ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๘
~ ไม่มีอะไรที่จะจริงยิ่งกว่าพระธรรมวินัย
~ เมื่อมีความจริงใจที่เป็นพระภิกษุ ผู้นั้นต้องศึกษาและน้อมประพฤติตาม พระธรรมวินัย ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่ใช่พระภิกษุ
~ ผู้ที่สามารถที่จะบวชได้ นั้น ต้องพิจารณาตนเองจะต้องรู้ถึงความสามารถจริงๆ ของตนเอง ว่าสามารถที่จะประพฤติ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างละเอียด ได้จริงๆ แล้วจึงไปบวชเป็นบรรพชิต แต่ถ้าไม่สามารถ (ที่จะเป็นอย่างนั้นได้) แม้แต่การเป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ยังยาก จริงหรือไม่จริง? คฤหัสถ์ที่ดี เป็นยาก หรือ ง่าย?
~ ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบจริงๆ ถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการบวช ที่พระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นผู้ที่สละซึ่งนอกจากจะสละวงศาคณาญาติ มิตรสหาย ทรัพย์สมบัติ แล้ว ยังต้องสละแม้แต่กิเลสของตนเอง เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างมากมากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์, บางท่าน เมื่อได้ครองผ้ากาสาวพัตร์ แล้วก็กลับลืมคิดถึง การสละกิเลส แต่กลับคิดว่าผู้อื่นจะต้องแสดงความนอบน้อม ต่อ ผู้ที่เป็นบรรพชิต ซึ่งการนอบน้อมต่อผู้ที่เป็นบรรพชิต นั้น เป็นกุศลของบุคคลผู้ที่นอบน้อม นั้นเอง แต่มิได้หมายความว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต มีความปรารถนาในความนอบน้อม และสักการะ หรือ ในลาภ ยศ สรรเสริญ จากบุคคลอื่น.เพราะฉะนั้น การขัดเกลาในเพศบรรพชิต จึงเป็นการขัดเกลาอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องศึกษาจากพระธรรมวินัยให้ละเอียด
~ ผู้ที่เป็นบรรพชิต อย่าลืมว่า เป็นตัวอย่างของความดีงาม พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ จึงสมควรที่จะเป็น หรือว่า จึงสมควรจะบวช ซึ่งเป็นผู้ที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะกระทำตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยครบถ้วนอย่างเพศบรรพชิตได้ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จึงกราบไหว้นอบน้อมแสดงความเคารพต่อผู้ที่สามารถจะกระทำได้ คือ ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต
~ พระภิกษุทั้งหลาย ต้องเห็นโทษของกามทั้งหลายอย่างจริงใจ และมีความมั่นคงจริงๆ ที่จะดำรงชีวิตอยู่โดยการสละโภคสมบัติทั้งหลาย ควรที่จะเป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคง และเห็นโทษของกามจริงๆ
~ มีชาติเกิดขึ้นขณะใด สามารถพิจารณาได้เลยว่า ย่อมนำมาซึ่งชรา พยาธิ และ มรณะอย่างแน่นอน บุคคลที่เกิดมาแล้ว หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดมาแล้ว ที่จะไม่เก่าคร่ำคร่า ไม่ชราลง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และในที่สุดก็จะต้องแตกสลายไปเป็นธรรมดา
~ ผู้มีปัญญาย่อมรักษาจิตให้สม่ำเสมอ คือ เป็นกุศล ไม่เดือดร้อนกับเสียงคำครหา หรือคำกล่าวร้าย
~ แม้ไม่ประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ใจคิดอย่างไร บางทีใจคิดเบียดเบียน แต่ยังไม่ทำ ซึ่งก็อาจจะมีได้ แม้อย่างนั้นก็ยังจะต้องเห็นว่า ในขณะนั้นจิตไม่สงบ เพราะเป็นอกุศล
~ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ปัญญาไม่ใช่สภาพที่ไหวหวั่น ปัญญาทุกระดับไม่ไหวหวั่น แต่ขณะใดที่ไหวหวั่น ขณะนั้นไม่ใช่กุศลแล้ว ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) เป็นอกุศล
~ เรื่องของอกุศลธรรมเป็นสิ่งที่มีมาก และถ้าไม่ทราบจริงๆ ว่า ตัวท่านมีอกุศลมากเพียงไร การที่จะละกิเลสย่อมเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ แล้วในวันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลธรรมหลายประการ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังมีอกุศลธรรมที่จะต้องละคลาย ขัดเกลาจนกว่าจะดับสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
~ ถ้าเป็นกิเลสที่มีกำลัง ความไม่ดีที่มีกำลังมาก กายก็ผิดปกติ มีการเบียดเบียน มีการประทุษร้ายขณะใด จิตขณะนั้นเป็นอะไร รู้ได้ทันที แม้การเบียดเบียนด้วยกาย หรือการเบียดเบียนด้วยวาจา ก็เกิดจากจิต ถ้ามีอกุศลมากๆ เป็นอกุศลศีล ปกติธรรมดา เพราะจิตขณะนั้นเป็นอกุศล จะให้กายวาจาเป็นกุศลไม่ได้
~ สิ่งที่มีจริงนี้มีลักษณะต่างๆ กันไป โลภะเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง โทสะก็เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะของโลภะซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่มีจริง ต่างกับลักษณะของโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริง
~ ถ้าในขณะนั้นโทสะเกิด ไม่สงบ ถ้าขณะนั้นพิจารณาบุคคลอื่นในแง่ที่จะทำให้เกิดเมตตา (เป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี) บ้าง กรุณา (สงสารช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์) บ้าง มุทิตา (พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข) บ้าง อุเบกขา (เป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้วยอกุศล) บ้าง สงบแล้ว สงบทันที เพราะในขณะนั้น ที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ก็สงบ เร็วไหม? ไม่ต้องไปเสียเวลาท่องบ่น หรือคอยเลย ทันทีที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ
~ กิเลสที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ถ้ามีมากๆ จะปรากฏเป็นทุจริตกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ถ้าไม่มีกิเลสต่างๆ เหล่านั้น อกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา เหล่านั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย และเมื่อกรรมได้กระทำไปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรมพร้อมด้วยจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันกระทำกรรมนั้นสำเร็จลงไปแล้ว ดับไปแล้วก็จริง แต่ว่าการเกิดดับสืบต่อๆ กันของจิตทุกๆ ขณะต่อไป เจตนาที่กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่สะสมอยู่นั้น เป็นกัมมปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่จะทำให้ผล คือ วิบาก เกิดขึ้น
~ ถ้าใครทำกุศลกรรม ถึงคนอื่นจะไปขอร้องไม่ให้กุศลกรรมให้ผล ก็เป็นไปไม่ได้ หรือว่าถ้าใครทำอกุศลกรรม ถึงใครจะไปช่วยกันอ้อนวอน ขอร้องอย่าให้บุคคลนั้นได้รับผลของอกุศลกรรม ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้อื่นก็ไม่ควรจะมีจิตใจเดือดร้อนกับเรื่องราวของบุคคลอื่น กับกรรมของบุคคลอื่น เพราะบุคคลนั้นก็ย่อมเป็นไปตามกรรมของเขา และในขณะเดียวกัน ก็จะได้พิจารณาถึงสภาพจิตของตนเองด้วยว่า ถ้าเป็นอกุศลในขณะนั้น ก็เป็นการกระทำตนของตนเองให้เดือดร้อน แล้วก็สะสมอกุศลความเศร้าหมองของจิตมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นโทษเพิ่มขึ้น
~ สละวัตถุสิ่งของให้ทาน สละความโกรธความขุ่นเคืองใจในผู้อื่น มีความอดทนทุกอย่างที่จะบำเพ็ญความดีทุกอย่าง นี้แหละ เป็นการเติมความดีอยู่ เรื่อยๆ
~ ถ้ามีกุศล มีปัญญาเข้าใจถูกเห็นถูก จะไม่วุ่นวายเลย ที่เดือดร้อนวุ่นวาย อยู่ไม่เป็นสุข ก็เพราะกิเลส นั่นเอง จนกว่าจะมีการฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ
~ ถ้ายังไม่เริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ในขณะนี้ ต่อไปความไม่รู้ก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อรู้ว่า การฟังพระธรรม มีประโยชน์ ก็ไม่ควรละทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วไปหาสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
~ เกิดเป็นมนุษย์ มีโอกาสได้ฟังธรรม เป็นคนดีพอหรือยัง หรือว่าควรทำความดีให้มากกว่านี้อีก โดยเฉพาะการเข้าใจธรรม
~ ดีใจที่คนชั่วตาย (คนที่ดีใจ นั้น) ชั่วหรือเปล่า?
~ ยังมีกิเลสที่ละเอียดอยู่ ซึ่งจะทำให้กิริยาวาจานี้ยังผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ
~ เมตตา ขณะนั้นไม่มีความหวังร้าย ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ไม่ทำร้ายคนอื่น แม้ด้วยกายวาจาและใจ นั่นคือขณะที่เมตตา ควรจะทั่วๆ ไปกับทุกคน
~ ควรจะรู้ว่า วาจาอะไรก็ตามที่เป็นวาจาไม่ดีนั้นมาจากจิตไม่ดี เพราะฉะนั้น วาจามีหลายอย่าง คำอ่อนหวานน่าฟังกับคำที่ไม่น่าฟัง ก็ต่างกันแล้ว มาจากไหน จิตอะไร ต้องเป็นละเอียดจริงๆ แต่อย่างนั้นทุกคนชอบ หรือบางคนอาจจะไม่ชอบ คือ วาจาจริง ชอบหรือเปล่าคะ หรืออยากฟังเรื่องไม่จริง อยากฟังเรื่องลวง เรื่องหลอก เรื่องเท็จ? แม้แต่พูดก็ยังพูดเรื่องไม่จริง แล้วจะมีประโยชน์อะไร
~ ถ้าคนพูด พูดด้วยความหวังดีจริงๆ พูดด้วยความเมตตา ความเป็นเพื่อน รู้สึกสบายใจ (รู้ได้เลยว่า) ผู้นี้เป็นมิตรแน่นอน ไม่เป็นศัตรูเลย เพราะฉะนั้น แต่ละคำของเขาก็เต็มไปด้วยความหวังดีกับคนอื่น ซึ่งผู้ได้รับฟังคำพูดอย่างนั้นก็ต้องรู้สึก ไม่ได้ทำร้าย ไม่ได้ทำลาย ไม่ได้เป็นโทษใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ด้วยความหวังดี พูดคำจริงซึ่งเป็นประโยชน์ด้วย อีกอย่างหนึ่ง ก็คือพูดน่าฟัง แม้เป็นคำจริง ถ้าพูดไม่น่าฟัง บางคนก็ไม่อยากฟัง
~ ฟัง (พระธรรม) อีก ก็เข้าใจอีก
~ เห็นพระคุณในพระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทรงตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นว่า สัตว์โลกอยู่ในความมืด จนกว่าจะได้เข้าใจธรรม
~ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากความไม่รู้
~ หนทางผิด ง่ายมาก เพราะไม่รู้
~ ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ทำให้ข้อปฏิบัติที่ถูกไม่เกิดขึ้น แล้วก็ยังเป็นการเผยแพร่ในข้อปฏิบัติที่ผิด ก็ย่อมจะเป็นการทำลายข้อปฏิบัติที่ถูก ซึ่งก็เป็นโทษมากสำหรับตนเอง กับทั้งผู้อื่นด้วย
~ คำไม่จริง คำเท็จ ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ยังไม่มีปัญญา จึงต้องฟังพระธรรมเพื่อจะได้เกิดปัญญา.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๗
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
~ ฟัง (พระธรรม) อีก ก็เข้าใจอีก
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ