เนกขัมมบารมี - เนกขัมมบารมีเริ่มด้วยความสันโดษ ตอนที่ 1-8 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]
เนกขัมมบารมีเป็นการสละจากความพอใจ ติดข้อง และความคิดที่ผิดทาง ได้แก่ กามวิตก (การตรึกไป หรือการนึกถึง ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความติดข้องพอใจ) พยาบาทวิตก (การตรึกไป หรือการนึกถึงด้วยความเกลียด ผูกโกรธ) วิหิงสาวิตก (การตรึกไป หรือการนึกถึงด้วยความเบียดเบียน ทำร้าย) การนึกคิดด้วยอกุศลเหล่านี้สามารถที่จะสละได้ด้วยการออกบวช (ซึ่งหมายถึงการออกจากเรือนสละทุกอย่าง เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า พระสาวก หรือพระโพธิสัตว์ที่ประพฤติมา) หรือโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อผู้ใดที่สละความคิดติดข้องในกาม ความโกรธ หรือการเบียดเบียนผู้อื่น ผู้นั้นก็กำลังอบรมเจริญเนกขัมมบารมี
โดยทั่วไปคนเชื่อว่าสามารถที่จะอบรมเนกขัมมบารมีโดยการบวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น แต่เพื่อที่จะเข้าใจความหมายแท้จริงของเนกขัมมะ เราควรที่จะพิจารณาลักษณะที่แตกต่างของจิตที่กำลังคิด ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เราคิดบ่อยๆ เป็นปรกติในชีวิตประจำวันในทางที่เป็นอกุศลในกามวัตถุ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่นำมาซึ่งความยินดีพอใจ จึงมีการนึกถึงกาม หรือ กามวิตก เราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงความคิดถึงสิ่งที่กระทบสัมผัสด้วยความพอใจ ความหลงไหล หรือความติดข้องได้หรือไม่ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับกามวิตก คือ ความคิดที่จะสละออกจากกาม (เนกขัมมวิตก) เนกขัมมะ หรือการออกจากสิ่งที่ติดข้องพอใจ เป็นการอบรมเจริญที่ไม่เพียงแต่การออกบวชเป็นพระ ซึ่งเป็นการอบรมเนกขัมมบารมีในระดับที่เลิศ แต่ก็ยังสามารถที่จะอบรมได้ในชีวิตประจำวันของผู้ครองเรือน เราเคยได้พิจารณาถึงการสละความเพลิดเพลินในสิ่งที่กระทบสัมผัส (รูป เสียง ... โผฏฐัพพะ) หรือไม่ เคยหมดความพอใจในสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ เรามีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง และกามวัตถุอื่นๆ เราไม่ต้องการที่จะสละสิ่งเหล่านั้น แต่เราต้องการมากยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีการรู้จักพอในกามวัตถุ เราก็ยอมให้กามวิตก คิดถึงกามด้วยความพอใจต่อไป แต่ทางตรงกันข้ามหากคิดว่ามีเพียงพอแล้วในสิ่งมีอยู่ ก็เป็นเนกขัมมวิตก
เมื่อเรายังคงกระหายในความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ดีตลอดไป นั่นก็แสดงถึงว่าเราเป็นผู้ที่มีกิเลส ควรที่จะถามตนเองว่าหวังที่จะมีกิเลสยิ่งขึ้นหรือไม่ แต่ละครั้งที่ติดข้องกับสิ่งที่ปรากฏทางตาม และกามวัตถุอื่นๆ กิเลสทั้งหลายก็เกิดขึ้น ถ้าไม่รู้ว่าเรามีกิเลสมากอยู่แล้ว ความคิดที่จะสละออกจากกามหรือพอแล้วในกามก็ไม่เกิดขึ้น อาจจะต้องการที่จะได้สิ่งที่น่าปรารถนาต่อไป และไม่เคยสันโดษ คือความพอกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว เราอาจไม่ต้องบวชเป็นพระเพื่อที่จะอบรมเนกขัมมบารมี แต่เราสามารถที่จะถามตนเองว่าเรามีสิ่งที่น่าปรารถนาพอแล้วหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเป็นไปได้ว่าเราไม่อยากที่จะซื้อเสื้อมากไปกว่านี้อีกที่เพียงแต่ทำให้ร่างกายสวยงามเท่านั้น และเราอาจจะพิจารณาว่าเรามีมากเกินความต้องการใช้จริงด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นก็มีเนกขัมมะในชีวิตประจำวัน
ควรที่จะเริ่มศึกษาและพิจารณาในตนเองว่าทรัพย์ที่มีอยู่นั้นพอกับความต้องการใช้จริงแล้วหรือไม่ ก็ควรที่จะเป็นผู้ที่สันโดษคือรู้จักพอในสิ่งที่มี ถ้าเราได้มากกว่าที่เราต้องการใช้จริง ก็ควรที่จะสละสิ่งนั้นถ้าสิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ด้วยหนทางนี้เนกขัมมบารมีจึงเจริญขึ้นได้ แทนที่จะคิดด้วยความติดข้องพอใจในวัตถุกามก็สามารถที่จะมีความคิดที่พอและสละวัตถุนั้นออกได้
ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Renunciation - Renunciation begins with being content