ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๕
~ ถึงอย่างไรก็ต้องตาย ก็ทำความดีให้มากที่สุด ไม่ดีกว่าหรือ? เข้าใจพระธรรมให้มากที่สุด ไม่ดีกว่าหรือ? จะได้ติดตามไปได้ จะทิ้งโอกาส (แห่งการสะสมความดีและฟังพระธรรม) ได้อย่างไร?
~ พระภิกษุ ท่านบวชแล้ว เห็นภัยแล้ว ต้องประพฤติอย่างไร เพราะก้อนข้าวที่ได้จากชาวบ้านเพราะเขาเห็นความดี เมื่อเขาเห็นความดีแล้ว แต่ไม่มีความดีที่จะไปให้เขา (จะเป็นอย่างไร สมควรหรือไม่?) ลองคิดดู ถ้าระลึกได้ว่า แม้แต่ทุกคำข้าว มาจากชาวบ้าน ท่านต้องศึกษาธรรม นั่นแหละ คือ ความดี ที่จะตอบแทนก้อนข้าว (ของชาวบ้าน)
~ ปัญญาไม่ทำให้เกิดโทษภัยใดๆ เลย
~ ตราบใดที่ยังมีการศึกษา พระธรรมวินัย ก็ยังดำรงอยู่ได้
~ ถ้าเป็นความเห็นแก่ตัวหรือเป็นเรา ไม่มีทางที่จะเห็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ได้ว่า เมื่อมีความเข้าใจ (พระธรรมวินัย) แล้ว คิดถึงคนอื่นที่เขาไม่เข้าใจบ้างไหม และโดยเฉพาะขณะนี้ประเทศชาติบ้านเมือง เราก็รู้อยู่ว่า พระพุทธศาสนาเวลานี้เป็นอย่างไร เสื่อมโทรมขนาดไหน ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน ก็คือว่า ไม่มีใครสามารถที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ก็อยู่ที่ทั้งความเข้าใจธรรม และเห็นประโยชน์ แล้วก็กุศลทั้งหลายที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรมายับยั้งได้เลย
~ ต้องไม่ลืมว่า คำสอนทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่พูด เราปกปิดไว้ ไม่กล่าวถึง ด้วยประการใดๆ ก็ตาม
ขณะนั้น เราก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์อะไรจากพระธรรม, คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรกล้าอย่างยิ่งที่จะเปิดเผย ให้ได้เข้าใจถูกต้อง
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรกล้าอย่างยิ่งที่จะเปิดเผย ให้ได้เข้าใจถูกต้อง
~ การกระทำทั้งหมดที่จะให้คนได้เข้าใจความถูกต้อง ไม่ผิด ควรทำ
ถ้าใคร ไม่ทำ ก็ใจดำหรือเปล่า?
~ พุทธบริษัทด้วยกัน ก็ช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา
~ คำใดที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำ เป็นประโยชน์
~ เมื่อมีความเข้าใจธรรมแล้ว มีหรือที่จะไม่ขัดเกลากิเลส?
~ ชาวพุทธคือผู้รู้ ถ้าไม่รู้ จะเป็นชาวพุทธได้หรือ?
~ ฟังพระธรรมเพื่อค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีเรา
~ ที่ใดมีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ
~ ถ้าเป็นผู้ตรง คือ มากไปด้วยความไม่รู้ อะไรๆ ก็ไม่รู้ จริงหรือไม่?
~ เบิกบานที่มีโอกาสได้เข้าใจความจริง แม้จะเพียงเล็กน้อยก็มีประโยชน์ ถ้าได้ฟังอีกก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
~ ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รู้ว่า หนทางใด ถูก หนทางใด ผิด
~ ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ทำให้ข้อปฏิบัติที่ถูกไม่เกิดขึ้น แล้วก็ยังเป็นการเผยแพร่ในข้อปฏิบัติที่ผิด ก็ย่อมจะเป็นการทำลายข้อปฏิบัติที่ถูก ซึ่งก็เป็นโทษมากสำหรับตนเอง กับทั้งผู้อื่นด้วย
~ การศึกษาธรรมต้องเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น แต่เพื่อที่จะให้พิจารณาจนกว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ามิฉะนั้นแล้ว การศึกษาธรรมจะไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ใช่ศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้
~ ถ้าได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียดขึ้น เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน,ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) ยิ่งขึ้น
~ มีความสำคัญมาก ที่ว่า เมื่อศึกษาแล้ว ต้องพิจารณาจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเข้าใจธรรมผิด เป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นโทษ เป็นทุกข์สิ้นกาลนาน เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมแล้วต้องพิจารณา เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติให้ถูก ต้องเข้าใจว่าที่ศึกษานี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติถูก
~ การที่กุศลจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณจริงของกุศลธรรมที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลาอกุศล จึงไม่ว่างเว้นจากโอกาสที่จะได้สะสมความดีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของความดีประเภทใดก็ตาม
~ อกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอกุศลศีล
~ กว่าเราจะขัดเกลากิเลสได้ กิเลสซึ่งมีมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่า กุศลทั้งหลาย เป็นประโยชน์ ทำให้เราไม่ล่วงศีล
~ มีเมตตาได้ไหม มีความเป็นเพื่อน แม้แต่คิดก็คิดด้วยเมตตา ไม่ได้คิดที่จะเบียดเบียน
~ จิต ที่สะสมมา มากไปด้วยอกุศลเพียงใด เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเป็นกุศลได้บ่อยขึ้น เพิ่มขึ้น ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์
~ เรา ก็มีกาย มีวาจา มีใจ (จิต) เพราะฉะนั้น ใจเป็นอย่างไร ก็เป็นทางที่จะทำให้วาจา และกายเป็นอย่างนั้น
~ สำคัญที่จิต จิตขณะใดเป็นกุศล กายก็ต้องเป็นกุศล วาจาก็ต้องเป็นกุศล
~ กล่าวถึงขณะกล่าวที่ธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เข้าใจ (ปัญญา) เป็นกุศล แล้วก็ยังแสดงออกด้วยวาจาที่จะให้ความเข้าใจนั้นเป็นความถูกต้องสำหรับคนที่ได้ฟัง ด้วย
~ เราก็รู้ว่า ใจ (จิต) ที่ยังไม่ได้เอ่ยออกมาทางวาจา แล้วใจที่เป็นกุศลนั้นก็ต้องเป็นกุศล แต่พอพูดวาจานั้นออกมา ก็พูดด้วยจิตที่เป็นกุศล ถ้ากระทำด้วยจิตที่เป็นกุศล การกระทำนั้นก็เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศล
~ แม้ว่าจะกล่าวถึงเหตุที่นำความสุขมาให้ ก็ไม่ใช่ว่าให้มีความหวังที่จะให้เรามีความสุขจากเหตุนั้นแต่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ว่า นั่นเป็นเหตุและเป็นผล ธรรมอย่างนี้นำมาซึ่งผลอย่างนั้น หรือผลอย่างนี้ที่เป็นธรรมที่เป็นผล ก็เกิดจากเหตุอย่างนั้น ไม่มีเรา
~ แสดงความจริงทั้งหมด ไม่ว่าจิตขณะนั้นจะเป็นอกุศล ก็ขอให้รู้ในความไม่ใช่เรา
~ ความดี แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าไม่ทำ หรือ อกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ถ้าไม่เว้น ขณะนั้นก็พอกพูนอกุศล
~ ถ้าพูดถึงกุศลที่เว้นทุจริต ให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นการขัดเกลากิเลส โดยการเว้นทุจริตสละอกุศลที่มีอยู่ในจิต โดยการที่เป็นกุศล
~ ความหวัง ยังมีอยู่ตราบใด ความหวัง ก็เพิ่มขึ้น ตราบนั้น ไม่มีทางที่จะขัดเกลาได้เลย
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คือ ความจริง ต้องเป็นความจริง กุศลนำมา ซึ่งอะไรบ้างซึ่งเป็นผลที่ดีตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่ว่าให้หวังที่จะได้สิ่งที่ดี ด้วยความเป็นเรา
~ ถ้ารู้ว่าผลต้องตามมาแน่ (มาจากเหตุ) แล้วต้องหวังไปทำไม
~ ทำอะไรอะไรก็ตาม ที่เป็นกุศล โดยไม่หวัง เพราะรู้ว่าเป็นการขัดเกลาอกุศล
~ เข้าใจแล้วก็เข้าใจอีก เข้าใจแล้วก็เข้าใจอีก ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ไม่มีใคร ไปทำอะไรเลย
~ พระธรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะปัญญารู้ว่าขณะนั้นแต่ก่อนนี้ เคยเป็นคนที่ไม่สนใจที่จะทำดีเลย แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่า ถ้าไม่ทำดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
~ ก็เพราะได้เข้าใจพระวินัย และเข้าใจพระธรรมด้วย ก็ทำให้สามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นไม่ให้ผิดยิ่งไปกว่านี้
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๔
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...