ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๗

 
khampan.a
วันที่  24 มิ.ย. 2561
หมายเลข  29850
อ่าน  2,811

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๗

~ กุศลย่อมให้ผลที่ดี แต่เมื่อยังเป็นกุศลในวัฏฏะ ก็จะต้องเห็นแม้โทษด้วยว่า ถ้ามีความติด ความเพลิดเพลิน ความพอใจในผลของกุศลนั้นๆ ก็ย่อมเป็นการยากที่จะบรรลุอริยธรรม แม้แต่เพียงจะฟังก็ยังไม่ค่อยจะมีเวลา หรือว่ายังไม่สามารถที่จะพิจารณาธรรมได้บ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่าเป็นไปในเรื่องของความสนุก ความเพลิดเพลินต่างๆ

~ ใครเป็นเพื่อนแท้ ลองพิจารณาดูว่า เพื่อนแท้นั้นจะไม่แข่งดี

~ ทุกคนควรดี ใช่ไหม? มากๆ ไม่ใช่แต่เราคนเดียว

~ วันหนึ่งๆ อกุศลมากสักแค่ไหน ลองคิดดู ถ้าไม่สังเกต ความผูกพัน ความสัมพันธ์ด้วยอกุศลจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นไปด้วยเมตตา หวังดี เกื้อกูล ในขณะนั้นก็เป็นกุศล

~ ถ้าไม่เจริญกุศลทุกประการเป็นเครื่องประกอบแล้ว ก็ย่อมยากแก่การที่จะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่าถ้ากุศลไม่เกิด อกุศลก็ย่อมเกิดสะสมเพิ่มขึ้น การที่จะดับกิเลสเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ยากขึ้น

~
ทำกิจที่ควรทำหรือเปล่า ถ้าลืมก็เป็นอกุศล เพราะเหตุว่าอกุศลย่อมทำให้หลงลืมกิจที่ควรกระทำต่างๆ ท่านที่ยังอยู่กับมารดาบิดา คงจะพิจารณาเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า ท่านได้ปรนนิบัติตอบแทนคุณของมารดาบิดามากน้อยเท่าไร แต่ถ้าเทียบกันแล้ว ก็เทียบไม่ได้เลยกับพระคุณที่ท่านเคยกระทำต่อบุตร

~ ถ้าไม่มีการละคลายให้เบาบาง อกุศลนับวันก็เพิ่มขึ้น แล้วเวลาที่อกุศลเพิ่มขึ้นก็ย่อมปรากฏให้เห็นการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรประการต่างๆ

~ สำคัญไหมสำหรับคำพูด? เป็นเพื่อนกัน แต่ใช้ถ้อยคำผิดหูนิดเดียว โกรธเสียแล้วไม่เป็นเพื่อนเสียแล้ว นี่เป็นชีวิตจริงๆ

~ สำหรับเรื่องของกุศล ทำไมจะควรต้องคิดตอนที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ขณะนี้ไม่ควรหรือ? กุศลย่อมควรทุกขณะ ไม่ต้องรอจนถึงขณะนั้นแล้วจึงควร เรื่องของกุศลทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ต้องรอจนกว่าจะสิ้นชีวิต แม้ในขณะนี้ก็ควร

~
ถ้าใครมีกายวาจาที่ปรากฏเป็นอกุศล ก็ย่อมส่องถึงการสะสมอกุศลนั้นซึ่งมีกำลัง ทำให้ปรากฏออกมาเป็นการกระทำที่เป็นอกุศลทางกาย ทางวาจาแต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมกุศลธรรมไว้มาก ก็เป็นปัจจัยให้เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น

~ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด
ผู้ใดสดับมาก ฟังมาก พิจารณามาก ทรงจำมาก เห็นประโยชน์มาก น้อมนำที่จะประพฤติ ปฏิบัติตามมาก ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดมาก

~ มีความไม่รู้อย่างมาก สะสมมาอย่างเนิ่นนาน แล้วยังอยากจะเป็นผู้ไม่รู้ต่อไปอีกหรือ?

~ พูดคำไม่จริง บาปไหม? บาปแน่นอน เป็นการบิดเบือนความจริงให้คนอื่นเข้าใจผิด

~ ความไม่รู้มีมาก เวลาที่อกุศลจิตเกิด ย่อมมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

~ จากที่มากไปด้วยอกุศล เกียจคร้านในการเจริญกุศล แต่เพราะอาศัยพระธรรมก็จะค่อยๆ พลิกจากความเป็นอย่างนั้น ให้เป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในการเจริญกุศล ได้

~ ผู้ที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก จะไม่เดือดร้อนเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

~ สิ่งที่ควรเคารพ ต้องเป็นกุศลธรรม คุณความดี

~ จะไปทำความดีอะไรได้ไหม ในขณะที่โกรธคนอื่น

~ มีวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพียงโกรธคนนั้น การให้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า โทสะ กั้น กุศลแล้ว ในขณะนั้น

~ ทั้งๆ ที่มีความประสงค์จะฟังพระธรรม แต่ก็ง่วง ทำให้ฟังต่อไปไม่ได้ ความง่วง ก็กั้นกุศลแล้วในขณะนั้น

~ ทำดี ทันทีไม่ต้องรอ ก็จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความรำพันว่า ไม่น่าพลาดโอกาสของการทำดี เลย

~ กำลังรำพัน ประโยชน์อยู่ตรงไหน ไม่มีประโยชน์เลย รู้อย่างนี้จะได้หยุดรำพัน

~ ฟังธรรมให้เข้าใจ ก็ต้องเข้าใจว่า ธรรม คือ อะไร เห็น มีจริงไหม ได้ยินมีจริงไหม โกรธ มีจริงไหม ติดข้องมีจริงไหม ความเข้าใจถูก มีจริงไหม ทั้งหมดนั้นมีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน

~ ถ้าได้ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง ก็ย่อมมีประโยชน์กว่าการที่จะฟังเรื่องอื่น

~ ธรรมมีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่ไม่มี มี แต่ไม่รู้ จึงจะฟังพระธรรมเพื่อที่จะได้รู้สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จึงจะค่อยๆ ละความเห็นผิดที่ยืดธรรมว่าเป็นเรา

~ การศึกษาธรรม คือ ศึกษาในสิ่งที่มีจริง ทุกคำที่เป็นคำจริง ก็ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ยิ่งขึ้น

~ คบคนที่ไม่สนใจธรรม หรือ คบคนที่เข้าใจธรรมผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะมีทางที่ทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกได้หรือไม่? เป็นไปไม่ได้เลย เพราะคบคนที่มีความเห็นผิด ความเห็นผิดและความไม่รู้ ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

~ สิ่งที่ควรกลัว ไม่ใช่คนพาล แต่เป็นความเป็นพาล คือ อกุศลธรรมที่มีในตน เพราะภัยคืออกุศลธรรม นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือนร้อนเท่านั้น

~ อดทนที่จะเป็นคนดี อดทนที่จะไม่โกรธ

~ เขาโกรธมา เราโกรธไป ความไม่ดีเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้นที่ไม่อดทน

~ สำหรับการฟังพระธรรมทั้งหมด อย่าลืมว่า เพื่อให้เข้าใจถูก และเพื่อที่จะละความเห็นผิด เพราะเหตุว่า ความเห็นผิดเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เฉพาะแต่ชาตินี้ชาติเดียว ถ้าขาดการพิจารณาโดยรอบคอบจริงๆ ทั้งในขั้นปริยัติและในขั้นปฏิบัติ และมีการโน้มเอียงไปในทางที่จะเห็นผิดและปฏิบัติผิดแล้ว ก็จะยึดถือในข้อปฏิบัตินั้นเป็นชาติๆ ต่อไปอีก นานแสนนาน

~ กล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป ตลอดไป เพื่อโอกาสของคนที่มีโอกาสจะไตร่ตรองว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร เพราะถ้าไม่รู้ต่อไป ก็ทำสิ่งที่เป็นภัยกับตัวเองและทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่ติดตามไปได้ทุกภพชาติ ไม่เหมือนคนที่อยากจะร่ำรวย
ในชาตินี้แต่ไม่มีความเข้าใจธรรมเลย

~ อยู่ได้โดยมีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดีกว่ามีภิกษุซึ่งไม่ได้มีความเข้าใจธรรม
พูดเรื่องอื่นทั้งหมด ไม่ได้พูดธรรมแล้วก็ประพฤติปฏิบัติเหมือนอย่างคฤหัสถ์แล้วอย่างนี้จะต้องการภิกษุอย่างนี้หรือ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ต่างหากที่เป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาโดยการส่งเสริมสนับ สนุนให้ผู้ที่เป็นภิกษุกระทำกิจเหมือนกับคฤหัสถ์

~ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ความดีที่ได้กระทำแล้วก็นำมาซึ่งผลที่ดี จะไปนรกเพราะความดี ได้ไหม? ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ความดี ก็เป็นความประพฤติที่ไม่ประเสริฐ ไม่ว่าใครทั้งนั้น เมื่อไหร่ที่ทำสิ่งที่ไม่ดี จะไปสวรรค์ได้ไหม? ก็ไม่ได้ นี่ก็ตรงอยู่แล้ว

~ ถ้าไม่สามารถที่จะเป็นพระภิกษุได้ แล้วลาสิกขา (สึกมาเป็นคฤหัสถ์) ชาวบ้านก็ดีใจ ไม่ใช่ไปปล่อยให้เขาได้โทษต่างๆ และก็ยังคงเป็นพระภิกษุต่อไป ก็เป็นคนเห็นแก่ตัวถ้าอยากจะให้มีพระภิกษุ แต่พระภิกษุนั้นไม่ได้เป็นพระภิกษุ

~ ทุกคนก็เคยทำผิดมาแล้วทั้งนั้น เคยทำอกุศลมาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่กรรมนั้นจะให้ผล เพราะฉะนั้น ไปแก้สิ่งที่ทำผิดไปแล้วให้กลับเป็นถูก ไม่ได้ เพราะว่าสำเร็จไปแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นโทษก็ทำสิ่งที่ดี เท่าที่สามารถที่จะกระทำได้ เป็นกรรมดี หมายความว่า เพื่อที่จะมีโอกาสที่กรรมดีจะให้ผล ไม่อย่างนั้นก็เป็นโอกาสของอกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว (จะให้ผล)

~ จิต (สภาพทำหน้าที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) ไม่ใช่กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) แต่จิตมีกิเลสเกิดร่วมด้วย จึงเป็นอกุศลจิต

~ ตราบใดที่ยังไม่เห็นโทษของความไม่รู้ ก็ประมาทแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรต่อจากนั้นไปก็ประมาททั้งหมด เพราะไม่เห็นโทษของความไม่รู้

~
ความเข้าใจพระธรรม ก็ทำให้ความประพฤติเป็นไปในทางที่เป็นกุศลดีงามยิ่งขึ้น ไม่มีอะไรที่สามารถจะดลบันดาลได้ นอกจากปัญญาที่เข้าใจว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ทั้งหมด ก็คือ มาจากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

~ ที่จะดำรงพระพุทธศาสนาได้ ไม่ใช่วัดวาอาราม ไม่ใช่อิฐหินปูนทราย ไม่ใช่ประเพณีต่างๆ แต่ว่าต้องเป็นความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น จึงจะสามารถดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ เพราะว่าพระพุทธศาสนาคือคำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ จะดำรงคำสอนซึ่งพระองค์ทรงประทานให้พุทธบริษัท ก็ต่อเมื่อพุทธบริษัทได้เข้าใจคำสอนนั้น จึงสามารถที่จะดำรงไว้ได้

~ มีชีวิตอยู่เพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่าที่จะเป็นไปได้

~ ทุกวันก็มีความดีทีเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ มั่นคงขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะขัดเกลากิเลสให้ถึงที่สุด

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๖

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
panasda
วันที่ 24 มิ.ย. 2561

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 24 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มกร
วันที่ 24 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 24 มิ.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 25 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 25 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 25 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thilda
วันที่ 26 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 5 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ