กรณี ภิกษุในธรรมวินัยไม่ยินดีในการรับเงินและทอง

 
abhirak
วันที่  9 ก.ค. 2560
หมายเลข  28973
อ่าน  1,138

ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย

กราบแทบเท้าท่านอาจารย์ฯและวิทยากรทุกท่านครับ

เพราะเหตุที่ได้พิจารณาจากการฟังการสนทนาต่อกรณี "ภิกษุในธรรมวินัยไม่ยินดีในการรับเงินและทอง" มาระยะหนึ่งแล้วครับ จึงจะขอสนทนาต่อประเด็นนี้สักหน่อยเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมครับ

เพราะเหตุแห่งความละเอียดอ่อนของสิกขาบทข้อที่ 10 ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้

"ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ : การ เว้นขาดจากการรับเงินและทองนี้เป็นสิกขาบทที่เราจะสมาทานขึ้นไว้"

ในกรณีนี้ผมยังสงสัยอยู่ว่า ข้อความของสิกขาบทนี้มีความหมายหรือนัยเป็นอะไรแน่ ถ้าตีความหมายตามตัวอักษร ก็คงต้องหมายถึงเงินตรา หรือทรัพย์สินอันมีค่าต่างๆ ที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ถ้าเอานัยแห่งความตามอักษร จะมีความหมายหลายอย่าง

1) หมายความถึงธาตุเงิน ธาตุทอง ซึ่งเป็นของมีค่า อันนี้มุ่งเอาตรงตัวเลย ไม่เกี่ยวด้วยเพชร นิล จินดา หรืออื่นๆ

2) หมายความถึงสตางค์ อันนี้มุ่งเอานัยแห่งข้อความคือเงินตราในการใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยน

3) หมายถึงอกัปปิยะโดยไม่ต้องเจาะจงว่าเฉพาะเป็นเงินเป็นสตางค์อย่างเดียว อันนี้อาจจะไม่ตรงตามนัยแห่งอักขระ แต่ก็จะครอบคลุมไปทั้งหมด
สามความหมายที่ยกตัวอย่างนี้ การไม่ยินดีในการรับเงินและทอง หมายถึงแบบใดครับ

ถ้าให้ผมตอบก่อน ผมก็จะขอตอบในข้อ 2 หมายเอาถึงเงิน หรือสิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในสังคม ผมเข้าใจถูกหรือไม่ จึงขอสนทนาเพื่อความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นครับ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

... บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง จากนั้น เด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เรา แล้วหรือ?

บุ. ขอรับ ผมบริจาคแล้ว

อุ. เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา

บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรในทันใดนั้นเอง แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ รับรูปิยะเหมือนพวกเรา

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขาต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่าเธอรับรูปิยะจริงหรือ?

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า? การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ...

พระบัญญัติ

๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใดรับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงินอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์


จากข้อความในพระไตรปิฎก ในต้นบัญญัติเรื่องนี้ แสดงถึงชัดเจนว่า เป็นเรื่องของเงินและทองในการใช้จ่าย คือ รูปียะ กหาปณะ ที่เป็นเงินที่ใช้กันในสมัยนั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เกรียงไกร007
วันที่ 11 ก.ค. 2560

แล้วอย่างนี้เวลาพระท่านเดินทางรูปเดียวจ่ายค่าแท็กซี่ค่าอาหารอย่างไรดีครับ

หรื หรือบางครั้งเวลาท่านไปโรงพยาบาลจะจ่ายเงินค่าหมอค่ายาไม่แย่เหรอครับ ช่วยอธิบายด้วยครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ค. 2560
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 3 โดย เกรียงไกร007

แล้วอย่างนี้เวลาพระท่านเดินทางรูปเดียวจ่ายค่าแท็กซี่ค่าอาหารอย่างไรดีครับ

หรื หรือบางครั้งเวลาท่านไปโรงพยาบาลจะจ่ายเงินค่าหมอค่ายาไม่แย่เหรอครับ ช่วยอธิบายด้วยครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุ รับเงินทองไม่ได้ และ ใช้เงินทองไม่ได้ เวลาท่านเจ็บป่วยก็มีพระภิกษุด้วยกันควรดูแล หรือมีผู้ปวารณาได้ปวารณาไว้ก็สามารถดูแลท่านได้ โดยที่ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย ถ้าหากจริงใจจริงๆ ย่อมเป็นผู้พร้อมที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต หากไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยได้ ก็สามารถลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์ได้

พระธรรมวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยแล้วโอกาสที่จะกระทำผิด ก็ย่อมจะมีได้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย แต่ก็มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ เพราะกำลังของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล นั่นเอง สำหรับเงินและทองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศพระภิกษุ โดยประการทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของบรรพชิตจริงๆ ทำให้เกิดความติดข้อง เป็นห่วงกังวล และไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ เพราะพระภิกษุ รับเงินและทองไม่ได้ เป็นอาบัติไม่มีข้ออ้างหรือข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ชีวิตพระภิกษุ เป็นชีวิตที่ขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง เงินทองไม่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ พระภิกษุผู้ที่ไม่ละอาย ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรมวินัย ก็มีการล่วงสิกขาบทต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การรับเงินรับทอง

การรับเงิน รับทอง เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ การที่จะแสดงอาบัติข้อนี้ให้ตนเองเป็นผู้พ้นจากอาบัติได้ ต้องมีการสละให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อนแล้วจึงจะแสดงอาบัติตก แต่ถ้าไม่ทำการสละเลย แล้วแสดงอาบัติ ก็ไม่พ้นจากอาบัติเป็นผู้มีอาบัติติดตัวเป็นอันตรายมากในเพศบรรพชิต, เพศบรรพชิตต้องเคารพพระธรรมวินัย ถ้าต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องบวช เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช ก็เพื่อขัดเกลากิเลส เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกิเลส ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wirat.k
วันที่ 12 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 12 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
abhirak
วันที่ 12 ก.ค. 2560

กราบอาจารย์ฯทุกท่านครับ

ผมเข้าใจว่าสิกขาบทสำหรับเพศบรรพชิตข้อเว้นขาดจากการรับเงินและทอง เป็นสิกขาบทที่มีความหมายตามแห่ง "พฤตินัย" เป็นหลัก คือท่านให้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง รวมทั้ง "สิ่งเทียมเงินใดๆ " ที่ใช้สำหรับเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งรวมถึงการให้ผู้อื่นเก็บรักษาเงินและทองนั้นเพื่อการใช้สอยในภายหน้าของตนด้วยเช่นเดียวกัน

สมัยเด็ก ผมเคยเห็นการเขียนใบปวารณาถวายเงินให้กับภิกษุโดยฝากเงินไว้กับไวยาวัจกรของวัดผู้เป็นคฤหัสถ์ และผู้ถวายเงินก็จะถวายใบปวารณานั้นแด่พระภิกษุแทนการถวายเงินโดยตรง ซึ่งสมัยเด็กนั้นผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเราสามารถถวายใบปวารณานั้นแก่ภิกษุแทนเงินโดยท่านไม่ต้องอาบัติได้ด้วยหรือเปล่า
อีกประการหนึ่ง มีผู้ใหญ่บางท่านพูดบอกว่า ภิกษุวัดนั้นๆ เคร่งมาก ไม่จับเงิน น่าเลื่อมใส ดังนั้นการถวายเงินแก่ภิกษุวัดนั้นๆ ให้เอาเงินใส่ซองให้เรียบร้อย ท่านจะได้ไม่ต้องจับถูกเงิน จะได้ไม่อาบัติ ผมได้ยินมาอย่างนั้นจริงๆ

แต่โดยที่ผมเป็นผู้มีปัญญาน้อยและยังอยู่ในวัยเยาว์ การพบเห็นผู้ใหญ่เขากระทำกันอยู่ตามที่กล่าวข้างต้น ผมจึงไม่สามารถเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาใดๆ ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่ และที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้น ยังไม่เคยพบเห็นผู้ใดออกมากล่าวความจริงเพื่อรักษาพระศาสนากันเลย

เป็นความโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสฟังท่านอาจารย์ฯจากการหมุนวิทยุไปเล่นๆ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ซึ่งการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์ฯ ที่ได้ฟังนั้นมีเสน่ห์บอกไม่ถูก ผมฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่ก็ไพเราะน่าฟังเพราะเป็นคำจริงทุกคำ จึงได้ค้นหาฟังจากอินเตอร์เนทโดยการดาวน์โหลดใส่ CD ฟังในรถทุกวันเมื่อมีโอกาส จากนั้นจึงเริ่มติดตามมาฟังการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการเว้นขาดจากการรับเงินและทองของพระภิกษุ ซึ่งเป็นเรื่องที่แม้จะมีข้อความตามพระวินัยที่ระบุชัดเจนแต่ก็เป็นสิกขาบทข้อที่พระภิกษุในประเทศไทยที่ผมได้พบเห็นได้รู้จัก น้อยรูปที่จะรักษาความบริสุทธิ์ในสิกขาบทข้อนี้กันด้วยความจริงใจ

ความเข้าใจในแต่ละคำที่มีมากขึ้นในแต่ละครั้งของการฟัง ทำให้คิดไปถึงความละเอียดของสิกขาบทข้อนี้ต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไป โดยเฉพาะในภายภาคหน้านั้น การใช้เงินและทองในรูปของเงินสด ธนบัตรต่างเพื่อทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนคงจะมีน้อยลง โดยอาจจะเป็นรูปแบบของเงินอิเลคทรอนิกส์มากขึ้นเรื่อย เช่นบัตรแทนเงินต่างๆ , บัตรหรือเหรียญสำหรับโดยสารรถไฟฟ้าที่มีมูลค่าเงินอยู่ในตัวเอง เป็นต้น ที่สามารถพบเห็นในชีวิตประจำวันในขณะนี้ ซึ่งหากมูลนิธิฯจะได้กรุณาแสดงให้ทราบเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของสิกขาบทข้อเว้นขาดจากการรับเงินและทองนี้นั้น ได้ผูกโยงกับการที่ "ภิกษุไม่พึงตั้งอยู่ในการซื้อการขายทุกประการ" ด้วย ดังที่ปรากฎในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทสนั้น ก็จะทำให้มีความสมบูรณ์ในอรรถาธิบายยิ่งๆ ขึ้น

อนึ่ง ความละเอียดที่เพิ่มเติมขึ้นนี้ หากในภายหน้ามีคฤหัสถ์ผู้ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในสิกขาบทข้อนี้ เกิดศรัทธาผิด เห็นผิดปรารภถวายบัตรเครดิตให้กับพระภิกษุที่ตนนับถือเพื่อสำหรับใช้สอย เพื่อที่ภิกษุเหล่านั้นจะได้ไม่ต้องรับเงินและทองตามพระวินัย จะได้สามารถชี้แจงให้ท่านทราบว่าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ