ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๓
~ ผู้ที่เป็นบรรพชิต อย่าลืมว่า เป็นตัวอย่างของความดีงาม พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ จึงสมควรที่จะเป็น หรือว่า จึงสมควรจะบวช ซึ่งเป็นผู้ที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะกระทำตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยครบถ้วนอย่างเพศบรรพชิตได้ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จึงกราบไหว้นอบน้อมแสดงความเคารพต่อผู้ที่สามารถจะกระทำได้ คือ ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต
~ ท่านที่เป็นห่วงความเสื่อมสูญของพระสัทธรรม ก็ควรที่จะพิจารณาตั้งแต่ในขั้นของการฟังธรรมและการเป็นผู้ว่าง่าย เพราะเหตุว่าการที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ต้องเริ่มจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม คนที่ไม่เข้าใจพระธรรมหรือไม่ฟังพระธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา
~ ถ้าทำผิดแล้วไม่รู้ว่าผิด ขณะนั้นหิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) ก็ไม่เกิด แต่ว่าถ้าทำผิดแล้วก็รู้ว่าผิด ที่รู้ว่าผิดนั้น คือ หิริและโอตตัปปะเกิด จึงรู้ว่าผิด ถ้าผู้นั้นรู้ว่าผิดแล้วก็มีหิริโอตตัปปะที่จะแก้หรือจะขัดเกลาอกุศลของตนเอง วันหนึ่งๆ ก็จะทำให้ความละอายต่ออกุศลเพิ่มขึ้นได้ แต่ว่าจะเห็นได้จริงๆ ว่า การที่จะเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ละอายต่ออกุศลนั้น ไม่ง่ายเลย แต่สำหรับบางท่านที่ได้ขัดเกลามามากแล้วก็ง่าย เพราะเหตุว่าท่านได้สะสมอบรมมาที่จะเป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นสิ่งที่ผิด และขณะใดเป็นสิ่งที่ถูก
~ ในขณะนี้ที่กำลังฟังพระธรรม ให้เข้าใจว่า กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อให้เข้าใจ และสภาพธรรมที่เข้าใจนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญา นั่นเอง
~ ลาภ คือ สิ่งที่ได้มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปกติแล้วใครบ้างที่ไม่ติดข้อง ทุกคนย่อมพอใจเป็นธรรมดา แต่การฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่า เห็นโทษว่า ตราบใดที่ยังมีความติดข้องอยู่ยังไม่พ้นจากการที่จะต้องตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิดตลอดไป ไม่มีวันสิ้นสุดเลย แต่ละชาติที่ผ่านไปไม่เหลือเลย จะมีลาภสักเท่าไหร่ จะมียศสักเท่าไหร่ จะมียศสักเท่าไหร่ จะมีชื่อเสียงอะไรก็ตามแต่ แล้วอยู่ไหน เพียงแค่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไปเท่านั้น
~ ทุกคนยังมีความติดข้องในรูปในเสียง ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) สิ่งที่ได้มาคือลาภก็เป็นที่ติดข้องยินดีพอใจ แต่ถ้ามีการฟังพระธรรมก็จะทำให้เรามีความเข้าใจว่า การที่เราติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในสิ่งที่เป็นลาภ ยศ สรรเสริญอะไรก็ตามแต่ เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจในความเป็นธรรมจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรม
~ สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความเข้าใจถูกความเห็นถูก ซึ่งกิเลสที่มีมากในสังสารวัฏฏ์ซึ่งแต่ละคนประมาณไม่ได้เลย สามารถจะค่อยๆ ลดละคลายลงไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะถึงอภิสมัย คือ สมัยที่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ชาติแล้วชาติเล่า วันแล้ววันเล่า จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงว่าทุกคำที่ได้ฟัง เป็นสิ่งที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ที่สามารถจะเข้าใจได้
~ เราไม่ถูกใครทำร้ายเลยนอกจากอกุศล อกุศลเกิดเมื่อไหร่ก็ทำร้ายเมื่อนั้น
~ เห็นประโยชน์ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม ได้เข้าใจความจริง ก็เหมือนยารักษาคนตาบอดที่ไม่เห็นอะไรเลยตามความเป็นจริงให้มองเห็นได้ หรือคนที่ป่วยไข้อ่อนแรง ล้ามาก ทำกุศลใดๆ ก็ไม่ได้เลย ก็มีเรี่ยวแรงมีกำลัง ที่สามารถทำกุศลตามกำลังของปัญญาที่มีได้
~ ผู้ที่เป็นมิตรกับทุกคน มีความรู้สึกสนิทสนมด้วยความจริงใจ ก็ย่อมจะเป็นผู้มีกรุณาเวลาที่บุคคลทั้งหลายประสบความทุกข์เดือดร้อน แล้วย่อมเป็นผู้มีมุทิตา เวลาที่บุคคลอื่นประสบกับความสุขความเจริญและความสำเร็จ และถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้ หรือแม้ว่าจะได้ทำประโยชน์เกื้อกูลแล้วก็ไม่สำเร็จ บุคคลนั้นก็ยังเป็นผู้ไม่ขุ่นเคือง เพราะรู้ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย หรือกรรมของบุคคลนั้น ก็สามารถที่จะอบรมเจริญอุเบกขาได้
~ จะเปลี่ยนใจไหม ว่า ถึงใครจะโกรธ ก็ไม่โกรธตอบ รู้จักให้อภัย เห็นใครกำลังโกรธ ในขณะนั้นจะไม่มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจ หรือไม่โกรธตอบ แต่ให้อภัยคนที่กำลังโกรธ ความโกรธไม่ว่าจะเป็นของใคร ก็มีอาการที่ไม่สงบ ประทุษร้าย เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคนที่กำลังโกรธจริงๆ เห็นอาการประทุษร้ายจิตใจที่กำลังเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น เห็นโทษทันที เวลาที่เห็นความโกรธของบุคคลอื่น แล้วตัวเองเมื่อเห็นโทษอย่างนั้น ยังอยากจะโกรธเหมือนอย่างนั้นหรือ? ในเมื่อกำลังเห็นอาการของคนโกรธ ของความโกรธ เพราะฉะนั้น เมตตาเกิดได้ในขณะนั้น ซึ่งควรเจริญจนกว่าจะเป็นพื้นของจิตใจ ซึ่งสามารถที่จะให้อภัยได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการกระทำที่ไม่เหมาะสมทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม
~ สำหรับเมตตา จะไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เลย แต่ว่าโลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น จะพิจารณาได้ เวลาที่เกิดความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจ ความไม่พอใจ ให้ทราบว่าในขณะนั้นไม่ใช่เมตตา แต่ต้องเป็นโลภะ เพราะเหตุว่าถ้าท่านมีความเมตตาต่อบุคคลใดจริงๆ จะไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเลย
~ เมตตาคือสภาพที่ไม่โกรธ สภาพที่เป็นมิตร สภาพที่หวังดี ไม่มีศัตรู ใครจะเป็นศัตรูกับเราก็ตาม แต่จิตของเราไม่เป็นศัตรูกับบุคคลนั้น นั่นคือ สภาพของจิตที่มีเมตตา
~ ใครไม่ดีนั้น เรื่องของคนอื่นทั้งหมด ถ้าสามารถจะอนุเคราะห์เกื้อกูลได้ ควรทำ แต่ถ้าไม่สามารถจะอนุเคราะห์เกื้อกูลได้ แม้ว่าจะไม่ใกล้ชิด แต่ก็มีเมตตาได้ การใกล้ชิดอาจจะทำให้เกิดอกุศลมากมายเพิ่มขึ้น แต่ว่าถ้าไม่ใกล้ชิดแล้วมีเมตตา เวลาที่ถึงกาลที่จะอนุเคราะห์ ก็อนุเคราะห์ด้วยเมตตาได้
~ คิดด้วยความเมตตา ว่า บุคคลใดก็ตามที่ได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้ว เมื่อถึงกาลที่อกุศลกรรมให้ผล ใครก็ช่วยไม่ได้ มารดาบิดาก็ช่วยไม่ได้ ญาติพี่น้องมิตรสหายก็ช่วยไม่ได้ ก็จะทำให้เรามีแต่การที่จะคิดเป็นมิตรและก็ช่วยเหลือคนอื่น
~ อกุศลธรรมก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ควรที่จะเห็นอกุศลของตนเองตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งซึ่งมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดก็เกิดปรากฏ และเมื่ออบรมธรรมที่เป็นกุศลมากขึ้น ธรรมที่เป็นกุศลนั่นแหละ จะขัดเกลาบรรเทาธรรมที่เป็นอกุศลให้น้อยลงได้
~ พระธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เป็นคำจริง เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้คนที่เข้าใจผิดสามารถเข้าใจถูกได้ ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริงและเหตุผล
~ อกุศลทั้งหลายเกิดเพราะความไม่รู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด ไม่มีอกุศลแม้ประเภทเดียวซึ่งไม่ได้เกิดเพราะความไม่รู้ แต่เพราะไม่รู้จึงเป็นเหตุให้อกุศลทั้งหลายเกิด เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้
~ ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง แม้ชีวิตที่ดีขึ้น ก็เพราะมีความเข้าใจขึ้น ว่า ไม่มีใครทำอะไรให้ใครได้เลย เพราะว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่เป็นเหตุ ย่อมเป็นปัจจัยทำให้เกิดธรรมซึ่งเป็นผล ถ้าไม่มีธรรมที่เป็นเหตุ ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผล ก็มีไม่ได้เลย
~ ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น (ก็จะทำให้) ความไม่รู้ลดน้อยลง อกุศลธรรมทั้งหลาย และความติดข้อง น้อยลง การเห็นโทษของอกุศลก็เพิ่มขึ้น เพราะว่าเป็นธรรมทั้งหมด แม้แต่ปัญญาขณะนั้น ก็เกิดขึ้นเห็นโทษของอกุศล แล้วก็นำไปสู่ความดีทุกประการ
~ พระมหากรุณาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม จะให้คนที่เข้าใจผิดได้ยินได้ฟังคำที่ถูกต้อง เขาจะได้มีความเห็นถูกต่อไปในสังสารวัฏฏ์
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๒
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...