ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ นิกันติกอล์ฟคลับ อ.เมือง จ.นครปฐม ๑๒ เมษายน ๒๕๖๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากร ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อ.ธีรพันธ์ ครองยุทธ และ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญจากคุณไชยยศ คุณชลชินี สะสมทรัพย์และครอบครัว เพื่อไปสนทนาธรรมที่ ห้องผัสสะ อาคารคลับเฮาส์ สนามกอล์ฟนิกันติกอล์ฟคลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. - ๑๕.๓๐ น.
ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๒ ของการเดินทางมาสนทนาธรรมที่นี่ ของท่านอาจารย์และคณะฯ โดยท่านเจ้าภาพได้เตรียมการทุกอย่าง ด้วยความละเอียดและตั้งใจอย่างยิ่ง สังเกตุได้จากที่มีการติดตั้งป้ายขนาดใหญ่ที่จัดทำขึ้นอย่างสวยงาม เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ตั้งแต่ประตูทางเข้า ไปจนถึงหน้าอาคารคลับเฮาส์ ทั้งมีการตกแต่งภายในห้องผัสสะ ซึ่งจัดเป็นห้องสนทนาธรรมและบริเวณโดยรอบอย่างประณีตบรรจง เพื่อให้การต้อนรับทุกท่านที่มีโอกาสเดินทางเข้ามาร่วมรับฟังการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ด้วยความอบอุ่น สะดวกสบายอย่างยิ่ง
จุดประสงค์ของการกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ มาสนทนาธรรม ณ สถานที่นี้นั้น ท่านเจ้าภาพมีความประสงค์ที่จะเกื้อกูลแก่พนักงานทุกคนที่ทำงานในสนามกอล์ฟของท่าน ให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรม ตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ อย่างถูกต้อง แท้จริง เป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่งสำหรับทุกบุคคล ในสังสารวัฏฏ์ รู้สึกได้ถึงความเมตตา ความเป็นมิตรผู้มีความปรารถนาดีของท่านเจ้าภาพคือคุณไชยยศ คุณชลชินี สะสมทรัพย์และครอบครัว ที่จะเกื้อกูลแก่ทุกบุคคล โดยไม่เว้นว่าจะเป็นใครที่ไหน อย่างไร ซึ่งบุคคลทั่วไปและสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ก็ได้รับโอกาสเข้าร่วมรับฟังการสนทนาในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน กราบอนุโมทนาท่านเจ้าภาพและครอบครัว มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชนาติ.
" ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง,
รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง,
ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง,
ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพทานํ เป็นต้น ความว่า ก็ถ้าบุคคล ถึงถวายไตรจีวรเช่นกับใบตองอ่อน แด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจก-พุทธเจ้าแล้ว พระขีณาสพทั้งหลาย ผู้นั่งติดๆ กัน ในห้องจักรวาลตลอดถึง พรหมโลก. การอนุโมทนาเทียว ที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงทำด้วยพระคาถา ๔ บาทในสมาคมนั้นประเสริฐ; ก็ทานนั้น หามีค่าถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพระคาถานั้นไม่:
การแสดงก็ดี การกล่าวสอนก็ดี การสดับก็ดี ซึ่งธรรม เป็นของใหญ่ ด้วยประการฉะนี้. อนึ่ง บุคคลใดให้ทำการฟังธรรม, อานิสงส์เป็นอันมากก็ย่อมมีแก่บุคคลนั้นแท้. ธรรมทานนั่น แหละ ที่พระพุทธเจ้าเป็นต้น ให้เป็นไปแล้ว แม้ด้วยอำนาจอนุโมทนาโดยที่สุดด้วยพระคาถา ๔ บาท ประเสริฐที่สุดกว่าทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยบิณฑบาตอันประณีต แล้วถวายแก่บริษัทเห็นปานนั้นนั่นแหละบ้าง กว่าเภสัชทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยเนยใสและน้ำมันเป็นต้น แล้วถวายบ้าง กว่าเสนาสนทานที่ทายกให้สร้างวิหารเช่นกับมหาวิหารและปราสาท เช่นกับโลหะปราสาทตั้งหลายแสนแล้วถวายบ้าง กว่าการบริจาคที่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ปรารภวิหารทั้งหลายแล้ว ทำบ้าง.
เพราะเหตุไร? เพราะว่าชนทั้งหลาย เมื่อจะทำบุญเห็นปานนั้น ต่อฟังธรรมแล้ว เท่านั้น จึงทำได้. ไม่ได้ฟัง ก็หาทำได้; ก็ถ้าว่าสัตว์เหล่านี้ไม่พึงฟังธรรมไซร้, เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูประมาณ กระบวยหนึ่งบ้าง ภัต ประมาณ ทัพพีหนึ่งบ้าง; เพราะเหตุนี้ ธรรมทานนั่นแหละ จึงประเสริฐที่สุด กว่าทานทุกชนิด.....
คุณไชยยศ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านจริงๆ นะครับ ที่เมตตากับผมและครอบครัว และให้คำที่เป็นมงคลมากๆ ถ้าหากมีสิ่งหนึ่งที่ผมจะทำให้ทุกคน โดยเฉพาะทีมงานของเรา ก็คือ ก็ยังเป็นเด็กๆ กันอยู่ แล้วก็เป็นอาชีพที่เข้าออกกันเยอะ วัยรุ่นเขาก็มีวิธีคิดของเขา ก็อยากจะบอกว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่นานแค่ไหน เก็บเกี่ยวสิ่งที่เงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ ก็คือธรรมะนี่แหละ และเขา (ธรรม) ตามเราไปหมด วันนี้ แต่งตัวกันสวยๆ ตุ้มหู แหวน เอาไปไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่คิดดีๆ ทำดีๆ ตามเราไปหมด ก็ขอให้มั่นคง รับรู้ รับฟัง ผมส่งข้อมูลให้ทีมงานเรื่อย เกี่ยวกับธรรมะ เพื่อที่จะให้ได้ตรงนี้ไป คือ เราอยู่กันไม่ได้ตลอด แต่ไม่มีใครหนีสิ่งที่ทำเอาไว้ทั้งหมด ผมทำอะไร ให้ดีแค่ไหน ก็มีทั้งคนชอบ คนไม่ชอบ แต่สิ่งที่เราทำกับตัวเองนั่นแหละ เขาจะอยู่กับแต่ละคนไป
ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ เป็นอย่างมากนะครับ ที่มาให้เราเป็นครั้งที่สอง เมื่อกี้ผมบอกอาจารย์ วันนี้มันข้ามไปสองวัน ผมอยากให้มาวันที่ ๑๐ เมษาฯ เนื่องจากครั้งที่แล้วท่านอาจารย์มาวันที่ ๑๐ เมษาฯ คือผมเพียงแต่คิดว่า อยากจะให้เหมือน ๖ ๖ ๖ (สัญลักษณ์ของนิกันติฯ)
("..โลโก้ของสนามเรา เป็นเลข ๖ ไทย ซ้อนกันสามตัว ๖ ทาง ๖ ปรากฏ ๖ รู้ อะไรคือ ๖ ทาง ชีวิตของพวกเราทุกคน ที่ไม่พิการ ที่มีเหมือนกันหมด ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มาทางไหน? ถ้าไม่มาจาก ๖ ทางนี้ อะไรปรากฏ "ทางตา" ก็มีแค่ "สิ่งที่ปรากฏ" , "หู" ก็มีแค่ "เสียง" ที่ได้ยิน ทั้งหมดเกิดขึ้น ต้นตอของทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอะไรบ้าง ที่เราจะไปเกิดนอกเหนือจาก ๖ ทางนี้ นี่คือสิ่งซึ่งเราพยายามจะทำให้สนามกอล์ฟแห่งนี้ นอกจากมาเล่นด้วยความเพลิดเพลินแล้ว ก็ได้สาระที่จะเอาไปไตร่ตรองว่า จริงไหม? ใช่ไหม?.." ข้อความจากการสนทนาของคุณไชยยศ เมื่อคราวสนทนาครั้งที่แล้ว ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ นิกันติกอล์ฟคลับ อ.เมือง จ.นครปฐม ๑๐ เมษายน ๒๕๖๐)
ก็อยากจะให้ ๑๐ เมษา ๑๐ เมษาฯ ๑๐ เมษาฯ อาจารย์บอก ต้องจองปีหน้า (หัวเราะ) จองไว้แล้วครับ จองไว้แล้วครับ ก็ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มาให้ความอบอุ่นกับพวกเราชาวนิกันติฯ และหวังว่าวันนี้ต้องได้กันไปแน่ ส่วนจะได้เท่าไหร่ แล้วแต่บุญนะครับ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ
ท่านผู้ฟัง ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของธรรมะสักเท่าไหร่นะคะ แต่เคยฟังผ่านๆ ของพระอาจารย์อะไรก็ไม่แน่ใจ ท่านก็บอกว่า แยกธาตุ แยกขันธ์ อะไรอย่างนี้ค่ะ ปอก็ยังสงสัยว่า ต้องทำอย่างไร หรือจำเป็นไหม? ที่เราจะต้องรู้ว่า ขันธ์ ๕ ใช่ไหมคะ ต้องแยกธาตุ แยกขันธ์ อันนี้อยากจะกราบถามท่านอาจารย์ค่ะ
ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่งก็คือว่า ได้ยินอะไรแล้ว ก็ไม่ถามให้ชัดเจน พอได้ยินคำว่า แยกธาตุ แยกขันธ์ ถ้าไม่รู้ว่าขันธ์คืออะไร ธาตุคืออะไร ทำไมไม่ถามล่ะคะ เขาจะได้อธิบายก่อน ให้เรารู้ว่าขันธ์คืออะไร และธาตุคืออะไร แล้วแยกธาตุแยกขันธ์คืออะไร
เพราะฉะนั้น การสนทนา ไม่ใช่หมายความว่าให้เขาพูดฝ่ายเดียว แต่คนฟังต้อง "คิด" และถ้าไม่เข้าใจก็ถาม เพราะว่า ประโยชน์ของการสนทนากัน ก็คือว่า ได้เข้าใจสิ่งที่เราพูด ถ้าไม่ถามก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย อย่างเมื่อกี้นี้ ถ้าจะถามว่า เรามาที่นี่กันทำไม? แค่นี้ ธรรมดา ง่ายๆ ตอบยากไหม? เรามาที่นี่กันตั้งหลายคน ดีใจมากที่ได้พบกันเยอะๆ แต่ว่า เรามาทำอะไรกัน? เห็นไหม? ยังไม่ต้องขันธ์ ยังไม่ต้องธาตุ เพียงแต่คำว่า เรามาที่นี่ ทำอะไรกัน? ตอบได้ไหม? เพราะว่า วันหนึ่ง วันหนึ่ง เราจะไม่ค่อยคิด เราเพียงแต่ฟัง และ บางคนก็ฟังแล้วก็เชื่อ โดยไม่มีเหตุผลเลยทั้งสิ้น!! แต่ถ้าเราไตร่ตรองและเราถาม เราก็จะได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าสิ่งที่เราได้ฟัง ถูกหรือผิด เพราะว่าทุกคนคิดได้ บอกว่าพระจันทร์ร้อน เราก็คิดได้ ว่าจริงหรือเปล่า? จริงไหม? หรือว่า ไฟเย็น หรืออะไรก็ได้ ทุกอย่าง ขอให้ถาม เพราะความจริงเป็นสิ่งที่รู้ได้ แต่ต้องซัก ไตร่ตรอง โดยละเอียดอย่างยิ่ง
เรามาที่นี่ทำไม? เรามาพบปะกัน เพื่อจะได้เข้าใจสิ่งซึ่งได้ฟัง จากการสนทนากัน เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการได้รู้จักกัน ได้พบกัน ก็คือว่า เราได้มีความเข้าใจสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ดีกว่าไปนั่งเฉยๆ หรือว่าไปทำอะไร ใช่ไหม?
ก็ขอถามต่อไปอีก เมื่อกี้นี้ ได้ฟังคุณไชยยศพูด เรื่องจริงหรือเปล่า? ถาม เห็นไหม? คือเราจะต้องรู้ว่า สิ่งที่เราได้ฟัง จริงหรือเท็จ? เป็นเรื่องจริงใช่ไหม? ทุกคนฟังเรื่องจริง พูดถึงเรื่องชีวิต ความเป็นมาของแต่ละคน แต่ละคนที่นี่ไม่ได้เหมือนกันเลย นั่นคือเป็นชีวิตส่วนหนึ่งที่เราได้ฟัง จากความกรุณาของผู้พูด ให้เราได้รู้ว่า ชีวิตแต่ละชีวิต หลากหลายมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพูดถึงแต่ละคนในที่นี้ ขอเชิญมาเล่า ก็จะมีประสบการณ์ต่างๆ มีความชอบ ไม่ชอบ ต่างๆ เป็นแต่ละหนึ่ง แต่หารู้ไม่ ว่าความจริงแท้ คืออะไร?
เพราะฉะนั้น วันนี้ จริงๆ แล้วก็คือว่า เราได้ยินคำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็มาฟังคำของพระพุทธเจ้า ใช่ไหม? คำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ที่เรากราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรู้ว่า เรากราบไหว้บูชาใคร? ถ้าเราไม่รู้จักพระพุทธเจ้าเลย แล้วเราก็กราบไหว้บูชา ถามว่า ถูกต้องไหม? นี่เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ให้ใครฟังเฉยๆ แต่ให้เริ่มคิด ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง เมื่อเป็นความเข้าใจของเราเองแล้ว คนอื่นเปลี่ยนได้ไหม? ในเมื่อเหตุผลถูกต้อง เพราะฉะนั้น เรารู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? ที่เรากราบไหว้ หรือว่า เรามาฟังคำที่พระองค์ตรัสไว้หลายพันปีมาแล้ว แต่คำนั้นก็ยังเป็นความจริง ซึ่งได้ยินเมื่อไหร่ สามารถที่จะเข้าใจได้เมื่อนั้น ดีกว่าเราไปกราบไหว้พระพุทธรูป แต่ว่า ไม่รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าเขาถามว่าเรากราบไหว้ทำไม? ตอบได้ไหม? ขอโน่นขอนี่ แล้วขอได้หรือเปล่า? ทุกอย่าง ทำให้เราเป็นผู้ที่มีเหตุผล ถ้าเราค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ไตร่ตรอง ก็จะได้ประโยชน์ จากการที่ เรามาที่นี่ เหมือนกับการได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากคำของพระองค์ ไม่ใช่จากคนหนึ่งคนใดเลย ใครก็คิดคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ว่าพระองค์ตรัสไว้อย่างไร เราก็ค่อยๆ ได้ยิน ได้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จึงจะรู้ว่า เรากราบไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทำให้เราได้เข้าใจความจริง
คุณวราวิชช์ กราบท่านอาจารย์นะครับ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสทางพวกเราทุกคนในที่นี้ ได้มาฟังและสนทนาธรรม ผมอยากจะถามเกี่ยวกับเรื่องของการทำงาน ที่นิกันติฯ ก็จะเป็นเรื่องของการบริการ ก็มีเรื่องของการใช้หลักอย่างเช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อยากจะขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายความเข้าใจ ในหลักต่างๆ ในเรื่องของการจะบริการลูกค้า หรือการทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ร่วมงาน หรือแม้แต่คนที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ครับ
ท่านอาจารย์ คำตอบ สั้นมากนะคะ แค่คำเดียว "เป็นคนดี" (มีเสียงหัวเราะชอบใจ ปรบมือทั้งห้อง) ค่ะ ขอบคุณค่ะ แล้ว "ดี" ก็ "เป็นธรรมะ" เห็นไหม? เราต้องมีความเข้าใจขึ้น ได้ยินคำว่า "เป็นคนดี" ทุกคนชอบ ไม่มีใครชอบ "คนร้าย" เลย แต่ว่า จริงๆ แล้ว ต้องไม่ลืมว่า "ดี" มีจริงๆ แต่ "ไม่ใช่เรา" เมื่อกี้บอกว่าเป็นคนดี ใช่ไหม? แต่ว่า ดี ไม่ใช่เรา ฟังดูเหมือนกับค้านกัน แต่ความจริง เพราะเหตุว่า มีธรรมะ แต่ เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ ก็เข้าใจว่าธรรมะนั้นเป็นเรา
เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ "เห็น" เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมะ แต่เพราะไม่รู้ ก็เข้าใจว่าเป็นเรา เราเห็น ยังไงๆ ก็ "เราเห็น" ได้ยินคำว่า เห็นไม่ใช่เราสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่การที่เคยยึดมั่น เพราะไม่รู้ว่า จริงๆ เดี๋ยวนี้ เห็นไม่ใช่ได้ยิน ในขณะที่ได้ยิน ไม่มีเห็น จะมีพร้อมกันสองอย่างไม่ได้ เพราะว่าเห็นต้องอาศัยตา แต่ว่าได้ยินต้องอาศัยหู เพราะฉะนั้น คนถ้าไม่มีตา แต่ได้ยินได้ คนที่ไม่มีหูก็เห็นได้ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรา แต่มีจริงๆ !!
เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ฟังไว้ก่อน!! ไม่ใช่หมายความว่า ฟังแล้ว ให้ทุกคนไม่มีการยึดถือว่าเป็นเราเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้!! เพราะเหตุว่า ต้องรู้จริง ยิ่งกว่านี้มาก!!! ผู้ที่ทรงตรัสรู้คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรานับถือพระองค์ เหมือนพ่อแม่ ใช่ไหม? เรานับถือ แล้วเราก็เชื่อฟังพ่อแม่ เพราะรู้ว่า ไม่มีใครหวังดีเท่าพ่อแม่ คำว่า หวังดี เป็นอีกคำหนึ่งของคำว่า เมตตา หรือมิตร เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง เวลาที่เราได้ยินจนชินหู แต่ว่าเราฟังเผินๆ ทุกอย่างเผินหมด ทุกคำ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ของทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงที่สุด มีใครมั่นใจในใคร ไม่เท่ากับ มั่นใจในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า เป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง ไม่มีคำเท็จ ไม่มีคำหลอกลวง ไม่มีคำหวังร้าย จากทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ๔ คำ อาจจะคุ้นกับคำว่า เมตตา มากกว่าคำอื่น กรุณาก็คงได้ยินบ้าง แต่ มุทิตา ถ้าไม่ไปวัดวาอาราม จะได้ยินไหม มุทิตา แปลว่าอะไรก็ยังไม่รู้เลย ใช่ไหม? แต่ เมตตา หมายถึง ความเป็นเพื่อน ความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ทำประโยชน์ให้กับคนที่เราหวังดี ภาษาไทยเราใช้คำว่า มิตร มาจากคำว่า เมตตา มิตต แต่ภาษาไทยบอกว่า เพื่อน ถ้าเรามีเพื่อน เพื่อนมีความหมายมาก ถ้ามีเพื่อน หมายความว่า เรามีคนที่หวังดีต่อเรา พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล เพราะเขามีความหวังดี เป็นมิตรเพราะเมตตา เพราะฉะนั้น เมตตา ไม่ใช่ชื่อ และไม่ใช่คำ แต่เป็นความจริง เป็นความรู้สึกของใจ ของจิต ซึ่งขณะนั้น พร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับคนอื่น
คนไทย ได้รับคำชมเชยมาก ว่าเราเป็นคนที่ใจดี เวลาที่เราเห็นคนที่เราไม่รู้จัก เราก็ยังจะบอกทางเขาได้ เวลาที่เขาถามว่าไปทางไหน หรือให้ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เราช่วยได้ แต่ว่าส่วนที่ไม่ดีก็มีมาก ความจริงก็คือว่า ต้อง "เป็นคนที่ตรง" ถูกก็คือถูก และ ผิดก็คือผิด ดีก็คือดี ชั่วก็คือชั่ว เพราะฉะนั้น เรามีทั้งดีและไม่ดี ใช่ไหม? ใช่ เริ่มรู้ความจริง เริ่มตรงต่อความจริง และดีกับชั่ว เรายังไม่ต้องรู้อะไรมากมาย แค่ดีกับชั่ว ก็ต่างกันแล้ว อะไรดีกว่ากัน? ดีต้องดี ชั่วต้องชั่ว แล้วเราเคยคิดไหม? ว่าตัวเรา ดีมากกว่าชั่ว หรือว่า ชั่วมากกว่าดี? ต้อง "ตรง" ทุกคน ถ้าได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งเห็นพระมหากรุณาคุณ ให้เรารู้ความจริงว่า เราไม่ดีมาก ทั้งวันดีน้อย จริงหรือเปล่า? เห็นไหม? ความจริงต้องจริง
ถ้า "ดี" จะไม่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว คำนี้ก็ยาก ใช่ไหม? "มีตัว" เกิดมาก็ "มีเรา" และคำตอบที่ทุกคนต้องตอบตรงกันทั้งหมด ด้วยความจริงใจ ก็คือว่า รักตัวที่สุด ใช่ไหม? ถึงมีเพื่อนเยอะแยะ มีคนอื่นมากมาย แต่ก็ไม่รักใครเท่ารักตัวเอง ถ้ารักตัวเองจริงๆ ต้องไม่ทำชั่ว!! เห็นไหม? แต่ว่า เวลาที่เราทำไม่ดี เพราะขณะนั้นเราไม่รู้เลยว่า ไม่ดีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ต้องมีผล ช้าหรือเร็ว และไม่ใช่คนอื่นด้วย!! ต้องเป็นตัวเอง ที่ได้รับผลของการกระทำนั้นๆ
เรื่องยาวมาก ธรรมะแต่ละคำ โยงกันไปถึงคำอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น เริ่มต้นด้วยคำว่า เมตตา ก่อน เมตตามีจริง เป็นธรรมะ แต่ไม่ใช่เรา เราเห็นกิริยาอาการภายนอกของใครที่ช่วยเหลือคนอื่น ทำทุกอย่างให้คนอื่นได้ เสียสละได้ เราบอกว่า เขาเป็นมิตรที่ดี มีเมตตา ควรจะเป็นอย่างนั้นไหม? ถ้าเป็นคนที่ตรง แต่ทำไมเป็นไม่ได้? ทุกคนอยากดี ดีมากขึ้น มากขึ้น แต่ดีไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะ "ไม่รู้ความจริง" คำนี้สำคัญที่สุด!!! พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริง ถึงที่สุดว่า ไม่มีเรา แต่มีความดีและความชั่ว แต่ถ้ามีเรา เราเห็นแก่ตัวแล้วใช่ไหม? คนอื่นทำไม่ดี เราว่าเขา แต่เวลาเราทำไม่ดี เราเฉยหรือเปล่า? ปกปิดด้วย ใช่ไหม? ไม่เห็นบอกใครเลย!! แต่พอคนอื่นไม่ดี เที่ยวบอกเขาหมดเลย ว่าคนโน้นทำไม่ดีอย่างนี้ ทำไม่ดีอย่างนั้น เห็นไหม? เป็นมิตรหรือเปล่า? เมตตาหรือเปล่า? หวังดีหรือเปล่า?
เพราะฉะนั้น ถ้าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปอีก จะเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น แล้วก็จะรู้ความจริงมากขึ้น แล้วความดีก็มากขึ้น รวมทั้งความรักตัวก็น้อยลง เพราะเหตุว่า ถ้าเรารักตัวมาก เราอาจจะทำสิ่งที่ไม่ดีเลย ทำร้ายคนอื่นก็ได้ เพราะความรักตัว ไม่มีความเมตตา แต่ถ้าเรามีความเป็นมิตร มีความเมตตาจริงๆ ก็คือว่า หวังดี ทำร้ายคนที่เราหวังดีได้ไหม? ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ทำร้ายใคร ขณะนั้นไม่เมตตา ไม่ทราบ มีปัญหาเรื่องเมตตาหรือเปล่าคะ เพราะว่าทุกคำ ควรจะชัดเจน
คุณวรวิชช์ สรุปว่า เมตตาคือ ความหวังดี ความเป็นมิตร
ท่านอาจารย์ พร้อมที่จะช่วยเหลือ ถ้าไม่สงสัยในคำนี้ รู้จักตัวเอง ว่าเป็นเพื่อนกับใครบ้าง? เป็นเพื่อนกับกี่คน? ยิ่งมากยิ่งดี ใช่ไหม? เพราะเรา หวังดีกับทุกคน ดีกว่าหวังดีเพียงบางคน เมตตาตรงกันข้ามกับ โทสะ ความไม่ชอบ ถ้าเราไม่ชอบใคร เราเป็นเพื่อนกับเขาได้ไหม? ไม่ได้ แล้วเราควรชอบหรือควรไม่ชอบเขา เห็นไหม? ปัญหาธรรมดามาก แต่ ถ้าเราไม่ไตร่ตรอง ดูเหมือนกับว่า เราไม่คิดที่จะเข้าใจประโยชน์เลย ว่าเราควรจะเป็นเพื่อน ควรจะเมตตากับเขาหรือควรจะโกรธเขา ไม่ชอบเขา ใครจริงใจตอบได้เลยใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น เมตตาไม่มีประมาณ เพราะเหตุว่าเป็นคุณธรรมที่ดี จะไม่มีการเบียดเบียนกันเลย ไม่ว่าทางกาย ทางวาจา เพราะเหตุว่า ความเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนจากใจ เพราะฉะนั้น พูดกับคนอื่นด้วยเมตตา ไม่มีทางที่เขาจะโกรธเรา เพราะว่า เรามีความหวังดี ไม่ให้เขาเดือดร้อนเพราะคำของเรา เห็นไหม? ที่ชอบกันไม่ชอบกัน เพราะเหตุว่าการกระทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง แม้แต่คำพูดธรรมดา ทำให้คนอื่นเสียใจก็ได้ น้อยใจก็ได้ จำไปจนตลอดชีวิตก็ได้ ไม่ลืม มีคนหนึ่ง เขาพูดว่า ขอจำไปจนตาย น่ากลัวไหม? ไม่ลืมเลย จำไว้ทำไม? จำเมื่อไหร่ก็ทำร้ายตัวเอง!! เพราะต้องเป็นสิ่งที่เขาไม่พอใจ เขาถึงจะขอจำไปจนตาย เท่ากับทำร้ายตัวเองไปตลอดเวลา
ถ้าเราไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่รู้เลยว่า เราทำร้ายเราเอง ไม่ได้ทำร้ายคนอื่น แต่ว่า อาจจะทำร้ายคนอื่นให้เขาบาดเจ็บได้ แต่ก่อนนั้น เราทำร้ายตัวเราเองก่อน และถ้าเป็นเพียงคำพูด ว่าเขา ติเตียนเขา สักเท่าไหร่ก็ตาม เขาเดือดร้อนหรือเปล่า? หรือว่า เราเดือดร้อน!! เราจึงว่าเขา หาทุกข์ใส่ตัวก็ไม่รู้!! ใช่ไหม? เพราะไม่รู้ ทั้งหมด!! ทุกอย่างที่ไม่ดีทั้งหมด มาจากความไม่รู้!!! และถึงแม้ว่าจะดีสักเท่าไหร่ ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะรู้ความจริง จากการได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้รู้ว่า ผู้ที่รู้ทุกอย่างโดยประการทั้งปวง ทรงเป็นที่พึ่งให้เราเป็นคนดี ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!
ตอนนี้ทราบเลยใช่ไหม? รู้จักเมตตา ไม่มีประมาณค่ะ อย่าจำกัด ว่าเฉพาะคนนี้ หรือคนนั้น ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จัก ถ้าเขาทำผิด ที่นี่ต้องมีคนทำผิดแน่ ที่ไหนๆ ก็มีคนทำผิด ถ้าใครทำผิด เกลียดเขาไหม? หรือว่า สงสารเขา? ถ้าเรารู้ว่า เขาต้องได้รับผลของการกระทำนั้น และผลของการกระทำผิด ไม่มีใครรู้เลยว่า มากมายสักแค่ไหน แต่ว่าที่ปรากฏในชีวิตนี้ ก็คือว่า ป่วยไข้ได้เจ็บ ไม่ต้องหกล้ม ไม่ต้องมีใครฆ่า ถึงเวลา ตาเจ็บก็ได้ แค่ฝุ่นเข้าตา รำคาญไหม? น้อยที่สุดแล้ว แต่ทำไมฝุ่นถึงได้เข้าตา ไม่มีใครรู้สาเหตุเลยใช่ไหม? แต่ "เหตุ" มี
เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกอย่างที่เป็นเหตุ ที่จะให้เกิดผลต่างๆ ทั้งหมด ที่เป็นผลที่ไม่ดี ต้องมาจากความไม่ดี ทางกาย ทางวาจา ซึ่งเพราะใจ ถ้าใจดี กายดี วาจาดี ถ้าใจไม่ดี กายก็ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น ทรงเหมือนยิ่งกว่าพ่อแม่ "ผู้ให้กำเนิดความเข้าใจในสังสารวัฏฏ์" ที่ "ไม่เคยได้เข้าใจมาก่อน" เลย!!! ควรฟังไหม?
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณไชยยศ คุณชลชินี สะสมทรัพย์และครอบครัว
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมครั้งก่อน ได้ที่นี่...
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ นิกันติกอล์ฟคลับ อ.เมือง จ.นครปฐม ๑๐ เมษายน ๒๕๖๐
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ Home Fresh Restaurant ถนนรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงละครวังหน้า ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ [วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ]
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ กรมยุทธบริการทหาร ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑