ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๔
~ เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีข้อที่น่าคิดอย่างหนึ่งว่า ท่านที่ทำความดีท่านทำเพราะอยากจะได้ผลดี หรือว่าท่านทำดีเพื่ออะไร หรือเพราะอะไร นี่เป็นสิ่งที่น่าคิด ถ้าทุกคนในโลกนี้จะทำดีเพื่อหวังผล คือหวังที่จะได้สิ่งตอบแทนที่ดี ในขณะที่หวังจะได้สิ่งตอบแทนที่ดี ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิตแน่ เพราะเหตุว่ายังเต็มไปด้วยความหวัง ความติด ความต้องการ เพราะฉะนั้นในระหว่างคนที่ทำความดี ก็น่าจะจำแนกออกไปอีก ว่า ความดีนั้น ดีแท้ๆ คือว่า ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือว่า ทำดี เพราะต้องการผลตอบแทน และในระหว่างบุคคล ๒ คนนี้ ลองคิดดูว่าอยากจะเป็นบุคคลไหน คือ เป็นคนที่ทำดีโดยไม่หวังผลอะไรเลย ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทำดี กับทำดีเพราะหวังว่าจะได้สิ่งตอบแทน?
~ จุติจิต คือ จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ที่ชื่อว่า “จุติ” เพราะเหตุว่าทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ หมายความถึงสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง ก่อนที่จุติจิตจะเกิด ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าเลย เหมือนกับเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่า ขณะต่อไปอะไรจะเกิด
~ ถ้ามีเงินแล้วก็น่าจะมีความสุข แต่คนมีเงินก็ยังทุกข์ เก่งแล้วก็ไม่น่าจะทุกข์ แต่คนเก่งก็ยังทุกข์ได้ ทุกข์จริงๆ มาจากไหน มาจากความไม่รู้และกิเลส เงินทอง ความสุขแก้ทุกข์ไม่ได้ ปัญญาเข้าใจพระธรรม แก้ทุกข์ ละทุกข์ได้
~ วันหนึ่งๆ จะหาเรื่องที่จะโกรธ ไม่ยากเลย เช่นเดียวกับการที่จะหาวัตถุซึ่งเป็นที่พอใจก็ไม่ยาก ได้ยินอะไรนิดอะไรหน่อย โกรธก็ได้ แต่ถ้าจะพิจารณาหาเหตุผลว่า ผู้นั้นอาจจะพูดไปด้วยความไม่รู้ ด้วยการฟังผิวเผิน หรือว่าด้วยการเข้าใจผิด ขณะนั้น จิตใจ ก็จะสบายมากทีเดียว ไม่เดือดร้อน หมดเรื่อง จบเรื่องทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ทุกๆ ขณะในชีวิตเป็นขณะที่ควรจะได้พิจารณาถึงประโยชน์ ด้วยความเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า กุศลทั้งหลายย่อมเป็นประโยชน์กว่าอกุศล
~ ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ เป็นโอกาสที่ประเสริฐที่สามารถทำความดีทุกโอกาสและไม่ควรประมาทในความดีเล็กน้อยด้วย เพราะขณะที่กุศลไม่เกิดก็เป็นโอกาสของอกุศล และประโยชน์สูงสุดคือ ความดีที่เป็นความเข้าใจพระธรรม
~ ลองคิดดู เกิดมาก็ไม่ใช่เราแต่เป็นธรรมและบังคับบัญชาไม่ได้เลย ขณะต่อไปอะไรจะเกิด เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมประเสริฐที่สุด และ ที่สำคัญการจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือใคร ถ้าให้เขาเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง จะด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด ก็เป็นการอนุเคราะห์ช่วยเหลือที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ที่แท้จริง
~ บางคนอาจคิดว่าขอเวลาให้ทานก่อนตาย แต่ก็ไม่มีเวลาสำหรับให้เลย และขอเวลายกโทษให้ใคร ก็ต้องเดี๋ยวนี้ ไม่มีการรอเลย มีค่าที่สุดในแต่ละขณะ รู้ไหมว่า เข้าใจธรรมเมื่อไหร่ ทำความดีเมื่อไหร่นั่นคือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต
~ ก่อนจะตาย ดีต่อกัน ทำดีต่อกันจะได้ไม่ต้องเสียใจ เพราะเราทำดีที่สุดกับทุกคน ถึงเขาจะจากไป เราก็ไม่เสียดายโอกาสที่เราจะไม่ได้ทำดีกับเขา ไปโกรธเขาทำไม ไปว่าเขาทำไม เพราะเหตุว่า พอเขาตายก็มานั่งเสียใจอีก เราไปว่าเขาไว้เยอะ ก็เป็นชีวิตที่เกิดจากความไม่รู้และมีชีวิตเป็นไปกับความไม่รู้
~ ไม่ต้องรอถึงปีไหนก็ได้ ปีใหม่วันเก่าอย่างไรก็ได้ ความดีมีได้ ตราบใดที่มีชีวิตอยู่ ที่ยังไม่จากโลกนี้ไป สิ่งที่ประเสริฐเหนือสิ่งใดคือเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงแค่ฟังและพูดตาม
~ ชีวิตของแต่ละชีวิตซึ่งเกิดมา มีค่าต่อเมื่อได้เข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเข้าใจแค่ไหน ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะเปิดเผยความเข้าใจนั้นให้รุ่งเรือง เพื่อผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็จะเริ่มที่จะเห็นประโยชน์
~ เมื่อไหร่ที่เป็นกุศล เมื่อนั้นเป็นเวลาดี เวลาดีไม่ต้องคอยเลย ทุกขณะกุศลจิตหรือสภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้นจะคอยทำไม
~ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม จะไม่รีรอการทำกุศลทุกประการทุกขณะด้วย ทำให้เราเจริญทางฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น เพราะว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไม่อยู่โลกนี้ในวันไหน อาจจะเป็นขณะต่อไปพรุ่งนี้หรือเดือนนี้ก็ได้
~ บุคคลผู้ที่มีบุญศึกษาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคนนั้นสะสมมาที่จะรู้ว่า มีค่าที่สุด ประเสริฐที่สุด เป็นรัตนะที่สูงที่สุด ถ้าเราได้ลาภเป็นเพชรนิลจินดาหายได้ไหม ตกน้ำได้ไหม ขโมยลักได้ไหม โจรปล้นได้ไหม แต่ความรู้ของเรา ใครจะเอาไปได้ ไม่มีทางที่ใครจะเอาไปได้เลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่สุด สูงที่สุด ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่ลาภอันประเสริฐ ก็คือ การได้มีโอกาสฟังและเข้าใจพระธรรม
~ ชีวิตของแต่ละหนึ่ง ขณะใดก็ตามที่ทำสิ่งที่ดีงาม มีความมั่นใจว่า สิ่งนั้นต้องให้ผลแน่นอน เพราะฉะนั้น จะไม่ตกไปในฝ่ายที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะถูกใจ ชีวิตนี้สั้นมาก ใครจะจากโลกนี้ไปเดี๋ยวนี้ก็ได้ เย็นนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ แต่จากไปโดยไม่ได้ทำทุจริตกรรม แต่ได้ทำกุศลกรรม ย่อมมีประโยชน์กว่า
~ คฤหัสถ์ในครั้งโน้น ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นพฤติกรรมของพระภิกษุที่รับเงินทอง ก็เพ่งโทษให้พระภิกษุนั้นเข้าใจให้ถูกต้องว่านี่เป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะสละแล้วใช่ไหมแล้วจะรับอีกได้อย่างไร ซึ่งเมื่อเพ่งโทษแล้วก็ติเตียนด้วยว่ากระทำอย่างนี้ไม่เหมาะไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต แล้วก็โพนทะนา คือ ประกาศให้รู้ทั่วกันว่าการกระทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง นี่คือคฤหัสถ์ที่ดำรงรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการที่กล่าวถึงสิ่งที่ถูก แล้วก็ชี้แจงโทษในเมื่อเป็นสิ่งที่ผิด
~ มีเหตุที่จะให้อกุศลเกิดบ่อยมาก ถ้ากุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า มีหนทางหนึ่งที่จะให้อกุศลไม่เกิด คือ ขณะนั้นเป็นกุศล
~ ไม่ประมาทที่จะสะสมกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เพราะใครจะรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น กุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรประมาทเลยตราบใดที่เกิดเป็นผู้ที่สามารถที่จะกระทำกุศลได้
~ ธรรมไม่ใช่ไปคอยเมื่อไหร่ แต่ฟังเดี๋ยวนี้ เข้าใจเดี๋ยวนี้ ความเข้าใจนั้น กำลังเริ่มที่จะขัดเกลาความไม่รู้และความเป็นตัวตน แต่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความไม่รู้ในสังสารวัฏฏ์
~ ถ้าสะสมความดี ความดีก็มีกำลัง ขณะที่จะกระทำทุจริต ความดีก็ยังสามารถที่จะเกิดได้ ตามกำลังของการสะสม แต่ถ้าความดีน้อย ก็ต้องเป็นไปตามอกุศล เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ประมาทกุศลแม้เพียงเล็กน้อย
~ ธรรม ทำให้เป็นคนตรง สิ่งใดถูกก็คือถูก สิ่งใดผิดก็คือผิด เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่จะให้คนอื่นได้รับทราบ ก็คือ ไม่ควรทำสิ่งที่ผิด และขณะนั้นก็เป็นการลบหลู่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยถ้าใครได้กระทำในสิ่งที่ผิด
~ ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง จึงเป็นภิกษุ ซึ่งจะต้องสละเพศคฤหัสถ์ทั้งหมดเลย เหมือนตายแล้วจากเพศคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ระวังสภาพของจิตใจในเมื่อมีความตั้งใจที่จะขจัดขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต จะกระทำเหมือนอย่างคฤหัสถ์ ก็เป็นโทษ
~ ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจธรรมแล้วบวช (ย่อมเป็น) บาป เพราะไม่เข้าใจ แล้วไปถือเพศที่สูงตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร
~ ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น พระภิกษุรับเงินทองไม่ได้ จะอ้างอย่างนั้น จะอ้างอย่างนี้ ก็ไม่ได้
~ ไม่รู้ จึงได้เข้าใจผิด หลงผิด ทำผิด แต่เมื่อได้ฟังสิ่งที่เป็นพระธรรมวินัยที่ถูกต้องแล้ว ไม่ยอมรับ ก็มี ซึ่งเป็นโทษอย่างยิ่ง แต่ผู้ที่ยอมรับ ก็สามารถที่จะเป็นคนดีและประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส แล้วแต่ว่าจะยังคงเป็นเพศพระภิกษุต่อไป รักษาสิกขาบทไม่รับเงินรับทอง ประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามพระธรรมวินัย หรือว่า ลาสิกขาบท (สึกไปเป็นคฤหัสถ์) เพราะรู้ตัวว่า อยู่ต่อไปก็เหมือนคฤหัสถ์ที่อยู่ในผ้าเหลืองเท่านั้นเอง
~ คำใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสไว้ แล้วผู้นั้น ก็กล่าวคำที่ตรงกันข้ามกับคำที่พระองค์ตรัสไว้ ผู้นั้นลบหลู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ คนที่หวังดี ก็ต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้องอย่างถ่องแท้ แล้วก็ปรึกษาหารือกันเพื่อความถูกต้อง
~ ยอมรับไหม อะไรถูกคือถูก อะไรผิดคือผิด ถ้าไม่ยอมรับ ก็คือ ลบหลู่คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ด้วยความเคารพ เห็นคุณอย่างยิ่งว่าเป็นบุญที่ได้สะสมไว้แต่ปางก่อน จึงมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม แต่ประมาทไม่ได้ ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียดว่า ผู้กล่าวเป็นใคร เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พระปัญญาของพระองค์เหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ทุกคำต้องศึกษาด้วยความเคารพ มิฉะนั้นแล้ว เมื่อกล่าวผิด ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ก็เป็นโทษอย่างใหญ่หลวง เพราะเหตุว่า เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการลบหลู่พระรัตนตรัย
~ เจริญกุศลทันที โดยไม่รีรอ? เพราะใครจะรู้ว่า ขณะต่อไป เป็นอะไร เป็นอกุศลก็ได้
~ คงทราบว่า บุญสูงสุดคืออะไร? ไม่ว่าในกาลไหน คือ ความเข้าใจธรรม โดยต้องไม่รีรอหรือว่าเลือกเวลา
~ กุศลทั้งหลาย เป็นไปตามกำลังของปัญญา
~ ถ้าไม่เห็นโทษของความไม่รู้ ก็เป็นผู้ไม่รู้ต่อไป
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๓
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาในกุศลจิตที่ท่านอาจารย์เกื้อกูลด้วยธรรมซึ่งมีคุณค่ายิ่งค่ะ
กราบเท้าอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์เป็นอย่างยิ่ง ไพเราะ เป็นธรรมคำจริง กราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่น ผู้จัดทำเผยแพร่ ครับ