ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๙๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๙๑
~ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจอัธยาศัยของตนเอง และเห็นคุณของพระธรรมสูงสุด ที่สามารถที่จะนำไปสู่การดับกิเลส จึงมีความเคารพอย่างยิ่งในพระบรมศาสดา และในพระธรรมวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้ เพื่อที่จะให้ภิกษุสามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตตามความประสงค์ของภิกษุนั้น ไม่ใช่ว่าบวชเพื่อเหตุอื่นเลย แต่ตามความประสงค์ที่จะขัดเกลากิเลสดับกิเลส
~ ยากแสนยาก ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ถ้าศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว คงไม่ค่อยมีคนกล้าที่จะบวช เพราะเหตุว่า ยาก สละทุกอย่างที่เคยเป็น เคยอยู่ แม้แต่ในการตื่นขึ้นมา จะต้องทำอะไรบ้าง แม้แต่จะฉัน (รับประทาน) อาหาร หรือว่าจะนุ่งห่มจีวร ก็ต้องตระหนักว่า เราไม่ใช่คฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ใช่คฤหัสถ์แล้ว กิจของบรรพชิตคืออะไร? ศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลส อย่างยิ่งกว่าคฤหัสถ์
~ การบวชต้องจริงใจ มั่นคง สละ อุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อศึกษาพระธรรมขัดเกลากิเลส ถ้าใครทำอย่างนี้ได้ เป็นภิกษุได้
~ เป็นภิกษุได้อย่างไร ถ้าไม่ศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
~ มีสักคำไหมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าให้ภิกษุรับเงินได้ แม้เพียงเล็กน้อย? ไม่มีเลย
~ พระพุทธศาสนา จะดำรงอยู่ได้ ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยการไม่ศึกษาและไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นชาวพุทธที่จะดำรงพระศาสนา ก็ต้องเห็นตามความเป็นจริงว่า ถ้าไม่ศึกษาธรรมให้เข้าใจ พระศาสนา ก็ล่มสลายอันตรธาน (หายไป)
~ การทุจริตในวงการต่างๆ ในการค้า ในการเมืองทั้งหลาย มาจากอะไร ถ้าไม่รู้ ก็ยังต้องเป็นอย่างนี้ แล้วจะแก้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว คนที่ไม่มีความรู้ ก็พยายามคิดที่จะแก้อย่างคนไม่มีความรู้ ยิ่งยาก ยิ่งยุ่ง ยิ่งไม่สำเร็จเพราะยิ่งไม่รู้เพิ่มขึ้น แต่ถ้ารู้ (มีปัญญา) ก็สามารถที่จะทำให้ปัญหาน้อยลง
~ พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงแสดงธรรมให้บุคคลใดขยันในการทำอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการขยัน ความเพียรความหมั่นจริงๆ แล้ว ต้องเป็นไปในเรื่องการขัดเกลากิเลส
~ การสะสมแต่ละขณะนั้นมีผล ถ้าเริ่มขณะที่จะเจริญทางฝ่ายกุศล แม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย ในภายหลังจะไม่เป็นผู้ที่เกียจคร้านเลยในการที่จะเป็นผู้ที่เจริญกุศล
~ อกุศลธรรมมีไหม? นี่เป็นสิ่งที่ควรจะทราบ ถ้าคิดว่าไม่มี ก็จะเห็นแต่เพียงอกุศลธรรมใหญ่ๆ โตๆ ในขณะที่โลภมากๆ โกรธมากๆ แต่ในขณะธรรมดาปกติเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เห็นว่าอกุศลธรรมก็ยังมีอยู่ เป็นอย่างอ่อน เป็นอย่างละเอียด ก็จะไม่มีความพากเพียรที่จะขัดเกลาอกุศลธรรมนั้น ต่อเมื่อใดสามารถที่จะเห็นอกุศลธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ไม่ใช่อกุศลธรรมที่ใหญ่โต แต่ก็เป็นอกุศลธรรมอย่างอ่อน อย่างเบาบาง ก็เป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ ที่ควรจะขัดเกลาให้น้อยลง เมื่อนั้นก็จะอบรมกุศลทุกประการ
~ ถ้าท่านเริ่มเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลทั้งหลายและ เจริญธรรมที่เป็นกุศลธรรม ก็จะเป็นผู้ที่อ่อนโยน เป็นผู้ที่ง่ายขึ้นในการที่จะให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล ถ้าทุกท่านที่ศึกษาธรรมแล้ว ไม่ช่วยกันเผยแพร่ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก หรือการพิจารณาธรรมที่จะเกิดการแทงตลอดในสภาพธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะเป็นอย่างไร? ก็ต้องหมดไป ก็ต้องสูญไป เพราะฉะนั้น แต่ละท่านซึ่งได้เป็นผู้ที่ได้ศึกษาแล้ว แล้วก็เป็นผู้ที่เข้าใจความละเอียด ความลึกซึ้งของพระธรรมแล้ว ก็ควรที่จะได้ประกาศ ช่วยกันเจริญกุศล เกื้อกูล สนทนากัน เพิ่มพูนความรู้กัน เพื่อที่จะได้ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว แล้วก็จะได้ประโยชน์กับบุคคลอื่นต่อไปด้วย
~ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม แต่ผู้ที่เห็นโทษนี้ก็ยังมีเจตนาที่จะวิรัติ (งดเว้น) เท่าที่สามารถจะกระทำได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ขัดเกลา แม้ว่ากุศลกรรมจะกระทำให้ท่านเกิดในตระกูลดี มีทรัพย์ มียศ มีสมบัติทุกสิ่งทุกประการ แต่ก็ยังเป็นผู้ที่กระทำอกุศลกรรมได้ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าท่านไม่เห็นว่าเป็นโทษ
~ ถ้าขณะนั้นเป็นสภาพที่ประทุษร้าย คือ ไม่พอใจ ซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนอื่นใดทั้งสิ้น สภาพธรรมนั้นเองเป็นข้าศึกภายใน ไม่ใช่ศัตรูภายนอก อย่างที่เข้าใจว่า คนโน้นคนนี้ คนนั้นเป็นศัตรู หรือว่าคนโน้น คนนี้ คนนั้นทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อน แต่ตามความจริงแล้วคนอื่นทำอะไรไม่ได้ นอกจากโทสะ (ความโกรธ) เกิดขึ้นกระทำกิจนั้น
~ เป็นอันตรายมาก ถ้ามีการเผยแพร่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเป็นความคิดเห็นของตนเอง ไม่ใช่เป็นการศึกษาโดยละเอียดรอบคอบลึกซึ้งจริงๆ จะทำให้คนอื่นเข้าใจสภาพธรรมผิดคลาดเคลื่อนได้โดยง่าย
~ บุคคลต่างๆ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องของตนเอง พระผู้มีพระภาคทรงรับฟังเรื่องของเขา แล้วแต่ว่าเขามีปัญหาอะไร ไม่เข้าใจอะไร แต่พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงธรรมก่อน ไม่ใช่ว่าพอใครไปเฝ้าแล้วก็ทรงแสดงธรรมทันที แต่ว่าไม่ว่าใครก็ตามที่ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคทรงรับฟังเรื่องของเขา แล้วก็ทรงแสดงธรรมที่เหมาะที่ควร ที่เขาจะเข้าใจได้ที่เป็นธรรมในขณะนั้น จนกระทั่งเขาสามารถที่จะเริ่มความเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับเขาได้ แล้วต่อไปเขาก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมอื่นๆ ได้ด้วย
~ เวลาที่จะให้ใครสนใจธรรม อย่ามุ่งที่จะเอาธรรมที่เราจะให้เขาสนใจไปพูด แต่ดูว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าชีวิตของเขาก็เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม เป็นวิบาก (ผลของกรรม) ซึ่งเขาสามารถจะเข้าใจได้ และความรู้ของเขา ความสนใจของเขา พร้อมที่จะรับธรรมขั้นไหน ก็ให้ธรรมที่สมควรแก่ความสนใจและความเข้าใจของเขา
~ เพื่อนดี มิตรดี สหายดี คือผู้ที่ชักชวนเกื้อกูลกันในกุศลธรรม ที่จะทำให้เจริญมั่นคงขึ้นในกุศลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าถ้าได้ยินได้ฟังสิ่งใดมาก ก็มักจะคล้อยไปน้อมไปสู่ความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีเพื่อนฝูงที่ดี ที่ชักชวนให้ทำกุศลธรรมเนืองๆ ก็จะทำให้เพิ่มพูนมั่นคงในกุศลกรรมยิ่งขึ้น
~ ถ้าไม่เริ่มเป็นผู้ว่าง่าย ขัดเกลาเสียตั้งแต่ในขณะนี้ นับวันก็จะว่ายาก เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มอ่อนโยน เป็นผู้ที่ว่าง่าย น้อมที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยง่าย ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ง่ายต่อการที่จะเจริญกุศล
~ ผู้ที่เกียจคร้านจะไม่ทำความดี จะไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเลย แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นการให้บุคคลทั้งหลายเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่การที่จะเป็นผู้ที่ขยันในการที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการที่จะขัดเกลาและดับกิเลสด้วย เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ไม่กระทำ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของกุศลโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใด ก็เป็นการเพิ่มพูนอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลก็จะต้องมีมาก ถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้านในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ
~ กุศลมีทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ ถ้าทางกายก็เป็นการสงเคราะห์ในกิจธุระต่างๆ ถ้าเป็นทางวาจา ก็จะสงเคราะห์ในทางคิดเห็นให้เกิดความเข้าใจที่ถูก แต่เมื่อยังไม่สามารถที่จะทำได้ในขณะนั้น ก็จะต้องเจริญกุศลทางใจคืออดทน ด้วยความเมตตา แล้วก็คอยโอกาสที่จะสงเคราะห์บุคคลนั้นในภายหลัง เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะให้คนอื่นมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก มีการปฏิบัติถูก ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยมา
~ กิเลสมีมาก แล้วจะขัดเกลาอย่างไร ถ้าไม่มีพระธรรม ถ้าไม่เข้าใจพระธรรม ใครก็ตามที่ไม่ศึกษาพระธรรมเลย แล้วจะขัดเกลากิเลสเอง เป็นไปได้ไหม?
~ ธรรมที่เป็นที่พึ่งนั้น เป็นกุศล อกุศลนี้พึ่งไม่ได้เลย ธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ นั้นต้องเป็นกุศล แต่ว่ายากที่จะเกิด เพราะเหตุว่าเมื่อสะสมอกุศลมามาก ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดมากกว่ากุศลธรรม
~ ผู้ที่เห็นว่าธรรมใดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ก็จะเข้าใจในคุณของธรรมนั้น คือคุณของกุศล ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลทุกประการอย่างละเอียด เพราะเหตุว่าเห็นโทษว่า อกุศลธรรมนั้นมีกำลังมากกว่า เพราะเหตุว่าสะสมมากกว่า
~ สละความเพลิดเพลิน เพื่อมาฟังพระธรรม ก็เป็นการสละแล้ว
~ อกุศล (ความไม่ดี) เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ปกติของโลภะคือ ติดข้อง จะเปลี่ยนให้เป็นเมตตาได้ไหม?
~ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกทำกิจละ ไม่ใช่ทำกิจติดข้อง
~ เป็นบุญของผู้นั้นแล้ว ที่มีโอกาสสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก
~ มีโอกาสที่จะฟังพระธรรม ก็ฟัง เพราะหนทางนี้เป็นหนทางละ
~ การฟังพระธรรมทุกครั้ง บูชาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ จะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าถามว่า "ธรรม คือ อะไร?" แล้วตอบไม่ได้ เป็นพุทธบริษัทหรือเปล่า?.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๙๐
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...