พระช่วยน้ำท่วม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระช่วยน้ำท่วมได้ไหม?
"การช่วยเหลือสังคมเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ หน้าที่ของบรรพชิตมี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ (ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย) และวิปัสสนาธุระ (อบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ซึ่งคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะทำได้มากเหมือนอย่างบรรพชิต เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ก็ช่วยสังคม ส่วนพระภิกษุก็ช่วยคนที่ไม่เข้าใจธรรมให้ได้เข้าใจธรรม (เพื่อ) คนที่ช่วยสังคมจะได้เป็นคนดีขึ้นๆ และช่วยสังคมได้มากขึ้น"
อ้างอิงจาก ... พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า ๖๗๗
พหุการสูตร (ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก)
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายเป็นผู้มี อุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้เธอทั้งลายก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์ และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย ต่างอาศัยซึ่งกันและกันด้วยอำนาจอามิสทานและธรรมทาน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อต้องการสลัดโอฆะ (อกุศลที่เป็นดุจห้วงน้ำใหญ่) เพื่อจะทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบด้วยประการอย่างนี้"
พระภิกษุ คือ ผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส จึงสละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติวงศาคณาญาติ เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง คือเพศบรรพชิต ที่จะต้องมีชีวิตที่เหมาะควรแก่เพศของตน จะมาทำอะไร หรือ มีอะไรต่างๆ เหมือนอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้เลย เพราะสละชีวิตคฤหัสถ์แล้ว อย่างเช่น บุคคลในครั้งพุทธกาลท่านได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่างสละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติแล้วออกบวช เป็นพระภิกษุ ด้วยความจริงใจด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวันทั้งหมดคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้คือ จุดประสงค์ของการบวชเป็นพระภิกษุไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น และที่สำคัญ พระภิกษุทุกรูปทั้งหมดทุกยุคทุกสมัยต้องมีความเคารพในพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจแล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องละเว้นในสิ่งที่ผิดที่ขัดต่อความประพฤติเป็นไปของพระภิกษุอันเป็นเพศที่สูงยิ่งทุกประการ
จะเห็นได้ว่าการบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ยากมากและการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่บวชโดยไม่ใช่เพราะขัดเกลากิเลสหรือเพราะเข้าใจธรรม ถ้าหากล่วงละเมิดพระวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อนไม่รักษาพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีโทษมากมาย ด้วยการต้องอาบัติ คือ ล่วงละเมิดพระวินัยซึ่งมีโทษโดยส่วนเดียว เมื่อต้องอาบัติแล้วไม่กระทำคืน (คือไม่ได้แก้ไข) ตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพานและกั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้ทำกิจที่ควรทำที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง กำลังทำทางที่จะทำให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้าเหมือนอย่างตัวอย่างพระภิกษุที่ประพฤติไม่ดี ล่วงละเมิดวินัย ไม่เห็นโทษของกิเลสบริโภคปัจจัย (สิ่งที่เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นไปได้) ๔ กล่าวคือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค ที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา แต่ไม่ได้มีคุณความดีอะไรเลย เป็นภิกษุลามก คือต่ำทรามชั่วช้า ไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัย เมื่อมรณภาพ คือ ตายจากชาตินั้นไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกนานแสนนาน พอพ้นจากการเกิดเป็นสัตว์นรกแล้ว ก็เกิดเป็นเปรตมีรูปร่างเหมือนพระภิกษุ ทรงบาตร ทรงจีวร ลอยอยู่ในอากาศแต่ถูกไฟแผดเผาได้รับความทุกข์เดือดร้อนร้องครวญคราง โดยไม่มีใครทำให้เลย แต่เป็นเพราะความประมาท ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย นั่นเอง เหตุที่ไม่ดีทั้งหมด นำไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสู่สุคติภูมิได้เลย
อย่างในกรณีพระภิกษุที่ทำอาหารไปแจกชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย ก็ต้องพิจารณาถึงความเป็นพระภิกษุด้วย ว่า ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ตามพระวินัยแล้ว พระภิกษุจะมาทำอาหาร ประกอบอาหารเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ย่อมเป็นอาบัติ และลองนึกภาพพระภิกษุทำอาหาร หั่นผัก หั่นเนื้อ ปรุงอาหาร เป็นต้น ไม่สงบอย่างแน่นอน ไม่เหมาะควรแก่เพศที่สูงยิ่ง และยิ่งเป็นการกระทำกิจคือการขวนขวายอย่างคฤหัสถ์ ก็ไม่ตรงตามพระวินัย การกระทำที่ขัดต่อพระธรรมวินัยย่อมเป็นโทษ เพราะอาหารของพระภิกษุที่จะได้มา ก็มีผู้ถวาย กรณีที่พอจะเป็นไปได้สำหรับการช่วยเหลือคฤหัสถ์ผู้ประสบอุทกภัย คือ อาหารที่ท่านได้มาจากการบิณฑบาตบ้าง หรือ มีผู้ถวายโดยตรงบ้าง หากท่านฉันแล้ว หรือ แบ่งไว้ฉันแล้ว ส่วนที่เหลือก็สามารถสละให้ผู้อื่นได้ อย่างนี้ เป็นการกระทำได้ ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้ เพราะพระภิกษุสะสมอาหารไม่ได้ หรือ แม้อาหารบิณฑบาตที่ท่านได้มา รวมถึงวัตถุสิ่งต่างๆ ก็สามารถที่สละให้บิดามารดา พวกคนบำรุงบิดามารดา ไวยาวัจกร และคนปัณฑุปลาส (คนผู้เตรียมตัวจะบวช) ได้เลย ไม่เป็นการยังศรัทธาของผู้ถวายให้ตกไป ไม่เป็นโทษเลยในส่วนนี้ แล้วต่อไปก็เป็นกิจหน้าที่ของบิดามารดา เป็นต้น ที่จะสามารถนำไปทำประโยชน์ต่อ ทั้งหมดก็ต้องเป็นไปตามพระวินัย ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ทำได้ เพราะถ้าผิดเมื่อใด ก็คือ ผิด เป็นโทษ และ เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเพศบรรพชิต
และที่สำคัญถ้าเทียบส่วนกันระหว่างคฤหัสถ์ กับ พระภิกษุ แล้ว พระภิกษุย่อมมีน้อยกว่าคฤหัสถ์ คฤหัสถ์มีมากกว่าพระภิกษุ ดังนั้น สังคมของคฤหัสถ์นั่นแหละ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสังคมคฤหัสถ์ด้วยกัน ซึ่งกระทำได้ทุกอย่าง ทั้งการบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของต่างๆ รวมถึงอาหาร ด้วย เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งก็กระทำกันอยู่แล้ว กระทำได้โดยสะดวก ไม่ต้องมีเรื่องกังวลใดเลย ในขณะเดียวกัน พระภิกษุซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ก็ทำกิจของพระภิกษุ คือ ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส และช่วยสังคมอย่างประเสริฐ ด้วยการกล่าวพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่คฤหัสถ์ จะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นคนดียิ่งขึ้น และ คฤหัสถ์ที่เป็นคนดีอันเนื่องมาจากได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ก็จะมีปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นำทางไปสู่ความดีทั้งหลายทั้งปวง รวมถึงการช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ด้วย เพราะปัญญาเป็นเครื่องปรุงแต่งให้พฤติกรรมทั้งหมดเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร และอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องพิจารณา คือ หากคฤหัสถ์จะช่วยเหลือสังคม ก็ช่วยได้เลย ไม่ต้องผ่านพระภิกษุ ไม่ต้องเอาเงินไปถวายพระภิกษุเพื่อให้ท่านไปช่วยสังคม เพราะการถวายเงินแก่พระภิกษุ นั่นเป็นการกระทำที่ทำให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ คฤหัสถ์จึงควรทำโดยตรง ไม่ต้องผ่านพระภิกษุ เพราะพระภิกษุจะมารับเงินทองไม่ได้โดยประการทั้งปวง
"พระธรรมยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง"
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ ...
อนุโมทนาสาธุ กราบขอบคุณอาจารย์คำปั่น ที่ให้ความรู้ความเข้าใจในธรรมวินัยครับ สมัยนี้มีภิกษุไม่ศึกษาธรรมมาก ชาวบ้านไม่รู้พระวินัย พลอยเห็นดีเห็นงามกับภิกษุที่ไม่ประพฤติตามพระวินัย เห็นพระช่วยเหลือสังคมก็ดีใจยกย่องกัน เพราะไม่รู้ทั้งพระทั้งชาวบ้านครับ พากันไม่รู้ ผมช่วยอะไรได้น้อยจริงครับ ทำได้เพียงฟังธรรมให้มากยิ่งขึ้นครับ
อภิเชษฐ ปานจรัตน์ (บาบู)
ชาวบ้านที่ชื่นชมพระภิกษุที่ทำอาหารแจกและถวายเงินสนับสนุนกิจกรรมนั้นๆ เพราะไม่ศึกษาธัมมะ ไม่รู้พระธรรมวินัย ขออนุโมทนากับท่าน อ.สุจินต์ และคณะวิทยากรของมูลนิธิ มศพ. ทุกท่าน ที่ร่วมกันเกื้อกูล เผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยค่ะ
กันยายน 2567 เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เกือบทุกจังหวัดภาคเหนือตอนบน ถ้าฆราวาสได้ฟังพระธรรมแล้วเกิดความเข้าใจ ทั้งชาวบ้าน ครู นักเรียน ข้าราชการ และทุกอาชีพ จะเข้าใจตนเองความทุกข์ยาก ความลำบาก ความสละที่จะช่วยเหลือกันยามยาก ถ้ามีการฟังธรรมแล้วเข้าใจก็จะเป็นประโยชน์ตนเป็นกำลังจากจิตใจตนจะได้ออกจากความทุกข์ได้บ้าง
เมื่อพระภิกษุบวชมาไม่ทำกิจธุระที่ถูกต้องเพื่ออบรมฆราวาส ให้ชาวบ้านได้เข้าใจความทุกข์ทางใจ และความลำบาก ภัยธรรมชาติครั้งนี้ ชาวบ้านจึงทุกข์ยากเพิ่มขึ้นเพราะไม่มีธรรมครองจิตใจตนเอง ความเครียด ความเศร้าของชาวบ้านจึงท่วมท้นบางคนป่วยและคิดทำร้ายตนเองเพราะความสูญเสียครั้งใหญ่ในครั้งนี้
กราบอนุโมทนาสาธุค่ะที่ได้อ่านเพื่อปฎิบัติตนได้ถูกต้องเพื่อสะสมและกล่าวสิ่งที่ตรงตามพุทธศาสนาค่ะ