เนื้อสัตว์ที่พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้ฉัน

 
วิริยะ
วันที่  12 ก.ค. 2560
หมายเลข  28986
อ่าน  2,498

เรียนถาม

พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ภิกษุฉันเนื้อสัตว์ บางชนิด เท่าที่ทราบก็มีเนื้อมนุษย์ ส่วนเนื้อชนิดอื่น อยากทราบว่ามีอะไรบ้าง และที่ทรงห้ามนั้น พระพุทธเจ้าท่านห้ามเฉพาะพระภิกษุ หรือว่าห้ามบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พระภิกษุด้วย ขอถามเพิ่มเติมอีกข้อหนึ่งค่ะว่า ภิกษุ สามารถเข้าครัวปรุงอาหารได้หรือไม่คะ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยบัญญัติทุกสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุ ได้ศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิดในส่วนที่พระองค์ทรงห้าม และน้อมประพฤติปฏิบัติในส่วนที่พระองค์ทรงอนุญาต ตามสมควรแก่เพศบรรพชิตอันเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เนื้อที่ทรงห้ามสำหรับพระภิกษุมี ๑๐ ชนิด คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง แต่ ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ห้ามคฤหัสถ์ครับ

อย่างเรื่อง การห้ามฉันเนื้อ 10 ประการ ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อได้ และพระองค์ก็ฉันเนื้อ ไม่ใช่ทานแต่ผัก หรือ มังสวิรัติ แต่พระองค์ฉันเนื้อด้วยความบริสุทธิ์ โดยส่วน 3 คือ ไม่ได้เห็นผู้อื่นฆ่าเพื่อตน ไม่ได้ยิน และไม่ได้สงสัย และพระองค์ก็ทรงบัญญัติสิกขาบท ในเรื่องการห้ามฉันเนื้อ 10 ประการ ด้วยเหตุผลประการแรกที่ว่า เพราะ บรรพชิตต้องขัดเกลา ถ้ามาบริโภค เนื้อ 10 อย่าง ก็จะไม่ต่างกับคฤหัสถ์เลย นี่คือ เหตุผลประการหนึ่งครับ ประการที่สอง คือ ชาวบ้านติเตียน ย่อมทำให้ไม่เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ไม่เลื่อมใสได้ เพราะการฉันเนื้อ 10 ประการ ดังเช่น คฤหัสถ์ครับ

ประการที่ 3 เพราะการฉันเนื้อ บางประการ ใน 10 ประการ มีการฉันเนื้อเสือ เป็นต้นกลิ่นเสือย่อมติดที่กายพระภิกษุ เสือตัวอื่นก็ย่อมมาทำร้ายพระภิกษุนั้นได้ครับ ดังนั้นเหตุผล ที่ไม่ฉันเนื้อ 10 ประการในบางประการ เพื่อความปลอดภัยของพระภิกษุครับซึ่งเหตุผลโดยย่อ ของการห้ามฉันเนื้อ 10 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีดังนี้

ห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นเนื้อที่ไม่ทานกัน ใครทาน แม้แต่คฤหัสถ์ก็ถูกติเตียน จะกล่าวไปใยถึงเพศบรรพชิตที่เป็นเพศขัดเกลา จึงทรงห้ามการฉันเนื้อมนุษย์และประชุมชนก็จะไม่เลื่อมใส

ห้ามฉันเนื้อ ช้าง ม้า เพราะ สัตว์ทั้งสอง เป็นพาหนะของพระราชา พระราชาทราบก็ไม่เลื่อมใสและชาวบ้านก็ติเตียนเรื่องนี้ ห้ามฉันเนื้อ งู และ สุนัข เพราะสัตว์ทั้งสอง เป็นสัตว์น่ารังเกียจ ชาวบ้านติเตียนในเรื่องนี้ในการฉันเนื้อ ทั้งสองที่เป็นสัตว์น่ารังเกียจ

ห้ามฉันเนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลืองด้วยเหตุผล คือ สัตว์ตัวอื่นได้กลิ่น เนื้อที่พระภิกษุฉันแล้ว กลิ่นยังติดตัวพระภิกษุสัตว์ตัวอื่นนั้นย่อมมาทำร้ายพระภิกษุได้ครับ


การที่ภิกษุต้องมาต้มทำอาหารเอง ไม่สมควรกับเพศบรรพชิต ภิกษุประกอบการทำอาหารเอง ต้องอาบัติทุกกฎครับ และถ้าฉันอาหารที่ทำเอง ก็ต้องอาบัติทุกกฎอีกตัวเช่นกันครับ ดังนั้นพระภิกษุไม่สมควรทำอย่างคฤหัสถ์คือประกอบอาหารเอง ควรประพฤติขัดเกลาและศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความโดยตรงจากพระวินัยปิฎกเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เป็นต้น

-การประกอบอาหารเองของพระภิกษุ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้แตกต่างไปจากคฤหัสถ์เลย เหมือนคฤหัสถ์ทุกประการ ถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้เลี้ยงยาก ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสเลยมาแต่น้อย แต่เป็นการเพิ่มโทษให้กับตนเอง ด้วยการต้องอาบัติ ทั้งในการประกอบอาหารเอง และฉันอาหารที่ตนเองประกอบ ซึ่งไม่ถูกต้องโดยประการทั้งปวง เพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง สำคัญที่สุด คือ ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ แล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติตามพระธรรม งดเว้นในสิ่งที่พระสัมมาัสัมพุทธเจ้าทรงห้าม แล้วประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 22 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ