ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม... ครั้งที่ ๓๓๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๓๐
~ การที่ระลึกถึงความตาย เห็นความไม่เที่ยง ก็ย่อมจะทำให้ท่านละคลาย แม้ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในสมบัติของท่าน ซึ่งเคยถือว่าเป็นของเรา และนอกจากนั้นก็ยังทำให้เกิดละคลายมานะ การถือตน การสำคัญตน หรือความผูกพันในสัตว์ ในบุคคล ซึ่งเป็นที่รัก ในสังขารที่เป็นที่รักได้ จึงจะเป็นกุศล
~ ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ไม่มีเครื่องหมายที่จะให้รู้เลยว่า ชีวิตของใครจะอยู่ต่อไปถึงพรุ่งนี้ หรือว่าเดือนหน้า หรือว่าปีหน้า ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ว่าจากที่นี้ไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นสุข หรือว่าจะเป็นทุกข์ จะประสบกับอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าพอใจ) หรืออนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ) จะมีอุบัติเหตุ หรือไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะว่าชีวิตไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ ก็รู้ไม่ได้
~ ถ้าอดทนไม่ได้ กายย่อมผิดปกติ และวาจาก็ย่อมเป็นวาจาทุจริตได้ ตามกำลังของกิเลสซึ่งมีกำลังขึ้น ซึ่งเมื่อกิเลสที่เป็นโทสมูลจิตมีกำลังกล้า จะเป็นเหตุให้กระทำกายทุจริตและวจีทุจริต
~ วันหนึ่งๆ โลภะเกิดขึ้นในอารมณ์ต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้เลย ทั้งทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส กำลังซัดส่ายไปหาทุกข์แท้ๆ ถ้ารู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของทุกข์ ให้ทราบว่า ในขณะใดที่กำลังแสวงหาสุข ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นกำลังซัดส่ายไปหาทุกข์ เพราะเหตุว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
~ ไม่มีใครสามารถที่จะไปหยุดยั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ซึ่งเป็นกิจการงานอย่างหนึ่ง จิตเกิดขึ้นทำอะไร ทำกิจเห็น ต้องเห็น ขณะนี้ทำกิจแล้ว คือ เห็น มีปัจจัยที่จะทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้จิตได้ยินเกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัย จิตก็เกิดขึ้นกระทำกิจได้ยิน เป็นการทำงานแต่ละขณะจิตจริงๆ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
~ ไม่ควรเลยที่จะปล่อยให้เป็นอกุศลเพิ่มขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะสิ้นชีวิตไป ลองคิดถึงอกุศลในวันหนึ่งซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ได้ส่วนกับกุศลเลย แล้วจะเป็นอย่างไร?
~ แม้ไม่ประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ใจคิดอย่างไร บางทีใจคิดเบียดเบียน แต่ยังไม่ทำ ซึ่งก็อาจจะมีได้ แม้อย่างนั้นก็ยังจะต้องเห็นว่า ในขณะนั้นจิตไม่สงบเพราะเป็นอกุศล
~ คนที่กำลังศึกษาธรรม ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลส แต่ว่าศึกษาเพื่อที่จะดับกิเลส แต่ถ้าไม่ศึกษาเพื่อจะละกิเลสแล้ว ก็อาจจะทำให้กิเลสเพิ่มมากขึ้น จนถึงกับมีความเห็นผิดได้ ซึ่งอุปมาเหมือนกับผู้แสวงหางูพิษ แล้วจับงูพิษที่หาง ก็ย่อมจะถูกงูพิษกัด
~ กุศลกรรม ไม่หักประโยชน์ใดๆ เลย ในขณะที่กุศลกรรมเกิด มีการช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและบุคคลอื่น และเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ก็ย่อมนำมาซึ่งทรัพย์สมบัติ สิ่งของให้เป็นของของตน ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ใช่ของตนเลย แต่เวลาที่กุศลกรรมให้ผลขณะใด ทรัพย์สมบัติสิ่งของทั้งหลายก็เป็นของตนเมื่อนั้น
~ ในขณะที่มีการบริจาคทานวัตถุ พอที่จะเห็นลักษณะของอโลภะได้ไหม แต่ต้องเป็นในขณะที่จิตผ่องใส สละวัตถุนั้นให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ต่างกับขณะที่หวังสิ่งตอบแทน เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาดู การให้ เป็นกุศล แต่ต้องละเอียดที่จะรู้ว่าต่างกับขณะที่หวังสิ่งตอบแทน แม้หวังว่าจะได้รับเพียงความสนิทสนมคุ้นเคย นั่นก็เป็นอกุศลแล้ว หรือว่าหวังที่จะให้บุคคลที่ได้รับ เคารพนอบน้อม หรือว่าหวังที่จะให้ผู้รับ กตัญญูกตเวที ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว
~ เป็นผู้ที่ว่าง่าย เป็นผู้ที่อดทน ที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่ให้พ้นจากการที่จะตกไปในทางฝ่ายอกุศล
~ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ต้องไม่เผิน ถ้าเผิน ก็ย่อมผิด เป็นการทำลายพระธรรมคำสอน
~ ศัตรูภายนอก ทำร้ายได้เพียงแค่กาย ไม่สามารถทำร้ายใจได้ แต่ศัตรูภายในคือกิเลส ทำร้ายใจของเราแล้วในขณะที่เกิดขึ้น
~ เราต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ มีความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย แม้แต่พระธรรม นอบน้อมโดยการศึกษา ด้วยการพิจารณาด้วยความละเอียดที่จะให้ไม่บิดเบือน ไม่เข้าใจผิดในพระธรรม เพราะว่าถ้าเราเข้าใจผิด จะผิดกันไปตลอด ไม่ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ เท่ากับว่าเราไม่ใช่ผู้ที่มีความเคารพในพระธรรม
~ พระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงว่า สภาพธรรมใดเป็นนามธรรม สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม และทั้งหมดเป็นอนัตตา คือ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีอยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น
~ เวลาโลภะเกิด ไม่เคยละอายเลยที่จะมีโลภะ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่า เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมที่ไม่สะอาด แต่ทุกคนก็พอใจที่จะมีโลภะต่อไป เพราะไม่ละอาย หรือไม่เกลียดอกุศลธรรม
~ ความโกรธเป็นโทษเป็นภัย เป็นอันตรายของตนเอง คนที่ถูกโกรธไม่เดือดร้อนอะไรเลย เพราะฉะนั้น กิเลสของตนเองที่เกิดกำลังทำร้ายตนเอง และจะสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เป็นผู้ที่โกรธต่อไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็อาจจะผูกโกรธเอาไว้นานด้วย และอาจจะถึงขั้นที่ไม่ยอมให้อภัย
~ ไปสำนักปฏิบัติแล้วไม่รู้ แล้วยังจะเป็นผู้อยากจะไปเพื่อที่จะไม่รู้ต่อไปอีกหรือ?
~ แม้จะมีอกุศลมาก แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ถ้าเห็นประโยชน์
ขอเชิญคลิกอ่านครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๙
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ