ขอเรียนถามครับ - กฐินและผ้าป่า

 
nontacha
วันที่  19 ธ.ค. 2561
หมายเลข  30322
อ่าน  1,150

กฐินและผ้าป่า เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ถ้าแตกต่างกันมีอะไรบ้างที่เป็นข้อแตกต่างกันครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ธ.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-ในสังคมไทย เมื่อกล่าวถึง “กฐิน” แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะกล่าวตามความคิดเห็นตามความเข้าใจเดิมๆ ของตนเอง ซึ่งอาจจะมีหลากหลายความคิดเห็น เช่น อาจจะกล่าวว่า เป็นเรื่องของซองเงินบ้าง เป็นเรื่องของกองวัตถุทานขนาดใหญ่บ้าง หรือแม้กระทั่ง เป็นบุญกุศลที่ใครได้กระทำแล้ว จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย เป็นต้นนี่คือ ความคิดเห็นที่ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรม ต้องศึกษาเท่านั้นถึงจะเข้าใจถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของ “กฐิน” ก็เช่นเดียวกัน

คำว่า กฐิน มี ๒ ความหมาย คือ กฐินเป็นชื่อไม้สะดึง สำหรับขึงผ้าให้ตึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเย็บผ้า และ กฐินตามพระวินัยหมายถึงผ้า ซึ่งเป็นผ้าสำหรับครองของพระภิกษุ เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่ง (ในบรรดา ๓ ผืน คือ ผ้าสบง ผ้าจีวรและผ้าสังฆาฏิ) ซึ่งก็เกี่ยวโยงว่าผ้าที่จะมาทำเป็นผ้าครองนั้นต้องมีการขึงให้ตึงสำหรับเย็บ ผ้าผืนดังกล่าวนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต แก่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน ซึ่งในอาวาสนั้นมีภิกษุอยู่จำพรรษา อย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป ถ้าจำนวนน้อยกว่านั้น ไม่เป็นกฐิน จะนิมนต์มาจากอาวาสอื่นให้เต็มจำนวนอย่างนี้ก็ไม่ได้

ครั้งแรก พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภภิกษุ ชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป ซึ่งมีความประสงค์จะมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่วิหารพระเชตวัน ตอนนั้น จวนเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ไม่สามารถเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี ก็เลยอยู่จำพรรษาตามพระวินัย ณ เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านเหล่านั้นก็เดินทางต่อทันที ในช่วงนั้นฝนยังไม่หมด ทำให้จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำ เกิดความลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภในเรื่องนี้ จึงทรงอนุญาต ให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ทำการกรานกฐิน เพื่อเปลี่ยนผ้าในช่วงจีวรกาล ซึ่งเป็นเรื่องวินัยกรรมของพระภิกษุ ส่วนคฤหัสถ์ มีหน้าที่เพียงถวายผ้าเท่านั้น

ผ้าดังกล่าวนั้น พระภิกษุจะต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ขอเขามาหรือเลียบเคียงมานั้นไม่ได้ ถ้าหากพระภิกษุไปบอกคฤหัสถ์ว่าวัดที่ตนจำพรรษานั้นยังไม่มีผู้จองกฐินเลย แล้วคฤหัสถ์นำไปถวาย อย่างนี้ไม่เป็นกฐิน เพราะเกิดจากการออกปากขอ ย่อมเป็นผ้าที่ไม่บริสุทธิ์ แต่ถ้าเป็นความประสงค์ของคฤหัสถ์ที่จะเป็นผู้ถวายโดยตรง อย่างนี้ใช้ได้ ซึ่งถ้าหากคฤหัสถ์ไม่รู้จักธรรมเนียมในการถวาย พระภิกษุสามารถแนะนำแก่คฤหัสถ์ได้ ในสมัยก่อนผ้าที่ถวายเป็นผ้าที่ยังไม่สำเร็จรูป เป็นผ้าขาวผืนหนึ่ง ที่เพียงพอสำหรับจะทำเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดา ๓ ผืน สำหรับระยะเวลา หรือ ขอบเขตในการถวายกฐินนั้น มีระยะเวลา ๑ เดือน คือ หลังออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

มาถึงตรงนี้ ก็พอจะทราบแล้วว่า กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย เพราะเหตุว่า เงินทอง เป็นวัตถุที่พระภิกษุรับไม่ได้ ถ้ารับก็เป็นอาบัติ มีโทษ ถ้าไม่ปลงอาบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นเครื่องกั้นแห่งการบรรลุมรรค ผล นิพพาน และกั้นสุคติภูมิ และ คฤหัสถ์ผู้ถวายเงินทองแก่พระภิกษุ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ฉลาดในการเจริญกุศล เพราะเหตุว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระภิกษุต้องอาบัติ ประการสำคัญที่ควรพิจารณาคือ กฐิน ไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใด ถ้าหากกระทำอย่างถูกต้องตรงตามพระวินัย ย่อมเหมือนกันทั้งหมด คือ ถูกต้องทั้งหมด แต่ถ้าไม่ตรงตามพระธรรมวินัยแล้วย่อมไม่ถูกต้อง

-คำว่า ผ้าป่า นั้น เป็นคำในภาษาไทย ซึ่งเมื่อเทียบเคียงสอบทานกับพระไตรปิฎกแล้ว หมายถึง ผ้าบังสุกุล ซึ่งแปลว่า "ผ้าเปื้อนฝุ่น" ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ที่พระภิกษุท่านแสวงหาด้วยการเก็บตามป่าช้า บ้าง ตามกองขยะ บ้าง ตามสถานที่ที่บุคคลนำไปทิ้งแล้ว บ้าง เป็นต้น เก็บรวบรวมมาทำเป็นผ้าจีวรสำหรับนุ่งห่ม ผ้าบังสุกุล จะไม่มีผู้ถวาย แต่เป็นการแสวงหาอย่างถูกต้องของพระภิกษุ นี้จึงเป็นลักษณะของผ้าป่าหรือผ้าบังสุกุล แต่ถ้าเป็นผ้าที่คฤหัสถ์ถวายโดยตรงต่อท่าน ผ้านั้น เป็นคฤหบดีจีวร ไม่ใช่ผ้าบังสุกุล (ซึ่งทั้งผ้าบังสุกุล และ ผ้าคฤหบดีจีวร ก็เป็นผ้าที่ควรแก่พระภิกษุ) การทอดผ้าป่า หรือ การถวายผ้าป่า ไม่มีในพระไตรปิฎก

ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงในสังคมไทย แล้ว ผ้าป่า มีความคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่บอกว่าถวายผ้าป่า ก็ไม่ใช่ผ้าป่าในพระธรรมวินัย เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของเงินทอง เงินทอง ไม่ใช่ผ้าป่า ผ้าที่นำไปถวาย ก็ไม่ใช่ผ้าป่า เพราะผ้าป่าที่แท้จริง เป็นผ้าบังสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่พระภิกษุแสวงหามาเพื่อทำเป็นจีวรเท่านั้นเอง การศึกษาพระธรรม เป็นเรื่องเบาสบาย เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ไม่ว่าบุคคลอื่นจะว่าอย่างไร ทำอย่างไร มีความเห็นอย่างไร ความเข้าใจของเราก็ไม่เปลี่ยนเพราะถูก คือ ถูก ผิด คือ ผิด ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทอง

เจ้านายใช้ให้เรี่ยไรเงินซองกฐิน ผ้าป่า

ภาพธรรมเตือนใจ..ผ้าป่าสามัคคีเรี่ยไรเงิน สามัคคีกันทำลายพระพุทธศาสนา

ภาพธรรมเตือนใจ..หยุดเกรงใจความไม่รู้ เมื่อมีผู้เอาซองผ้าป่ากฐินมาให้ (ภาพแชร์หรือปริ๊นเพื่อใส่ซองแทนเงิน)

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nontacha
วันที่ 20 ธ.ค. 2561

ในสมัย พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ในแคว้นมคธ กาลนั้น จีวรของพระอนุรุทธเถรเจ้าเก่าคร่ำคร่า ท่านจึงเที่ยวเสาะแสวงหาผ้าที่ชาวบ้านนำมาทิ้งไว้ตามกองขยะหรือกองหยากเยื่อ ตามสุสาน เป็นผ้าเขาใช้ห่อศพมาทิ้ง หรือตามต้นไม้ที่ผู้มีศรัทธานำมาทิ้งไว้ จึงเรียกว่า ผ้าบังสุกุล ที่ปัจจุบันเรียกว่า ผ้าป่า แล้วท่านนำเอาผ้านั้นมาเย็บเป็นจีวรนุ่งห่มต่อไป ครั้งนั้น นางชาลินีเทพธิดา ซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นภรรยาของพระอนุรุทธเถรเจ้า เมื่อเห็นท่านพระเถรเจ้าเที่ยวเสาะแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้เพื่อมาเย็บเป็นจีวร จึงได้นำเอาผ้าเนื้อดีประณีต 3 ผืน กว้าง 4 ศอก ยาว 13 ศอก มาเพื่อตั้งใจถวายพระเถระแบบผ้าบังสุกุล จึงนำไปวางในที่สมควรแล้วเอาเศษไม้ปกปิดไว้ เผยชายผ้าเอาไว้เพื่อให้พระเถรเจ้าท่านสามารถมองเห็นได้

เมื่อท่านพระเถระท่านได้ถือเอาผ้าเหล่านั้น ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับการตัดเย็บเป็นจีวรจึงบอกให้เพื่อนสหธรรมมิกทั้งหลายให้มาร่วมจัดทำเป็นจีวร ในครั้งนั้น พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ และพระอานนท์ ผู้ชำนาญในการตัดเย็บจีวรเป็นพิเศษได้มาประชุมกันทำจีวร เพื่อถวายพระอนุรุทธเถระอันเป็นกิจกรรมที่น่าสรรเสริญยิ่งนัก แม้องค์พระบรมศาสดาก็ทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นองค์ประธาน ทั้งทรงรับธุระในการสนเข็มให้ด้วย พระเถระรูปใดด้ายหมด ก็ส่งเข็มถวายพระพุทธองค์ก็ทรงสนเข็มประทานเป็นที่เบิกบานใจของเหล่าพระภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาร่วมทำจีวรทุกรูป ในที่สุด การตัดเย็บและย้อมจีวรก็สำเร็จด้วยดี ด้วยความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันถวายแก่พระอนุรุทธเถรเจ้า.....

ข้อความนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก หรือไม่ ครับ และเป็นประวัติผ้าป่าหรือเปล่าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 ธ.ค. 2561

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ

คำว่า ผ้าป่า มาจากคำบาลีว่า ปํสุกูล [ปัง - สุ - กู - ละ] แปลโดยศัพท์ว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าที่ถึงความน่าเกลียดเหมือนฝุ่น แปลทับศัพท์เป็น ผ้าบังสุกุล มีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งคนอื่นเขาทิ้งแล้ว ไม่ต้องการแล้ว ตามข้อความในพระวินัยปิฎก ปริวาร ว่า ผ้าบังสุกุลมี ๕ คือ

ผ้าตกที่ป่าช้า ๑

ผ้าตกที่ตลาด ๑

ผ้าหนูกัด ๑

ผ้าปลวกกัด ๑

ผ้าถูกไฟไหม้ ๑

ผ้าบังสุกุล แม้อื่นอีก ๕ คือ

ผ้าที่วัวกัด ๑

ผ้าที่แพะกัด ๑

ผ้าที่ห่มสถูป ๑

ผ้าที่เขาทิ้งในที่อภิเษก ๑

ผ้าที่เขานําไปสู่ป่าช้าแล้วนํากลับมา ๑

เป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นเลย พระภิกษุ แสวงหาผ้าเหล่านี้ มาทําเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ถูกต้องตามพระวินัยได้ ดังเช่น เรื่องของพระอนุรุทธเถระ ที่ท่านแสวงหาผ้าบังสุกุล

ขอเชิญอ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

เรื่องพระอนุรุทธเถระ [ขุททุกนิกาย คาถาธรรมบท]

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
โพธิ์งามพริ้ง
วันที่ 30 ธ.ค. 2561

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ