ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๐๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๐๐
~ ความเห็นผิดจะทำให้บุคคลนั้นห่างไกลจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ สิ่งใดถูก ผิดได้ไหม? ไม่ได้, สิ่งใดผิด ถูกได้ไหม? ไม่ได้, ถ้ารู้ว่าสิ่งใดผิด ตรงไหมที่จะทิ้งไป ถ้าไม่ตรง คือ ยังไม่ทิ้ง ก็รู้ว่า ถูก ผิด คืออะไร แล้วทำไมไม่ทิ้ง (สิ่งที่) ผิด ก็แสดงว่า คนนั้นไม่ตรง เพราะฉะนั้น ความตรงต่อความจริง จะนำไปสู่ความตรงถึงที่สุด เพราะว่า ธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้, ต้องเป็นผู้ที่อาจหาญที่จะทิ้งสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ถ้ายังเก็บ (สิ่งที่ไม่ถูกต้อง) ไว้อยู่ ความไม่ถูกต้อง ก็เจริญ (คือเกิดเพิ่มขึ้น) แน่ๆ เมื่อไหร่จะทิ้ง ยิ่งทิ้งยากขึ้นทุกวัน
~ แทนที่จะให้เขาบวช ให้เขาเข้าใจธรรม ดีกว่า แล้วเขาจะได้รู้ตัวเองว่าเขาจะบวชไหม เพราะว่าถึงเขาไม่บวช ความเข้าใจธรรมของเขาก็ยังมีประโยชน์กว่าไปบวชโดยที่ไม่เข้าใจธรรม
~ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะช่วยคนที่เห็นผิดให้ค่อยๆ เห็นถูก จนหมดความเห็นผิด
~ จุดประสงค์ของการทรงบำเพ็ญพระบารมี (ความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ที่ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ เพื่อให้คนอื่นได้รู้ด้วย แล้วเราจะทอดทิ้งสิ่งที่พระองค์ตรัสเพื่อให้คนอื่นได้รู้ด้วย แล้วเราก็ไม่สนใจที่จะรู้อย่างนั้น เรา ก็คือ ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าไม่มีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้เลย
~ สอนให้ทำในสิ่งที่ผิด เป็นบาปหรือเป็นบุญ?
~ สะสมโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ มาก ก็เป็นคนเจ้าโทสะ สะสมความติดข้องต้องการ มาก ก็เป็นคนที่มากไปด้วยความติดข้อง อยากได้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
~ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อไหร่ ความไม่รู้ก็น้อยลง ตราบใดที่ยังไม่มีความความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ความไม่รู้ก็จะน้อยลงไม่ได้
~ ความไม่รู้ เป็นโทษมาก เพราะนำมาซึ่งความเห็นผิด และความติดข้องต้องการยิ่งขึ้น
~ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และ นำไปสู่การดับกิเลส
~ คนที่มีความเห็นผิดแม้คนเดียวที่เกิดมา ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่า นอกจากจะไม่มีประโยชน์กับตนเองแล้ว ก็ยังให้โทษ เมื่อให้คนอื่นเข้าใจผิดๆ ตามกันไปด้วย
~ มิตรคือเพื่อน เพื่อนที่หวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล เป็นประโยชน์ ไม่คิดร้าย ไม่หวังร้าย ไม่ริษยา ไม่ทำร้ายเลยทั้งสิ้น นั่นคือเพื่อน เพื่อนที่ดี คือ กัลยาณมิตร (มิตรที่ดีงาม) ใครก็ตามที่เป็นเพื่อนที่ดีของใคร ก็คือ หวังดี หวังประโยชน์เกื้อกูล เมื่อเขาเข้าใจผิด ก็ให้เขาเข้าใจถูก เขาไม่เข้าใจธรรม ก็สามารถที่จะอนุเคราะห์ให้เขาเข้าใจ นั่นก็เป็นเพื่อนที่หวังดีกับผู้นั้น, ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรสูงสุดคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้น เราจะไม่ได้ยินสักคำเดียว (ที่เป็นคำสอนของพระองค์)
~ จุดประสงค์ของการเจริญกุศลในพระพุทธศาสนา คือ ขัดเกลากิเลส
~ ไม่บวช ก็ฟังธรรมเข้าใจได้ บูชาพระรัตนตรัยด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่คลาดเคลื่อน
~ ผู้ใหญ่รู้จักสามเณรหรือเปล่า ถึงอยากจะให้เด็กไปบวช เพราะสามเณร คือ เชื้อสายหรือเหล่ากอของสมณะ (ผู้สงบ) ผิดจากนี้ ไม่ใช่สามเณร
~ บวชแล้วไม่รู้อะไร ทำลายพระพุทธศาสนาหรือเปล่า? ทำลาย
~ ถ้าบวชแล้วไม่เข้าใจธรรม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เป็นภิกษุในธรรมวินัยหรือเปล่า? ไม่เป็น
~ ไม่มีความเข้าใจอะไร แล้วจะเป็นทายาทของพระพุทธศาสนา (ศาสนทายาท) ได้อย่างไร
~ เมื่อยังไม่เข้าใจธรรม ก็ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ดีกว่าเมื่อไม่เข้าใจธรรมแล้วไปบวชหรือให้คนอื่นบวช
~ ความเป็นพระภิกษุและสามเณร อยู่ที่ปัญญา ไม่ใช่อยู่ที่เครื่องนุ่งห่ม
~ พระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่เข้าใจธรรม ก็ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจธรรม ก็ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นภิกษุ ใครก็ได้ที่เข้าใจธรรม ผู้นั้นแหละที่ดำรงรักษาพระพุทธศาสนา
~ เริ่มเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหรือยัง?
~ เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะพระธรรมลึกซึ้ง จะเข้าใจได้ ก็ต้องอดทน เห็นประโยชน์ที่จะฟังต่อไป
~ ความเข้าใจธรรมนั่นแหละ ขัดเกลากิเลสคือความไม่รู้
~ ไม่มีความเข้าใจธรรม จะสืบทอดอะไร? สืบทอดความไม่รู้และทำลายพระพุทธศาสนา
~ มุ่งหน้าที่จะปฏิบัติธรรม โดยไม่เข้าใจธรรมเลย จะเป็นไปได้อย่างไร
~ เกิดมาชั่วคราว เห็นชั่วคราว ได้สิ่งใด ก็ชั่วคราว เกิดแล้วหมดไป
~ ไม่ว่ายุคใด สมัยใด เคารพใครสูงสุด? พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าเข้าใจผิด เพียรก็ต้องผิด ทำก็ต้องผิด
~ ถ้าไม่คิด พูดได้ไหม? คิดดี พูดดี ทำดี คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ก็เป็น
ธรรมดา คือ เป็นธรรม
~ ถ้าใครพูดผิด ทำผิด คิดผิด คนที่เข้าใจธรรม ก็พูดสิ่งที่ถูก เพื่อให้เขาได้เข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปโกรธหรือไปขุ่นเคืองใจเพราะขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งเมื่อเห็นโทษของอกุศลแล้ว การเข้าใจนั่นแหละ จะค่อยๆ ทำให้สิ่งที่เป็นกุศล เจริญขึ้น
~ ไม่ล่วงเลยขณะของการทำความดี.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๙๙
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...