ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๙
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๙
~ ศึกษาในพระวินัยบัญญัติ และเห็นว่าสิ่งใด ที่ดี เป็นประโยชน์ เรื่องของกาย วาจาก็ประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อห้ามว่าสำหรับคฤหัสถ์แล้ว จะกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ในเมื่อเพศบรรพชิตควรที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร แล้วไม่เป็นที่ติเตียน แต่ว่าเป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส ผู้ใดที่ศึกษาและสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น แม้เป็นคฤหัสถ์ ก็ย่อมได้ (สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้)
~ การกล่าวถึงพระวินัย เป็นการแสดงให้เห็นสัจจะ (ความจริงใจ) ของผู้ตั้งใจจะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ที่ต้องขัดเกลากิเลสจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่ผู้ที่จะสละอาคารบ้านเรือน ละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต แสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นผู้มีสัจจะ คือ เป็นผู้ที่มีความจริงใจต่อการขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าเพศของคฤหัสถ์
~ พระวินัยทั้งหมด ถ้าศึกษาแล้วจะเห็นความจริง สัจจะที่เป็นสัจจธรรม ทั้งเรื่องของกุศลและอกุศล เพราะเหตุว่าในเรื่องของกุศล ก็จะเป็นเรื่องของหิริโอตตัปปะ ความละอายต่อสภาพของอกุศลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นอกุศล ซึ่งทำให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัย ก็จะได้เห็นความจริงของอกุศล ซึ่งก็ต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นเพศคฤหัสถ์หรือเพศบรรพชิต
~ บรรพชิตซึ่งเป็นผู้ที่แสดงความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ก็จะต้องเป็นผู้ที่จริงใจต่อการขัดเกลากิเลสด้วยความเป็นภิกษุ ต้องเป็นความประพฤติที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกาย วาจา ใจในทางที่เป็นกุศล ต่างกับชีวิตของคฤหัสถ์มาก ถ้ามีความบกพร่องในเรื่องของความประพฤติที่ไม่ถูกต้องสำหรับเพศบรรพชิต ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแน่นอน เพราะเหตุว่าตั้งต้นก็ไม่ถูก และต่อไปจะถูกได้อย่างไร แม้แต่คฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าตั้งต้นไม่ถูก ก็ไปถึงที่สุดของความถูกต้อง สัจจะที่จะสมบูรณ์ถึงกับการรู้แจ้งอริยสัจจ์ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
~ พวกโจร ก็ปรากฏชัดๆ ในอาการกิริยาการกระทำของโจร แต่ว่าถ้าโดยอาการหลอกลวง โดยอาการเท็จในเพศของสมณะ ในเพศของบรรพชิต ไม่เหมือนพวกโจรที่ปรากฏอาการของพวกโจรจริงๆ ให้ผู้อื่นประจักษ์ว่าเป็นโจร แต่นี่ลักษณะอาการเป็นบรรพชิต เมื่อคุณธรรม ไม่มีจริง ก็อวดอ้าง และก็ได้ลาภสักการะปัจจัยต่างๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้ จัดเป็นยอดมหาโจร
~ ทุกท่านย่อมมีเวลาเผลอสติ ผิดบ้าง พลั้งบ้าง พลาดบ้าง ใครจะช่วยที่จะเตือน หรือจะบอก จะป้องกันในขณะที่ท่านอาจจะผิดไป พลั้งไป พลาดไป เผลอไป ผู้ที่กระทำอย่างนั้น (ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างนั้น) คือ มิตรผู้ที่มีอุปการะ ไม่ว่าจะในเรื่องการงาน หรือว่าในเรื่องส่วนตัว หรือว่าในเรื่องความคิดเห็น หรือว่า ในขณะที่มีภัยต่างๆ
~ ชีวิตเป็นที่รัก และชีวิตที่มีประโยชน์ก็ควรที่จะถนอมไว้ให้ดำรงอยู่ได้นานๆ เพื่อประโยชน์ โดยเฉพาะคือการสะสมบุญกุศล และการขัดเกลากิเลส ไม่ใช่หมายความว่าจะสละทิ้งชีวิตนั้นโดยง่าย โดยไม่รอบคอบ หมายความว่า ไม่ใช่กลัวเสียจนกระทั่งไม่ยอมช่วยเหลือใครโดยที่ว่าเห็นแก่ชีวิตของตนเองเป็นสำคัญกว่าชีวิตของคนอื่น
~ มิตรที่แนะนำประโยชน์ ก็จะคอยชี้คอยเตือนในสภาพของจิตใจที่เป็นอกุศล เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการกระทำถึงขั้นที่จะเป็นอกุศลกรรมได้ นอกจากห้ามจากความชั่วแล้ว ก็ให้ตั้งอยู่ในความดี เพราะเหตุว่าเพียงเว้นจากความชั่วก็ยังไม่พอ ต้องเจริญสะสมคุณความดีให้ยิ่งขึ้น
~ ที่ทุจริตกรรมจะสำเร็จลงไปได้ ขณะนั้นไม่มีหิริ ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความละอายในบาปในโทษของอกุศลกรรมนั้นเลย แล้วก็ไม่มีความหวั่นเกรงกลัวในโทษภัยของอกุศลธรรมอกุศลจิตในขณะนั้นด้วย
~ ถ้าไม่มีการขัดเกลา ไม่มีการละคลายให้เบาบาง อกุศลนับวันก็เพิ่มขึ้น แล้วเวลาที่อกุศลเพิ่มขึ้นนี่ ย่อมปรากฏให้เห็นการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรทางกาย ทางวาจา และแม้ทางใจ
~ ถ้ามีแต่เพียงวิชาความรู้ซึ่งเป็นอาชีพ แต่ถ้าขาดความประพฤติการดำเนินชีวิตที่ดีถูกต้อง ความรู้ในวิชาอาชีพก็อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมหรือความพินาศได้
~ ขณะที่เมตตานั้นเมื่อนึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด คือ ขณะที่ทั้งไม่โกรธและไม่รัก ต้องทั้งสองอย่าง ไม่ใช่ว่าคิดถึงด้วยความรัก ความผูกพัน และขณะนั้นจะเป็นหิริโอตตัปปะ แต่แม้ขณะที่มีความคิดถึงด้วยความรักความผูกพัน ขณะนั้นก็ไม่ใช่หิริ ไม่ใช่โอตตัปปะ ไม่เห็นโทษของความผูกพัน ไม่เห็นโทษของความติดข้อง จึงยังคงคิดถึงด้วยความผูกพันอยู่ ต่อเมื่อใดเห็นว่าเป็นโทษ เป็นภัย เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ความไม่สบายใจทั้งหมด ขณะนั้นก็จะคิดถึงด้วยความเมตตา ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดความไม่สบายใจ
~ ศรัทธาที่จะมั่นคงขึ้น ก็ต่อเมื่อได้เข้าใจในพระธรรมยิ่งขึ้น ถ้ายังไม่เข้าใจพระธรรม ก็จะไม่เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา
~ ชีวิตสั้นมาก เล็กน้อยมาก อยู่ในโลกเพียงชั่วคราว แล้วก็จะจากไป ทุกคน
~ การศึกษาธรรม ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เป็นโทษ เพราะเหตุว่าเข้าใจผิดไปเลย เท่ากับทำลายพระศาสนา คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเข้าใจผิดจากพระธรรมที่ได้ทรงแสดง
~ ธรรมคำเดียว ก็ไม่เข้าใจ ถ้าไม่ศึกษา
~ เมื่อคนอื่นได้ดี ก็เดือดร้อน เป็นอย่างไร ทำไมถึงเป็นอย่างนี้? เขาได้ดีแท้ๆ เดือดร้อนทำไม แต่สภาพธรรมที่เป็นความริษยาเกิดแล้วจึงริษยาในสิ่งที่คนอื่นได้ เกิดร่วมกับโทสะ (ความไม่พอใจ) ถ้าเป็นมิตรแล้ว ไม่ริษยา เป็นเพื่อน หวังดีที่เขาได้ดี ก็ดี ทำไมจะต้องไปเดือดร้อนริษยาเขา แต่ธรรม ก็เป็นธรรม
~ ปุถุชนเป็นผู้หนาแน่นด้วยกิเลสอกุศลที่สะสมมา สิ่งที่ปรากฏ (เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีประการต่างๆ ) ให้เห็นน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่สะสมที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ามีการสะสมอกุศลเพิ่มขึ้นก็ต้องเป็นปุถุชนที่เป็นอันธพาล ปุถุชนมืดบอด ไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรม เพราะอกุศลทั้งหมด เข้าใจธรรมไม่ได้
~ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่สุจริต ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เคยโกง หรือเคยส่อเสียด เคยกินสินบน เคยดุร้าย เคยหยาบคาย ในกาลก่อน เพราะเหตุว่า ขณะใดที่โกง กำลังกระทำทุจริต ขณะนั้นย่อมไม่เห็นโทษ แต่ว่าโทษของทุจริต ย่อมมี ไม่มีใครสรรเสริญ และผลของทุจริตนั้นก็ย่อมเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่าจะได้รับผลของทุจริตในชาติปัจจุบัน หรือในชาติต่อๆ ไป
~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีสักคำที่ให้โทษ
~ เป็นคนดี โดยไม่ต้องบวช ก็ได้
~ อย่ามองข้ามสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือ กุศลทุกอย่าง เพราะถ้าปราศจากกุศลเหล่านี้แล้ว จิตก็เป็นอกุศล
~ ถ้าจะเปรียบลักษณะของอโทสะ (ความไม่โกรธ) ก็เหมือนมิตรที่คอยช่วยเหลือ เพราะเหตุว่าเวลาโกรธ ไม่ช่วย ใช่ไหม? แต่ว่าเวลาไม่โกรธถึงจะช่วย เพราะฉะนั้น ลักษณะของอโทสะก็เป็นสภาพที่ไม่แค้นเคือง เปรียบเหมือนมิตรที่คอยช่วยเหลือ
~ ขณะที่อยากจะช่วยใคร ต้องการที่จะให้เขาเป็นสุข มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา ก็ทำในขณะนั้น จิตในขณะนั้นอ่อนโยน ตรงกันข้ามกับขณะที่กำลังโกรธกำลังขุ่นเคือง ขณะที่กำลังโกรธนั้น ใจลักษณะนั้น จะหยาบจริงๆ กระด้างจริงๆ มีลักษณะเหมือนกับความแข็งความดุร้าย
~ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลจริงๆ ว่า ถ้าวันนี้ยังไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย วันต่อๆ ไป อกุศลก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
~ ผู้ที่มีความเห็นผิด แล้วไม่กล้าหรือไม่ยอมที่จะสละความเห็นผิด มาสู่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะความไม่รู้ ความติดข้อง และ ความเห็นผิด
~ ชวนกันไปปฏิบัติ ก็คือ ชวนกันไปไม่รู้
~ สิ่งที่จะชำระความสกปรกของจิต คือ ความเข้าใจพระธรรม
~ ในยุคนี้สมัยนี้ คนลืมแม้กระทั่งคำว่า พระพุทธศาสนา พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนา คือ คำสอนของพระองค์ ดังนั้น พระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คนลืม คือ ลืมฟัง ลืมศึกษาคำสอนของพระองค์
~ เงินทอง ไม่สามารถทำให้ถึงซึ่งการดับกิเลสได้
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในพระธรรมวินัย ทำอะไรๆ ก็ผิดทั้งนั้น.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘๘
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ
ขณะที่อยากจะช่วยใคร ต้องการที่จะให้เขาเป็นสุข มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา ก็ทำในขณะนั้น จิตในขณะนั้นอ่อนโยน ตรงกันข้ามกับขณะที่กำลังโกรธกำลังขุ่นเคือง ขณะที่กำลังโกรธนั้น ใจลักษณะนั้น จะหยาบจริงๆ กระด้างจริงๆ มีลักษณะเหมือนกับความแข็งความดุร้าย น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ