ขอเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องจิตตานุปัสสนาครับ
ขออนุญาตอัญเชิญส่วนหนึ่งของจิตตานุปัสสนาในพระสูตร มาจากเวปไซต์แห่งหนึ่ง เพื่อมาประกอบคำถามครับจิตตานุปัสสนา
" [๒๘๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองเนืองอยู่
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อนึ่ง จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะหรือจิตไม่มีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีราคะหรือจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ หรือจิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโทสะหรือจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ หรือจิตไม่มีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโมหะหรือจิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่านหรือจิตเป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่าจิตเป็น มหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่าจิตไม่เป็นมหรคต ฯลฯ "
คำถาม
๑. ผมผ่านมาเวปบ้านธัมมะนานนานครั้งเหมือนเข้าใจจากคำสอนว่า จิตมีหลายแบบหลายดวง แต่พอมาเห็นจิตตานุปัสสนาจากพระสูตรที่ยกมา กลับไม่เห็นทรงพูดให้ดูจิตอย่างละเอียดทุกดวงตามที่ได้รับทราบทั้งหมดเลย จึงสับสนในการปฏิบัติว่าเป็นการดูจิตเดียวกันกับที่มีการสอนว่าแยกแยะได้มากมายหลายร้อยดวงนั้นหรือไม่ครับเพราะสรุปจากพระสูตรดังกล่าว พูดถึงสภาพจิตในอารมณ์ ราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ฟุ้งซ่าน เป็นมหรคต หรืออัปปมัญญาพรหมวิหาร เป็นสอุตตระ หรือกามาวจรจิต เป็นอนุตตระ หรือรูปาวจรและอรูปาวจร จิตตั้งมั่น จิตวิมุตติ เพราะเหตุใดอาการจิตที่ถูกดูในจิตตานุปัสนาจึงเหมือนหรือต่างจากลักษณะจิตที่มีการสอนโดยละเอียดครับ เป็นไปได้ไหมครับว่า ทางปฏิบัติเราไม่จำเป็นต้องให้นิยามทำความเข้าใจอาการจิตขณะที่กำลังรับรู้ว่าเป็นจิตดวงไหนอะไรผสมกับอะไร ขอเพียงให้รู้ชัดถึงการมีอยู่ของกลุ่มอาการจิตที่แตกต่างในแต่ละช่วงแต่ละเวลาได้ ก็เพียงพอสำหรับการเจริญจิตตานุปัสนาแล้ว
๒. ไม่เข้าใจคำสอนจากพระสูตร " จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ หรือจิตไม่มีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโมหะ" ตรงที่ว่า จิตไม่มีโมหะก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโมหะ หากไม่ได้รู้ว่าจิตไม่มีโมหะ แต่รู้ว่าจิตมีราคะที่ชัดเจนอยู่ อย่างนี้ยังถือว่าการปฏิบัติสอดคล้องกับคำสอนอยู่หรือไม่ ในทางตรงข้าม หากบางคนจับอาการราคะไม่ได้ แต่รู้ว่าจิตไม่มีโมหะ จะถือว่าจิตของทั้งสองคนสามารถจับอาการของจิตลักษณะเดียวกันอยู่ได้อย่างชัดเจนเหมือนกันหรือไม่ครับ
กราบขอบพระคุณที่กรุณาช่วยให้ความรู้การปฏิบัติธรรมครับ
๑. ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธองค์ทรงจำแนกจิตทั้งหมดลงใน ๑๖ หมวดมีจิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ เป็นต้น คือ ทั้ง ๑๖ หมวดที่แสดงไว้ มีเนื้อความครอบคุมจิตทั้งหมดแล้ว (โลกียจิต) เพราะฉะนั้น การรู้จิตตามความเป็นจริง ควรรู้ตามฐานะของตนๆ และความรู้ของแต่ละบุคคลย่อมมีความละเอียดไม่เหมือนกัน ส่วนจิตบางประเภทที่ไม่เกิดให้รู้ ย่อมรู้ไม่ได้
๒. การรู้จิตในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การรู้จิตแต่ละประเภทในแต่ละขณะ คือถ้ามีจิตประเภทใดเป็นอารมณ์ก็รู้สิ่งนั้น ไม่ต้องกังวลถึงการรู้จิตประเภทอื่น ถ้าขณะอื่นมีจิตประเภทอื่นเป็นอารมณ์ สติสัมปชัญญะย่อมรู้จิตประเภทนั้น แต่ไม่ใช่เราจะเลือกรู้จิตประเภทต่างๆ ส่วนความหมายจิตมีโมหะและจิตปราศจากโมหะ ในอรรถกถาแก้ไว้ดังนี้
บทว่า จิตมีโมหะ ได้แก่จิต ๒ ดวง คือ จิตที่เกิดพร้อมด้วยวิจิกิจฉาดวง ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยอุทธัจจะดวง ๑ แต่เพราะโมหะย่อมเกิดได้ในอกุศลจิตทั้งหมด ฉะนั้น แม้อกุศลจิตที่เหลือก็ควรได้ในบทว่าจิตมีโมหะนี้โดยแท้. จริงอยู่ อกุศลจิต ๑๒ (โลภมูล ๘ โทสมูล ๒ โมหมูล ๒) ท่านประมวลไว้ใน ทุกกะ (หมวด ๒) นี้เท่านั้น. บทว่า จิตปราศจากโมหะได้แก่จิตที่เป็นกุศล และอพยากฤตฝ่ายโลกิยะ.
จริงๆ น่าจะต้องรู้นะคะว่าจิตดวงไหน ผสมกับอะไร อย่างที่คุณบอก เพราะว่า ถ้าไม่รู้ว่าขณะนั้นมีอกุศลจิตอยู่ด้วย ก็อาจหลงได้เหมือนกันว่าเป็นกุศลจิตน่ะค่ะ เมื่อไม่รู้ว่าเป็นอกุศลจิต ก็จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตต่อไปเรื่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนยากจะละคลายความเห็นผิดได้