การสวดมนต์ในที่ที่มีเสียง

 
waranya
วันที่  3 ก.ค. 2560
หมายเลข  28955
อ่าน  1,389

ถ้าเราสวดมนต์ในห้องนอนที่มีอีกบุคคลนอนอยู่ก่อนแล้ว แล้วมีเสียงกรน หรือลมหายใจดัง จนเราสวดมนต์ต่อไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิ เขาผู้นั้นจะบาปไหมคะ แบบนี้ถือเป็น กฏัตตากรรม ไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่ามนต์ก่อนครับ เพราะ มนต์ (ภาษาบาลี คือ มนฺต) หมายถึง ปัญญา บางครั้งก็มีคำว่า พุทธมนต์ (พระปัญญาของพระพุทธเจ้า) ด้วย และประการที่สำคัญ คือ มนต์ในทางพระพุทธศาสนา ต้องเป็นพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเท่านั้น เช่น พระสูตร ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย

การสวดมนต์จึงไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อขอพร จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะนั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นไปเพื่อได้ เพื่อติดข้อง ไม่เป็นไปเพื่อละ สละขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องสวดมนต์โดยไม่เข้าใจ และ เพื่อหวังและอ้อนวอนเลย ครับ

ในความเป็นจริงแล้วในสมัยพุทธกาล บุคคลสมัยนั้ันต่างก็พูดเป็นภาษาบาลีกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นคำพูดเมื่อจะกล่าวสรรเสริญใคร ยกย่องบุคคลใด รวมทั้งอธิบายในสิ่งใดให้ผู้อื่นเข้าใจก็ใช้คำบาลี การสวดมนต์ที่ปัจจุบันสวดกันนั้นก็เป็นภาษาบาลี มีการกล่าวยกย่องสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น รวมทั้งเป็นบทพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสูตรต่างๆ ในปัจจุบันก็นำมาสวดกัน เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ การสวดมนต์ก็จะถูกต้อง คือ เป็นไปเพื่อการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ครับ

บาปไม่บาป สำคัญที่เจตนา การไม่มีเจตนา ไม่ถือว่าเป็นบาป ไม่ถือว่าเป็นกฏัตตากรรม

กฏัตตาวาปนกรรม ก็เป็นกรรมเล็กน้อย ขึ้นชื่อกรรมแล้ว จะต้องมีเจตนาแต่เป็นเจตนาที่ไม่มีกำลัง ครับ หากไม่มีเจตนาที่จะให้ เช่น ให้อาหารสุนัข แต่สัตว์มากินเอง เพียงแต่เราเอาไปทิ้ง ไม่มีเจตนาให้ ก็ไม่เป็น กฏัตตาวาปนกรรม และ โดยนัยเดียวกัน ทางฝ่ายอกุศล ก็จะต้องมีเจตนาที่ไม่ดี หากโยนของลงไปแล้วไปโดนคนอื่น ไม่มีเจตนาทำร้ายผู้อื่น ก็ไม่เป็น กฏัตตาวาปนกรรม กรรมเล็กน้อยเลย ครับ

กฏัตตาวาปนกรรม ให้ผลทั้งปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล คือ ให้ผลนำเกิดในภูมิต่างๆ ตามสมควรแก่กรรม เช่น ถ้าเป็นฝ่ายกุศลให้ผลเกิดในสุคติภูมิ ถ้าเป็นกรรมฝ่ายอกุศลนำเกิดในอบายภูมิ ส่วนในปวัตติกาล ให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตามควรแก่กรรม เช่น การเห็นสิ่งที่ดี การได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น ซึ่งกฏัตตาวาปนกรรมเป็นกรรมที่สักว่ากระทำ เป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ เป็นทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล

กฏัตตาวาปนกรรมนั้น จะให้ผลได้ก็ต่อเมื่อไม่มีครุกรรม (กรรมหนัก) พหุลกรรมหรืออาจิณณกรรม (กรรมที่มีกำลัง หรือกระทำบ่อยๆ เสพจนคุ้น) และ อาสันนกรรม (กรรมที่กระทำเมื่อใกล้ตาย)

ดังนั้นเมื่อไม่มีกรรม ๓ อย่างนี้แล้ว กฏัตตาวาปนกรรม ก็สามารถที่จะให้ผลได้ ท่านอุปมาไว้เหมือนกับเหมือนท่อนไม้ ที่คนบ้าขว้างไป จะตกไปในที่ที่ไม่มีจุดหมาย

ซึ่งจากที่ผู้ถามยกตัวอย่างมา มีคำตอบชัดเจนแล้วที่ท่านอาจารย์สุจินต์

อธิบายดังนี้ ครับ

ถาม ในเรื่องของกรรมที่ผมเคยอ่านเคยเรียนมาเล็กน้อย เป็นคนละภาคกับที่อาจารย์บรรยายในมโนรถปุรณี เกี่ยวกับกรรม ๑๒ ประการ เรียกว่ากรรม ๑๒ และผมเคยอ่านพบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุว่า ภิกษุทั้งหลาย เราถือว่า เจตนานั้นเป็นกรรม แต่อ่านไปพบกรรมอีกจำนวนหนึ่งใน ๑๒ ประการนั้น ปรากฏว่ามีกรรมชนิดหนึ่งที่ผู้ทำปราศจากเจตนา ที่เรียกว่า กฏัตตากรรม หรือกฏัตตาวาปนกรรม ผมเคยนำเรื่องนี้เรียนถามผู้รู้บางท่าน ท่านกล่าวว่า กรรมชนิดนี้ถึงแม้จะขาดเจตนา แต่ก็ให้ผล เพราะฉะนั้นพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย เราถือว่า เจตนานั้นเป็นกรรม ท่านยกเว้นเอากรรมตัวนี้ เพราะกรรมตัวนี้ย่อมให้ผล แม้ว่าจะขาดเจตนาก็ตาม และผู้กล่าวในธัมมสากัจฉากัน ท่านก็อธิบายยกตัวอย่างเช่น เราโยนของแข็ง จะเป็นขวดเหล้าก็ตาม ขวดเบียร์ก็ตาม โยนออกไปนอกหน้าต่าง โดยปราศจากเจตนา คนเดินผ่านมาก็ถูกสิ่งเหล่านั้นเข้า เป็นเหตุให้เขาบาดเจ็บหรืออาจจะถึงตาย สิ่งเหล่านั้นมีผล คือความเจ็บปวดหรือความตายเกิดขึ้น การตายนี้จะต้องสนองแก่ผู้กระทำ แม้ว่าผู้นั้นขาดเจตนาก็ตาม กระผมอยากจะทราบคำอธิบายโดยละเอียดในทัศนะนี้จากอาจารย์ครับ ขอบคุณครับ

สุ. ไม่มีจิตสักขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเจตนาเจตสิก เจตนาเป็นเจตสิกดวงหนึ่งซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความถึงเป็นเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขณะใด ขณะนั้นต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตขณะใด ขณะนั้นต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วม ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิต ซึ่งไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันต์ คือ กิริยาจิต ซึ่งไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเจตนาจึงมีทั้งที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่เป็นวิบาก ที่เป็นกิริยา

เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าเป็นกรรมที่ปราศจากเจตนา น่าจะหมายความถึง กรรมที่ปราศจากปุพพเจตนา หมายความถึงเจตนาก่อนที่จะทำกรรมนั้น เช่น ความตั้งใจที่จะทำกุศลหรืออกุศล โดยปกติที่จะกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมย่อมมีปุพพเจตนา ความตั้งใจที่จะทำก่อนที่การกระทำนั้นจะสำเร็จลง เช่น คิดที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ใครเป็นกุศลนะคะ แต่ยังไม่ได้ให้ แต่ปุพพเจตนามีแล้ว แล้วก็มีการตระเตรียม เช่น การถวายภัตตาหาร ก็จะต้องมีการซื้อหา มีการจัดเตรียมปรุงที่จะถวาย เหล่านี้ก็เป็นปุพพเจตนา แต่ถ้ายังไม่ได้ถวายแม้ว่าอาหารเสร็จแล้ว จัดว่าเป็นทาน การให้ หรือยัง กุศลยังไม่สำเร็จ ใช่ไหมคะ ต่อเมื่อใด ได้มีการให้ คือ การถวายแล้ว ขณะนั้นก็เป็นมุญจนเจตนา คือ เจตนาในขณะที่กำลังทำกุศล หลังจากนั้นถ้าเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็ไม่ลืม ยังมีอปรเจตนา คือ กุศลจิตระลึกถึงกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วบ่อยๆ แล้วแต่กำลังของกรรมนั้น ถ้าเป็นกรรมซึ่งมีกำลังมาก ก็ระลึกถึงบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เกิดความปีติโสมนัสมากเท่าไร ทำแล้วก็ลืมไป เยอะแยะ เช่น ถ้าจะถามท่านผู้ฟังว่า ทำกุศลกรรมอะไรบ้าง อาจจะนึกไม่ออก ใช่ไหมคะ แต่ว่าบางกุศลกรรมก็อาจจะนึกออก

เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าเป็นกรรมที่ไม่มีเจตนา ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลจิต ในขณะนั้นหมายถึงกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปุพพเจตนา คือ ไม่มีความตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้นก่อนที่จะกระทำกรรมนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั้นไม่มีเจตนาเลย ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตทุกครั้ง

ก่อนที่จะมาฟังธรรม มีเจตนาที่จะมาหรือเปล่า มี เป็นปุพพเจตนา เมื่อมาแล้วกำลังฟัง ก็เป็นมุญจนเจตนา เป็นกุศลจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมแต่ละกรรม บางกรรมมีปุพพเจตนา มีมุญจนเจตนา มีอปรเจตนา แต่ว่าบางกรรมมีมุญจนเจตนา ไม่มีปุพพเจตนา ไม่มีอปรเจตนา แต่ที่จะกล่าวว่า ไม่มีเจตนาเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ ลองคิดดูซิคะ เจตนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักดวงเดียวซึ่งปราศจากเจตนาเจตสิก แล้วแต่ว่าเจตนานั้นจะเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา หรือวิบากเจตนา หรือกิริยาเจตนา


เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์เพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

กตัตตาวาปณกรรม

เชิญคลิกอ่านเพอิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

กฏัตตากรรม หรือ กฏัตตาวาปนกรรม

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
waranya
วันที่ 4 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ที่เกิดจากการสะสมบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลาที่ยาวนาน และเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะเข้าใจแต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่มีความจริงใจตั้งใจที่จะศึกษา ซึ่งจะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการศึกษา เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง โดยไม่ใช่เพียงสวด หรือ ท่องเท่านั้น จะต้องเป็นผู้มีความเข้าใจด้วย บทสวดมนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมงคลสูตร กรณียเมตตสูตร รัตนสูตร เป็นต้น ล้วนเป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาและเข้าใจอย่างถูกต้อง ถ้านำมาสวดหรือท่อง โดยไม่เข้าใจอะไรเลย หวังเพื่อได้แม้เพียงความสงบหรือเพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นการผิดตั้งแต่ต้น เป็นอกุศลตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ไม่เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เพราะพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ถ้าจะมองในมุมกลับ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สวด แต่ศึกษาแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมเป็นประโยชน์กว่าอย่างแท้จริง แม้แต่คำว่า "สวด" ซึ่งเป็นคำไทย ก็ยังต้องแปลไทยเป็นไทยอีก เพื่อจะได้สอดคล้องตรงกับความหมายเดิมในภาษาบาลี คือ มาจากคำว่า "สาธยาย [สชฺฌาย]" หมายถึง การกล่าวทบทวน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อได้ฟังแล้ว ก็มีการทบทวนด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อได้ฟังแล้ว อย่างไรจึงจะไม่ลืม ก็ด้วยการทบทวนไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง นั่นเอง

และที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยปัจจุบันนี้ มีบทสวดต่างๆ หลายบทที่มีการแต่งขึ้นในภายหลัง ซึ่งไม่ใช่พระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงก็ไม่ใช่ มนต์ ถึงแม้ว่าจะมีการนำคำว่า มนต์ มาใช้ ก็ตาม พระธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนจะได้ศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง ต่อไป ยิ่งฟังพระธรรม ก็ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเห็นพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ถ้าพระองค์ไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา ไม่มีทางเลยที่สัตว์โลกจะได้เข้าใจความจริง ในฐานะของสาวก ประโยชน์สูงสุดที่ทุกคนจะพึงได้ คือความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

บุคคลทั้งหลาย ที่ไม่ได้ทำทุจริตกรรม ไม่ได้เป็นไปกับอกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ย่อมไม่เป็นบาป เพราะบาป คือ อกุศลธรรม ทุกชนิด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ขณะที่หลับสนิท เป็นวิบากจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่กุศลจิต ด้วยครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 5 ก.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 2 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ