กำลังของปัญญามีมากเท่าไหร่ ก็เพิ่มการที่จะละคลายอกุศลมากเท่านั้น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สรุปสาระสำคัญของการสนทนาพระสูตร
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันเสาร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๐
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจผิด จะพูดผิดไหม จะทำผิดไหม? ก็ไม่มี
~ การไม่รู้ความจริง ก็ทำให้เกิดกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) อื่นๆ ทั้งหมด
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) ให้เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรา
~ ปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าใจพระพุทธพจน์ทุกคำที่ตรัส จากที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว
~ ลองคิดดู "นั่งสมาธิ กับ เข้าใจธรรม" ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรเป็นประโยชน์
~ ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ สมาธิ (ความตั้งมั่น) ก็เป็นกุศล ขณะนั้นก็ผ่องใสด้วยความเข้าใจจากการที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย
~ ทั้งหมดของพระธรรมที่ได้ฟัง เพื่อเข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่ใช่เรา จนกว่าจะละความเป็นเราได้
~ เมตตา (ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน) เป็นกุศลไหม? เป็นกุศล, ต้องนั่งไหมถึงจะเป็นกุศล?
~ ธรรมก็คือชีวิตประจำวันทั้งหมด แต่ไม่มีใครเปิดเผยให้รู้ว่าชีวิตประจำวันนี่แหละเป็นธรรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น นอกจากจะมีการทรงตรัสรู้และได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ได้ทรงตรัสรู้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นสิ่งที่มีแล้วทั้งหมดก็เปิดเผยว่าอะไรบ้าง ขณะไหนบ้าง (เป็นธรรม)
~ ถึงเวลาหรือยังที่ชาวพุทธ (ซึ่งกล่าวว่าตนเองเป็นชาวพุทธ) จะได้ตื่นเสียทีจากความหลับซึ่งไม่รู้อะไรเลย
~ จะหมดความเห็นผิดได้อย่างไร? ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ
~ ถ้ายังไม่มีปัญญาตราบใด อกุศลต่างๆ ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตราบนั้น แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจแล้ว ความเข้าใจนั้นก็ค่อยๆ ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลก็ลดน้อยลง
~ ขณะใดก็ตามที่ไม่เข้าใจธรรม ขณะนั้น ก็ไม่รู้
~ กำลังของปัญญามีมากเท่าไหร่ ก็เพิ่มการที่จะละคลายอกุศลมากเท่านั้น
~ ถ้าเคารพพระธรรม ก็ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ
~ ขณะที่ไม่อภัย เป็นโทษกับใคร? เป็นโทษของผู้นั้น ก็สะสมไป ใครก็เอาออกไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่อภัย เพราะฉะนั้น ปัญญา เท่านั้น ที่เห็นโทษของอกุศล รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น กั้นกุศลด้วย
~ ถ้าปัญญาไม่เกิด อะไรก็ไปทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้ อวิชชาก็ทำหน้าที่ของอวิชชา (ความไม่รู้) ไป โทสะ ความขุ่นเคืองใจ ก็ไม่อภัย
~ การบวชไม่ใช่คนอื่นจะให้ใครบวชได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของตนเองจริงๆ ว่าสามารถที่จะสละเพศคฤหัสถ์โดยขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต โดยการศึกษาให้เข้าใจพระธรรมจึงจะสามารถดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตได้ เพราะฉะนั้น บรรพชิต เป็นเพศที่ควรแก่พระอรหันต์ (ผู้ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง)
~ เรื่องเงินทองไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ทำลายชีวิตของบรรพชิตของพระภิกษุ เพราะนำมาซึ่งความต้องการติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) อันแสดงความเป็นเพศคฤหัสถ์
~ บรรพชิต แปลว่า สละ, เว้น ถ้าพระภิกษุรับเงิน สละหรือเปล่า? แค่นี้ก็ตรงกันข้ามแล้ว ไม่จริงใจ ไม่ตรง
~ พระภิกษุ ยินดีในอะไร? ยินดีในการเข้าใจธรรม ในการสละชีวิตเพื่อศึกษาธรรม และขัดเกลากิเลสต่างจากเพศคฤหัสถ์โดยต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทุกข้อ จึงจะเป็นการเคารพและจริงใจต่อการที่สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต
~ สิ่งที่ได้ฟังมาแล้วทั้งหมด (พระธรรม) ประโยชน์อยู่ที่ตรงที่ ได้ประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลากิเลสทั้งด้วยความเข้าใจและด้วยความประพฤติทางกายทางวาจา.
ขอเชิญคลิกฟังบางช่วงบางตอนของการสนทนาวันนี้ได้ที่นี่ครับ
ไม่ให้อภัย ใครกันแน่ที่สะสมโทษ
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...