เรื่องพระอนุรุทธเถระ 

 
khampan.a
วันที่  20 ธ.ค. 2561
หมายเลข  30328
อ่าน  1,906

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒- หน้าที่ ๓๗๗

๔. เรื่องพระอนุรุทธเถระ

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระอนุรุทธเถระตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา" เป็นต้น

เทพธิดาถวายผ้าแก่พระอนุรุทธเถระ

ความพิสดารว่า ในวันหนึ่งพระเถระมีจีวรเก่าแล้ว แสวงหาจีวรในที่ทั้งหลายมีกองหยากเยื่อเป็นต้น. หญิงภรรยาเก่าของพระเถระนั้นในอัตภาพที่ ๓ แต่อัตภาพนี้ได้เกิดเป็นเทพธิดาชื่อชาลินีในดาวดึงสภพ. นางชาลินีเทพธิดานั้นเห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่ ถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก แล้วคิดว่า "ถ้าเราจักถวายโดยทำนองนี้ พระเถระจักไม่รับ" จึงวางผ้าไว้บนกองหยากเยื่อแห่งหนึ่ง ข้างหน้าของพระเถระนั้น ผู้แสวงหาท่อนผ้าทั้งหลายอยู่ โดยอาการที่เพียงชายผ้าเท่านั้นจะปรากฏได้. พระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่โดยทางนั้น เห็นชายผ้าของท่อนผ้าเหล่านั้นแล้ว จึงจับที่ชายผ้านั้นนั่นแลฉุดมาอยู่ เห็นผ้าทิพย์มีประมาณดังกล่าวแล้วถือเอาด้วยคิดว่า "ผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์หนอ" ดังนี้แล้วหลีกไป

พระศาสดาทรงช่วยทำจีวร

ครั้นในวันทำจีวรของพระเถระนั้น พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จไปวิหารประทับนั่งแล้ว. แม้พระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ รูปก็นั่งแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน. พระมหากัสสปเถระนั่งแล้วตอนต้น เพื่อเย็บจีวร พระสารีบุตรเถระนั่งในท่ามกลาง. พระอานนท์เถระนั่งในที่สุด. ภิกษุสงฆ์กรอด้าย พระศาสดาทรงร้อยด้ายนั้นในรูเข็ม. พระมหาโมคคัลลานเถระ ความต้องการด้วยวัตถุใดๆ มีอยู่. เที่ยวน้อมนำวัตถุนั้นๆ มาแล้ว. แม้เทพธิดาเข้าไปสู่ภายในบ้านแล้ว ชักชวนให้รับภิกษาว่า "ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระศาสดาทรงทำจีวรแก่พระอนุรุทธเถระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายวันนี้ อันพระอสีติมหาสาวกแวดล้อมประทับนั่งอยู่ในวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป. พวกท่านจงถือข้าวยาคูเป็นต้นไปวิหาร." แม้พระมหาโมคคัลลานเถระนำชิ้นชมพู่ใหญ่มาแล้วในระหว่างภัต. ภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่อาจเพื่อขบฉันให้หมดได้. ท้าวสักกะได้ทรงทำการประพรมในที่เป็นที่กระทำจีวร. พื้นแผ่นดินได้เป็นราวกะว่าย้อมด้วยน้ำครั่ง. กองใหญ่แห่งข้าวยาคูของควรเคี้ยวและภัตอันภิกษุทั้งหลายฉันเหลือได้มีแล้ว

พระขีณาสพไม่พูดเกี่ยวกับปัจจัย

ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า "ประโยชน์อะไร ของภิกษุมีประมาณเท่านี้ ด้วยข้าวยาคูเป็นต้นอันมากอย่างนั้น ญาติและอุปัฏฐาก อันภิกษุทั้งหลายกำหนดประมาณแล้ว พึงพูดว่า 'พวกท่าน จงนำวัตถุชื่อมีประมาณเท่านี้มา มิใช่หรือ' พระอนุรุทธเถระเห็นจะประสงค์ให้เขารู้ความที่แห่งญาติและอุปัฏฐากของตนมีมาก" ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "พูดเรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า" จึงตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอสำคัญว่า 'ของนี้อันอนุรุทธะให้นำมาแล้วหรือ?' ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "อย่างนั้น พระเจ้าข้า" พระศาสดาตรัสว่า"ภิกษุทั้งหลายอนุรุทธะผู้บุตรของเรา ไม่กล่าวถ้อยคำเห็นปานนั้น, แท้จริง พระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่กล่าวกถาปฏิสังยุต (ประกอบ) ด้วยปัจจัย ก็บิณฑบาตนี้ เกิดแล้วด้วยอานุภาพของเทวดา" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

"อาสวะทั้งหลาย ของบุคคลใด สิ้นแล้ว บุคคลใด ไม่อาศัยแล้ว ในอาหาร และสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ เห็นโคจรของบุลคลใด ร่องรอยของบุคคลนั้นๆ รู้ได้ยาก เหมือนรอยของนกทั้งหลายในอากาศฉะนั้น"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสาสวา ความว่า อาสวะ ๔ ของบุคคลใด สิ้นแล้ว.

บาทพระคาถาว่า อาหาเร จ อนิสฺสิโต ความว่าอันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย ไม่อาศัยแล้ว ในอาหาร

บาทพระคาถาว่า ปทนฺตสฺส ทุรนฺวยํ ความว่า อันบุคคลไม่อาจเพื่อจะรู้รอยของนกทั้งหลายซึ่งไปในอากาศว่า "นกทั้งหลายเหยียบด้วยเท้าในที่นี้บินไปแล้ว กระแทกที่นี้ด้วยอกบินไปแล้ว ที่นี้ด้วยศีรษะ ที่นี้ด้วยปีกทั้งสองฉันใด อันใครๆ ก็ไม่อาจเพื่อบัญญัติซึ่งรอยของภิกษุผู้เห็นปานนี้ โดยนัยเป็นต้นว่า 'ภิกษุนี้ ไปแล้วโดยทางนรก หรือไปแล้วโดยทางดิรัจฉานกำเนิด" ฉันนั้นเหมือนกัน

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น ดังนี้แล

เรื่องพระอนุรุทธเถระ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สิริพรรณ
วันที่ 20 มี.ค. 2562

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

"บาทพระคาถาว่า อาหาเร จ อนิสฺสิโต ความว่าอันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย ไม่อาศัยแล้ว ในอาหาร"

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย

และมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 13 มิ.ย. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

ประวัติพระอนุรุทธเถระ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ