ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย [ครั้งที่ ๒๑] ตอน เป็นผู้รู้มาก แต่เข้าใจหรือเปล่า?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
(ภาพจากแฟ้มภาพ อาสาฬหบูชา ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐)
เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ขณะที่ตื่นนอนในตอนเช้า ได้เปิดฟังวิทยุออนไลน์จากเวปไซต์ บ้านธัมมะ ซึ่งโดยปรกติแล้วมักจะอาศัยเปิดฟังธรรมจากลิงค์รายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ที่มีผู้แชร์มาในไลน์กลุ่มธรรมต่างๆ ในตอนเช้าตรู่ของทุกวัน แต่เช้านี้ มือไปกดถูกลิงค์ที่เป็นวิทยุออนไลน์ แทนที่จะเป็นลิงค์แนวทางเจริญวิปัสสนาอย่างที่เคย
เมื่อได้ฟังแล้วก็เกิดความประทับใจ ความซาบซึ้งใจ หรืออีกนัยหนึ่งที่ภาษาวัยรุ่นสมัยนี้พูดว่า "โดนใจ" ในข้อความการสนทนา ที่ท่านอาจารย์แสดงถึงความละเอียด ลึกซึ้ง ของ "หนทางของการศึกษาพระธรรม" ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงหนทางไว้ ซึ่งมักมีผู้เข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อน ข้องใจ สงสัย เสมอๆ ว่าการเรียน การศึกษาธรรมที่ถูกต้องนั้น ควรเป็นอย่างไร แบบไหน ต้องตั้งต้นที่ไหน เทปแผ่นไหน ตอนไหน หนังสือเล่มไหน เรื่องใด ต้องเป็นอย่างนั้น หรือต้องเป็นอย่างนี้ ฯลฯ ซึ่งท่านก็เมตตากล่าวบ่อยๆ ว่า ฟังเรื่องไหนตอนไหนไม่สำคัญ สำคัญที่ว่า เมื่อได้ฟังสิ่งใดก็ "เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง" เมื่อเข้าใจ ก็รู้ว่าเข้าใจ ไม่เข้าใจ ก็รู้ว่าไม่เข้าใจ ฟังเข้าใจ ความเข้าใจก็ดับแล้ว ฟังแล้วไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจก็ดับแล้วเช่นกัน ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา จึงไม่ยินดีหรือเดือดร้อนไปกับความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เพราะ (ปัญญา) รู้ว่า เป็นแต่ธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรา
เพราะเหตุที่สังสารวัฏฏ์ยาวนาน บุคคลจึงไม่เป็นผู้กังวลว่า ยังไม่ได้เข้าใจสิ่งโน้น ยังไม่รู้สิ่งนี้ หากเป็นผู้ที่มั่นคงขึ้นจากความเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังในแต่ละชาติ ย่อมเป็นผู้ที่รู้ว่า บุคคลย่อมอาศัยปัญญาความเข้าใจขึ้น ละเอียดขึ้น รอบรู้ขึ้น หลากหลายขึ้น เกลี้ยงเกลาขึ้น สะสมไป ชาติแล้วชาติเล่า โดยไม่เลือกว่า ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องรู้เรื่องนี้ เดี๋ยวนี้ ในชาตินี้ เท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะชื่อว่าไม่เข้าใจธรรม นี่เป็นใครกัน ที่คิดอย่างนี้? เพราะเหตุว่า การที่บุคคลใดสามารถเข้าใจธรรมได้มากมายเท่าใดในชาติหนึ่งๆ นั้น ก็ด้วยอัธยาศัยและการสะสมที่หลากหลายในแต่ละบุคคลที่ผ่านมาในอดีต และย่อมจะสะสมต่อไป ไม่เหมือนกันเลย เลียนแบบกันก็ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีคำกล่าวที่ว่า ธรรมหลากหลายดอกหรือ? การได้พบ ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม จึงเป็นผู้ที่สบายๆ กับความเข้าใจธรรม ที่เพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น ในแต่ละชาติที่มีโอกาสได้ฟัง ได้เข้าใจ เท่านี้ สบายไหม? หรือเดือดร้อนอีกแล้ว? ด้วยความคิดว่า ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้? ฟังเรื่องอนัตตา แต่ความเป็นตัวตนก็อยากที่จะบังคับบัญชาให้เป็น อย่างนั้น อย่างนี้ อีกแล้ว!!
การที่ทุกท่านได้พบกับหนทางที่ถูกต้องในพระธรรมที่ทรงแสดงนี้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้เคยสะสมบุญคือการเข้าใจธรรมมาแล้วแต่ปางก่อนแน่นอน หาไม่แล้ว ท่านคงไม่สนใจที่จะฟังเสียงของพระธรรมที่ได้ยินแล้วนี้เป็นแน่ ส่วนว่าความเข้าใจธรรมที่เคยสะสมมา จะมากหรือน้อยเท่าใดนั้น ทุกท่านย่อมเป็นผู้ที่รู้ได้ด้วยตนเอง จากการที่ได้ฟังและเข้าใจมากขึ้น ยิ่งขึ้น ทั้งเป็นผู้ไม่ประมาท ด้วยการคิดเอง การศึกษาพระธรรมจึงเป็นเรื่องเฉพาะตนของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมาในอดีต ไม่เหมือนกันเลย จึงไม่มีแบบแผน วิธีการ ไม่มีการแข่งขัน ว่าคนนั้นรู้มาก คนนี้รู้น้อย เราต้องรู้ให้มากกว่านี้ ถ้าไม่รู้เหมือนเขา เรารู้สึกเดือดร้อน นี่ไม่ใช่หนทางของการศึกษาธรรม
การศึกษาธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ท่านแสดงว่า เมื่อเข้าใจถูกต้อง จะเป็นผู้ที่เบาสบาย (ขอเชิญคลิกฟัง ... ฟังสบายๆ ตอนที่ 1 และ ฟังสบายๆ ตอนที่ 2) ไม่หนัก ไม่เครียด แต่จะเป็นผู้ที่อาจหาญ ร่าเริง เพราะเข้าใจมั่นคงขึ้นจากการฟังว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่ละขณะ ในแต่ละวัน ล้วนเป็นแต่ธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่เรา ความสมหวัง ความผิดหวัง ความสุข ความทุกข์ทั้งหลาย ล้วนมาแต่เหตุที่ได้เคยกระทำไว้แล้วในอดีตอนันตชาติ อันประมวลมาซึ่งผลของกรรมในชาตินี้ ซึ่งเรานั้นเองเป็นผู้ได้เคยทำเหตุไว้ในอดีต และย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นเอง หาใช่ผู้อื่นไม่ มีผู้ที่เป็นทุกข์ เดือดร้อน กล่าวว่า ทำไมต้องเป็นเรา (ที่ทุกข์ ที่เดือดร้อน) ท่านก็แสดงว่า "เพราะต้องเป็นเรา" เพราะเราเองเป็นผู้ที่ได้กระทำเหตุไว้ในอดีตนั่นเอง จึงต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น หาใช่ใครอื่นไม่ เมื่อเข้าใจในเหตุและผลอย่างนี้ จะเป็นผู้ศึกษาธรรมด้วยความสบายๆ ดังที่ได้กล่าวแล้วไหม?
หนทางของการแสดงพระธรรม จึงเป็นการแสดงเพื่อผู้ที่ได้ฟัง จะมีความเข้าใจในธรรม ในหนทางที่ทรงแสดงโดยนัยประการต่างๆ ในหัวข้อต่างๆ ในวาระต่างๆ ตามความเข้าใจที่ว่า บุคคลสะสมมาหลากหลายอัธยาศัย (สังเกตุได้ จากการที่แต่ละบุคคล มีคำหรือข้อความที่โดนใจจากการได้ฟัง ได้พบพระธรรมครั้งแรกในชาตินี้ มีต่างๆ กัน) จึงไม่มีข้อกำหนดกฏเกณฑ์ใดๆ ว่าต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องเท่านั้น ต้องเท่านี้ เป็นแต่เพียงการแสดงความจริงที่ทรงแสดงจากการทรงตรัสรู้ ในหลากหลายนัย เพื่อความเข้าใจของผู้ฟังเป็นประการสำคัญ ด้วยความเมตตา เป็นมิตร เป็นเพื่อน ที่มีความปรารถนาดีให้ทุกท่านที่มีโอกาสสดับตรับฟังความจริงจากการตรัสรู้ มีความเข้าใจขึ้น ตามกำลังของความเข้าใจในแต่ละบุคคลที่เคยสะสมมา ซึ่งเป็นปัจจัยให้ได้สะสมความเข้าใจธรรมต่อไป มีความมั่นคงขึ้นทุกครั้งที่ได้ฟัง ว่าทุกสิ่งที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ในแต่ละขณะนี้ เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท ที่เกิดขึ้นและดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดเลยทั้งสิ้น
แม้จะพูดถึง แม้จะกล่าวถึง แล้วๆ เล่า อย่างนี้ ว่าสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ทั้งหมด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดเลย เป็นแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไปเท่านั้น แต่ความเข้าใจของเรามั่นคงแค่ไหน? เพียงใด? ในคำกล่าวนี้!! เพราะเหตุว่า ปริยัติ ปฏิบัติ (ปฏิปัตติ) ปฏิเวธ ที่ทรงแสดงนั้น จากการฟังการศึกษา มีความเข้าใจในคำว่า ปริยัติที่มั่นคง จึงจะนำไปสู่การปฏิบัติได้นั้น ปริยัติที่มั่นคง หาใช่เพียงการได้ฟังและเข้าใจคำที่ทรงแสดงจนรอบรู้ เข้าใจแต่เพียงในคำเท่านั้นก็หาไม่ แต่เป็นปริยัติที่รอบรู้ มั่นคง จากการฟังเข้าใจ จากการพิจารณา การระลึกรู้ สังเกตุ สำเหนียก ในธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ ในทุกๆ วัน จนกว่าปัญญาแต่ละขั้นจะเจริญขึ้น สมบูรณ์ขึ้น โดยความเป็นอนัตตา ซึ่งผู้ที่เข้าใจมั่นคงขึ้นในหนทาง ย่อมเป็นผู้ที่รู้ได้ด้วยตน และ สอบสวนความเข้าใจที่ถูกต้องของตน จาก "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ที่ได้ "ฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้ว ฟังอีก เข้าใจแล้ว เข้าใจอีก พิจารณาแล้ว พิจารณาอีก" มั่นคงพอที่สติและปัญญาความรู้ความเข้าใจในแต่ละขั้นจะเกิดขึ้น ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมในแต่ละขณะนี้ โดยความเป็นอนัตตา ซึ่งบุคคลย่อมรู้ได้ด้วยกำลังของสติและปัญญาที่ได้อบรมเจริญมาแล้วเป็นลำดับขั้นนั้นเอง (พูดอย่างนี้ จะถามหาลำดับขั้น ว่าอย่างไร แค่ไหนอีกไหม?) เมื่อรู้จึงรู้ว่ารู้ เมื่อไม่รู้ก็รู้ว่ายังไม่รู้ แค่ไหน เพียงใด ทั้งไม่เข้าใจผิดคิดเอง ด้วยว่า "มีคำและความเข้าใจที่ถูกต้องจากการฟัง" และพิจารณา แล้วๆ เล่าๆ ที่ฝังแน่น ดังคำกล่าวที่ว่า เข้าใจจนจรดเยื่อในกระดูก แนบแน่น ฝังไว้อยู่ในหทัย พร้อมที่จะปรุงแต่งกันเกิดขึ้นเป็นความเข้าใจในขณะนี้ โดยความเป็นอนัตตา ทั้งเป็นสิ่งตรวจสอบความถูกผิด เป็นที่พึ่งของตนในทุกๆ ขณะของชีวิตนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีความเข้าใจในหนทาง จึงไม่เป็นผู้ที่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส ความติดข้อง ต้องการ อยากรู้นั่น อยากรู้นี่ ติดข้องในคำ ในวิธีการต่างๆ ด้วยอำนาจของโลภะ เพื่อนสนิท ที่รู้จักเพียงชื่อ แต่หารู้ไม่ว่า ที่กระซิบอยู่ข้างหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น คือยอดของมหาโจรที่อาศัยอยู่ในเรือน ดังที่ท่านกล่าวเตือนว่า อยู่กับโจร แต่ไม่รู้จักโจร แต่ควรเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องในหนทางว่า ฟังและเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง สะสมไปแล้วๆ เล่าๆ ในสังสารวัฏฏ์ยาวนาน วันนี้ฟังเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องจิต เจตสิก รูป วันหน้า หรือชาติหน้า เข้าใจขึ้นในเรื่องความละเอียดของจิต เรื่องความละเอียดของสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะเกลี้ยงเกลา จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์พร้อม ในชาติใดชาติหนึ่ง ความประจักษ์แจ้งในธรรม ย่อมมาถึงในวันหนึ่งแน่นอน ด้วยความเป็นอนัตตา ไม่หวั่นไหวเลย จึงไม่ลืมคำที่ดูเหมือนง่าย แต่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง คือคำว่า "ฟังและเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง" และ "ความเข้าใจทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์" ขณะนี้ สภาพธรรมกำลังมี กำลังปรากฏ ขณะอย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย
อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาที่ได้ฟังจากวิทยุออนไลน์ในเช้าวันนั้น ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจมาก จึงได้สอบถามไปยังคุณเอ็ม (วรศักดิ์ ราชตา) เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่ดูแลเรื่องวิทยุออนไลน์ของเวปไซต์บ้านธัมมะว่าเป็นความการสนทนาที่ไหน เมื่อไหร่ คุณวรศักดิ์ก็เมตตาแจ้งให้ทราบว่า เป็นการสนทนาในชั่วโมงพื้นฐานพระอภิธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแจ้งว่าจะนำลงยูทูป เพื่อสามารถนำมาเผยแพร่และถอดเทปได้โดยสะดวก ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวรศักดิ์ มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ และขออนุุญาตนำข้อความบางตอนที่มีความประทับใจ ซาบซึ้งในหทัยนั้น มาให้ทุกท่านได้พิจารณา เพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งของหนทางแห่งความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นในธรรม ตามการสะสมของแต่ละบุุคล ตามควรแก่กาล ดังนี้ ครับ
คุณอรวรรณ หลังจากที่มีประเด็นเรื่อง รู้ทางปัญจทวารแล้วคิดหรือเปล่า? ก็มีประเด็นเรื่องคำว่า "คิด" ก็คือ เข้าใจไม่ตรงกันอีก ว่า "คิด" สภาพที่คิด ที่เราพูดว่าเห็นแล้วคิด ได้ยินแล้วคิด คืออะไรกันแน่ ท่านอาจารย์คะ ขอยกตัวอย่างจริงๆ เลย สนทนากับคุณหมอวิภากรในรถ หมอวิภากรก็บอกว่า คิด ตามความเข้าใจของหมอวิภากรก็คือ มโนทวาราวัชชนจิต แต่ความเข้าใจของหนูก็คือ มโนทวารวิถีจิต คือ มโนทวารวิถีจิตอาจจะคิดต่อจากปัญจทวารก็ได้ หรือว่า ไม่ต้องผ่านปัญจทวารก็สามารถคิดเลย อันนี้คือความเข้าใจของหนู
โทรฯคุยกับสหายธรรมอีกคนหนึ่ง เขาก็บอกว่า เห็นแล้วไม่คิดไม่มี เพราะว่า วิตกเจตสิกเขาเกิดกับจิตทุกดวง ยกเว้น ทวิปัญจวิญญานจิต อันนี้เล่าให้ฟังนะคะท่านอาจารย์ ก็ไปกันใหญ่ แล้วเขาก็เลยคิดว่า เห็นแล้วไม่คิดไม่มี เพราะเป็นวิตกเจตสิก เกิดกับจิตอื่นๆ ประเด็นที่หนูจะสนทนาก็คือ แล้ว "คิด" คืออะไร?
ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ที่รู้มาก แต่ว่าจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า? เพราะว่า เวลาที่คิด อาจจะเป็นวันๆ ข้ามมาตั้งกี่วันแล้ว? แต่ก็ยังคิดอยู่!! กับ เวลานั้นแหละ สามารถที่จะค่อยๆ ฟังแล้วเข้าใจขึ้น ในสิ่งที่มีจริง ค่อยๆ รู้ว่า เรามีความสามารถที่จะเข้าใจคำในพระไตรปิฎกได้แค่ไหน? ไม่ใช่ว่ามีใครสามารถที่จะเข้าใจได้ทุกคำในพระไตรปิฎกได้!!
แต่ว่า แต่ละคำที่มีประโยชน์ พอเพียงแก่การที่จะรู้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา!! แต่เป็นธรรม การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ทรงแสดงโดยหลายนัยต่อผู้ที่กำลังฟัง ให้เขาไตร่ตรองใน "สิ่งที่กำลังมี" เพื่อที่เขาจะได้ค่อยๆ เข้าใจในความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่ว่าพระองค์มุ่งประสงค์ที่จะให้ไปจำทุกคำ ว่าคำที่พระพุทธองค์ตรัสกับพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วก็มาตรัสกับท่านพระสารีบุตร และท่านพระสารีบุตรก็กล่าวกับสาวก ไม่ใช่อย่างนั้นเลย!!!
เรารู้ประมาณในตัวเราหรือเปล่า? แม้แต่ขณะนี้ ธรรมกำลังปรากฏ ก็ยังไม่รู้เลย แล้วก็จะไปคิดเรื่องโน้น เรื่องนี้ ในพระไตรปิฎกมากมาย เป็นผู้รู้มาก แต่ว่า เข้าใจหรือเปล่า?
เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ประโยชน์ที่สุดว่า เราไม่รู้เลยว่า ใครจะเกิดก่อน (ผู้ที่ตายก่อน คือ ผู้ที่เกิดก่อน-ผู้เขียน) ใช่ไหม? เพราะต้องตายแน่นอน หนึ่งขณะจิต เมื่อหนึ่งขณะจิตนั้นดับแล้ว เป็นปัจจัยให้หนึ่งขณะเดียวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้!! แล้วเราจะนั่งคิดถึงปัญจทวาร มโนทวาร หรือว่า มโนทวารวัชชน หรือว่า ชวนะ หรือว่า ขณะนี้ก็มีการเห็น มีการได้ยิน แล้วเราสามารถจะเข้าใจได้แค่ไหน?
เพราะฉะนั้น ใครอยากจะเป็นผู้รู้คำในพระไตรปิฎก อ่านหมดเลยทั้ง ๓ ปิฎก อ่านได้แน่นอน ไม่ยาก อ่าน ... .แต่เข้าใจไหม?
เพราะฉะนั้น จะเป็นอย่างนั้นหรือ? หรือว่า อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ไปอ่านอีก อ่านอีก อ่านอีก เพื่อที่จะให้เข้าใจ หรือว่า คิดว่าประโยชน์สูงสุดในชีวิตก็คือว่า มีโอกาสได้เข้าใจความละเอียด ความลึกซึ้ง ของสิ่งที่กำลังมี แต่ก็ไม่ได้ปรากฏตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้ง แต่ "ทรงแสดงหนทาง" ไว้ และหนทางที่ทรงแสดง ก็อ่านดู!! ใครที่ไปเฝ้า เขาสะสมมาแค่ไหน เขาสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน ก็ตรัสสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขา!!!
แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาก็ไม่ได้รู้อะไรมาตั้งนาน แล้วเราก็มาพูดเรื่องมโนทวาราวัชชน แล้วก็ยังไปถึงโวฏฐัพพนวาระ หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น เพื่อประโยชน์อะไร? เพราะฉะนั้น ถ้าเพื่อจำ จำไว้ทำไม? ถ้าเพื่อสอบ สอบทำไม? ต้องการอะไร?
เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประโยชน์สูงสุดคือ ไม่ใช่ไปเสียเวลา โดยการที่ต้องการมีคำตอบ วิถีนี้เป็นอย่างไร โวฏฐัพพนวาระดับไปแล้ว มีมโนทวารวิถีเกิดต่อหรือเปล่า? เพื่ออะไร? ขณะที่ ขณะนี้ สิ่งที่ควรฟังและควรรู้อย่างยิ่ง คือ กำลังเห็น มีจริงๆ กำลังมีจริงๆ !!! กำลังได้กลิ่น มีจริงๆ
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่บุคคล ถ้าสนใจที่จะเป็นอย่างนั้น ก็ไม่มีใครช่วยได้ ก็สนใจไป คิดไป เป็นวัน เป็นเดือน ก็ได้ ปีหน้าพูดเรื่องนี้อีกก็ยังได้ ก็แล้วแต่!!!
กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
... ... ...
ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาครั้งที่กล่าวถึงดังกล่าวได้ที่นี่ ...
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณนพดล คุณวรรณี แซ่โง้ว ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย [ครั้งที่ ๒๒] ตอน มานมัสการสังเวชนียสถานทำไม?
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา ๓๐ เมษายน - ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร [วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ] ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑