ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๙
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๙
~ การเกื้อกูลกันให้เกิดความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่า ถ้ามีความเข้าใจผิด มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อประพฤติปฏิบัติ ไม่มีโอกาสเลยที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
~ ถ้าบุคคลใดไม่มีความเห็นถูก การปฏิบัติก็ไม่ถูก การรู้แจ้งธรรมก็ถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกเป็นเบื้องต้นทีเดียว เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง
~ ผู้ใดหนักด้วยมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ยึดมั่นในความเห็นที่ไม่ตรงกับพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และไม่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ว่าก็ไม่ทิ้งหรือว่าทิ้งไม่ได้ นั่นก็แสดงว่าความเห็นผิดหนักมากทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ถ่ายถอน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นถูก หรือว่าไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งรู้จริงในสภาพธรรมตามที่ปรากฏและตามที่ได้ทรงแสดงไว้
~ การที่ให้มีศรัทธานั้น หมายความถึงให้น้อมใจเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลควรเชื่อ ไม่ใช่ว่าท่านมีศรัทธาไปเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดๆ อย่างนั้นไม่ใช่ศรัทธาแน่นอน เพราะเหตุว่า ศรัทธาเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น แต่ถ้าท่านเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุผล เป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเกิดกับอกุศลจิต
~ สำหรับผู้ที่สะสมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด ผู้ศึกษาพระธรรมจะสังเกตได้ว่า เรื่องใดที่เป็นเรื่องผิด ผู้นั้นพร้อมที่จะรับทันที ง่ายเหลือเกินที่จะคิดว่าถูก เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะเหตุว่าสะสมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด เข้าใจผิด แต่ว่าเรื่องใดที่เป็นเรื่องถูก เรื่องใดที่เป็นเรื่องจริง เรื่องใดที่เป็นเรื่องละเอียด บุคคลที่มีความโน้มเอียงสะสมมาที่จะเห็นผิด ไม่ยอมรับ เลย ปฏิเสธ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริง หรือว่าไม่ถูก แต่สิ่งใดที่คลาดเคลื่อน สิ่งใดที่ผิด บุคคลนั้นง่ายที่จะเชื่อ พร้อมที่จะรับทันที
~ ถ้ามีความเห็นผิดเสียแล้ว การชักชวนหรือคำพูดที่ผิดก็ย่อมเกิดขึ้น ทำให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดไปด้วย แต่ว่าความเห็นชอบ เป็นสิ่งที่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
~ ขณะใดที่จะกระทำอกุศลกรรม ขณะนั้นก็เป็นการสะสมเพิ่มพูนกิเลสอีก และขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นก็เพิ่มพูนกิเลสมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของกิเลส แล้วก็ใคร่ที่จะดับกิเลส ก็จะไม่เพิ่มกิเลส โดยการกระทำทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา เพราะฉะนั้น กุศลธรรมมิใช่น้อยจึงเจริญ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
~ ถ้าข้อปฏิบัตินั้นผิด คลาดเคลื่อน ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ อกุศลธรรมก็ย่อมเจริญ (คือเกิดมากขึ้น เพิ่มมากขึ้น) สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ย่อมเจริญ เพราะว่าชีวิตปกติประจำวันนั้น มาจากความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็ผิดตามไปด้วย เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้
~ ความเห็นผิดเป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งพัดไปทำให้ไม่กลับมาสู่ความเห็นถูกเพราะฉะนั้นเป็นอันตรายมาก ถ้ามีความเห็นผิดเพียงเล็กน้อย แล้วก็จะทำให้ความเห็นผิดนั้นพาไปสู่ความเห็นผิดที่มากขึ้นและลึกขึ้น ก็ยากแก่การที่จะละ
~ อยู่ด้วยโลภะ อยู่ด้วยความเกลียดชัง อยู่ด้วยความริษยา อยู่ด้วยความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า? นั่นไม่ใช่ผู้ประเสริฐเลย เพราะฉะนั้นผู้ประเสริฐจริงๆ แม้ในชีวิตประจำวัน ก็คือ เมตตา หมายความว่า ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน พร้อมจะเกื้อกูล ไม่ได้หมายความว่า ให้เราหลงผิด ทำผิดไปกับคนอื่น แต่การเกื้อกูล คือ เกื้อกูลให้ถูกต้อง ให้เขามีความเห็นถูก ให้มีความเข้าใจถูก ให้มีกายวาจาใจที่ถูก นี่คือความเป็นมิตรที่แท้จริง
~ ผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ ผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ จึงไม่เบียดเบียนตนเองและไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น และเมื่อคิด ก็คิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น นั่นคือผู้ที่เป็นบัณฑิต
~ ถ้ารู้ตัวเองว่า "กุศลใดๆ ที่ทำ ยังไม่พอ ยังน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับอกุศล" ก็จะเป็นกำลังใจที่จะทำให้มีศรัทธา ที่จะทำกุศลมั่นคงขึ้น
~ การที่กุศลจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณจริงของกุศลธรรมที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลาอกุศล จึงไม่ว่างเว้นจากโอกาสที่จะได้สะสมความดีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของความดีประเภทใดก็ตาม
~ การศึกษาทั้งหมดก็จะละคลายความไม่รู้ และก็ละคลายอกุศลทั้งหลายซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถที่จะนอกจากละชั่ว แล้วก็บำเพ็ญความดี ก็ยังชำระจิตให้บริสุทธิ์จากการยึดถือสภาพธรรมะว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลด้วย
~ ประโยชน์สูงสุดของการฟัง แม้ในวันนี้ ก็คือได้ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นธรรมเริ่มเข้าใจ ความเป็นธรรม
~ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมและไม่อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ก็จะต้องถูกพัดไป และเป็นผู้หนาด้วยอกุศลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
~ ทุกคนต้องตาย แต่ก่อนตายควรที่จะได้เป็นคนดี
~ ถ้าเข้าใจธรรม เป็นคนดีขึ้นแน่นอน
~ สิ่งที่สะสมสืบต่อที่ประเสริฐอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก
~ ขณะสุดท้ายของชาตินี้เป็นแต่เพียงสมมติมรณะ เพราะเหตุว่าเราเปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ และกรรมหนึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลใหม่ และมีเรื่องราวใหม่ ไม่สิ้นสุดในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งปัจจุบันชาตินี้เป็นอย่างนี้ ถอยไปอีก ชาติก่อนเป็นอย่างไร และชาติโน้นๆ เป็นอย่างไร เคยเห็นเคยได้ยินก็เหมือนเดี๋ยวนี้ ซึ่งอีกไม่นานการเห็นของชาตินี้ก็เป็นอดีต และการคิดนึกของเรื่องนี้ก็เป็นอดีต แต่เป็นอดีตที่ไม่หวนกลับมาอีกสักขณะจิตเดียว สักเรื่องเดียวด้วย และเวลาที่จะเกิดใหม่ก็คือเรื่องใหม่ แต่ว่าเมื่อไรจะจบ ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
~ ความจริงใจ การเข้าใจให้ถูกต้อง จะกลัวอะไรถ้าสิ่งนั้นถูก ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวเลย ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีเหตุผล
~ สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตซึ่งจะติดตามไปได้ที่มีประโยชน์สูงสุดคือปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาอาจจะมีทรัพย์สมบัติ มีรูปสมบัติ มียศ มีบริวาร มีทุกอย่าง แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นทรัพย์สมบัติตามไปได้ไหม รูปสมบัติก็ตามไปไม่ได้ บริวารสมบัติ ทุกอย่างอื่นก็ตามไปไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะสะสมสืบต่อในจิตที่จะทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟังและก็เกิดความเห็นถูกขึ้นได้
~ พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนา ๔๕ พรรษาโดยละเอียด เรื่องของสภาพธรรมล้วนๆ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพิจารณาขั้นการฟังให้เห็นความเป็นอนัตตา ที่สภาพธรรมแต่ละอย่างจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ชั่วขณะเดียวที่เกิดทำกิจเฉพาะขณะนั้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
~ คนที่มีเงินมีทอง มีสมบัติทุกอย่างก็มีทุกข์ ถ้าไม่มีปัญญา แต่ถ้าคนมีปัญญา ถึงไม่มีอะไร ก็ไม่เป็นทุกข์
~ ชีวิตของเราจะดำเนินไปอย่างไร เราก็ไม่ทิ้งการสะสมอบรมเจริญปัญญา โดยทุกวิถีทาง
~ ปัญญาต้องรู้ตรงตั้งแต่ต้น หมายความว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่มีการรีบเร่ง หรือใจร้อน หรือจะทำ ถ้าเข้าใจอนัตตาจริงๆ แล้ว จะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็มีสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น เห็น ขณะนี้ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำ ขณะที่ได้ยิน ได้ยินก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ
~ ถ้าทราบว่าเป็นผู้ที่ยังมีโมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มาก ที่จะต้องขัดเกลา ก็จะทำให้ไม่ละเลยการฟังพระธรรม แล้วก็ไม่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการด้วย
~ คนที่เราโกรธกำลังสบาย กำลังเป็นสุขสนุกสนาน เราคนเดียวกำลังเดือดร้อน กำลังไม่สบายเลยสักนิดเดียว จิตใจกำลังขุ่นมัวเต็มที่ แล้วใครทำให้ เราทำเอง ถ้ามีปัญญาจริงๆ เห็นโทษของอกุศลขณะนั้น เป็นสติ ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน
~ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ที่ตรัสรู้ เป็นศาสนาที่ทำให้คนฟังเกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง และเราก็พิจารณาได้ว่า เท่าที่ได้ฟังมา ความเห็นถูกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า มีความเข้าใจอะไรๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงไหมในขณะนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นหมายความว่า เราสามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มอีก เมื่อเราสนใจ ศรัทธาเห็นประโยชน์ แล้วก็ฟังต่อไป
~ ถึงเป็นคนดีแล้วก็ประมาทไม่ได้เลย เกิดมาเป็นคน เป็นผลของกุศลกรรมแล้วก็สะสมความดีไว้พอสมควรแต่ก็ยังมีอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นคนเลว ไม่ยากเลย เพราะอะไร? เพราะมีอวิชชา (ความไม่รู้) ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลาย
~ เวลาที่ยังไม่โกรธ ก็รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่พอความโกรธเกิดขึ้นเท่านั้นเอง กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์
~ รู้ว่าธรรมเข้าใจยาก เพราะฉะนั้น อดทน เพราะว่า ถ้าขาดความอดทนไม่มีทางที่จะเข้าใจ
~ อกุศลทำให้ไปสู่สุคติได้ไหม? ไม่ได้ กุศลทำให้ไปสู่ทุคติได้ไหม? ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ทั้งหมดที่ไม่ดี ก็นำไปสู่ทุคติได้
~ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพสักการะบูชาสูงสุด เพราะเหตุว่าสามารถจะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในสังสารวัฏฏ์ แต่ละคำไม่ประมาทเลย ความเข้าใจวันนี้ ฟังต่อไป ไตร่ตรองต่อไป จะมีความเข้าใจขึ้นแน่นอน และก็มั่นคงขึ้นด้วย แต่ถ้าขาดการฟังก็เหมือนเดิม คิดเอง ผิดด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างชัดเจน
~ การทำให้ใครเข้าใจผิดในพระธรรมวินัย โทษมากไหม? แม้ว่าจะไม่ใช่เพศพระภิกษุก็ต้องมาก แต่ถ้ายิ่งเป็นภิกษุที่สละอาคารบ้านเรือน ชาวบ้านก็นับถือยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตแต่กลับกระทำสิ่งที่ไม่สมควรถึงปานนี้ ผลคืออะไร?
~ ถ้ารู้ว่าสิ่งใดถูก แล้วพูดเพื่อที่จะให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ? เป็นประโยชน์, ในเมื่อเป็นประโยชน์ ควรพูดไหม? ควรพูด
~ ใครเขาว่าอย่างไรแล้วเราจะเป็นอย่างที่เขาว่าหรือ หรือว่าเขาจะคิดอย่างไร เขาจะพูดอะไรก็เรื่องของเขา แต่อะไรที่ถูกและเป็นประโยชน์ ควรพูดไหม? ควรพูด
~ คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนได้ฟัง ได้พิจารณา ได้ไตร่ตรอง เพราะเหตุว่าทุกคำเป็นประโยชน์ เมื่อเข้าใจสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีความหวังดีต่อคนอื่นจะไม่พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีทางที่จะหยุดพูดคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า คำนั้นเป็นคำที่มีประโยชน์
~ ถ้ามีความเข้าใจว่าอะไรถูกต้องและเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นทั้งหมด สมควรไหมที่จะพูดให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะว่าประโยชน์สำคัญกว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่าจะต้องปกปิดหรือว่าหยุดที่จะกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่เป็นความถูกต้อง
~ ขอเรียนให้ทราบว่า มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จะไม่หยุดศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๘
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...