ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๔๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๔๐
~ การที่มีโอกาสได้อยู่ในภพภูมินี้ และมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
~ สำหรับผู้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม แม้ว่าจะยังไม่เป็นบรรพชิต ก็อาจจะคิดได้ว่า การฟังพระธรรมก็เหมือนกับการเกิดใหม่ เพราะเหตุว่าการเกิดก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสจะได้เข้าใจสภาพธรรมเลย ปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาอย่างไร ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามแม้ว่าเป็นคฤหัสถ์ ถ้าจะใช้ข้อเตือนตนเองอย่างบรรพชิตก็จะเตือนได้ว่า แม้ในการที่ได้ฟังพระธรรมก็เหมือนกับเป็นการเกิดใหม่ ที่จะทำให้จิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะละคลายอกุศล ที่ผิดจากก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม
~ ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่ปัญญาเกิด เพราะฉะนั้นก็ไม่ถือเอาสิ่งที่ควรถือ หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ว่ามีความประพฤติเหมือนดังเข้าไปในเรือนที่มืดตื้อ ทำอะไรก็ไม่ถูก และทำสิ่งที่ผิดๆ ด้วย ไม่มีปัญญาที่จะส่องให้เห็นว่า สิ่งนั้นไม่ควรกระทำ แต่ว่าทำไปแล้วด้วยอวิชชา
~ คำว่า “ธรรม” คำเดียว ครอบคลุมโลกทั้งโลก จักรวาลทั้งหมด และคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจคำว่า “ธรรม” ว่าหมายความถึงสิ่งที่มีจริง และสิ่งนั้นก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จึงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว ก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรเลยซึ่งไม่ใช่ธรรม เสียงก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่าเป็นของจริงที่เกิดขึ้นปรากฏให้พิสูจน์ได้ว่ามีจริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงนั้น ใครจะเรียกว่า “ธรรม” หรือไม่เรียกว่า “ธรรม” แต่ลักษณะสภาพนั้นก็เป็นธรรม
~ ใจสบายหรือเปล่าเวลาที่มัวคอยแสวงหาโทษของคนอื่น ควรจะเป็นผู้ที่จิตใจสบาย ปลดปล่อย ไม่คิดถึงคนอื่นในทางที่จะทำให้ตนเองเดือดร้อน แต่แม้กระนั้นก็เป็นผู้ที่คอยแสวงหาโทษของคนอื่น ซึ่งความจริงแล้วน่าจะต้องเป็นการกระทำที่น่าเหนื่อย เพราะเหตุว่าอยู่ว่างๆ ก็สบายดี หรือว่าเป็นกุศลก็น่าจะดีกว่า คือมีเมตตา จิตใจก็เบาสบาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะแสวงหาโทษของคนอื่น วันหนึ่งๆ ก็ไม่ว่าง คอยแต่จะคิดว่าคนนั้นมีโทษอะไร คนนี้มีโทษอะไร โทษเท่านี้ยังไม่พอ ยังแสวงมากกว่านั้นอีก ว่าคนนั้นจะมีโทษมากกว่านั้นอีกแค่ไหน
~ กุศลทั้งหมดเป็นทรัพย์ที่แท้จริง อกุศลไม่ใช่ทรัพย์เลย และไม่นำมาซึ่งทรัพย์ทั้งปวงด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญกุศลได้ยิ่งขึ้นก็จะต้องอาศัยศรัทธา ถ้าปราศจากศรัทธา ขาดศรัทธาเสียแล้ว ก็ไม่สามารถอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น แม้แต่ศรัทธาในการฟังธรรมหรือในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ศรัทธานี้เปรียบเหมือนพืช ถ้าไม่มีพืชก็ย่อมปลูกข้าวหรือปลูกพืชพันธุ์ใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ก่อนอื่นทีเดียวก็ต้องมีพืช คือ ศรัทธาในการฟังพระธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว ถ้าขาดศรัทธาในขั้นต้น คือ ในขั้นการฟัง ก็ย่อมจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามได้เลย
~ ถ้ามีแต่เพียงวิชาความรู้ซึ่งเป็นอาชีพ แต่ถ้าขาดความประพฤติการดำเนินชีวิตที่ดีถูกต้อง ความรู้ในวิชาอาชีพก็อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมหรือความพินาศได้
~ เพื่อนดี มิตรดี สหายดี คือผู้ที่ชักชวนเกื้อกูลกันในกุศลธรรม ที่จะทำให้เจริญมั่นคงขึ้นในกุศลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าถ้าได้ยินได้ฟังสิ่งใดมาก ก็มักจะคล้อยไปน้อมไปสู่ความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีเพื่อนที่ดี ที่ชักชวนให้ทำกุศลธรรมเนืองๆ ก็จะทำให้เพิ่มพูนมั่นคงในกุศลกรรมยิ่งขึ้น
~ ถ้าตราบใดยังมีกิเลสอยู่ ที่จะไม่ให้เกิดความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นเป็นไปไม่ได้ รูปเป็นรูป รูปไม่มีเจตนาจะให้ใครหลงใหล พอใจ ยึดมั่น แต่สภาพนามธรรม คือโลภเจตสิกเป็นสภาพที่ติดข้องยินดีพอใจ ยึดมั่น ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตามที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และไม่ใช่แต่ในรูปเท่านั้น ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เป็นที่ยึดมั่นยินดีพอใจของโลภเจตสิกได้ทั้งสิ้น
~ ธรรมอันเป็นที่พึ่งทั้งหมดทุกประการ ก็จะเห็นได้ว่า ธรรมที่เป็นที่พึ่งนั้นเป็นกุศล อกุศลนี้พึ่งไม่ได้เลย แต่ธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ นั้นต้องเป็นกุศล แต่ว่ายากที่จะเกิด เพราะเหตุว่าเมื่อสะสมอกุศลมามาก ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดมากกว่ากุศลธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่าธรรมใดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ก็จะเข้าใจในคุณของธรรมนั้น คือ คุณของกุศล ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลทุกประการอย่างละเอียด เพราะเหตุว่าเห็นโทษว่า อกุศลธรรมนั้นมีกำลังมากกว่า เพราะเหตุว่าสะสมมากกว่า
~ ความโกรธเป็นโทษเป็นภัย เป็นอันตรายของตนเอง คนที่ถูกโกรธไม่เดือดร้อนอะไรเลย เพราะฉะนั้นกิเลสของตนเองที่เกิดกำลังทำร้ายตนเอง และจะสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เป็นผู้โกรธต่อไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็อาจจะผูกโกรธเอาไว้นานด้วย และอาจจะถึงขั้นที่ไม่ยอมให้อภัย ถ้ารู้โทษของอกุศลอย่างนี้จริงๆ ขณะนั้นเมื่อเห็นโทษแล้ว สติที่ระลึกได้ก็จะทำให้ขณะนั้นปราศจากความโกรธ หรืออาจจะเกิดมีความเมตตาแทนที่จะโกรธก็ได้
~ เกิดมา ตายไป โดยที่ไม่รู้ความจริง มีมาก
~ ธรรมดา (ธมฺมตา) คือ ความเป็นไปของธรรมแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่เรา
~ ยิ่งฟังพระธรรม ยิ่งมั่นคงในความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) ของสภาพธรรม
~ แทนที่จะส่งเสริมสิ่งอื่น ก็ควรที่จะมีการส่งเสริมให้มีการฟังพระธรรม เพราะการฟังพระธรรม คือ ประโยชน์สูงสุด
~ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เกื้อกูลให้ความดีทั้งหลายเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน
~ จะฟังธรรมวันไหนก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะวันพระ ในสมัยพุทธกาล อุบาสกอุบาสิกา เข้าไปพระวิหารที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ เพื่อฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้จำกัดวันเลยได้ทุกวัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง เพื่อจะได้ทรงแสดงความจริงเพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่ผู้อื่น
~ ผู้รักตน คือ ผู้ไม่ทำอกุศลกรรม เพราะอกุศลกรรม เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อนในภายหลัง
~ ขณะที่ทำร้ายคนอื่น ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ขณะนั้น ทำร้ายตนเอง ด้วยกิเลสของตนเอง
~ ถ้าไม่คิดชั่ว กรรมชั่วก็มีไม่ได้
~ เบิกบานที่ได้เข้าใจความจริง ไม่หลงไปในทางที่ผิด
~ ปัญญานำไปสู่กิจของกุศลทั้งปวง ไม่ได้นำไปสู่อกุศลเลย
~ ได้เห็นคนเบียดเบียนกันถึงกับสิ้นชีวิต น่าสลดใจไหม ฆ่าได้ คนฆ่าคนได้คิดดู เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่าเพราะอะไรจึงฆ่า ฆ่าด้วยกำลังของกิเลสใช่ไหม มีความรุนแรงจนกระทั่งสามารถที่จะทำร้ายชีวิตได้ แค่สทุบตีนิดหน่อยก็ยังเป็นกิเลสที่ปรากฏว่าไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่นี่ถึงกับไม่ให้เขามีชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้น เห็นการกระทำอย่างนั้นแล้ว คนที่สะสมมาที่จะเห็นโทษก็ไม่ฆ่าอะไรอีกเลย เพราะขณะนั้นเห็นโทษเห็นภัยจริงๆ เพราะกำลังของกิเลส บุคคลนั้นเห็นโทษจริงๆ แล้วสมาทานคือถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติในทางกุศลต่อไป
~ คนที่เคยไม่ระวังเรื่องคำพูด พูดจาฟังไม่ได้เลย รู้ไหมว่าขณะนั้นคนฟังเดือดร้อน คนพูดไม่คิดเลย มีกำลังของกิเลสที่จะพูด แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นเดือดร้อนเพราะคำนั้น
~ ใครบ้างชอบคำไม่จริง ไม่มีใครชอบ แล้วคนนั้นไปพูดคำไม่จริงให้คนอื่นได้ยินให้เขาเข้าใจผิดสมควรหรือ ในเมื่อเราเองก็ยังไม่ชอบเลยเมื่อมีใครมาพูดคำไม่จริงกับเรา
~ กุศลธรรมกล้าที่จะทำสิ่งที่ดี ละอายที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะเห็นโทษของสิ่งที่ไม่ดี
~ ฟังธรรมแต่ละคำแล้วเข้าใจขึ้น แล้วจะฟังต่อไปนั่นคือสมาทานคือถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะฟังพระธรรมต่อไป
~ สามเณร (เหล่ากอของผู้สงบ) คือ ผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรม และเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง แม้จะมีวัยที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามพระวินัย แต่ก็มีศรัทธาถึงกับสามารถที่จะรักษาศีลของสามเณรและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อขัดเกลากิเลส
~ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด แล้วจะรักษาพระพุทธศาสนาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ควรที่จะได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจจริงๆ และ พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ น้อมประพฤติตามพระธรรมขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ ให้เหมาะควรแก่ความเป็นผู้ดำรงเพศที่สูงยิ่ง
~ เป็นคนดี โดยไม่บวชได้ไหม ศึกษาธรรม เข้าใจธรรม โดยไม่บวช ได้ไหม? ได้
~ กว่าจะเข้าใจธรรม กว่ากิเลสจะค่อยๆ หมดสิ้นไปได้ ก็ต้องอาศัยการเป็นผู้ตรง และจริงใจ
~ ทุกๆ วัน ควรที่จะเป็นวันแห่งการได้เข้าใจพระธรรม.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๓๙
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...