สัมภาษณ์คุณโรเบิร์ต (Robert Kirkpatrick)
ได้พบคุณโรเบิร์ต (Robert Kirkpatrick) ชาวนิวซีแลนด์ หลายครั้งที่มูลนิธิฯ และที่เวียดนาม ที่เธอพาครอบครัว ภรรยาชาวญี่ปุ่น ลูกชาย ไรอัน และลูกสาว นีน่า มาสมทบที่เวียดนามหลายครั้ง ครั้งละ 2 – 3 วัน พร้อมกับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันพวกเราหลายครั้ง คราวนี้มีโอกาสคุยกันเลยขอสัมภาษณ์ว่า เธอมาศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้อย่างไร เธอเขียนเล่ามาใน email ว่า
เมื่ออายุ 25 ได้อ่านหนังสือเรื่องของลัทธิเซนที่ห้องสมุด คิดในขณะที่อ่านตอนนั้นว่า นี่เป็นความจริงที่สุด ปีต่อมาเลยอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธในภาษาอังกฤษทุกเล่มที่สามารถซื้อหรือขอยืมได้ แต่ที่นิวซีแลนด์ในปี 1983 หนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธมีน้อยมากและที่มีก็ทำให้เข้าใจผิดเป็นส่วนใหญ่ จนปลายปีนั้นก็สรุปได้ว่า พุทธเถรวาทเป็นคำสอนที่ถูกต้องที่สุด และหมดความสนใจในลัทธิเซน
ต่อมาในปี 1985 ได้ไปปฏิบัติกับชาวพุทธอเมริกันที่สอนวิธีมหาสี (Mahasi method) และในปี 1986 ได้ไปเอเชีย 3 เดือน เป็นการเดินทางที่น่าผิดหวังมาก เพราะไม่สามารถหาครูที่สอนให้เข้าใจอนัตตาได้เลย แต่ก็ได้ซื้อหนังสือพุทธเถรวาทภาษาอังกฤษจากร้านหนังสือของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในกรุงเทพ ได้หลายเล่ม แต่อย่างไรก็ยังรู้สึกเหมือนคนหลงทางไม่สามารถหาทางที่จะเข้าใจธรรมต่อไปได้ ดูเหมือนอาจารย์ที่พูดคุยด้วยหรือหนังสือที่อ่านทั้งที่นิวซีแลนด์และในเอเซียเชื่อว่า สามารถควบคุมจิตได้โดยการยึดมั่น ซึ่งไม่ตรงกับความเข้าใจว่า หัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล บังคับบัญชาไม่ได้
ในปี 1989 จึงกลับมาที่เมืองไทยอีก 3 เดือน โดยไปปฏิบัติที่สำนักอาจารย์แนบฯที่ชลบุรี (เพราะได้อ่านหนังสือของอาจารย์แนบมาบ้างและอยากจะเข้าใจความเป็นอนัตตา) อาจารย์ที่นั่นน่าประทับใจมากและได้รับการต้อนรับอย่างดี
หลังจากนั้นได้เดินทางไปศรีลังกาหลายสัปดาห์ และได้ซื้อหนังสือมือสองชื่อ “อภิธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย นีน่า วัน กอร์คอม เมื่อกลับไปนิวซีแลนด์ได้เขียนจดหมายถึงคุณนีน่า ซึ่งสนับสนุนให้มาพบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่กรุงเทพ จึงวางแผนกลับมาที่มูลนิธิอาจารย์แนบเพื่อจะมาพบท่านอาจารย์สุจินต์ ในเวลาเดียวกัน
คุณนีน่าเขียนจดหมายตอบคำถามหลายข้อในจดหมายฉบับที่สองด้วยลายมือยาว 16 หน้า (บางส่วนพิมพ์ลงในหนังสือ “จดหมายเกี่ยวกับวิปัสสนา”) และได้อ่านในขณะอยู่ที่มูลนิธิอาจารย์แนบ หลังจากอยู่ที่มูลนิธินั้น 2 อาทิตย์ ก็เข้ามากรุงเทพเพื่อมาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ 2 – 3 ครั้ง และกลับไปที่มูลนิธิอาจารย์แนบฯ เพื่อจัดการอยู่อย่างไม่มีกำหนด แต่ก็พบว่า ไม่จำเป็นต้องทำสมาธิ เพราะเห็นชัดเจนว่า สภาพธรรมสามารถเกิดปรากฏได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นพิเศษ และหลังจากนั้นอีก 10 วันก็กลับมาอยู่กรุงเทพเพื่อสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์บ่อยขึ้น
หลังจากนั้นกลับมาเมืองไทยเกือบทุกปีเพื่อสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ และติดตามไปสนทนาธรรมกับสถานที่ต่างๆ พร้อมกับน้องสาว และคุณดวงเดือน มีโอกาสได้ถามปัญหาธรรมต่างๆ สะสมความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ถ้าไม่อยู่เมืองไทยก็จะเขียนจดหมายถามปัญหาธรรมกับคุณนีน่า และคุณโรเบิร์ตมีพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษทั้งชุดไว้ศึกษาค้นคว้าที่บ้าน หลังจากนั้นอีก 2 อาทิตย์ก็จะได้รับคำตอบจากคุณนีน่า ซึ่งเป็นเวลาที่มีค่ามาก เพื่อใช้เวลาไตร่ตรองพิจารณาธรรมที่ได้รับ คุณโรเบิร์ตจะขับรถไปที่ป่า เดิน นั่ง และพิจารณาสิ่งที่คุณนีน่าเขียนตอบมา หรือบางทีก็ไปป่าช้าใกล้ๆ บ้าน ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก 300 เอเคอร์ หาที่นั่งเหมาะๆ พยายามเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งที่คุณนีน่าเขียนมาเกี่ยวกับ “ขณะเดี๋ยวนี้” “เห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น” หลายครั้งทั้งสองท่านสนทนากันถึงข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายนตสูตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุยังไม่รู้ชัดในเห็น ... ก็ไม่สามารถดับทุกข์ได้... “
เมื่อคุณโรเบิร์ตเข้าใจพระธรรมแล้วก็ได้เผยแพร่โดยเขียนลงในเว็บไซต์ www.dhammawheel.com ว่า การทำสมาธิไม่ทำให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อ Ms. Tam Bach ชาวเวียดนาม ได้อ่านแล้วเข้าใจจึงเดินทางจากเวียดนามมาหาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่มูลนิธิฯ และได้นำหนังสือธรรมที่คุณนีน่า วัน กอร์คอม เขียน ไปศึกษากับเพื่อนๆ ที่นั่งสมาธิด้วยกันหลายเล่ม และได้รวมกลุ่มกันเชิญท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรมที่ฮานอย เวียดนามครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และเชิญติดต่อกันทุกปี ปีละ 2 – 3 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) เป็นครั้งที่ 12 แล้ว มีชาวเวียดนามมาฟังเพิ่มขึ้นทุกครั้ง นับว่าความเข้าใจธรรมของคุณโรเบิร์ตทำให้คนอื่นมีโอกาสได้ฟังและเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นด้วย ขออนุโมทนาค่ะ
ตอนนี้คุณโรเบิร์ตอายุ 60 แล้ว ประสบความสำเร็จในงานอาชีพและชีวิตครอบครัวพอสมควร และยังคงเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์สุจินต์อยู่
เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่สะสมมาที่จะเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าต้องใช้ความพยายามมากเพียงใดกว่าจะได้ฟังความจริงแท้ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ละชีวิตเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ไม่มีใครเหมือนใคร ที่เหมือนกันคือแต่ละขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วยความไม่รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ก็ยังสะสมมาที่อยากจะรู้ความจริงนี้กันทุกคน จึงมาเป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน
.........
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง โปรดคลิกที่นี่...
- ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษที่แก่งกระจาน [ตอน ๑]
- สนทนาธรรมที่ไต้หวัน 1
- คุณซาราห์ แอบบ๊อท (Sarah Abbot)
- คุณอีฟ [Ms. Eve.]
- สัมภาษณ์คุณสุขิน นฤหล้า (Sukin Narula)
- คุณ Tam Bach (อาจารย์สุจินต์เวียดนาม)
- คุณแอนน์ มาแชล และคุณไพน่า [Mrs. Ann Marshall & Ms. Pinna Indorf]
- คุณ Azita Gill
- เวปไซต์ : http://www.abhidhamma.org/ โดยคุณ Robert Kirkpatrick
.........
ท่านที่สนใจฟังเสียงการสนทนาภาคภาษาอังกฤษที่คุณซาราห์และคุณโจนาธาน บันทึกและนำลงเวปไซต์ไว้ สามารถติดตามฟังโดย คลิกที่นี่....
แต่ละชีวิตเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ไม่มีใครเหมือนใคร เป็นไปตามการสะสม อนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลที่ได้สะสมมาดี และสะสมต่อไปกราบสาธุ สาธุ สาธุ
พึงฟังธรรมะ (คำของพระพุทธองค์) ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี (เห็น,ได้ยิน,ได้คิด,ฯลฯ) ว่าเกิดแล้วก้อดับ ทีละหนึ่งๆ น้อมไตร่ตรองตรงตามความเป็นจริง ว่ามิใช่เรา สาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ
ฟังพระธรรมแล้วมีปัญญาเป็นที่พึ่ง จะทำให้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงด้วยความ เข้าใจที่ถูกต้อง น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ