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ สัมปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น และ เกิดพร้อมกัน ก็ช่วยกัน ละกิเลส สามัคคีที่จะละ อกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น ความสามัคคีที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา จึงเป็นสภาพธรรมที่ดีที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ที่เป็นกุศลธรรมที่เกิดพร้อมปัญญา ละ อกุศลธรรม ละกิเลส เพราะฉะนั้น เมื่อใด ขณะที่ปัญญารู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ที่เป็นสติปัฏฐานเกิดขึ้น แม้ไม่กล่าวว่า เป็นผู้มีความสามัคคี แต่ ขณะนั้น ก็กำลังมีธรรมที่สามัคคีกัน ละ อกุศลธรรม ความไม่รู้ในขณะนั้น อันเป็นความสามัคคีที่ประเสริฐสุด เพราะ เป็นการละ ศัตรูที่แท้จริง ที่โลกสำคัญผิดคิดว่ามีศัตรูภายนอกตัว แต่ความเป็นจริง ถ้าไม่มีศัตรูภายใน คือ อกุศลธรรมแล้ว ก็จะไม่คิดผิดว่ามีศัตรูภายนอกเลย ศัตรูที่ทำร้ายจิตใจเกือบตลอดเวลา จึง ควรอบรมความสามัคคี คือ ปัญญา กุศลธรรมที่จะทำให้เกิด ธรรมที่ดีที่สามัคคีกันละกิเลสที่ไม่ดี ละทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด

อนภินิพพัตติสามัคคี

เป็นความสามัคคีของผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้น และ ถึงกาลที่ปรินิพพาน เป็นความสามัคคีที่ประเสริฐ เพราะ ต่างก็ดับทุกข์ ไม่เกิดอีกสิ้นเชิง พร้อมเพรียงที่จะพ้นจากทุกข์ พ้นจากวัฏฏะ เป็นความพร้อมเพรียงที่ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษ เพราะ ไม่มีการเกิดขึ้นของขันธ์ 5 ที่นำมาซึ่งทุกข์โทษเลย และ ถึงพระนิพพาน ที่ไม่พร่อง คือ สามารถรับได้ ไม่เต็มสำหรับผู้ที่จะนิพพาน ครับ


จะเห็นได้ถึงการกล่าวเรื่องความสามัคคีตามที่กล่าวมานั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงสูงสุด ซึ่ง เมื่อมีความเข้าใจเรื่องสามัคคีที่ถูกต้องแล้ว ย่อมจะนำพาให้เกิด ความสามัคคีที่ถูกต้อง คือ เกิด กุศลธรรม มีเมตตา ความหวังดีทั้งทางกาย วาจา และใจ และ ที่สำคัญที่สุด การอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม ย่อมทำให้เกิดธรรมสามัคคีที่จะทำให้ละกิเลส ศัตรูที่แท้จริงได้ในที่สุด ครับ

ความสามัคคีจึงไม่ได้ไกลตัวหรือ เป็นเรื่องของสมมติที่เป็นเรื่องราวของสังคมเลยที่จะสามัคคี ใจของแต่ละท่าน ต่างหาก ที่แสดงถึง ความสามัคคี หรือ ไม่สามัคคี ซึ่งพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น ที่จะทำให้ถึงความสามัคคีที่ประเสริฐสุด

ธรรมเตือนใจจากท่านอาจารย์ สุจินต์ ดังนี้

ฟังธรรมแล้วสามัคคีกันหรือไม่ ขณะที่ไม่สบายใจ ขุ่นเคืองไม่พอใจ ขณะนั้น ความคิดเห็น การกระทำไม่พร้อมกัน ไม่สามัคคีกัน ไม่ช่วยกันทำ มีทุกข์ ไม่ใช่สุข แต่ขณะที่ฟังธรรมแล้ว ผู้ที่ศึกษาธรรม ฟังธรรม น้อมประพฤติเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเป็นผู้มีจิตเสมอกันด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเพียรเผากิเลสความไม่รู้ด้วยความเข้าใจ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

สัมโมทมานชาดก [พินาศเพราะทะเลาะกัน]

ความสามัคคีกับความแตกสามัคคี

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนอย่างไรเวลาเกิดเหตุ อสามัคคี ขึ้นบ้างครับ

การฟังธรรมสามัคคีกันอย่างไร [สัมพหุลภิกขุสูตร]

การให้อภัยกันสามัคคีกันอย่างไร [สัมพหุลภิกขุสูตร

ขออนุโมทนาทุกท่าน ที่ได้อ่านและเข้าใจพระธรรมในส่วนของความสามัคคีที่ถูกต้องแท้จริง

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.พ. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ย่อมมีปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตขึ้นได้ ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น กิเลสก็เกิดพร้อมกับอกุศลจิตในขณะนั้น เพราะจิตเป็นอกุศลได้ ก็เพราะประกอบด้วยกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ เป็นต้น โดยไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย มีแต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น ขณะที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นกุศลจิตไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ไม่ยอมปล่อยให้จิตเป็นกุศลเลย และอกุศลจิตก็เกิดมากด้วยในชีวิตประจำวันนี้คือ ความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ก็จะทำให้จากที่เคยเป็นผู้มีอกุศลมาก จากที่เป็นอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ กาย วาจา ใจ เป็นไปกับอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะค่อยๆ น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสมากขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ก็ย่อมจะอุปการะเกื้อกูลให้ธรรมฝ่ายดีค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย กล่าวได้ว่า สภาพธรรมที่ดีงาม ย่อมคล้อยไปตามความเข้าใจพระธรรมอย่างแท้จริง ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น การอยู่ร่วมกันในสังคม ก็อยู่กันอย่างมีความสุข เพราะกุศลธรรม เพราะต่างคนต่างก็เป็นคนดี คนดี ก็มีแต่จะคิด พูดและทำในสิ่งที่ดี พร้อมใจกันจะทำในสิ่งที่ดีๆ เพราะฉะนั้นแล้ว ที่เป็นประโยชน์จริงๆ ในชีวิต ก็คือ กุศลธรรม ความดีประการต่างๆ โดยเฉพาะความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นสิ่งที่ดี ส่วนความโกรธ ความผูกโกรธ ไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กุรุงคมิคชาดก ว่าด้วยการร่วมมือกัน

... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ