สัพเพ สัตตา...
ด้วยความเคารพ...
พระและโยมมีการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน โยมเห็นพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์โยมก็กินมั่งเพราะโยมยังติดในรสชาติของมันอยู่เลยคิดว่าพระพุทธเจ้าฉันได้เราก็กินได้ ลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าไป
พระดำรงชีวิตได้ด้วยการขออาหารจากโยม จะให้อะไรมาก็ต้องฉันอร่อยหรือไม่อร่อยก็ต้องฉัน เอ่ยปากขอฉันนั่นฉันนี่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโยมให้ผักก็ฉันให้เนื้อสัตว์ก็ฉันเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นเพียงผู้ขอ แต่พระก็ให้คำสอนกับโยมในการละบาปกรรมทั้งปวง
ส่วนโยมดำรงชีวิตด้วยการประกอบอาชีพให้ได้เงินมาตอบสนองความต้องการของตนเอง การกินอยู่สามารถเลือกทำได้ตามใจอยาก พระพุทธเจ้าสอนแล้ว การประทุษร้ายชีวิตผู้อื่น มีการฆ่า การทารุณ การเบียดเบียน การจองจำกักขังไว้ เป็นกรรมชั่วไม่พึงทำเพราะจะส่งผลให้โยมต้องได้รับกรรมชั่วตอบสนองให้เป็นทุกข์ในวันข้างหน้า การที่โยมไปซื้อสัตว์มาฆ่ากินเพราะติดในความอร่อยในรสชาติของเนื้อสัตว์จึงไม่ควรทำมันบาป หรือการที่โยมไปซื้อสัตว์ในตลาดที่เขาฆ่าแล้วเพื่อคนซื้อก็ไม่ควรทำมันบาป เราไม่ได้ฆ่าก็จริงแต่การกระทำของเราเปรียบเหมือนยุยงส่งเสริมให้เขาฆ่ามาเพื่อคนซื้อคือเราแม้เราจะไม่ได้พูดก็ตามมันบาป การซื้ออาหารสำเร็จที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ก็อยู่ในทำนองเดียวกัน การซื้อสัตว์ที่กำลังถูกฆ่าหรือสัตว์ที่ถูกกักขังไว้มาปล่อยก็ไม่ควรทำเช่นกันเรากำลังยุยงส่งเสริมให้เขามีอาชีพทำบาปเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวมันบาป เขาอยากทำเรื่องของเขาแต่เราไม่สนับสนุน ศาสนามีคำสอนให้เรารู้จักการกระทำต่างๆ อันไหนเป็นบุญอันไหนเป็นบาป รู้จักลดละตัดกิเลสเพื่อตัดเวรกรรมที่จะส่งผลต่อเราให้เป็นทุกข์ในภายหลัง สอนให้ค่อยๆ ลด เริ่มจากสัตว์ใหญ่คือวัว ควายก่อน จากนั้นก็สัตว์ขนาดกลางเช่น หมู เป็ดไก่ จากนั้นก็สัตว์เล็กสัตว์น้อย กุ้ง หอย ปู ปลา จนในที่สุดก็กินพืชผักคือกินในสิ่งที่เป็นกรรมน้อยที่สุดเพื่อประโยชน์ของตัวเอง การไม่กินเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้ไปนิพพานได้เพราะยังมีกรรมชั่วอื่นๆ อีกที่เราต้องค่อยๆ ลดละไป ส่วนวัว ควายที่ต้องเกิดมาเป็นสัตว์ก็เพราะทำกรรมชั่วไว้มากไม่สนใจคำสอนจึงต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน (สัตว์ที่อยู่นอกคำสอน) ดำรงชีวิตด้วยการกินหญ้า ไม่สามารถจะฟังธรรมและปฏิบัติจนนิพพานได้ในสภาพสัตว์
โปรดลองพิจารณา
ขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บุญอยู่ที่จิต ขณะใด เป็นไปในทาน (การให้) ศีล (งดเว้นบาปทางกาย วาจา) สมถและวิปัสสนาเป็น บุญ บุญไม่ได้อยู่ที่อาหาร อยู่ที่สภาพจิตนั้นต่างหากครับ ว่าเป็นอย่างไร ขณะที่หวังจะได้บุญ เป็นบุญไหม? ทานเนื้อสัตว์ แต่ไม่เบียดเบียนสัตว์ ขณะที่งดเว้นไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นกุศลเป็นบุญ ขณะที่ทานมังสวิรัติและชอบ ติดในรส เป็นโลภะ เป็นความติดข้องไม่ใช่บุญ ขณะที่เป็นบุญ คือไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส แต่มีสภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ความไม่ติดข้อง เป็นต้น บุญจึงอยู่ที่จิตเป็นสำคัญครับ
พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก การละเว้นจากปาณาติบาต ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่พ้นจากจิตและเจตสิก ซึ่งจะต้องเป็นจิตที่ดี และมีวิรตีเจตสิกที่งดเว้นจากบาปในขณะนั้นด้วย ดังนั้น ขณะที่งดเว้นจากการฆ่า คือ ขณะจะต้องมีเจตนางดเว้นจากบาป เช่น ขณะที่งดเว้นเฉพาะหน้า งดเว้นจากการตบยุง อย่างนี้มีเจตนางดเว้นจากบาป และ ขณะที่สมาทานศีลด้วยเจตนาจะงดเว้นจากบาป ขณะนั้น ก็เป็นการมีศีลในขณะจิตนั้น
แต่การทานเจ ขณะนั้นไม่ได้มีวิรตีเจตสิกที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์เฉพาะหน้า จึงไม่ได้เกิดกุศลขั้นศีล แต่เป็นความเข้าใจผิดที่คิดจะได้บุญเพราะไม่ทานเนื้อสัตว์ ครับ
ส่วนมหาทาน หมายถึง การรักษาศีลห้า แต่ การไม่ทานเนื้อสัตว์ไม่ได้มีเจตนารักษาศีลห้า จึงไม่ใช่มหาทาน ครับ อย่างไรก็ดี เราควรพิจารณาเรื่องการทานเจ ทานเนื้อสัตว์ให้ถูกต้องว่าคืออย่างไร
เรามาเข้าใจก่อนครับว่า กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ องค์ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า
๔. อุปักกโม มีความพยายาม
๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ถามว่าขณะที่ทานเนื้อ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าหรือเปล่าครับ ไม่มีเจตนาฆ่าในขณะนั้น แต่มีเจตนา ที่จะบริโภค ถามต่อว่า คนที่ทานมังสวิรัติกับคนที่ทานเนื้อ จิตขณะนั้นต่างกันไหม ถ้าเป็นปุถุชน จิตขณะนั้น มีความต้องการ (โลภะ) เหมือนกันไหม ก็เจตนาที่จะทานเหมือนกัน โลภะเหมือนกันครับ พระอรหันต์ไม่มีกิเลส ทานเนื้อ กับปุถุชนทานมังสวิรัติ จิตของคนทั้งสองที่ทาน ต่างกันไหม พระอรหันต์ติดในรสไหม พระอรหันต์มีเจตนาฆ่าเนื้อตอนนั้นไหม ปุถุชนทานมังสวิรัติ ติดในรสไหม ถ้าติดในรส (โลภะ) เป็นบุญหรือบาป ถ้าเป็นโลภะ
ดังนั้นอาหารจะทำอะไรได้ ถ้าจิตมากไปด้วยกิเลส สัตว์จะบริสุทธิ์ได้มิใช่เพราะอาหาร แต่เพราะปัญญาที่เกิดจากการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอยกข้อความในพระไตรปิฎก ว่าบุญ บาป อยู่ที่เจตนา และเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่?
เชิญคลิกอ่านที่นี่....
เรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ [อามคันธสูตรที่ ๒]
กรรมที่เป็นบุญ บาป อยู่ที่เจตนา
ขอเสริมอีกประเด็นหนึ่งนะครับ เพราะอาจจะมีคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ในแนวคิดที่ทานเจคือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ว่า
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้บริโภค ลดการบริโภคลงเสียบ้างก็คงจะลดการฆ่าลงไปได้
แต่หากทานเนื้อสัตว์กัน สัตว์ก็ถูกฆ่ามากขึ้น? การที่สัตว์ถูกฆ่า ก็ต้องคิดแล้วล่ะว่าเกิดจากอะไร ในทางพระพุทธศาสนาและความเป็นจริงนั้น การที่ถูกฆ่าก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้เคยทำไว้ ดังนั้น สัตว์นั้น จึงมีกรรมที่ต้องถูกฆ่า จะบริโภคน้อยลงหรือมากขึ้น สัตว์ก็ต้องถูกฆ่า เพราะอกุศลกรรมให้ผล มนุษย์ทำไมถึงถูกฆ่าได้ทุกวัน ก็ไม่ได้บริโภคเนื้อมนุษย์ เป็นอาหารของคนส่วนใหญ่ ทำไมยังถูกฆ่าทุกวัน เพราะคนนั้นที่ถูกฆ่า อกุศลกรรมให้ผลเพราะเคยทำอกุศลไว้ ดังนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้สัตว์ถูกฆ่าน้อยลง แต่กรรมไม่ดีต่างหาก ที่ทำให้สัตว์ถูกฆ่าครับ และถ้าคิดละเอียดขึ้น ทำไมถึงทำกรรมไม่ดี อันเป็นเหตุให้ถูกฆ่า ก็เพราะกิเลสที่มีนั่นเอง ดังนั้นพระธรรมเท่านั้น ที่จะช่วยให้มีกิเลสน้อยลงจนไม่มีอีกและด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงแสดงพระธรรม เพื่อการพ้นทุกข์คือ ไม่ให้เกิดอีกต่อไป เมื่อคนนั้นไม่เกิด ใครจะฆ่าคนนั้นได้อีกครับ
กรรมจึงขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ อาหารไม่สามารถทำให้สัตว์บริสุทธิ์ หรือ เศร้าหมองได้ กิเลสทำให้สัตว์ไม่บริสุทธิ์เศร้าหมอง ปัญญาทำให้สัตว์บริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง ครับ
ดังนั้น ความอดทน ที่เป็นความเข้าใจผิด ย่อมไม่ใช่ขันติในพระพุทธศาสนา แต่เป็นอกุศลธรรม ในขณะนั้น ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ทำให้เข้าใจในเหตุในผลของธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สำหรับในเรื่องการทานเนื้อสัตว์หรือไม่ทานเนื้อสัตว์ ก็เป็นประเด็นสงสัยของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น แม้แต่ในสมัยพุทธกาล รวมไปถึงในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็เคยมีคนสงสัยในเรื่องนี้เหมือนกัน
อาหารนานาชนิดทั้งที่สมบูรณ์ด้วยเนื้อและไม่ได้ประกอบด้วยเนื้อ มิใช่สิ่งที่ทำให้กิเลสของคนลดลง แต่สิ่งที่จะทำให้กิเลสของคนลดลง มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา มีความเห็นถูกมากขึ้น แล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยความจริงใจ ในขณะรับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์ จึงไม่เป็นปาณาติบาต ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ
สัตว์ถูกฆ่า เป็นผลของอกุศลกรรม ผู้ที่กระทำการฆ่า เป็นการสร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้กิเลสของสัตว์โลกน้อยลง จนกระทั่งสามารถดับได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นอีกเลย ไม่ต้องมีการเกิดอีก ไม่ต้องถูกทำร้ายเบียดเบียนอีกต่อไป เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง
พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทรงแสดงจึงเป็นอนุสาสนี เป็นคำพร่ำสอนให้พุทธบริษัทเห็นโทษของกิเลส ให้เห็นโทษของอกุศลทั้งหลาย เพื่อสำรวจตัวเองว่ายังเป็นผู้มีสิ่งที่ไม่ดีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ขัดเกลา ลดละคลายให้เบาบางลง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (ปัญญา) จนกว่าจะถึงความเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสได้ในที่สุด ครับ.
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
การรับประทานมังสวิรัติ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...