ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๔
~ ทุกคนย่อมกระทำสิ่งที่ไม่ควรและไม่เหมาะสม เพราะอวิชชา (ความไม่รู้) ทั้งนั้น ถ้าเป็นวิชชา (ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก) แล้วจะไม่ทำอย่างนั้นเลย แต่เมื่อเป็นอวิชชา ย่อมทำทุกอย่างที่ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ทางแก้ คือ ควรที่จะให้ทุกคนเกิดวิชชา มีความเข้าใจถูก เพื่อที่ว่าจะได้มีกาย วาจาและใจที่ถูกต้อง
~ ผู้ที่สะสมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด เรื่องใดที่เป็นเรื่องผิด ผู้นั้นพร้อมที่จะรับทันที ง่ายเหลือเกินที่จะคิดว่าถูก เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะเหตุว่าสะสมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด เข้าใจผิด แต่ว่าเรื่องใดที่เป็นเรื่องถูก เรื่องใดที่เป็นเรื่องจริง เรื่องใดที่เป็นเรื่องละเอียด บุคคลที่มีความโน้มเอียงสะสมมาที่จะเห็นผิด ไม่ยอมรับเลย ปฏิเสธ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริง หรือว่าไม่ถูก แต่สิ่งใดที่คลาดเคลื่อน สิ่งใดที่ผิด บุคคลนั้นง่ายที่จะเชื่อ พร้อมที่จะรับทันที
~ เจริญกุศล (ทำความดี) ทุกประการ เพื่อที่จะขัดเกลาอกุศล ด้วยความจริงใจที่จะละคลายอกุศล ไม่ใช่ต้องการหรือปรารถนาสิ่งอื่น นี่คือผู้เห็นคุณของพระธรรม และเห็นโทษของอกุศล และก็รู้ว่า สิ่งที่ควรเจริญในชาตินี้คือปัญญา เพราะเหตุว่าสิ่งอื่นไม่สามารถจะติดตามไปได้ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ ก็ติดตามไปไม่ได้ แต่ปัญญา ความเข้าใจพระธรรมจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
~ ความโกรธ ไม่มีประโยชน์เลย นอกจากนั้นก็เป็นผู้ที่จะต้องได้รับผลของความโกรธของตนเอง แต่เวลาที่คนอื่นโกรธท่าน ท่านก็ไม่ควรที่จะโกรธตอบด้วย เพราะควรที่จะพิจารณาใคร่ครวญว่า แม้บุคคลอื่นโกรธเราแล้ว จักทำอะไรเราได้ จักอาจยังคุณมีศีลเป็นต้นของเราให้พินาศไปได้หรือ? ถ้าท่านเป็นคนดี แล้วคนอื่นโกรธ คนที่โกรธท่าน ไม่สามารถทำให้ท่านเสื่อมจากคุณจากศีลของตัวท่านได้เลย เพราะว่ายิ่งเขาโกรธ ก็ยิ่งเป็นโทษสำหรับเขา
~ บุคคลที่โกรธท่าน ก็อาจจะยังโกรธ จากวันเป็นเดือน เป็นปี จากชาตินี้ไปถึงชาติหน้าก็ได้ ก็เป็นเรื่องของบุคคลที่ผูกโกรธเอง แต่ไม่ใช่ว่าบุคคลที่ผูกโกรธจะเป็นเจ้ากรรมที่สามารถจะดลบันดาลอะไรให้ เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นอกุศลกรรมของท่าน เมื่อไร พร้อมจะได้รับอกุศลวิบาก (ผลของอกุศลกรรม) ย่อมมีโอกาสที่อกุศลวิบากจะเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมของท่าน
~ ชีวิตประจำวัน มากมายไปด้วยอกุศลโดยที่ไม่รู้ตัว แต่ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอกุศล ความรู้นั้นจะค่อยๆ ละอกุศลไปทีละน้อย ตามกำลังของการสะสม ว่าเคยสะสมพร้อมกับเมื่อฟังธรรมแค่นี้ จะละได้แค่ไหน หรือจะละได้บ่อยหรือจะไม่บ่อย แต่ถ้าใครยังดื้อมาก ก็หมายความว่าฟังเท่าไรๆ ก็ไม่ยอมละอกุศล ก็ยังเป็นบริษัทที่ว่ายาก
~ ควรที่จะได้พิจารณาว่า เพราะอะไรจึงทำให้ขอโทษไม่ได้? แล้วถ้ายังขอโทษไม่ได้ในชาตินี้ ในชาติต่อๆ ไปก็เป็นผู้ที่ขอโทษยากอยู่นั่นเอง แล้วก็จะต้องมีความเดือดร้อนใจอยู่เสมอ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมจะมีความคิด บ้าง หรือว่าการกระทำทางกาย ทางวาจา บ้าง ที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ
~ ในสมัยนี้ ผ่านจากสมัยของพระผู้มีพระภาคมาเป็นเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี อกุศลที่สะสมไว้ก็เพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่ได้ขัดเกลาด้วยการฟังพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามทุกประการ
~ น่าพิจารณาที่จะเห็นอกุศลตามความเป็นจริง แล้วเห็นโทษ แล้วก็เพียรที่จะละคลายอกุศลทุกประการ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คำนึงถึงบุคคลอื่น แล้วก็คิดถึงบุคคลอื่นในทางที่เป็นกุศล พร้อมกันนั้นถ้าเป็นผู้ที่ทำความดีเสมอ และเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่า อกุศลมีมากเหลือเกิน ทางเดียวที่จะคลายอกุศลได้ ด้วยการเจริญกุศล
~ เพียงอกุศลธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า แม้อกุศลธรรมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่มากด้วย จึงเป็นผู้ที่จะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรม ซึ่งมีอยู่ในตนได้ เพราะเหตุว่ามักจะรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลอื่น แต่ว่าผู้ที่ฉลาดจะต้องเป็นผู้ที่รังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
~ ผู้ที่เป็นสาวก ไม่ได้ฟังธรรมครั้งเดียว แม้แต่จะอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ได้ยิน ได้ฟังพระธรรม ตอนบ่ายหรือตอนไหนก็ได้ ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าถึงเวลาที่ชาวเมืองสาวัตถีมาเฝ้า ได้ฟังธรรม ก็ไม่พอ เพราะฉะนั้น ก็ฟังแล้ว ฟังอีก แล้วเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปที่อื่น พระภิกษุเหล่านั้นก็ติดตามไปเพื่อฟัง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการฟังและไม่มีการพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ จะเข้าใจคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงตามที่ได้ทรงตรัสรู้ ได้ไหม?
~ การฟังธรรม เมื่อเข้าใจแล้ว ไม่เป็นโมฆะ (คือ ไม่ว่างเปล่า) ไม่เสียเวลา แต่เป็นสาระที่สุดในชีวิต เพราะว่า สามารถที่จะสะสม สืบต่อไป
~ ทรัพย์สมบัติที่ได้มา จากชาตินี้ก็หมดแล้ว เป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เป็นคนอื่นแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ บริวาร หรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่เข้าใจว่าเป็นของเรา เมื่อจากโลกนี้ไปก็เห็นกันชัดเจน ว่าไม่ใช่ของคนที่จากไปแน่นอน
~ การฟังธรรม เพื่อเข้าใจแต่ละคำ ซึ่งยากจริงๆ เพราะเหตุว่า เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก่อนนั้น จะไม่มีการได้ยินคำของพระองค์เลย จนกระทั่งเมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง แล้วก็เห็นว่า คนอื่น ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง จนกว่าจะได้ฟังจากพระองค์ถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้
~ มีใครจะเอาเงินไปซื้อความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จากการที่ได้ฟังแต่ละคำ ได้ไหม? (ไม่ได้) คนที่เข้าใจแล้ว ก็มีความหวังดีต่อคนอื่น อยากที่จะให้คนอื่นเข้าใจด้วย แต่ทำอย่างไร เขาถึงจะเข้าใจ? ก็มีหนทางเดียว คือ หนทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ การพูดถึงสิ่งที่มีจริง สนทนาธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจ จากการที่ได้ฟัง เพิ่มขึ้น
~ ทุกคำก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง ละความไม่รู้และความหลงผิดที่ยึดถือสภาพธรรมะว่าเที่ยงและเป็นของเรา กิเลสเยอะมาก หนากว่าแผ่นดิน กว่าจักรวาล แต่ปัญญาก็ค่อยๆ ชำระ ล้าง จนกระทั่งหมดจด จนกระทั่ง หมดได้ ต้องตามลำดับ
~ เราไม่อยากให้มิตรมีโทษมีภัยได้รับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เกิดมาเป็นมิตรสหายกันก็ให้สิ่งที่ดีทีสุดต่อกัน และสิ่งที่ดีที่สุด คือ คำจริง ไม่ใช่คำเท็จ คำจริงนั้น มาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ความไม่รู้ ทำให้มีการหลงผิดมากมาย
~ การหลงทาง คือ หันหลังให้พระพุทธเจ้า หันหลังให้พระสัทธรรม ไกลออกไปทุกที
~ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้ง ละเอียดอย่างยิ่ง ยากที่จะเข้าใจ และส่วนใหญ่ ความไม่รู้ ความเห็นผิด ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ละเอียด เพราะฉะนั้น ก็ไม่เข้าใจคำสอนโดยลึกซึ้ง จึงทำให้มีความเห็นต่างจากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว
~ คนที่มีความเห็นผิดแม้คนเดียวที่เกิดมา ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่า นอกจากจะไม่มีประโยชน์กับตนเอง ก็ยังให้โทษ เมื่อให้คนอื่นเข้าใจผิดๆ ตามกันไปด้วย
~ เกิดมาแล้ว จะเป็นคนนี้อีกนานเท่าใด สิ่งที่มีค่าที่สุดที่จะติดตามไปได้ คือ ความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๓
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...