ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๒
~ ความตายจะเกิดขึ้นได้ในวันหนึ่งวันใด ขณะหนึ่งขณะใด ช้าหรือเร็ว ชาติหน้าอาจจะเป็นขณะต่อไป หรือวันต่อไป หรือสัปดาห์ต่อไป เดือนต่อไป ปีต่อไปก็ได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ เพราะไม่มีเครื่องหมายที่จะให้รู้เลย ว่าชาติหน้าของใครจะเป็นเมื่อไร
~ ท่านผู้ฟังคิดหรือยัง ว่า ท่านจะอยู่ในโลกนี้อีกกี่ปีอย่างมาก ท่านก็คิดถึงอายุของท่านแล้วก็คงจะไม่เกิน ๑๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ก็จะอยู่อีกกี่ปี และเมื่อระลึกแล้ว ควรที่จะได้ระลึกถึงว่า ท่านได้กระทำกุศลหรืออกุศลมามากหรือน้อยอย่างไร ถ้าทำอกุศลกรรมมามากกว่ากุศลกรรม เวลาส่วนที่เหลือก็ควรจะเจริญกุศลกรรมให้ยิ่งขึ้น เพราะก่อนนั้นได้กระทำอกุศลกรรมมามากแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้คิดถึงมรณสติ (ระลึกถึงความตาย) ใช่ไหม? เพราะว่าคิดถึงแต่ละวันที่ต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ลืมว่าจะอยู่ในโลกนี้อีกกี่ปี
~ เมื่อทุกคนจะต้องตาย ก็น่าที่จะพิจารณาว่า จะจากโลกนี้ไปอย่างเป็นห่วง แล้วยังคงติดข้องในลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ ในความสำคัญตนว่าเป็นเรา หรือว่าจะจากไปด้วยปัญญาที่ค่อยๆ รู้ แล้วก็ละคลายการเห็นผิดการยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
~ ผู้มีปัญญา พิจารณาทะลุปรุโปร่งทั้งเหตุและผลในธรรมที่ได้ฟัง ขณะที่ได้ฟังธรรมเรื่องใด ก็เหมือนกับรูปที่ปรากฏชัดแก่คนที่ถือประทีป ตามประทีปอยู่ในที่มืด นั่นก็แสดงให้เห็นว่า สามารถเข้าใจในเหตุในผลของธรรมนั้นได้
~ ทุกคนไม่สามารถที่จะมีปัญญาเท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ทุกคำของพระองค์เป็นที่พึ่งจริงๆ ที่จะทำให้รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก
~ เรื่องของการฟังพระธรรม เป็นเรื่องยาก ถ้าบุคคลนั้นไม่เคยสะสมบุญมาก่อนในอดีต ย่อมไม่ได้ลาภ คือ ศรัทธาแม้ในการฟัง เพราะว่าย่อมมีเหตุการณ์หลายอย่างที่จะเป็นเครื่องขัดขวางการฟังธรรมที่จะให้ดำเนินไปด้วยดี ตามอัธยาศัยที่สะสมมา
~ ต้องรู้จักอัธยาศัย และก็ต้องรู้จักกาลและเทศะด้วยว่า ในสถานที่นั้นควรกล่าวธรรมไหม หรือว่าในเวลานั้นควรจะกล่าวธรรมไหม ถ้าไม่ใช่กาลเทศะที่สมควร ชื่อว่า ไม่ได้กล่าว เพราะเหตุว่าไม่มีผู้รับ การกล่าวนั้นก็เปล่าประโยชน์
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ ไม่ควรหรือที่จะฟัง ไม่ควรหรือที่จะพิจารณาไตร่ตรอง
~ ถ้าทุกคนมีความเข้าใจพระพุทธศาสนาถูกต้อง ประเทศชาติก็สงบ ไม่มีเรื่องที่จะต้องเดือดร้อนเลย
~ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง สิ่งที่ไม่ดี ก็คือ ไม่ทำ และ สิ่งที่ดี ก็ควรทำ
~ ต้องเป็นที่ตรงและมีเหตุผล ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้าใจธรรม ก็จะทำให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด
~ เกิดมาแล้วก็ต้องตายไป แล้วก็มีแต่ความเห็นผิดติดตามไป ซึ่งอาจจะไม่รู้ว่าผิด เพราะฉะนั้น ก็ควรจะฟังคำที่ได้ยิน (ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง) แล้วก็ไตร่ตรองให้เข้าใจถูกต้อง ว่า ผิดคืออย่างไร ถูกคืออย่างไร มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ได้สาระ
~ ถ้าไม่เข้าใจธรรมก็ไม่เจริญงอกงามในพระธรรมวินัย ถ้ามีความเข้าใจธรรมแล้ว ทุกอย่างก็เจริญ แม้แต่ศรัทธา (สภาพธรรมที่ผ่องใส) เพราะเหตุว่าไม่มีความเข้าใจผิดไม่มีความเห็นผิด ก็เจริญ และกุศลอื่นๆ ก็เจริญขึ้นด้วย
~ ที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าทั้งหมดนี้เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเข้าใจในสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ต้องไปหาที่อื่น ไม่ใช่อยู่ที่ตัวหนังสือ ในชีวิตประจำวันถ้าสามารถที่จะระลึกได้ ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นมีความเข้าใจคำสอนมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเข้าใจมากขึ้น การประพฤติเป็นไปทางกายวาจาก็เป็นไปในทางที่ดีงามเพิ่มขึ้น
~ ฟังธรรมทำไม ฟังเพื่อเข้าใจ เข้าใจอะไร? เข้าใจสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยขาดเลย แต่ก็ไม่เคยรู้ ไม่เคยปรากฏ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริง ว่า แท้ที่จริงมีแต่ธรรม จากไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ จนกว่าจะมั่นคง
~ การที่จะให้คนอื่นเข้าใจธรรม หวังดีแน่นอน ความหวังดีนั้น ค่อยๆ ชำระความเห็นแก่ตัว
~ สิ่งที่ดีทางกายวาจาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รู้เลยว่าขณะนั้นต้องมีศรัทธา (ความผ่องใส) ไม่ใช่เรา
~ จะเห็นศรัทธา ก็ต่อเมื่อเห็นคุณความดี เพราะว่าคุณความดีใดๆ ที่จะไม่เป็นไปเพราะศรัทธา (ความผ่องใส) เป็นไปไม่ได้ และถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้น ก็มีความเข้าใจถูกต้องว่าไม่มีเรา ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย โดยไม่มุ่งหวัง เพราะถ้ามุ่งหวังเมื่อไหร่ ก็เรานั่นแหละมุ่งหวัง ทำไปหวังไป คิดว่าจะละคลายกิเลส ละคลายความเป็นตัวตน แต่ก็กลับยังคงเป็นไปด้วยกิเลส
~ มีศรัทธาที่จะฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นความเห็นที่ถูกต้อง รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร และคำแต่ละคำเป็นประโยชน์อย่างไร เป็นประโยชน์คือทำให้สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้นได้อย่างถูกต้อง
~ ขณะใดที่เป็นอกุศล จิตไม่สะอาดไม่ผ่องใส ไม่ใช่ศรัทธา
~ ที่ฟังพระธรรมไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ฟังด้วยดี
~ กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ละเอียดมาก กิเลสแม้นิดเดียวก็จะนำไปสู่กิเลสอื่นๆ ซึ่งมากขึ้นเพราะไม่เห็นโทษของกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย
~ สิ่งที่คนอื่นควรจะได้ยินได้ฟัง คือ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็มีกำลังใจ มีกำลังของความมั่นคง ที่จะทำทุกทางที่จะให้คนอื่นสามารถได้เข้าใจแม้เพียงเล็กน้อย ตามลำดับเพิ่มขึ้น เพื่ออะไร? เพื่อขัดเกลากิเลส โดยที่ว่าไม่ได้หวังด้วยว่าแม้ทำอย่างนั้นก็เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส นี่เป็นความละเอียดอย่างยิ่งของการที่จะไม่ถูกอวิชชา (ความไม่รู้) และโลภะ (ความติดข้อง) ลวงล่ออยู่ตลอดเวลา
~ ถ้าขาดความเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถดับกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ได้
~ ชาวพุทธคือผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ไม่เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ชาวพุทธ
~ ไม่มีใครที่จะมีปัญญาเสมอด้วยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ไม่มีการฟังพระธรรม ไม่รู้แน่นอน ฟังคำของคนอื่น ก็ไม่รู้
~ แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้ง เป็นประโยชน์มีค่ามหาศาลนับไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะก่อนที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น
~ คนกิเลสมากเป็นอย่างไร พฤติกรรมทางกายทางวาจาเกิดจากใจซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสมากเท่าไหร่ การกระทำทางกาย ทางวาจา ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ากิเลสน้อยลง ความดีก็เพิ่มขึ้นจน กระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๑
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาค่ะ พระธรรมเกื้อกูลอย่างยิ่งต่อผู้ที่ฟังด้วยดีค่ะ สาธุๆ ๆ