พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เตมิยชาดก ว่าด้วยพระเตมีย์ทรงบําเพ็ญเนกขัมมบารมี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ก.ค. 2564
หมายเลข  34654
อ่าน  1,533

[เล่มที่ 63] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 1

๑. เตมิยชาดก

ว่าด้วยพระเตมีย์ทรงบําเพ็ญเนกขัมมบารมี

อรรถกถา เตมิยชาดก 18


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 63]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 1

พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย ชาดก

เล่ม ๔ ภาคที่ ๒

มหานิบาตชาดก

๑. เตมิยชาดก

ว่าด้วยพระเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี

[๓๙๔] พ่ออย่าแสดงว่าเป็นคนฉลาด จงให้ชนทั้งปวงรู้กันว่าพ่อเป็นคนโง่ ชนในที่นั้นทั้งหมดจะได้ดูหมิ่นพ่อว่าเป็นคนกาลกรรณี ความปรารถนาของพ่อจักสำเร็จได้ด้วยอุบายอย่างนี้.

[๓๙๕] ข้าแต่แม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ที่ท่านกล่าวกะข้าพเจ้า ข้าแต่แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ใคร่เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า.

[๓๙๖] แน่ะนายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไม เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกแก่เราเถิดเพื่อน ท่านจักใช้หลุมทำประโยชน์อะไร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 2

[๓๙๗] พระโอรสของพระราชา เป็นใบ้ เป็นหนวกเป็นง่อยเปลี้ย เหมือนไม่มีพระมนัส พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ฝังลูกเราเสียในป่า.

[๓๙๘] ดูก่อนนายสารถี ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนหนวกมิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย มิได้มีอินทรีย์วิกลวิการ ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เชิญท่านดูขาและแขนของข้าพเจ้า และเชิญฟังคำภาษิตของข้าพเจ้า ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.

[๓๙๙] ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกเทวราชผู้ให้ทานในก่อน ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร.

[๔๐๐] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ มิใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในก่อน เราที่ท่านจะฆ่าเสียในหลุม เป็นโอรสของพระเจ้ากาสิกราช เราเป็นโอรสของพระราชาผู้ที่ท่านพึ่งพระบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ แน่ะนายสารถี ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนลามก พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 3

[๔๐๑] บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร ชนเป็นอันมากอาศัยบุคคลผู้นั้นเลี้ยงชีพ บุคคลผู้นั้นจากเรือนของตนไปที่ไหนๆ ย่อมมีภักษาหารมากมาย. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันหมู่ชนในที่นั้นๆ ทั้งหมดบูชา. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โจรทั้งหลายไม่ข่มเหงบุคลผู้นั้น กษัตริย์ก็มิได้ดูหมิ่นบุคคลผู้นั้น บุคคลผู้นั้นย่อมข้ามพ้นหมู่อมิตรทั้งปวง. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นจะมาสู่เรือนของตนด้วยมิได้โกรธเคืองใครๆ มา ได้ความยินดีปรีดาในสภาที่ประชุม เป็นผู้สูงสุดของหมู่ญาติ. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นสักการะคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตน เคารพคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่นเคารพตน ย่อมเป็นผู้ได้รับความยกย่องและเกียรติคุณ. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นบูชาผู้อื่น ก็ย่อมได้บูชาตอบ ไหว้ผู้อื่น ก็ย่อมได้ไหว้ตอบ และย่อมถึงยศและเกียรติ. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดุจกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดา มีสิริประจำตัว. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้นย่อมเกิด พืชที่หว่านไว้ในนาย่อมงอกงาม บุคคลผู้นั้นย่อมได้บริโภค

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 4

ผลของพืชที่หว่านไว้. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นตกเหว ตกภูเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งอาศัยไม่เป็นอันตราย. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรมีรากและย่านงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มได้ ฉะนั้น.

[๔๐๒] ขอพระองค์เสด็จมาเถิด ข้าพระบาทจักนำพระองค์ซึ่งเป็นพระราชโอรสกลับสู่มณเฑียรของพระองค์ ขอพระองค์จงครองราชสมบัติ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ. พระองค์จักทรงทำอะไรในป่า.

[๔๐๓] แน่ะนายสารถี เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอธรรม พร้อมด้วยญาติและทรัพย์.

[๔๐๔] ข้าแต่พระราชบุตร พระองค์เสด็จกลับจากที่นี้ จะทำให้ข้าพระองค์ได้รางวัลเครื่องยินดี เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว พระชนกและพระชนนีจะพระราชทานรางวัล เครื่องยินดีแก่ข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์เหล่านั้น จะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพราบ แม้เหล่านั้นจะยินดีให้รางวัล

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 5

แก่ข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว ชาวชนบท ชาวนิคม ผู้มีธัญญาหารมาก จะประชุมกันให้เครื่องบรรณาการแก่ข้าพระองค์.

[๔๐๕] พระชนกและพระชนนีสละเราแล้ว ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคม และกุมารทั้งปวงก็สละเราแล้ว เราไม่มีเหย้าเรือนของตน พระชนนีทรงอนุญาตเราแล้ว พระชนกก็ทรงสละเราจริงๆ แล้ว เราจะบวชอยู่ในป่าคนเดียว ไม่ปรารถนากามคุณทั้งหลาย.

[๔๐๖] ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ไหนเล่า.

[๔๐๗] พระองค์มีพระดำรัสไพเราะ และมีพระวาจาสละสลวยอย่างนี้ เหตุไฉนจึงไม่ตรัสในสำนัก แห่งพระชนกและพระชนนีในกาลนั้นเล่า.

[๔๐๘] เราเป็นง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีเครื่องติดต่อก็หาไม่ เราเป็นหนวกเพราะไม่มีช่องหูก็หาไม่ เราเป็นใบ้เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าเข้าใจว่าเราเป็นใบ้ เราระลึกชาติปางก่อน ที่เราสวยราชสมบัติได้ เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 6

ยี่สิบปี ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี เรากลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น ขอชนทั้งหลายอย่าพึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พูดในสำนักของพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น พระชนกทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลา แล้วตรัสสั่งข้อความว่า จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงจองจำโจรคนหนึ่ง จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วเอาน้ำแสบราดแผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว ตรัสสั่งเจ้าหน้าที่นั้นอย่างนี้ เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคาย ที่พระชนกตรัสนั้น จึงกลัวการเสวยราชสมบัติ เรามิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย ก็ให้คนเข้าใจว่าง่อยเปลี้ย แกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่ในปัสสาวะและอุจจาระของตน ชีวิตนั้นเป็นของลำบาก เป็นของน้อยทั้งประกอบด้วยทุกข์ ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง เพราะไม่ได้ปัญญา เพราะไม่เห็นธรรม ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ไหนเล่า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 7

[๔๐๙] ข้าแต่พระราชบุตร แม้ข้าพระองค์ก็จักบวชในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสเรียกให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ชอบบวช.

[๔๑๐] แน่ะนายสารถี ท่านจงไปมอบคืนรถแล้วเป็นผู้ไม่มีหนี้เถิด เพราะผู้ไม่มีหนี้จึงบวชได้ การบวชนั้น ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งสรรเสริญแล้ว.

[๔๑๑] ข้าพระองค์ได้ทำตามพระดำรัส ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระองค์ควรจะทรงทำตามคำที่ข้าพระองค์ทูลวิงวอน ขอพระองค์จงประทับรออยู่ ณ ที่นี้ จนกว่าข้าพระองค์จะนำพระราชาเสด็จมา อย่างไรเสีย พระราชบิดาของพระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้ว คงทรงพระปีติโสมนัสเป็นแน่.

[๔๑๒] แน่ะนายสารถี เราจะกระทำตามคำของท่านที่ท่านกล่าวกะเรา แม้ตัวเราก็อยากเห็นพระชนกของเราเสด็จมาในที่นี้ จงกลับไปเถิดเพื่อนรัก ท่านจงทูลแก่พระญาติทั้งหลายด้วยก็เป็นการดี ท่านเป็นผู้ที่เราสั่งแล้ว จงกราบทูลถวายบังคมพระชนกพระชนนีของเรา.

[๔๑๓] นายสารถีจับพระบาททั้งสองของพระกุมารและกระทำประทักษิณพระกุมารแล้ว ขึ้นรถเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 8

[๔๑๔] พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า มีแต่นายสารถีมาคนเดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชล ทรงกันแสงทอดพระเนตรดูนายสารถีนั้น ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า นายสารถีนี้ฝังโอรสของเราเสียแล้ว โอรสของเรานายสารถีฝังเสียในแผ่นดิน ถมแผ่นดินแล้วเป็นแน่ ปัจจามิตรทั้งหลายจะยินดี ศัตรูทั้งหลายจะอิ่มใจเป็นแน่ เพราะเห็นนายสารถีมาแล้ว เพราะฝังโอรสของเราแล้ว พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชล ทรงกันแสง ตรัสสอบถามนายสารถีนั้นว่า โอรสของเราเป็นใบ้หรือ เป็นง่อยหรือ ตรัสอะไรบ้างหรือ ในเวลาที่ถูกท่านฝังในแผ่นดิน จงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด นายสารถี โอรสของเราเป็นใบ้เป็นง่อย เขากระดิกมือเท้าอย่างไรบ้างไหม ในเมื่อถูกท่านฝังในแผ่นดิน เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกความนั้นแก่เรา.

[๔๑๕] ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดประทานอภัยแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอกราบทูลตามที่ได้ฟังได้เห็นในสำนักของพระราชโอรส แด่พระองค์.

[๔๑๖] ดูก่อนนายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่าน ท่านไม่ต้องกลัว จงกล่าวตามที่ท่านได้ฟังหรือได้เห็นในสำนักของพระราชโอรส.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 9

[๔๑๗] พระราชโอรสนั้นมิได้เป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย พระองค์มีพระวาจาสละสลวย ได้ยินว่าพระองค์กลัวราชสมบัติ จึงได้ทรงทำการลวงเป็นอันมาก พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อน ที่พระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง พระองค์เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี แล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี พระองค์กลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น ทรงอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลายอย่าพึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนักของพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น พระราชโอรสทรงสมบูรณ์ด้วยองคาพยพ มีพระรูปงดงามสมส่วน มีพระวาจาสละสลวย มีพระปัญญา ทรงดำรงในมรรคาแห่งสวรรค์ ถ้าพระแม่เจ้ามีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสของพระองค์ ก็ขอเชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จักนำเสด็จพระแม่เจ้าไปให้ถึงที่ที่พระเตมิยราชโอรสประทับอยู่.

[๔๑๘] เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถเทียมม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง จนกระทั่งสังข์และบัณเฑาะว์ จงตีกลองหน้าเดียว จงตีกลองสองหน้า และรำมะนาอันไพเราะ ขอชาวนิคมจงตามเรามา เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย นางสนม กุมาร พ่อค้า และ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 10

พราหมณ์ทั้งหลาย จงรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ จงรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย ชาวชนบทและชาวนิคม จงมาประชุมรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย.

[๔๑๙] นายสารถีทั้งหลายจูงม้าที่เทียมรถและม้าสินธพซึ่งเป็นพาหนะว่องไว มายังประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลว่า ม้าทั้งสองพวกนี้เทียมเสร็จแล้ว.

[๔๒๐] ม้าอ้วนเสื่อมความว่องไว ม้าผอมเสื่อมถอยเรี่ยวแรง จงเว้นม้าผอมและม้าอ้วนเสีย จัดเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์.

[๔๒๑] แต่นั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับบนม้าสินธพอันเทียมแล้ว ได้ตรัสกะนางข้างในว่า จงตามเราไปทุกคน เตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ คือ พัดวาลวิชนี พระอุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตร และฉลองพระบาททอง ให้ขนขึ้นรถไปด้วย แต่นั้นพระราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทาง เสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่ที่พระเตมิยราชฤๅษี ประทับอยู่โดยพลัน.

[๔๒๒] พระเตมิยราชฤๅษี ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดากำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ จึงถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปราศจากพระโรคาพาธ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 11

หรือ ทรงเป็นสุขสำราญดีหรือ ราชกัญญาของพระองค์ และโยมมารดาของอาตมภาพ ไม่มีพระโรคาพาธหรือ.

[๔๒๓] พระลูกรัก ดีฉันไม่มีโรคาพาธ สุขสำราญดี ราชกัญญาทั้งปวงของดีฉัน และโยมมารดาของพระลูกรัก หาโรคภัยมิได้.

[๔๒๔] ขอถวายพระพร มหาบพิตรไม่เสวยน้ำจัณฑ์ไม่ทรงโปรดน้ำจัณฑ์หรือ พระหฤทัยของมหาบพิตรทรงยินดีในสัจจะ ในธรรมและในทานบ้างหรือ.

[๔๒๕] พระลูกรัก ดีฉันไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดน้ำจัณฑ์ อนึ่ง ใจของดีฉันยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทาน.

[๔๒๖] พาหนะมีม้าและโคเป็นต้น ของมหาบพิตรที่เขาเทียมในยาน ไม่มีโรคหรือ นำอะไรๆ ไปได้หรือมหาบพิตร ไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาพระสรีระหรือ.

[๔๒๗] พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของดีฉัน ที่เขาเทียมในยาน ไม่มีโรค อนึ่ง พาหนะนำอะไรๆ ไปได้ และดีฉันไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาสรีระ.

[๔๒๘] ปัจจันตชนบทของมหาบพิตร ยังเจริญดีอยู่หรือ คามนิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของมหาบพิตร ยังเป็นปึกแผ่นดีหรือ ฉางหลวงและพระคลังของมหาบพิตรยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 12

[๔๒๙] ปัจจันตชนบท ของดีฉันยังเจริญดีอยู่ คามนิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของดีฉัน ยังเป็นปึกแผ่นดีอยู่ ฉางหลวงและพระคลังของดีฉันทั้งหมด ยังบริบูรณ์ดีอยู่.

[๔๓๐] ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จมาดีแล้ว พระองค์เสด็จมาไกลก็เหมือนใกล้ ราชบุรุษทั้งหลาย จงทอดราชบัลลังก์ให้ประทับเถิด.

[๔๓๑] ขอเชิญมหาบพิตรประทับนั่ง บนเครื่องปูลาดใบไม้ที่เขากำหนดลาดไว้ เพื่อพระองค์ในที่นี้ จงทรงเอาน้ำแต่ภาชนะนี้ ล้างพระบาทของมหาบพิตรเถิด.

[๔๓๒] มหาบพิตร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้ เป็นของสุก ไม่มีรสเค็ม ขอมหาบพิตร ผู้เสด็จมาเป็นแขกของอาตมภาพ จงเสวยเถิด.

[๔๓๓] ดีฉันไม่บริโภคใบหมากเม่า โภชนะของดีฉันไม่ใช่อย่างนี้เลย ดีฉันบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยมังสะอันสะอาด.

[๔๓๔] ความอัศจรรย์ย่อมแจ่มแจ้งแก่ดีฉัน เพราะได้เห็นลูกรักอยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว บริโภคอาหารเช่นนี้ เหตุไรจึงมีผิวพรรณผ่องใส.

[๔๓๕] มหาบพิตร อาตมภาพนอนผู้เดียวบนเครื่องลาดใบไม้ที่ปูลาดไว้ เพราะการนอนผู้เดียวนั้น

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 13

ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส กองรักษาทางราชการที่ผูกเหน็บดาบของอาตมภาพไม่มี เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ตามเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ปรารถนาถึงอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส คนพาลทั้งหลายย่อมเหี่ยวแห้งเพราะเหตุ ๒ อย่างนั้น คือเพราะปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง เพราะตามเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ดุจไม้อ้อที่ยังเขียวสด ถูกถอนทิ้งไว้ที่แดด ฉะนั้น.

[๔๓๖] ลูกรัก ดีฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลราบ และกองพลผูกเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศอันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ และขอมอบนางสนมกำนัลใน ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ พร้อมสรรพแก่พ่อ พ่อจงปฏิบัติในนางเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดีฉันทั้งหลาย สตรี ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษามาดีแล้ว จักทำให้ลูกรื่นรมย์ในกาม พ่อจะทำอะไรในป่า ดีฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่นที่ตกแต่งแล้วมาเพื่อพ่อ พ่อจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากๆ แล้วจึงผนวชต่อภายหลัง พ่อยังเยาว์เป็นหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ใน

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 14

ปฐมวัย มีเกศาดำสนิท จงครองราชสมบัติเถิด ขอพ่อจงเจริญ จักทำอะไรในป่า.

[๔๓๗] คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม การบรรพชาควรเป็นของคนหนุ่ม ข้อนั้นท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลายสรรเสริญแล้ว คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของท่านทั้งหลาย เรียกมารดาบิดาซึ่งเป็นบุตรที่รัก อันได้มาโดยยาก ยังไม่ทันแก่ก็ตายเสียแล้ว อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นเด็กหญิงที่สวยงามน่าชม สิ้นชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ยังอ่อนที่ถูกถอนฉะนั้น จริงอยู่ นรชนจะเป็นชายหนุ่มหรือหญิงสาวก็ตาม ตายทั้งนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตว่า เรายังหนุ่มอยู่ อายุของคนเรา เป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้ สัตวโลกถูกครอบงำ และถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพ ในราชสมบัติทำไม.

[๔๓๘] สัตวโลกถูกอะไรครอบงำไว้ และถูกอะไรห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเป็นไปอยู่ ดีฉันถามแล้ว พ่อจงบอกข้อนั้นแก่ดีฉัน.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 15

[๔๓๙] สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความแก่ห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ คืนวัน เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอ ก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับไปสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น.

[๔๔๐] ลูกรัก ดีฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลราบ และกองพลผูกเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศ อันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ และขอมอบนางสนมกำนัลในผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพแก่พ่อ พ่อจงปฏิบัติในนางเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดีฉันทั้งหลาย สตรี ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษามาดีแล้ว จักทำให้ลูกรื่นรมย์ในกาม พ่อจักทำอะไรในป่า ดีฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ที่ตกแต่งแล้วมาเพื่อพ่อ พ่อจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากๆ แล้ว จึงผนวชต่อภายหลัง ลูกรัก ดีฉันขอให้ฉางหลวง

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 16

พระคลัง พาหนะ และกองพลทั้งหลาย ตลอดถึงพระราชนิเวศอันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ พ่อจงแวดล้อมด้วยราชกัญญาอันงดงามเป็นปริมณฑล มีหมู่บริจาริกานารีห้อมล้อม จงครองราชสมบัติเถิด ขอพ่อจงเจริญ จักทำอะไรในป่า.

[๔๔๑] มหาบพิตรจะให้อาตมภาพ เสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจะตายเพราะภริยาทำไม ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องแก่ ทำไมจะต้องให้ชราครอบงำ ในโลกสันนิวาสซึ่งมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จะเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภริยาแก่อาตมภาพ มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก มัจจุราชย่อมไม่ประมาทในอาตมภาพผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลเมื่อถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว จะยินดีไปทำไม จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมเกิดภัยแต่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว ย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น ชนเป็นอันมาก เห็นกันอยู่ในเวลาเช้า บางพวกพอตกเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น บาง

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 17

พวกพอถึงเวลาเช้าก็ไม่ได้เห็นกัน ภูมิประเทศที่ตั้งกองช้าง กองรถ กองราบ ย่อมไม่มีในสงคราม คือมรณะนั้น ไม่อาจจะต่อสู้เอาชัยชนะต่อมฤตยู ด้วยเวทมนต์ หรือยุทธวิธี หรือสินทรัพย์ได้ มฤตยูมิได้เว้นกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว ควรรีบทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะพึงรู้ว่าตายพรุ่งนี้ เพราะความผัดผ่อนกับมัจจุราช ผู้มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ของถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับไปเถิด อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ.

จบเตมิยชาดกที่ ๑

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 18

อรรถกถามหานิบาต

เตมิยชาดก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภมหาภิเนกขัมมบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ว่า มา ปณฺฑิจฺจยํ วิภาวย ดังนี้เป็นต้น.

ความพิสดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันอยู่ในโรงธรรมสภา พรรณนามหาภิเนกขัมมบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นด้วยทิพโสต เสด็จออกจากพระคันธกุฎีมายังโรงธรรมสภา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายประชุมเจรจากันถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามีบารมีเต็มแล้ว ทิ้งราชสมบัติออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย เมื่อก่อน ญาณยังไม่แก่กล้า เรากำลังบำเพ็ญบารมีอยู่ ได้ทิ้งราชสมบัติออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่นั้นจึงน่าอัศจรรย์ ตรัสดังนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพอยู่ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงเล่าเรื่อง จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่า กาสิกราช ครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอ ในกรุงพาราณสี พระองค์มีสนมนารีประมาณหนึ่งหมื่นหกพันคน บรรดาสนมนารีเหล่านั้น แม้สักคนหนึ่งก็ไม่มีโอรสหรือธิดาเลย กาลนั้นชาวพระนครกล่าวกันว่า พระราชาของพวกเราไม่มีพระโอรสแม้องค์หนึ่งที่จะสืบพระวงศ์ จึงประชุมกันที่พระลานหลวง โดยนัยอันมาแล้วในกุสราชชาดกนั่นแล กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอ

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 19

พระองค์จงทรงปรารถนาพระโอรสเถิด พระราชาทรงสดับคำแห่งชาวเมืองนั้นแล้ว ตรัสเรียกสนมนารีหนึ่งหมื่นหกพันมาในขณะนั้น แล้วมีพระราชดำรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงปรารถนาบุตร สนมนารีเหล่านั้นทำกิจเป็นต้นว่า วิงวอนและบำรุงเทวดาทั้งหลายมีพระจันทร์เป็นต้น แม้ปรารถนาก็หาได้โอรสหรือธิดาไม่.

ฝ่ายอัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช ผู้เป็นพระธิดาแห่งพระเจ้ามัททราช พระนามว่าจันทาเทวี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสีลาจารวัตร พระราชามีพระราชดำรัสสั่งว่า แน่ะนางผู้เจริญ แม้เธอก็จงปรารถนาพระโอรส พระเทวีได้สดับพระราชดำรัสของพระราชสวามีแล้ว ทรงทูลรับว่า สาธุ แล้วจึงสมาทานอุโบสถในวันเพ็ญ เปลื้องสรรพาภรณ์ บรรทมเหนือพระยี่ภู่น้อย ทรงอาวัชนาการถึงศีลของพระองค์ ได้ทรงกระทำสัจจกิริยาว่า ถ้าข้าพเจ้ารักษาศีลไม่ขาด ขอบุตรของข้าพเจ้าจงเกิดขึ้นด้วยสัจจวาจานี้.

ด้วยเดชานุภาพแห่งศีลของพระนางจันทาเทวีนั้น ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชแสดงอาการร้อน ท้าวสักกะเมื่อทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้นว่า พระนางจันทาเทวีปรารถนาโอรส ตกลงเราจักให้โอรสแก่พระนางนั้น ทรงพิจารณาถึงโอรสที่สมควรแก่พระนาง ก็ทรงเห็นพระโพธิสัตว์ กาลนั้น พระโพธิสัตว์ครองราชสมบัติอยู่ ในกรุงพาราณสีได้ยี่สิบปี เคลื่อนจากมนุษยโลกนั้น บังเกิดในอุสสุทนรก เสวยทุกข์อยู่ในนรกนั้นแปดหมื่นปี เคลื่อนจากนรกน้ัน บังเกิดในพิภพดาวดึงส์ ตั้งอยู่ในดาวดึงส์นั้นตลอดอายุ เคลื่อนจากดาวดึงส์นั้น ประสงค์จักไปเทวโลกชั้นสูง ครั้งนั้นท้าวสักกะเสด็จไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์ ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อท่านเกิดในมนุษยโลก บารมีทั้งหลายของท่านจักเต็มเปี่ยม ความเจริญจักมี

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 20

แก่ท่าน และแก่พระชนกชนนีของท่าน ด้วยว่าพระอัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช พระนามว่า จันทาเทวี ปรารถนาโอรส ท่านจงอุบัติในพระครรภ์ของพระนางนั้น แล้วท้าวสักกะถือเอาซึ่งปฏิญญาแก่พระโพธิสัตว์นั้น และแก่เทวบุตรทั้งหลาย ประมาณ ๕๐๐ องค์ผู้จักจุติ แล้วเสด็จกลับไปยังที่ประทับของพระองค์ทีเดียว พระโพธิสัตว์นั้นรับคำว่า สาธุ แล้วจุติพร้อมกับเทวบุตร ๕๐๐ องค์ พระองค์เองถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี ส่วนเทวบุตรประมาณ ๕๐๐ องค์นอกนี้ ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภริยาอมาตย์ทั้งหลาย กาลนั้น พระครรภ์ของพระนางจันทาเทวีเป็นประมาณหนึ่งเต็มไปด้วยแก้ววิเชียร พระนางทรงทราบว่าตั้งครรภ์ จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงทราบดังนั้น จึงได้พระราชทานครรภ์บริหารแก่พระนาง พระนางมีพระครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็ประสูติพระโอรสซึ่งสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม ภรรยาอมาตย์ทั้งหลายก็คลอดกุมาร ๕๐๐ ในเรือนอมาตย์ในวันนั้นเหมือนกัน ขณะนั้น พระราชาประทับอยู่ในที่เสด็จออกแวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ราชบริพาร ลำดับนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้วพระเจ้าข้า พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ทรงมีความรักในพระโอรสเป็นครั้งแรกเกิดขึ้น ตัดพระฉวีจดพระอัฐิมิญชะดำรงอยู่ เกิดพระปีติซาบซ่านภายในพระกมล แม้หทัยของอมาตย์ราชบริพารทั้งหลายก็เกิดเยือกเย็นทั่วกัน พระราชาตรัสถามเหล่าอมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายดีใจหรือ เมื่อลูกชายของเราเกิด อมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า พระองค์ตรัสถามไยพระเจ้าข้า เมื่อก่อนข้าพระองค์ไร้ที่พึ่ง บัดนี้พวกข้าพระองค์มีที่พึ่ง ได้เจ้านายแล้ว พระเจ้ากาสิราชได้ทรงสดับคำของเหล่าอมาตย์ก็เกิดพระปีติปลื้มพระทัย จึงตรัสเรียกมหาเสนาบดีมาตรัสสั่งว่า ท่านมหาเสนาบดีผู้เจริญ ลูกชายของฉันควรจะได้บริวาร ท่านจงไป

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 21

ตรวจดูว่า ในเรือนอมาตย์มีทารกเกิดในวันนี้เท่านี้ มหาเสนาบดีรับพระราชบัญชาแล้ว ไปตรวจดูเห็นทารกในเรือนอมาตย์ ๕๐๐ คน จึงกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาได้ทรงสดับคำของอมาตย์เหล่านั้นก็เกิดพระปีติ จึงมีรับสั่งให้พระราชทานเครื่องประดับสำหรับกุมาร แก่ทารกทั้ง ๕๐๐ คน และให้พระราชทานนางนม ๕๐๐ คน แต่สำหรับพระมหาสัตว์ พระราชาพระราชทานนางนม ๖๔ นาง ล้วนแต่เป็นนางนมผู้เว้นโทษมีสูงนักเป็นต้น นมไม่ยาน น้ำนมมีรสหวาน เว้นนางนมที่มีโทษเช่นนั้น เพราะเหตุไร เพราะเมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีที่สูงนัก คอทารกจักยืดยาวเกินไป เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีเตี้ยนัก กระดูกคอทารกจักหดสั้น เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีผอมนัก ขาทั้งสองของทารกจักเสียดสีกัน เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีอ้วนนัก เท้าทั้งสองของทารกจักเพลีย สตรีมีผิวดำนัก น้ำนมเย็นเกินไป สตรีมีผิวขาวนัก น้ำนมร้อนเกินไป เมื่อทารกดื่มนมของสตรีนมยาน จมูกจักแฟบ สตรีเป็นโรคหืด มีน้ำนมเปรี้ยวนัก สตรีเป็นโรคมองคร่อ น้ำนมจักมีรสวิการต่างๆ มีเผ็ดจัดเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระเจ้ากาสิกราชทรงเว้นโทษทั้งปวงเหล่านั้น พระราชทานนางนม ๖๔ คน ที่เว้นจากโทษมีสูงนักเป็นต้น นมไม่ยาน น้ำนมมีรสหวาน ทรงทำสักการะใหญ่ได้พระราชทานพร แม้แก่พระนางจันทาเทวี พระนางรับพระพรแล้วถวายคืนไว้ก่อน ในวันขนานพระนามพระโพธิสัตว์ พระเจ้ากาสิกราชทรงทำสักการะเป็นอันมากแก่เหล่าพราหมณ์ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์ แล้วตรัสถามถึงอันตรายของพระมหาสัตว์ พราหมณ์ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์เหล่านั้น เห็นพระลักษณสมบัติแห่งพระโพธิสัตว์ จึงกราบทูลว่า พระโอรสของพระองค์สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งเลย พระโอรสของพระองค์ทรงสามารถครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร (จักรพรรดิ) อันตรายอะไรๆ จะไม่ปรากฏแก่

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 22

พระโอรสเลย พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของพราหมณ์เหล่านั้น ก็ดีพระหฤทัย เมื่อทรงขนานพระนามพระกุมาร ได้ทรงขนานพระนามว่า เตมิยกุมาร เพราะเหตุในวันที่พระกุมารประสูติ ฝนตกทั่วกาสิกรัฐ และเพราะพระกุมารประสูติ เป็นเหมือนยังพระหฤทัยแห่งพระราชาและหัวใจแห่งหมู่อมาตย์และมหาชนให้ชุ่มชื่น ลำดับนั้น นางนมทั้งหลายยังพระโพธิสัตว์ผู้มีพระชนม์ได้หนึ่งเดือน ให้สนานประดับองค์แล้วนำขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปิโยรส ทรงสวมกอดจุมพิตที่พระเศียรแล้วให้ประทับบนพระเพลา ประทับนั่งรื่นรมย์อยู่ด้วยพระกุมาร ขณะนั้น พวกราชบุรุษนำโจร ๔ คนมาหน้าที่นั่ง พระราชาทอดพระเนตรเห็นโจรเหล่านั้นแล้ว มีพระราชดำรัสสั่งให้ลงพระอาญาโจรเหล่านั้น ให้เอาหวายทั้งหนามเฆี่ยนโจรคนหนึ่ง ๑,๐๐๐ ที ให้จำโจรคนหนึ่งด้วยโซ่ตรวนแล้วส่งเข้าเรือนจำ ให้เอาหอกแทงที่สรีระของโจรคนหนึ่ง ให้เอาหลาวเสียบโจรคนหนึ่ง.

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ได้ทรงฟังพระดำรัสของพระบิดา ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ทรงจินตนาการว่า โอ พระชนกของเราอาศัยราชสมบัติทำกรรมอันหนักเกิน ซึ่งจะไปสู่นรกวันรุ่งขึ้น พระพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายให้พระมหาสัตว์บรรทมเหนือพระแท่นที่สิริไสยาสน์ ซึ่งตกแต่งแล้วภายใต้เศวตฉัตร พระโพธิสัตว์บรรทมหน่อยหนึ่ง ตื่นบรรทมลืมพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเนตรเศวตฉัตรเห็นสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ ลำดับนั้น ความกลัวอย่างเหลือเกินได้เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์ ผู้ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งอยู่เป็นปกติแล้ว พระองค์ทรงดำริว่า เราจากที่ไหนมาสู่พระราชมณเฑียรนี้ เมื่อทรงใคร่ครวญดูก็ทรงทราบโดยทรงระลึกชาติได้ว่า มาจากเทวโลก เมื่อทรงทอดพระเนตรต่อจากนั้นไปอีก ก็ทอดพระเนตรเห็นว่าไปไหม้อยู่ในอุสสุทนรก เมื่อทรงทอดพระเนตรต่อจากนั้น

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 23

ไปอีก ก็ทรงทราบว่า พระองค์เป็นพระราชาในพระนครนั้นเทียว เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาอยู่ว่า เราได้ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ๒๐ ปี แล้วไหม้อยู่ในอุสสุทนรก ๘๐,๐๐๐ ปี บัดนี้เราเกิดในเรือนหลวงดุจเรือนโจรนี้อีก เมื่อวานนี้ เมื่อเขานำโจร ๔ คนมา พระบิดาของเราได้กล่าวผรุสวาจาเช่นนั้นซึ่งเป็นเหตุให้ตกนรก หากว่าเราครองราชสมบัติ ก็จักบังเกิดในนรก เสวยทุกข์ใหญ่อีก ดังนี้ ได้เกิดความกลัวเป็นอันมาก พระสรีระซึ่งมีวรรณะดุจทองของพระโพธิสัตว์ ได้เหี่ยวมีวรรณะเศร้าหมอง ราวกะว่าดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ฉะนั้น พระองค์บรรทมจินตนาการอยู่ว่า ทำอย่างไร เราจึงจะพ้นจากพระราชมณเฑียร ซึ่งดุจเรือนโจรนี้เสียได้.

คราวนั้น เทพธิดาผู้สิงอยู่ที่เศวตฉัตร เคยเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ในอัตภาพในระหว่างอัตภาพหนึ่ง ปลอบพระโพธิสัตว์ให้สบายพระทัยแล้วกล่าวว่า พ่อเตมิยกุมาร พ่ออย่าเศร้าโศก อย่าคิด อย่ากลัวเลย ถ้าพ่อประสงค์จะพ้นจากพระราชมณเฑียรนี้ พ่อไม่เป็นคนง่อยเปลี้ยเลย ก็จงเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย พ่อไม่เป็นคนหนวก ก็จงเป็นเหมือนคนหนวก พ่อไม่เป็นคนใบ้ ก็จงเป็นเหมือนคนใบ้เถิด พ่อจงอธิษฐานองค์สามเหล่านี้อย่างนี้แล้ว อย่าประกาศความที่พ่อเป็นคนฉลาด เทพธิดากล่าวแล้วจึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า

พ่ออย่าแสดงว่าเป็นคนฉลาด จงให้ชนทั้งปวงรู้กันว่าพ่อเป็นคนโง่ ชนในที่นั้นทั้งหมดจะได้ดูหมิ่นพ่อว่าเป็นคนกาลกรรณี ความปรารถนาของพ่อจักสำเร็จได้ด้วยอุบายอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา ปณฺฑิจฺจยํ ความว่า จงอย่าประกาศความเป็นบัณฑิตของตน อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า ปณฺฑิจฺจํ ความก็

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 24

อย่างนี้แหละ. บทว่า พาลมโต แปลว่า รู้กันว่าเป็นคนโง่. บทว่า สพฺพปาณินํ ได้แก่ อันเหล่าสัตว์ทั้งปวง คือ ชนทั้งหลาย. บทว่า สพฺโพ ตฺชโน ได้แก่ ทั้งชนภายในทั้งชนภายนอกทั้งสิ้น. บทว่า โอจินายตุ ได้แก่ จงเข้าใจต่ำ คือจงดูหมิ่นว่า พวกท่านจงนำคนกาลกรรณีนั่นออกไป.

พระโพธิสัตว์กลับได้ความอุ่นพระหฤทัย เพราะคำของเทพธิดานั้น จึงกล่าวคาถาที่สองว่า

ดูก่อนเทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ที่ท่านกล่าวกะข้าพเจ้า ข้าแต่แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ใคร่เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า.

ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว พระโพธิสัตว์ได้อธิษฐานองค์สามเหล่านั้น เทพธิดานั้นก็อันตรธานหายไป.

ลำดับนั้น พระเจ้ากาสิกราชมีพระดำริว่า ลูกควรจะได้กุมาร ๕๐๐ เหล่านั้นเป็นบริวารเพื่อเป็นที่พอใจ จึงรับสั่งให้กุมารทั้ง ๕๐๐ เหล่านั้นนั่งอยู่ในสำนักของพระโพธิสัตว์ ทารกเหล่านั้นร้องไห้อยากดื่มน้ำนม ส่วนพระมหาสัตว์ถูกความกลัวนรกคุกคาม ทรงดำริว่า จำเดิมแต่วันนี้ กายของเราแม้เหือดแห้งตายเสียเลย ยังประเสริฐกว่า ดำริดังนี้จึงไม่ทรงกันแสง นางนมทั้งหลายกราบทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระนางจันทาเทวี พระนางก็กราบทูลแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้เรียกเหล่าพราหมณ์ผู้รู้ทำนายนิมิตมาตรัสถาม พราหมณ์ทั้งหลายได้กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ นางนมควรจะถวายน้ำนมแด่พระกุมาร ให้ล่วงเวลาตามปกติ เมื่อทำอย่างนี้ พระกุมารจะทรงกันแสง จับนมมั่นเสวยเองทีเดียว ตั้งแต่นั้น นางนมทั้งหลายเมื่อถวายก็ถวายน้ำนมแด่พระโพธิสัตว์ ล่วงเวลาตามปกติ บางคราวถวายล่วงเวลาวาระหนึ่ง บางคราวไม่ถวายน้ำนมตลอดทั้งวัน พระโพธิสัตว์ถูกความกลัวนรกคุกคาม แม้พระกาย

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 25

เหี่ยวแห้ง ก็ไม่ทรงกันแสงอยากเสวยนม ลำดับนั้น พระนางจันทาเทวีเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ทรงกันแสง ก็ทรงพระดำริว่า ลูกเราหิว จึงให้ดื่มน้ำพระถันของพระนางเอง บางคราวนางนมทั้งหลายให้ดื่มน้ำนม เหล่าทารกที่เหลือต่างร้องไห้ ไม่นอนในเวลาไม่ได้ดื่มน้ำนม พระโพธิสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่บรรทม ไม่คู้พระหัตถ์และพระบาท ไม่เปล่งพระวาจา ครั้งนั้น นางนมทั้งหลายคิดกันว่า ธรรมดามือและเท้าของคนง่อยเปลี้ยไม่เป็นอย่างนี้ ปลายคางของคนใบ้ไม่เป็นอย่างนี้ ช่องหูของคนหนวกก็ไม่เป็นอย่างนี้ จะต้องมีเหตุในพระกุมารนี้ พวกเราจักทดลองพระกุมาร จึงไม่ถวายน้ำนมแด่พระโพธิสัตว์นั้นตลอดทั้งวัน ด้วยประสงค์ว่า จักทดลองพระกุมารด้วยเรื่องนมก่อน พระโพธิสัตว์แม้เหี่ยวแห้งก็ไม่ทรงกันแสงอยากเสวยนม ครั้งนั้นพระชนนีของพระโพธิสัตว์ตรัสสั่งให้นางนมถวายนม ด้วยพระราชเสาวนีย์ว่า ลูกฉันหิว จงให้น้ำนมแก่เขา นางนมเหล่านั้นแม้ทดลองไม่ถวายน้ำนมในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์ ลำดับนั้น หมู่อมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกอายุขวบหนึ่งชอบกินขนมและของเคี้ยว พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยขนมและของเคี้ยว กราบทูลดังนี้แล้วให้กุมารทั้ง ๕๐๐ คนเหล่านั้นนั่งใกล้ๆ พระราชกุมาร นำขนมและของเคี้ยวต่างๆ เข้าไปวางไว้ใกล้ๆ พระมหาสัตว์ กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาขนมและของเคี้ยวเหล่านั้นตามชอบใจ แล้วพากันยืนแอบดูอยู่ พวกทารกที่เหลือทะเลาะยื้อแย่งกันและกัน ถือเอาขนมและของเคี้ยวมาเคี้ยวกิน ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงโอวาทพระองค์ว่า แน่ะพ่อเตมิยกุมาร ถ้าเจ้าประสงค์นรก ก็จงประสงค์ขนมและของเคี้ยว เป็นผู้กลัวภัยในนรก จึงไม่ทอดพระเนตรดูขนมและของเคี้ยวเลย แม้ทดลองด้วยขนมและของเคี้ยวในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 26

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกสองขวบชอบผลไม้น้อยใหญ่ พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยผลไม้ กราบทูลดังนี้แล้ว นำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆ เข้าไปวางไว้ใกล้ๆ พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาผลไม้น้อยใหญ่เหล่านั้นตามชอบใจเถิด แล้วพากันยืนแอบดูอยู่ เหล่าทารกที่เหลือต่างต่อสู้ทุบตีกันและกัน ถือเอาผลไม้เหล่านั้นเคี้ยวกินอยู่ ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็โอวาทพระองค์ว่า แน่ะพ่อเตมิยกุมาร ถ้าเจ้าประสงค์นรก ก็จงประสงค์ผลไม้น้อยใหญ่ทั้งหลาย เป็นผู้ถูกภัยในนรกคุกคาม ไม่ทอดพระเนตรดูผลไม้น้อยใหญ่เลย แม้ทดลองด้วยผลไม้น้อยใหญ่ในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกสามขวบชอบของเล่น พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยของเล่น กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้ทำรูปช้างเป็นต้นสำเร็จด้วยทองเป็นต้น วางไว้ใกล้ๆ พระโพธิสัตว์ เหล่าทารกที่เหลือต่างแย่งกันและกันถือเอา ฝ่ายพระมหาสัตว์ไม่ทรงทอดพระเนตรดูอะไรๆ เลย แม้ทดลองด้วยของเล่นในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาหนึ่งปี ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกสี่ขวบชอบโภชนาหาร พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยโภชนาหาร กราบทูลดังนี้แล้ว จึงน้อมโภชนาหารต่างๆ เข้าถวายพระมหาสัตว์ แม้เหล่าทารกที่เหลือต่างก็ทำเป็นคำๆ บริโภค ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงโอวาทพระองค์ว่า แน่ะพ่อเตมิยกุมาร อัตภาพของเจ้าที่ไม่ได้โภชนะบริโภคนับไม่ถ้วน ทรงกลัวภัยนรก มิได้ทอดพระเนตรดูโภชนาหารนั้น ลำดับนั้น พระชนนีของ

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 27

พระโพธิสัตว์ เป็นผู้เหมือนมีพระหฤทัยแตกทำลาย ให้พระโอรสเสวยโภชนาหารด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แม้ทดลองด้วยโภชนาหารในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ธรรมดาทารกห้าขวบย่อมกลัวไฟ พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยไฟ กราบทูลดังนี้แล้ว ให้ทำเรือนใหญ่มีหลายประตู ที่พระลานหลวง มุงด้วยใบตาล ให้พระมหาสัตว์ซึ่งแวดล้อมด้วยเหล่าทารกที่เหลือ นั่งท่ามกลางทารกเหล่านั้นแล้วจุดไฟ เหล่าทารกที่เหลือเห็นเรือนไฟลุกโพลง ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ต่างร้องลั่นวิ่งหนีไป ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ความร้อนแห่งเพลิงนี้ ยังดีกว่าไหม้ด้วยไฟนรก พระมหาสัตว์มิได้มีความหวั่นไหวเลย เหมือนพระมหาเถระผู้เข้านิโรธสมาบัติ ครั้นเมื่อเพลิงลุกลามมา อมาตย์ทั้งหลายก็อุ้มพระโพธิสัตว์ออกไป แม้ทดลองด้วยไฟในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกหกขวบย่อมกลัวช้างตกมัน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยช้างตกมัน กราบทูลดังนี้แล้ว ให้ฝึกช้างเชือกหนึ่งซึ่งฝึกอย่างดี ให้พระโพธิสัตว์ซึ่งแวดล้อมด้วยเหล่าทารกที่เหลือ ประทับนั่ง ณ พระลานหลวง แล้วปล่อยช้าง ช้างนั้นบันลือเสียงโกญจนาท เอางวงตีพื้นดินสำแดงภัยมา เหล่าทารกที่เหลือเห็นช้างตกมันก็กลัวมรณภัย จึงวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง ฝ่ายพระมหาสัตว์เห็นช้างตกมันนั้นมา ทรงคิดว่า เราตายเสียที่งาช้างตกมันตัวดุร้าย ยังประเสริฐกว่าไหม้ในนรกอันร้ายกาจ พระมหาสัตว์ถูกภัยนรกคุกคาม ประทับนั่งตรงนั้นเองไม่หวั่นไหวเลย ลำดับนั้น ช้างที่ฝึกดีแล้วนั้นแล่นเข้ามาจับพระมหาสัตว์ เหมือนจับกำดอกไม้ วิ่งไปวิ่งมาทำให้พระมหาสัตว์ลำบากยิ่ง

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 28

มหาชนรับพระมหาสัตว์จากงวงช้างแล้วนำออกไป แม้ทดลองด้วยช้างตกมันในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลยพระเจ้าข้า ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกเจ็ดขวบย่อมกลัวงู พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยงู กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้พระมหาสัตว์กับเหล่าทารกที่เหลือนั่งที่พระลานหลวง ปล่อยงูทั้งหลายซึ่งถอนเขี้ยวแล้ว เย็บปากแล้ว ในกาลที่พระโพธิสัตว์ประทับนั่งแวดล้อมไปด้วยเหล่าทารกที่เหลือ ทารกที่เหลือทั้งหลายเห็นงูดุร้ายเหล่านั้น ก็ร้องลั่นวิ่งหนีไป ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรก ทรงดำริว่าความพินาศไปในปากของงูดุร้าย ยังดีกว่าตายในนรกอันร้ายกาจ ดังนี้แล้วจึงทรงนิ่งเฉยเหมือนเข้านิโรธสมาบัติ คราวนั้นงูทั้งหลายก็เลื้อยมารัดพระสกลกายของพระมหาสัตว์ แผ่พังพานอยู่บนพระเศียรของพระมหาสัตว์ แม้ในกาลนั้น พระมหาสัตว์ก็มิได้หวั่นไหวเลย แม้ทดลองด้วยงูในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกแปดขวบย่อมชอบมหรสพฟ้อนรำ พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยมหรสพฟ้อนรำ กราบทูลดังนี้แล้ว ให้พระกุมารประทับนั่ง ณ พระลานหลวง

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 29

กับทารก ๕๐๐ คน แล้วให้แสดงมหรสพฟ้อนรำ เหล่าทารกที่เหลือเห็นมหรสพฟ้อนรำแล้ว ต่างกล่าวว่า ดี ดี พากันหัวเราะเฮฮา ส่วนพระมหาสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรกว่า ในเวลาที่เราบังเกิดในนรก ความรื่นเริงหรือโสมนัสไม่มีแม้ชั่วขณะหนึ่ง จึงนิ่งเฉยมิได้ทอดพระเนตรดูอะไรๆ นั้นเลย แม้ทดลองด้วยมหรสพฟ้อนรำในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลยพระเจ้าข้า ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกเก้าขวบย่อมกลัวศัสตรา พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยศัสตรา จึงให้พระมหาสัตว์ประทับนั่ง ณ พระลานหลวงกับทารก ๕๐๐ คน ในเวลาที่ทารก ๕๐๐ คนกำลังเล่นกันอยู่ บุรุษผู้หนึ่งถือดาบมีสีดังแก้วผลึก กวัดแกว่ง บันลือ โห่ร้อง โลดเต้น ปรบมือ ยักเยื้องท่าทาง ขู่ตวาดว่า ได้ยินว่าราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ากาสิกราช เป็นกาลกรรณี เขาอยู่ไหน เราจักเอาดาบตัดศีรษะเขา วิ่งกล่าวอยู่ดังนี้ เหล่าทารกที่เหลือเห็นดังนั้น ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ร้องลั่นวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง ส่วนพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรก ทรงเห็นว่าพินาศเสียในคมดาบอันร้ายกาจ ยังดีกว่าตายในอุสสุทนรก ดังนี้ ประทับนั่งเหมือนไม่ทรงทราบ ลำดับนั้น บุรุษนั้นเอาดาบจดลงที่ศีรษะ แล้วกล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า เราจักตัดศีรษะท่าน แม้ทำให้พระมหาสัตว์สะดุ้ง ก็ไม่สามารถจะให้สะดุ้งได้ จึงหลีกไป แม้ทดลองด้วยดาบในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสถาม พวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมาร

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 30

ไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลยพระเจ้าข้า ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบขวบย่อมกลัวเสียง ควรจะใช้เสียงทดลองพระกุมารว่าหนวกหรือไม่ กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้แวดวงที่บรรทมด้วยม่าน ทำช่องไว้สี่ข้าง ให้คนเป่าสังข์นั่งอยู่ใต้ที่บรรทม ไม่ให้พระโพธิสัตว์เห็นตัว ให้เป่าสังข์ขึ้นพร้อมกัน ได้มีเสียงกังวานพร้อมกัน นางนมทั้งหลายให้พระมหาสัตว์บรรทมเหนือที่บรรทม อมาตย์ ๔ คน ยืนอยู่ที่ข้างทั้ง ๔ แลดูอิริยาบถของพระมหาสัตว์ตามช่องม่าน มิได้เห็นวิการแห่งพระหัตถ์พระบาท หรือเพียงกระดิกไหว อันเผลอพระสติของพระมหาสัตว์ แม้วันหนึ่ง พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลยพระเจ้าข้า ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร แม้ทดลองด้วยเป่าสังข์ในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์เลย.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบเอ็ดขวบย่อมกลัวเสียงกลอง ควรจะทดลองพระกุมารด้วยเสียงกลอง (เมื่อล่วงไปหนึ่งปี) อมาตย์ทั้งหลายแม้ทดลองด้วยเสียงกลองในระหว่างๆ อย่างนั้นแลเป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบสองขวบย่อมกลัวประทีป พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยประทีป กราบทูลดังนี้แล้ว ให้พระโพธิสัตว์บรรทมในที่มืดเวลาราตรี คิดว่า พระกุมารจะยังพระหัตถ์หรือพระบาทให้ไหวหรือไม่หนอ ทำประทีปให้ลุกโพลงในหม้อทั้งหลาย ให้ดับประทีปอื่นๆ เสีย ให้พระโพธิสัตว์บรรทมหน่อยหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 31

ในที่มืด แล้วยกหม้อประทีปน้ำมันทั้งหลายขึ้น ทำให้สว่างพร้อมกันทีเดียว พิจารณาดูอิริยาบถของพระโพธิสัตว์ ก็มิได้เห็นแม้สักว่าความไหวพระกายของพระมหาสัตว์ แม้ทดลองด้วยประทีปในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นแม้เพียงความไหวอะไรๆ ของพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบสามขวบย่อมกลัวแมลงวัน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยน้ำอ้อย กราบทูลดังนี้แล้ว จึงเอาน้ำอ้อยทาทั่วพระสรีระพระโพธิสัตว์ แล้วให้บรรทมในสถานที่มีแมลงวันชุกชุม เลี้ยงบำรุงแมลงวันทั้งหลาย แมลงวันเหล่านั้นก็ตอมพระสรีระทั้งสิ้นแห่งพระโพธิสัตว์ กินน้ำอ้อยดุจแทงด้วยเข็มเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เราตายในปากแมลงวันทั้งหลายดีกว่าตายในนรกอเวจี จึงอดกลั้นทุกขเวทนา ไม่หวั่นไหวเลย ดุจพระมหาเถระเข้านิโรธสมาบัติ แม้ทดลองด้วยน้ำอ้อยในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นแม้เพียงความไหวอะไรๆ ของพระโพธิสัตว์ พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ เมื่อเวลาทารกมีอายุได้สิบสี่ขวบก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว บัดนี้พระกุมารนี้เป็นผู้ใหญ่ ใคร่ของสะอาดรังเกียจของโสโครก พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยของโสโครก กราบทูลดังนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ไม่สรงสนานพระโพธิสัตว์ ไม่จัดให้ลงบังคน ไม่ช่วยให้ลุกจากที่บรรทม พระโพธิสัตว์ก็ลงบังคนหนักเบาบรรทมเกลือกกลั้วอยู่ในที่นั้นนั่นเอง ก็เพราะกลิ่นเหม็น กาลนั้นได้เป็นเสมือนกาลสำแดงพระ

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 32

อัธยาศัยภายในแห่งพระโพธิสัตว์ออกมาภายนอก แมลงวันทั้งหลายก็มาตอมกินอยู่ที่พระสรีระของพระโพธิสัตว์ คราวนั้น พระชนกพระชนนีประทับนั่งล้อมพระโพธิสัตว์ ตรัสอย่างนี้ว่า พ่อเตมิยกุมาร บัดนี้พ่อก็โตแล้ว ใครเขาจะประคับประคองพ่อเสมอไป พ่อไม่ละอายหรือ พ่อนอนอยู่ทำไม ลุกขึ้นชำระร่างกายซิ แล้วตรัสตัดพ้อบริภาษ พระโพธิสัตว์ แม้จมอยู่ในกองคูถซึ่งปฏิกูลอย่างนั้น ก็ทรงวางพระอารมณ์เป็นกลาง เพราะทรงพิจารณาเห็นความมีกลิ่นเหม็นของคูถนรก ซึ่งสามารถฟุ้งตลบขึ้นในใจของผู้ที่แม้ยืนอยู่ในที่สุดของร้อยโยชน์ เพราะมีกลิ่นเหม็น แม้ทดลองด้วยของโสโครกในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบห้าขวบย่อมกลัวความร้อน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยถ่านเพลิง ลำดับนั้น อมาตย์ทั้งหลายได้วางกระเบื้องเต็มด้วยไฟไว้ใต้พระแท่นของพระโพธิสัตว์ ด้วยคิดว่า อย่างไรเสีย พระกุมารถูกความร้อนเบียดเบียน เสวยทุกขเวทนา เมื่ออดกลั้นทุกขเวทนาไม่ได้ ก็พึงแสดงความกระดิกไหวพระหัตถ์หรือพระบาทบ้าง นางนมทั้งหลายให้พระมหาสัตว์บรรทมเหนือพระแท่นแล้วออกมาเสีย พระมหาสัตว์ถูกความร้อนเบียดเบียน เปลวไฟปรากฏเหมือนลุกโพลงทั่วพระสรีระของพระมหาสัตว์ แม้พระมหาสัตว์ก็ทรงโอวาทพระองค์เองว่า แน่ะพ่อเตมิยกุมาร ความร้อนในนรกอเวจีแผ่ไปตั้งร้อยโยชน์ ทำลายนัยน์ตาของบรรดาสัตว์ที่อยู่ในที่ร้อยโยชน์ได้ ความร้อนแห่งเพลิงนี้ยังดีกว่าความร้อนในนรกนั้น ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า ดังนี้แล้วทรงอดกลั้นความร้อนนั้นเสีย มิได้หวั่นไหวเลย เหมือนผู้เข้านิโรธสมาบัติ ลำดับนั้น พระชนกพระชนนีของพระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ถูก

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 33

ความทุกข์เบียดเบียน ก็เป็นเหมือนพระหฤทัยจักแตก จึงแหวกฝูงชนเข้าไปนำพระโพธิสัตว์ออกมาจากความร้อนของไฟนั้น แล้วตรัสวิงวอนพระโพธิสัตว์ว่า พ่อเตมิยกุมาร พวกเรารู้ว่ามิใช่คนง่อยคนเปลี้ยเป็นต้น เพราะคนพิการเหล่านั้นมิได้มี มือ เท้า ปาก และช่องหูอย่างนี้ พ่อเป็นบุตรที่พวกเราปรารถนาจึงได้ พ่ออย่าให้พวกเราฉิบหายเลย พ่อจงเปลื้องพวกเราจากครหาแต่สำนักพระราชาทั่วชมพูทวีปเถิด แม้พระชนกพระชนนีวิงวอนถึงอย่างนี้ พระโพธสัตว์ก็บรรทมนิ่ง เหมือนมิได้ทรงสดับพระวาจานั้น ลำดับนั้นพระชนกพระชนนีของพระโพธิสัตว์ก็ทรงกันแสงเสด็จหลีกไป บางคราวพระชนกของพระโพธิสัตว์แต่พระองค์เดียวเสด็จเข้าไปวิงวอนพระโพธิสัตว์ บางคราวก็พระชนนีแต่พระองค์เดียวเสด็จเข้าไปวิงวอนพระโพธิสัตว์ บางคราวทั้งสองพระองค์เสด็จเข้าไปวิงวอนด้วยกัน แม้ทดลองด้วยถ่านเพลิงในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.

ลำดับนั้น กาลเมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา หมู่อมาตย์และพราหมณ์เป็นต้น คิดกันว่า พระกุมารเป็นง่อยเปลี้ยก็ตาม เป็นใบ้ก็ตาม เป็นคนหนวกก็ตาม หรือไม่เป็นก็ตาม จงยกไว้ เมื่อวัยเปลี่ยนแปรไป บุคคลชื่อว่าไม่กำหนัดในอารมณ์ที่น่ากำหนัด ย่อมไม่มี ชื่อว่าไม่ดูในอารมณ์ที่น่าดู ย่อมไม่มี ชื่อว่าไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่ายินดี ย่อมไม่มี เมื่อถึงคราวแล้ว ความกำหนัดยินดีนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา เหมือนความแย้มบานของดอกไม้ฉะนั้น พวกเราจักให้เหล่านางสนมนักฟ้อนรำบำเรอพระกุมาร ทดลองพระกุมารด้วยนางสนมนักฟ้อนรำเหล่านั้น ลำดับนั้น พระเจ้ากาสิกราชมีรับสั่งให้เรียกหญิงฟ้อนรำ ทรงรูปอันอุดม สมบูรณ์ด้วยความงามดังเทพอัปสร ตรัสกะหญิงทั้งหลายว่า บรรดาเธอทั้งหลาย หญิงใดสามารถทำให้

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 34

พระกุมารร่าเริง หรือผูกพันไว้ด้วยอำนาจกิเลสได้ หญิงนั้นจักได้เป็นอัครมเหสีของพระกุมารนั้น นางนมทั้งหลายสรงสนานพระกุมารด้วยน้ำหอม ตกแต่งพระกุมารราวกะเทพบุตร ให้บรรทมบนพระที่สิริไสยาสน์ที่ตกแต่งไว้ดีแล้ว ในห้องมีสิริเช่นกับเทพวิมาน ทำให้เป็นที่ลุ่มหลงเพราะกลิ่นหอมอย่างเอกภายในห้อง ด้วยพวงของหอม พวงระเบียบดอกไม้ พวงบุปผชาติและจุรณ์แห่งธูปและเครื่องอบเป็นต้น แล้วหลีกไป ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นพากันแวดล้อมพระโพธิสัตว์ พยายามให้พระโพธิสัตว์อภิรมย์ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้องบ้าง ด้วยกล่าวคำไพเราะเป็นต้นบ้าง มีประการต่างๆ เพราะความที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยพระปรีชา พระองค์จึงมิได้ทอดพระเนตรดูหญิงเหล่านั้น ทรงอธิษฐานว่า หญิงเหล่านี้อย่าได้ถูกต้องสรีระของเรา แล้วทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ครั้งนั้น พระสรีระของพระโพธิสัตว์แข็งกระด้าง หญิงเหล่านั้นเมื่อไม่ได้ถูกต้องพระสรีระของพระโพธิสัตว์ คิดว่า พระกุมารนี้มีสรีระแข็งกระด้าง คงไม่ใช่มนุษย์ จักเป็นยักษ์ ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ไม่อาจที่จะดำรงตนอยู่ได้ จึงพากันหนีไป แม้ทดลองด้วยหญิงทั้งหลายในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์ หมู่อมาตย์ พราหมณ์ พระราชา แม้ทดลองด้วยการทดลองอย่างใหญ่สิบหกครั้ง และด้วยการทดลองอย่างน้อยมากครั้งอย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะกำหนดจับพิรุธของพระโพธิสัตว์นั้นได้ ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามหญิงทั้งหลายว่า แม่มหาจำเริญทั้งหลาย ลูกของเราหัวเราะกับพวกเธอบ้างหรือไม่ หญิงทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า พระราชาทรงสดับคำของหญิงเหล่านั้นแล้วทรงร้อนพระหฤทัย เพราะเหตุนั้นมีรับสั่งให้เรียกพวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะมาตรัสว่า ท่านพราหมณ์ผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพระกุมารประสูติ พวก

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 35

ท่านบอกแก่เราว่า พระกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม อันตรายไม่มีแก่พระกุมารนี้ บัดนี้ พระกุมารนั้นเป็นทั้งง่อยเปลี้ย เป็นทั้งใบ้ทั้งหนวก ถ้อยคำของพวกท่านไม่ทำให้เรายินดีเลย ลำดับนั้น พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ขึ้นชื่อว่านิมิตที่อาจารย์ทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ไม่เห็น ย่อมไม่มี อีกประการหนึ่ง พระกุมารนี้เป็นโอรสที่ราชตระกูลทั้งหลายปรารถนาจึงได้มา เมื่อพวกข้าพระองค์กราบทูลว่าเป็นกาลกรรณี ความโทมนัสก็จะพึงมีแด่พระองค์ เพราะเหตุนั้นพวกข้าพระองค์จึงไม่กราบทูล พระราชาตรัสถามว่า บัดนี้ควรจะทำอย่างไร พราหมณ์เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ถ้าเมื่อพระกุมารอยู่ในราชมณเฑียรนี้ จะปรากฏอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายแห่งชีวิต อันตรายแห่งเศวตฉัตร อันตรายแห่งพระอัครมเหสี เพราะฉะนั้น ควรที่พระองค์จะชักช้าไม่ได้ โปรดให้จัดรถอวมงคล เทียมม้าอวมงคล ให้พระกุมารบรรทมบนรถนั้น นำออกทางประตูทิศตะวันตก ฝังเสียในป่าช้าผีดิบ พระราชาได้ทรงสดับคำของพราหมณ์เหล่านั้น ทรงกลัวภยันตราย จึงโปรดให้ทำอย่างนั้น กาลนั้นพระนางจันทาเทวีได้ทรงสดับประพฤติเหตุนั้น จึงรีบเสด็จเข้าเฝ้าพระราชาแต่พระองค์เดียว ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์ได้พระราชทานพรแก่หม่อมฉันไว้ หม่อมฉันรับแล้ว ถวายฝากพระองค์ไว้ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพรนั้น แก่หม่อมฉันในบัดนี้ พระราชาตรัสว่า จงรับเอาซิพระเทวี พระนางกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดพระราชทานราชสมบัติแก่ลูกของหม่อมฉันเถิด ตรัสว่า ให้ไม่ได้ พระเทวีทูลถามว่า เพราะเหตุไร ตรัสว่า ลูกของเราเป็นกาลกรรณี ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ถ้าไม่พระราชทานตลอดชีวิต ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติเจ็ดปี ตรัสว่า ให้ไม่ได้ พระเทวีทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติหกปี พระเจ้าข้า

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 36

ตรัสว่า ให้ไม่ได้ พระเทวีทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติห้าปีพระเจ้าข้า ตรัสว่า ให้ไม่ได้ พระเทวี พระนางจันทาเทวีทูลขอราชสมบัติลดเวลาลงเป็นลำดับ คือสี่ปี สามปี สองปี ปีเดียว เจ็ดเดือน หกเดือน ห้าเดือน สี่เดือน สามเดือน สองเดือน เดือนเดียว ครึ่งเดือน จนถึงเจ็ดวัน พระราชาจึงพระราชทานอนุญาต พระนางจึงให้ตกแต่งพระโอรสแล้วอภิเษกว่า ราชสมบัตินี้เป็นของเตมิยกุมาร ให้ป่าวร้องทั่วพระนคร ให้ประดับพระนครทั้งสิ้น ให้พระโอรสประทับบนคอช้าง ให้ยกเศวตฉัตรเบื้องบนพระเศียรพระโอรส ทำประทักษิณพระนคร ให้พระโอรสผู้เสด็จมาบรรทมบนพระยี่ภู่อันมีสิริ ตรัสวิงวอนตลอดคืนและวัน ถึงห้าวันว่า พ่อเตมิยะ แม่ไม่เป็นอันหลับนอนร้องไห้อยู่ถึงสิบหกปีเพราะพ่อ ดวงตาทั้งสองของแม่ฟกช้ำ หัวใจของแม่เหมือนจะแตกด้วยความโศก แม่รู้ว่าพ่อไม่ใช่ง่อยเปลี้ยเป็นต้นเลย พ่ออย่าทำให้แม่หาที่พึ่งมิได้เลย ครั้นถึงวันที่หก พระราชารับสั่งให้หานายสารถี ชื่อสุนันทะ มาตรัสสั่งว่า พ่อสุนันทสารถี พรุ่งนี้ เจ้าจงเทียมม้าอวมงคลคู่หนึ่ง ที่รถอวมงคลแต่เช้าทีเดียว ให้พระกุมารนอนบนรถนั้น นำออกทางประตูทิศตะวันตก ประกาศว่าคนกาลกรรณี จงขุดหลุมสี่เหลี่ยมที่ป่าช้าผีดิบ ใส่พระกุมารในหลุมนั้นแล้ว เอาสันจอบทุบศีรษะให้ตาย กลบดินข้างบนทำดินให้พูนขึ้นอาบน้ำแล้วกลับมา นายสารถีทูลรับพระราชดำรัสว่า ดีแล้ว พระเทวีได้สดับดังนั้น ก็เป็นเหมือนพระหฤทัยแตกทำลาย เสด็จไปสำนักพระโอรส วิงวอนพระกุมารตลอดราตรี ตรัสว่า พ่อเตมิยะ พระเจ้ากาสิกราช พระบิดาของพ่อ มีพระราชดำรัสสั่งให้ฝังพ่อในป่าช้าผีดิบในวันพรุ่งนี้แต่เช้าทีเดียว พ่อจะตายแต่เช้าพรุ่งนี้น๊ะลูก พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้น ก็มีพระมนัสยินดี ทรงดำริว่า พ่อเตมิยะ ความพยายามที่เจ้าทำมาสิบหกปี จะถึงที่สุดแห่งมโนรถของเจ้าในวันพรุ่งนี้แล้ว เมื่อพระ

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 37

มหาสัตว์ทรงดำริอยู่อย่างนี้ ก็เกิดปีติขึ้นขึ้นภายในพระกมล ส่วนพระหฤทัยของพระมารดาพระมหาสัตว์ ได้เป็นทุกข์เหมือนจะแตกทำลาย แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมหาสัตว์ก็ทรงดำริว่า ถ้าเราจักพูด มโนรถของเราก็จักไม่ถึงที่สุด ดังนี้จึงไม่ตรัสกับพระชนนีนั้น ลำดับนั้น ครั้นราตรีนั้นล่วงไปรุ่งขึ้นเช้า พระเทวีสรงสนานพระมหาสัตว์ ตกแต่งองค์แล้วให้ประทับนั่งบนพระเพลา ประทับนั่งสวมกอดพระมหาสัตว์นั้น ครั้งนั้น นายสุนันทสารถีเทียมรถแต่เช้าทีเดียว เทวดาดลใจให้เทียมม้ามงคลที่รถมงคล ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ หยุดรถไว้แทบพระราชทวาร ขึ้นยังพระราชนิเวศน์ เข้าสู่ห้องอันเป็นสิริ ถวายบังคมพระเทวีแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ขอพระแม่เจ้าอย่าได้กริ้วข้าพระบาท ข้าพระบาทรับพระราชบัญชามา กราบทูลดังนี้แล้ว เอาหลังมือกันให้พระเทวีผู้นั่งสวมกอดพระโอรสอยู่หลีกไป อุ้มพระกุมารดุจกำดอกไม้ลงจากปราสาท กาลนั้น พระนางจันทาเทวีสยายพระเกศา ข้อนพระทรวง ทรงปริเทวนาการดังสนั่นอยู่กับหมู่นางสนมในปราสาท.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพระมารดาทรงกันแสง ก็เป็นเหมือนมีพระหฤทัยแตกทำลายเป็นเจ็ดเสี่ยง ทรงดำริว่า เมื่อเราไม่พูดกับพระชนนี พระชนนีของเราจักมีพระหฤทัยทำลายวายพระชนม์ จึงทรงใคร่จะพูดด้วย แต่ทรงดำริต่อไปว่า ถ้าเราจักพูดกับพระมารดา ความพยายามที่เราทำมาสิบหกปี ก็จักหาประโยชน์มิได้ แต่เมื่อไม่พูด เราจักเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่พระชนกพระชนนี และแก่มหาชน ทรงดำริดังนี้จึงทรงกลั้นโศกาดูรเสียได้ ไม่ตรัสกับพระชนนี.

ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีให้พระมหาสัตว์ขึ้นรถแล้ว แม้คิดว่า เราจักขับรถตรงไปประตูทิศตะวันตก ถูกเทวดาดลใจด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ยังรถให้กลับแล้วขับรถตรงไปประตูทิศทะวันออก ครั้งนั้น ล้อรถกระ-

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 38

ทบธรณีประตู พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับเสียงนั้น ทรงดำริว่า มโนรถของเราถึงที่สุดแล้ว ได้มีพระมนัสแช่มชื่นเป็นอย่างยิ่ง รถแล่นออกจากพระนครไปถึงสถานที่สามโยชน์ ชัฏป่าในที่ตรงนั้นปรากฏแก่นายสารถีดุจป่าช้าผีดิบ นายสารถีกำหนดว่า ที่นี้ผาสุก จึงแวะรถจากทางเข้าที่ข้างทาง ลงจากรถ เปลื้องเครื่องแต่งองค์ของพระมหาสัตว์ ห่อวางไว้ แล้วถือจอบลงมือขุดหลุมสี่เหลี่ยนในที่ไม่ไกลรถ แต่นั้นพระมหาสัตว์ทรงดำริว่า กาลนี้เป็นกาลพยายามของเรา ก็เราพยายามถึงสิบหกปี ไม่ไหวมือและเท้า กำลังของเรายังมีอยู่หรือว่าไม่มีหนอ ดังนี้แล้วลุกขึ้น ลูบมือขวาด้วยมือซ้าย ลูบมือซ้ายด้วยมือขวา นวดพระบาททั้งสองด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง เกิดดวงจิต คิดจะลงจากรถ ขณะนั้นแผ่นดินได้สูงขึ้นจดท้ายรถ ตรงที่ประดิษฐานพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ดุจผิวฝุ่นที่เต็มด้วยลมฟุ้งขึ้นฉะนั้น พระมหาสัตว์เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินไปมาสิ้นเวลาเล็กน้อย ก็ทรงทราบโดยนิยามนี้ว่า เรายังมีกำลังที่จะเดินทางไกลถึงร้อยโยชน์ได้ในวันเดียว เมื่อทรงพิจารณาพระกำลังว่า หากนายสารถีประทุษร้ายเรา กำลังของเราที่จะต่อสู้กับนายสารถีมีอยู่หรือหนอ จึงทรงจับท้ายรถยกขึ้น ประทับยืนกวัดแกว่งรถนั้น ดุจจับยานเครื่องเล่นของพวกเด็ก ฉะนั้น เมื่อทรงกำหนดว่า กำลังที่จะต่อสู้กับนายสารถีของพระองค์ยังมีอยู่ จึงมีพระประสงค์จะได้เครื่องประดับองค์ ในขณะนั้นเองพิภพแห่งท้าวสักกเทวราชได้แสดงอาการร้อน ท้าวสักกะทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า ความปรารถนาของเตมิยกุมารถึงที่สุดแล้ว บัดนี้ เธอต้องการเครื่องประดับ เครื่องประดับของมนุษย์ เธอจะต้องการทำไม เราจักให้เตมิยกุมารประดับองค์ด้วยเครื่องประดับทิพย์ จึงตรัสเรียกพระวิสสุกรรมเทวบุตรมามอบ เครื่องประดับทิพย์แล้วทรงส่งไปโดยตรัสสั่งว่า ไปเถิด พ่อจงประดับเตมิย-

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 39

กุมารราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราชด้วยเครื่องประดับทิพย์. พระวิสสุกรรมเทพบุตร ฟังคำท้าวสักกะ รับเทวโองการแล้วไปมนุษยโลก ไปยังสำนักพระมหาสัตว์ โพกพระเศียรพระมหาสัตว์ด้วยผ้าทิพย์หมื่นรอบ ประดับพระมหาสัตว์ให้เป็นเหมือนท้าวสักกะ ด้วยเครื่องประดับทั้งเป็นของทิพย์และของมนุษย์ แล้วกลับไปที่อยู่ของตน พระมหาสัตว์เสด็จไปยังที่ขุดหลุมของนายสารถีด้วยการเยื้องกรายของท้าวสักกเทวราช ประทับยืนที่ริมหลุม เมื่อจะตรัสถามนายสารถีนั้น ได้ตรัสคาถาที่สามว่า

แน่ะนายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไม เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกแก่เราเถิดเพื่อน ท่านจะใช้หลุมทำประโยชน์อะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาสุํ ได้แก่ หลุมสี่เหลี่ยม นายสารถีได้ฟังดังนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าขึ้นดู กล่าวคาถาที่สี่ทูลตอบว่า

พระโอรสของพระราชา เป็นใบ้เป็นหนวกเป็นง่อยเปลี้ย เหมือนไม่มีพระมนัส พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ฝังลูกเราเสียในป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺโข แปลว่า คนง่อยเปลี้ย ก็ด้วยคำว่า มูโค นั่นแหละ ย่อมสำเร็จแม้ความเป็นคนหนวกของเตมิยกุมาร เพราะคนหนวกไม่สามารถกล่าวตอบได้. บทว่า อเจตโส ความว่า เหมือนไม่มีจิตใจ นายสารถีกล่าวอย่างนี้ เพราะเตมิยกุมารไม่พูดถึง ๑๖ ปี. บทว่า สมิชฺฌิตฺโถ ความว่า พระราชามีรับสั่งส่งไปแล้ว. บทว่า นิกฺขนํ วเน ความว่า พึงฝังเสียในป่า.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะนายสารถีว่า

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 40

ดูก่อนนายสารถี ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนหนวก มิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย มิได้มีอินทรีย์วิกลวิการ ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เชิญท่านดูขาและแขนของข้าพเจ้า และเชิญฟังคำภาษิตของข้าพเจ้า ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พธิโร ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้ เพื่อแสดงว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ถ้าพระราชามีรับสั่งให้ฝังพระโอรสนี้อย่างนั้น แต่เรามิได้เป็นอย่างนั้น. บทว่า ปิงฺคโล ได้แก่ มีอินทรีย์วิกลวิการ. บทว่า มญฺเจ ตฺวํ นิกฺขนํ วเน ความว่า ถ้าท่านฝังเราผู้เว้นจากความเป็นคนหนวกเป็นต้นเห็นปานนี้เสียในป่า ท่านก็พึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เตมิยกุมารนั้นเห็นนายสารถี แม้ฟังคาถาแรกแล้วก็ไม่แลดูพระองค์เลย ทรงดำริว่า เราจักแสดงแก่นายสารถีนี้ว่า เราไม่หนวก ไม่ใบ้ ไม่ง่อยเปลี้ย ตกแต่งสรีระแล้ว จึงตรัสคาถานี้ว่า อูรู เป็นต้น คาถานั้นมีเนื้อความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ท่านจงดูขาทั้งสองของเราคือของข้าพเจ้า ซึ่งเช่นกับลำต้นกล้วยทองคำ และแขนทั้งสองของเราคือของข้าพเจ้า ซึ่งมีวรรณะดังใบกล้วยทองคำ และจงฟังคำอันไพเราะของเรา.

แต่นั้น นายสารถีคิดว่า นี่ใครหนอ ตั้งแต่มาก็สรรเสริญแต่ตนเท่านั้น เขาหยุดขุดหลุมเงยหน้าขึ้นดู ได้เห็นรูปสมบัติของพระมหาสัตว์ เมื่อยังไม่รู้จักพระมหาสัตว์ว่า ชายคนนี้เป็นมนุษย์หรือเทวดาหนอ จึงกล่าวคาถานี้ว่า

ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกเทวราชผู้ให้ทานในก่อน ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร.

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 41

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะสำแดงตนให้แจ้งและแสดงธรรม จึงตรัสคาถาว่า

เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ มิใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในก่อน เราที่ท่านจะฆ่าเสียในหลุม เป็นโอรสของพระเจ้ากาสิกราช เราเป็นโอรสของพระราชาผู้ที่ท่านพึ่งพระบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ แน่ะนายสารถี ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนลามก พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิหญฺสิ แปลว่า จักฝัง พระมหาสัตว์แสดงว่า ท่านขุดหลุมด้วยหมายว่า จักฝังผู้ใดในที่นี้ เราคือผู้นั้น แม้เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า เราเป็นพระราชโอรส นายสารถีนั้นก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง แต่รู้ได้ด้วยมธุรกถาของพระมหาสัตว์นั้น จึงได้ยืนฟังธรรมอยู่. บทว่า มิตฺตทุพฺโภ ได้แก่ คนฆ่ามิตร คือคนเบียดเบียนมิตรทั้งหลาย. บทว่า รุกฺขสฺส ความว่า บุคคลหักราก ลำต้น ผล ใบ หรือหน่อ ของต้นไม้ที่มีร่มเงาอันตนได้ใช้สอยอยู่ ย่อมเป็นผู้ฆ่ามิตร คือเบียดเบียนมิตร. บทว่า ปาปโก ได้แก่ เป็นคนลามก ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่ฆ่ามนุษย์. ด้วยบทว่า ฉายูปโค พระมหาสัตว์ตรัสว่า แน่ะนายสารถี ท่านอาศัยพระราชาเลี้ยงชีพอยู่ เหมือนคนเข้าไปสู่ร่มเงาของต้นไม้ เพื่อต้องการจะใช้สอยฉะนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 42

แม้ตรัสถึงอย่างนี้ นายสารถีก็ยังไม่เชื่ออยู่นั้นเอง ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราจักทำให้นายสารถีนั้นเชื่อ ทรงทำป่าชัฏให้บันลือลั่นด้วยเสียงสาธุการของเหล่าเทวดา และด้วยคำโฆษณาของพระองค์ เมื่อจะตรัสคาถาบูชามิตร ๑๐ คาถา จึงตรัสว่า

๑. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร ชนเป็นอันมากอาศัยบุคคลผู้นั้นเลี้ยงชีพ บุคคลผู้นั้นจากเรือนของตนไปที่ไหนๆ ย่อมมีภักษาหารมากมาย.

๒. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันหมู่ชนในที่นั้นๆ ทั้งหมดบูชา.

๓. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โจรทั้งหลายไม่ข่มเหงบุคคลผู้นั้น กษัตริย์ก็มิได้ดูหมิ่นบุคคลผู้นั้น บุคคลผู้นั้นย่อมข้ามพ้นหมู่อมิตรทั้งปวง.

๔. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นจะมาสู่เรือนของตนด้วยมิได้โกรธเคืองใครๆ มา ได้ความยินดีปรีดาในสภาที่ประชุม เป็นผู้สูงสุดของหมู่ญาติ.

๕. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นสักการะคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตน เคารพคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่นเคารพตน ย่อมเป็นผู้ได้รับความยกย่องและเกียรติคุณ.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 43

๖. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นบูชาผู้อื่น ก็ย่อมได้บูชาตอบ ไหว้ผู้อื่น ก็ย่อมได้ไหว้ตอบ และย่อมถึงยศและเกียรติ.

๗. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดุจกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดา มีสิริประจำตัว.

๘. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้นย่อมเกิด พืชที่หว่านไว้ในนาย่อมงอกงาม บุคคลผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของพืชที่หว่านไว้.

๙. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นตกเหว ตกภูเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งอาศัยไม่เป็นอันตราย.

๑๐. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรมีรากและย่านงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มได้ ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุตพฺภกฺโข ได้แก่ ได้ภิกษามาง่าย. บทว่า สกํฆรา ได้แก่ จากเรือนของตน อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้แหละ. บทว่า น ทุพฺภติ แปลว่า ไม่ประทุษร้าย. บทว่า สพฺพตฺถ ปูชิโต โหติ นี้ พึงพรรณนาด้วยเรื่องพระสีวลี. บทว่า นาสฺส โจรา ปสหนฺติ ความว่า พวกโจรไม่อาจทำการข่มขี่ บทนี้พึงแสดงด้วยเรื่องสังกิจจสามเณร. บทว่า นาติมญฺเติ ขตฺติโย นี้ พึงแสดงด้วยเรื่องโชติกเศรษฐี. บทว่า ตรติ

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 44

ได้แก่ ย่อมก้าวล่วง. บทว่า สฆรํ เอติ ความว่า ผู้ประทุษร้ายมิตร แม้มาเรือนของตน ก็มีจิตหงุดหงิดโกรธมา แต่ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนี้ ย่อมไม่โกรธมาเรือนของตน. บทว่า ปฏินนฺทิโต ความว่า ย่อมกล่าวคุณกถาของผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรในสถานที่ประชุมของตนเป็นอันมาก ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมเป็นผู้ชื่นชมเบิกบานด้วยเหตุนั้น. บทว่า สกฺกตฺวา สกฺกโต โหติ ความว่า สักการะผู้อื่นแล้ว แม้ตนเองก็เป็นผู้อันผู้อื่นทั้งหลายสักการะ. บทว่า ครุ โหติ สคารโว ความว่า มีความเคารพในผู้อื่นทั้งหลาย แม้ตนเองก็เป็นผู้อันผู้อื่นทั้งหลายเคารพ. บทว่า วณฺณกิตฺติภโต โหติ ความว่า ได้รับยกย่องและสรรเสริญ คือยกคุณความดีและเสียงสรรเสริญเที่ยวป่าวประกาศ. บทว่า ปูชโก ความว่า เป็นผู้บูชามิตรทั้งหลาย แม้ตนเองก็ย่อมได้การบูชา. บทว่า วนฺทโก ความว่า ผู้ไหว้กัลยาณมิตรทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมได้ไหว้ตอบในภพใหม่. บทว่า ยโสกิตฺตึ ความว่า ย่อมถึงอิสริยยศและบริวารยศ และเสียงสรรเสริญคุณความดี พึงกล่าวเรื่องของจิตตคฤหบดีด้วยคาถานี้. บทว่า ปชฺชลติ ความว่า ย่อมรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศและบริวารยศ. ในบทว่า สิริยา อชฺชหิโต โหติ นี้ ควรกล่าวเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี. บทว่า อสฺนาติ แปลว่า ย่อมบริโภค. บทว่า ปติฏฺํ ลภติ พึงแสดงด้วยจุลปทุมชาดก. บทว่า วิรุฬฺหมูลสนฺตานํ แปลว่า มีรากและย่านเจริญ. ในบทว่า อมิตฺตา นปฺปสหนฺติ นี้ พึงกล่าวเรื่องโจรเข้าเรือนของมารดาพระโสณเถระในเรือนตระกูล.

สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น แม้พระมหาสัตว์ทรงแสดงธรรมด้วยคาถา มีประมาณเท่านี้ ก็ยังจำพระองค์ไม่ได้ หยุดขุดหลุมด้วยคิดว่า คนนี้ใครหนอ แล้วลุกขึ้นเดินไปใกล้รถ ไม่เห็นพระมหาสัตว์และห่อเครื่องประดับทั้งสองอย่าง จึงกลับมาแลดูพระองค์ก็จำพระองค์ได้ จึงหมอบลงแทบพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ประคองอัญชลีทูลวิงวอน กล่าวคาถานี้ว่า

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 45

ขอพระองค์เสด็จมาเถิด ข้าพระบาทจักนำพระองค์ซึ่งเป็นพระราซโอรสกลับสู่มณเฑียรของพระองค์ ขอพระองค์จงครองราชสมบัติ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระองค์จักทรงทำอะไรในป่า.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสกะนายสารถีว่า

แน่ะนายสารถี เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอธรรม พร้อมด้วยญาติและทรัพย์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลํ เป็นคำปฏิเสธ.

นายสารถีกราบทูลว่า

ข้าแต่พระราชบุตร พระองค์เสด็จกลับจากที่นี้ จะทำให้ข้าพระองค์ได้รางวัลเครื่องยินดี เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว พระชนกและพระชนนีจะพระราชทานรางวัลเครื่องยินดีแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์เหล่านั้นจะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพราบ แม้เหล่านั้นจะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว ชาวชนบท ชาวนิคม ผู้มีธัญญาหารมาก จะประชุมกันให้เครื่องบรรณาการแก่ข้าพระองค์.

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 46

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุณฺณปตฺตํ ได้แก่ รางวัลเครื่องยินดี คือของให้ที่น่ายินดี. บทว่า ทชฺชุํ ความว่า พึงให้รางวัลเครื่องยินดีที่ทำให้ความมุ่งหมายของข้าพระองค์บริบูรณ์ ดุจหลั่งฝนคือรัตนะเจ็ดประการ ฉะนั้น นายสารถีคิดว่า อย่างไรเสีย พระกุมารนี้ก็คงเสด็จกลับเพื่ออนุเคราะห์เรา จึงได้กล่าวคำนี้. บทว่า เวสิยา แปลว่า พ่อค้า. บทว่า อุปยานานิ แปลว่า เครื่องบรรณาการ.

พระมหาสัตว์ทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสว่า

พระชนกและพระชนนีสละเราแล้ว ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคมและกุมารทั้งปวงก็สละเราแล้ว เราไม่มีเหย้าเรือนของตน พระชนนีทรงอนุญาตเราแล้ว พระชนกก็ทรงสละเราจริงๆ แล้ว เราจะบวชอยู่ในป่าคนเดียว ไม่ปรารถนากามคุณทั้งหลาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตุ มาตุ จ แปลว่า อันพระชนกและพระชนนี. บทว่า จตฺโต แปลว่า สละขาดแล้ว แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า มตฺยา ความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก เราชื่อว่าอันพระชนนีผู้รับพรกำหนดให้ครองราชสมบัติ ๗ วัน ทรงอนุญาตแล้ว. บทว่า สญฺจตฺโต แปลว่า สละแล้วด้วยดี. บทว่า ปพฺพชิโต ความว่า ออกเพื่อต้องการบวชอยู่ในป่า.

เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสคุณธรรมของพระองค์อยู่อย่างนี้ พระปีติได้เกิดขึ้นแล้ว แต่นั้น เมื่อทรงเปล่งพระอุทานด้วยกำลังพระปีติ จึงตรัสว่า

ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่า-

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 47

บุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ ไหนเล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผลาสาว ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้ เพื่อแสดงว่า ผลแห่งความมุ่งหมายของเราผู้ไม่รีบร้อน สิบหกปีจึงสำเร็จ. บทว่า วิปกฺกพฺรหฺมจริโยสฺมิ แปลว่า มีความปรารถนาถึงที่สุดแล้ว. บทว่า สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ ความว่า ประเภทคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่พึงทำ ย่อมสำเร็จโดยชอบ คือโดยอุบาย โดยการณ์.

นายสารถีกราบทูลว่า

พระองค์มีพระดำรัสไพเราะ และมีพระวาจาสละสลวยอย่างนี้ เหตุไฉนจึงไม่ตรัสในสำนักแห่งพระชนกและพระชนนีในกาลนั้นเล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วคฺคุกโถ แปลว่า มีพระดำรัสไพเราะ คือมีพระดำรัสอ่อนหวาน.

แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า

เราเป็นง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีเครื่องติดต่อก็หาไม่ เราเป็นหนวกเพราะไม่มีซ่องหูก็หาไม่ เราเป็นใบ้เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าเข้าใจว่าเราเป็นใบ้ เราระลึกชาติปางก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้ เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นยี่สิบปี ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี เรากลัวจะต้องเสวย

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 48

ราชสมบัตินั้น ขอชนทั้งหลายอย่าพึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พูดในสำนักของพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น พระชนกทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลา แล้วตรัสสั่งข้อความว่า จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงจองจำโจรคนหนึ่ง จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วเอาน้ำแสบราดแผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว ตรัสสั่งเจ้าหน้าที่นั้นอย่างนี้ เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระชนกตรัสนั้น จึงกลัวการเสวยราชสมบัติ เรามิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย ก็ให้คนเข้าใจว่าง่อยเปลี้ย แกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่ในปัสสาวะและอุจจาระของตน ชีวิตนั้นเป็นของลำบาก เป็นของน้อย ทั้งประกอบด้วยทุกข์ ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง เพราะไม่ได้ปัญญา เพราะไม่เห็นธรรม ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ไหนเล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสนฺธิตา แปลว่า เพราะไม่มีที่ต่อ. บทว่า อโสตตา แปลว่า เพราะไม่มีโสต. บทว่า อชิวฺหตา ความว่า

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 49

เรานั้นมิได้เป็นใบ้ เพราะไม่มีลิ้นสำหรับเปลี่ยนไปมาของคำพูด. บทว่า ยตฺถ ความว่า ได้เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสีนั่นแลในชาติใด. บทว่า ปาปตฺถํ ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสถึงความชั่วว่า พระองค์ได้ตกมาแล้ว. บทว่า รชฺเชภิเสจยุํ แปลว่า พึงอภิเษกในราชสมบัติ. บทว่า นิสีทิตฺวา ความว่า ให้นั่งแล้ว. บทว่า อตฺถานุสาสติ ความว่า ตรัสสั่งข้อความผิด. บทว่า ขาราปตจฺฉกํ ความว่า จงเอาหอกแทงแล้วราดน้ำแสบที่แผล. บทว่า อุพฺเพถ แปลว่า จงยกขึ้น คือจงเสียบ. บทว่า อิจฺจสฺส อนุสาสติ ความว่า ตรัสสั่งข้อความแก่มหาชนนั้นอย่างนี้. บทว่า ตายาหํ ความว่า เราได้ฟังพระวาจาเหล่านั้น. บทว่า ปกฺขสมฺมโต ความว่า ได้เป็นผู้อันชนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นง่อยเปลี้ย คือเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย. บทว่า อจฺฉาหํ ความว่า อยู่แล้ว คือเราอยู่แล้ว. บทว่า สํปริปลุโต ความว่า เป็นผู้เกลือกกลิ้ง คือจมลงแล้ว. บทว่า กสิรํ แปลว่า เป็นทุกข์ บทว่า ปริตฺตํ แปลว่า น้อย คำนี้มีอธิบายว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเป็นทุกข์ ก็จะพึงตั้งอยู่คือเป็นไปนานมาก ถ้านิดหน่อยก็จะพึงเป็นคือเป็นไปสบาย แต่ชีวิตนี้ ลำบากก็ตาม นิดหน่อยก็ตาม น้อยก็ตาม ย่อมประกอบคือเข้าไปทรงไว้พร้อมด้วยทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นทีเดียว คือ ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่ำยี. บทว่า โกมํ ตัดบทเป็น โก อิมํ. บทว่า เวรํ ได้แก่ เวรห้าอย่างมีปาณาติบาตเป็นต้น. บทว่า เกนจิ ได้แก่ ด้วยเหตุไรๆ. บทว่า กยิราถ แปลว่า พึงกระทำ. บทว่า ปญฺาย ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา. บทว่า ธมฺมสฺส ความว่า เพราะไม่เห็นโสดาปัตติมรรค.

พระมหาสัตว์ได้ตรัสอุทานคาถาซ้ำอีก เพื่อประกาศความประสงค์ไม่เสด็จกลับไปพระนครเป็นมั่นคง.

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 50

สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น คิดว่า พระกุมารนี้ ทิ้งสิริราชสมบัติเห็นปานนี้เหมือนทิ้งซากศพ ไม่ทำลายความตั้งใจมั่นของพระองค์ เข้าป่าด้วยหวังว่าจักผนวช เราจะต้องการอะไรด้วยชีวิตอันไม่สมประกอบนี้ แม้เราก็จักบวชกับด้วยพระกุมารนั้น คิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า

ข้าแต่พระราชบุตร แม้ข้าพระองค์ก็จักบวชในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสเรียกให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ชอบบวช.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวนฺติเก แปลว่า ในสำนักของท่าน. บทว่า อวฺหยสฺสุ ความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสเรียกข้าพระองค์ว่า เจ้าจงมาบวชเถิด.

แม้นายสารถีทูลวิงวอนอย่างนี้ พระมหาสัตว์ทรงพระดำริว่า หากเราให้นายสารถีบวชในบัดนี้ทีเดียว พระชนกพระชนนีของเราก็จักไม่เสด็จมาในทีนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสื่อมจักมีแก่พระชนกและพระชนนีทั้งสอง ม้า รถ และเครื่องประดับเหล่านี้ก็จักพินาศ แม้ความครหาก็จักเกิดขึ้นแก่เราว่า นายสารถีนั้นถูกพระราชกุมารผู้เป็นยักษ์กินเสียแล้ว ทรงพิจารณาเพื่อจะเปลื้องความครหาของพระองค์ และพิจารณาถึงความเจริญแห่งพระชนกและพระชนนี เมื่อทรงแสดงม้ารถและเครื่องประดับ ทำให้เป็นหนี้ของนายสารถีนั้น จึงตรัสคาถาว่า

แน่ะนายสารถี ท่านจงไปมอบคืนรถ แล้วเป็นผู้ไม่มีหนี้เถิด เพราะผู้ไม่มีหนี้จึงบวชได้ การบวชนั้น ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งสรรเสริญแล้ว.

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 51

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตํ ได้แก่ การกระทำการบรรพชานั้น. บทว่า อิสีภิ วณฺณิตํ ความว่า ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว.

นายสารถีได้ฟังดังนั้น คิดว่า เมื่อเราไปสู่พระนคร ถ้าพระกุมารนี้จะพึงเสด็จไปที่อื่น พระราชบิดาได้ทรงสดับข่าวนี้แล้วเสด็จมาตรัสว่า จงแสดงลูกของเรา มิได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารนี้ จะพึงลงราชทัณฑ์แก่เรา เพราะฉะนั้น เราจะกล่าวคุณของตนแก่พระกุมารนี้ จักถือเอาคำปฏิญญาเพื่อไม่เสด็จไปที่อื่น คิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

ข้าพระองค์ได้ทำตามพระดำรัส ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระองค์ควรจะทรงทำตามคำที่ข้าพระองค์ทูลวิงวอน ขอพระองค์จงประทับรออยู่ ณ ที่นี้ จนกว่าข้าพระองค์จะนำพระราชาเสด็จมา อย่างไรเสีย พระราชบิดาของพระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้ว คงทรงพระปีติโสมนัสเป็นแน่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ความว่า ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระดำรัสใดที่พระองค์ตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้กระทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว พระองค์อันข้าพระองค์วิงวอนแล้ว ควรจะกระทำตามคำนั้นเท่านั้น.

แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า

แน่ะนายสารถี เราจะกระทำตามคำของท่านที่ท่านกล่าวกะเรา แม้ตัวเราก็อยากเห็นพระชนกของเราเสด็จมาในที่นี้ จงกลับไปเถิดเพื่อนรัก ท่านจงทูล

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 52

แก่พระญาติทั้งหลายด้วยก็เป็นการดี ท่านเป็นผู้ที่เราสั่งแล้ว จงกราบทูลถวายบังคมพระชนกพระชนนีของเรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโรมิ เต ตํ ความว่า เรากระทำตามคำนั้นของท่าน. บทว่า เอหิ สมฺม นิวตฺตสฺสุ ความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ท่านจงไปในที่นั้น จงรีบกลับไปจากที่นี้ทีเดียว. บทว่า วุตฺโต วชฺชาสิ ความว่า ท่านเป็นผู้ที่เรากล่าวสั่งแล้ว พึงกราบทูลถวายบังคมของเราว่า เตมิยกุมารพระโอรสของพระองค์ ถวายบังคมพระบาทยุคลของพระองค์.

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว พระมหาสัตว์ได้น้อมพระองค์ดุจลำต้นกล้วยทองคำ ผินพระพักตร์ไปทางกรุงพาราณสี ถวายบังคมพระชนกและพระชนนี ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วได้ประทานข่าวสาส์นแก่นายสารถี.

นายสารถีรับข่าวสาส์นแล้วทำประทักษิณพระกุมาร ถวายบังคมแทบพระยุคลบาทของพระกุมาร ขึ้นรถแล้วขับตรงไปยังกรุงพาราณสี.

พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า

นายสารถีจับพระบาททั้งสองของพระกุมาร และกระทำประทักษิณพระกุมารแล้ว ขึ้นรถเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส เป็นต้น ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายสารถีนั้นจับที่พระบาททั้งสองของพระกุมารนั้น กระทำประทักษิณแล้วขึ้นรถเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง.

ในขณะนั้น พระนางจันทาเทวีเผยพระแกลคอยแลดูการมาของนายสารถี ด้วยใคร่จะทรงทราบว่า ความเป็นไปของลูกเราเป็นอย่างไรหนอ พอ

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 53

ทอดพระเนตรเห็นนายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ก็เป็นประหนึ่งพระหฤทัยจะแตกทำลายไป ทรงคร่ำครวญแล้ว.

พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า

พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า มีแต่นายสารถีมาคนเดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชลทรงกันแสง ทอดพระเนตรดูนายสารถีนั้นด้วยเข้าพระหฤทัยว่า นายสารถีนี้ฝังโอรสของเราเสียแล้ว โอรสของเรานายสารถีฝังเสียในแผ่นดิน ถมแผ่นดินแล้วเป็นแน่ ปัจจามิตรทั้งหลายจะยินดี ศัตรูทั้งหลายจะอิ่มใจเป็นแน่ เพราะเห็นนายสารถีมาแล้ว เพราะฝังโอรสของเราแล้ว พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชลทรงกันแสง ตรัสสอบถามนายสารถีนั้นว่า โอรสของเราเป็นใบ้หรือ เป็นง่อยหรือ ตรัสอะไรบ้างหรือในเวลาที่ถูกท่านฝังในแผ่นดิน จงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด นายสารถี โอรสของเราเป็นใบ้เป็นง่อย เขากระดิกมือเท้าอย่างไรบ้างไหม ในเมื่อถูกท่านฝังในแผ่นดิน เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาตา ได้แก่ พระชนนีของเตมิยกุมารโพธิสัตว์. บทว่า ปพฺยา ภูมิวฑฺฒโน ความว่า ลูกของเรานั้น ถูกฝังในแผ่นดินถมพื้นดินเป็นแน่. บทว่า โรทนฺตี นํ ปริปุจฺฉติ ความว่า พระนางจันทาเทวีตรัสสอบถามนายสารถีผู้หยุดรถไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 54

ขึ้นปราสาทถวายบังคมพระนางแล้วยืน ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. บทว่า กินฺนุ ความว่า ลูกของเรานั้นเป็นใบ้และเป็นง่อยเปลี้ยจริงหรือ. บทว่า ตทา ความว่า ในเวลาที่ท่านฝังเขาในหลุมแล้วเอาสันจอบทุบศีรษะ. บทว่า นิหญฺมาโน ภูมิยา ความว่า เมื่อถูกท่านฝังในพื้นดิน เขาพูดอย่างไรบ้าง. บทว่า ตํ เม อกฺขาหิ ความว่า ท่านจงบอกเรื่องทั้งหมดนั้นอย่าให้คลาดเคลื่อน. บทว่า วิวฏฺฏยิ ความว่า ลูกของเราเขาไหวมือและเท้าพร่ำกล่าวกะท่านว่า หลีกไปสารถี ท่านอย่าฆ่าเรา ดังนี้บ้างหรือไม่.

ลำดับนั้น นายสุนันทสารถี กราบทูลพระนางว่า

ข้าแต่พระแม้เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดประทานอภัยแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอกราบทูลตามที่ได้ฟังได้เห็นในสำนักพระราชโอรส แด่พระองค์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทชฺชาสิ ความว่า ถ้าพระองค์จะพึงประทานอภัย นายสุนันทสารถีนั้นคิดว่า ถ้าเราจะกราบทูลว่า พระโอรสของพระองค์ไม่เป็นคนใบ้ ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย ไม่เป็นหนวก มีพระดำรัสไพเราะ เป็นธรรมกถึก ดังนี้ พระราชาจะพึงมีพระดำริว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นเหตุไร ท่านจึงไม่พาลูกของเรานั้นมา พึงกริ้วสั่งลงพระราชอาญาแก่เราแน่ เราต้องขอพระทานอภัยเสียก่อน จึงกราบทูลคำนี้.

ลำดับนั้น พระนางจันทาเทวีจึงตรัสแก่นายสารถีนั้นว่า

ดูก่อนนายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่าน ท่านไม่ต้องกลัว จงกล่าวตามที่ท่านได้ฟังหรือได้เห็นในสำนักของพระราชโอรส.

แต่นั้นนายสารถีกราบทูลว่า

พระราชโอรสนั้นมิได้เป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย พระองค์มีพระวาจาสละสลวย ได้ยินว่าพระองค์กลัว

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 55

ราชสมบัติ จึงได้ทรงทำการลวงเป็นอันมาก พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อน ที่พระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง พระองค์เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี แล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี พระองค์กลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น ทรงอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลาย อย่าพึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนักของพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น พระราชโอรสทรงสมบูรณ์ด้วยองคาพยพ มีพระรูปงดงามสมส่วน มีพระวาจาสละสลวย มีพระปัญญา ทรงดำรงอยู่ในมรรคาแห่งสวรรค์ ถ้าพระแม่เจ้ามีพระราชประสงค์ จะทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสของพระองค์ ก็ขอเชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระแม่เจ้าไปให้ถึงที่ที่พระเตมิยราชโอรสประทับอยู่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสฏฺวจโน ได้แก่ มีพระดำรัสบริสุทธิ์. บทว่า อกรา อาลเย พหู ความว่า ได้กระทำการลวงพระองค์เป็นอันมาก. บทว่า ปญฺโ แปลว่า มีปัญญา. บทว่า สเจ ตฺวํ ความว่า นายสารถีกระทำพระราชาให้เป็นธุระ กราบทูลอย่างนี้กะทั้งสองพระองค์นั้น. บทว่า ยตฺถ สมฺมติ ความว่า นายสารถีกราบทูลว่า พระโอรสของพระองค์ทรงรับปฏิญญาไว้กับข้าพระองค์ ประทับอยู่ ณ ที่ใด ข้าพระองค์จักพาพระองค์ไป ณ ที่นั้น ควรรีบเสด็จไปโดยไม่เนิ่นช้า.

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 56

ฝ่ายเตมิยกุมารครั้นส่งนายสารถีไปแล้ว ใคร่จะทรงผนวช ครั้งนั้นท้าวสักกเทวราชทรงทราบพระหฤทัยของพระกุมารนั้น จึงตรัสสั่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรว่า พ่อวิสสุกรรม พระเตมิยกุมารใคร่จะทรงผนวช ท่านจงไปสร้างบรรณศาลาและเครื่องบริขารแห่งบรรพชิตแก่พระกุมารนั้น พระวิสสุกรรมเทพบุตรรับเทวโองการแล้วลงจากสวรรค์ เนรมิตอาศรมขึ้นในราวป่าสามโยชน์ เนรมิตที่พักกลางคืนและกลางวัน และสระโบกขรณี ทำสถานที่นั้นให้สมบูรณ์ด้วยต้นไม้มีผลไม่จำกัดกาล เนรมิตที่จงกรมประมาณ ๒๔ ศอกในที่ใกล้บรรณศาลา เกลี่ยทรายมีสีดังแก้วผลึกภายในที่จงกรม และเนรมิตเครื่องบริขาร สำหรับบรรพชิตทุกอย่าง แล้วเขียนอักษรบอกไว้ที่ฝาว่า กุลบุตรผู้ใดผู้หนึ่งใคร่จะบวช จงถือเอาเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตเหล่านี้บวชเถิด แล้วให้เนื้อและนกใกล้อาศรมหนีไป เสร็จแล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน.

ขณะนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นอาศรมบทนั้น ทรงอ่านหนังสือแล้วก็ทรงทราบว่า ท้าวสักกเทวราชประทานให้ จึงเสด็จเข้าบรรณศาลา เปลื้องภูษาของพระองค์ ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง ทรงห่มผ้านั้นผืนหนึ่ง ทำหนังเสือเฉวียงพระอังสา ทรงผูกมณฑลชฎา ยกคานเหนือพระอังสา ทรงถือธารพระกรเสด็จออกจากบรรณศาลา เมื่อจะให้สิริแห่งบรรพชิตเกิดขึ้นจึงเสด็จจงกรมกลับไปกลับมา ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า การบรรพชาที่เราได้แล้วเป็นสุข เป็นสุขยิ่งหนอ แล้วเสด็จเข้าบรรณศาลา ประทับนั่งบนที่ลาดด้วยใบไม้ ยังอภิญญาห้าและสมาบัติแปดให้เกิด เสด็จออกจากบรรณศาลาในเวลาเย็น เก็บใบหมากเม่าที่เกิดอยู่ท้ายที่จงกรม นึ่งในภาชนะที่ท้าวสักกะประทานด้วยน้ำร้อนอันไม่มีรสเค็ม ไม่มีรสเปรี้ยว ไม่เผ็ด เสวย ดุจบริโภคอมฤตรส เจริญพรหมวิหารสี่สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทีนั้น.

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 57

ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราช ได้ทรงสดับคำของสุนันทสารถี จึงตรัสสั่งให้เรียกมหาเสนาคุต รีบร้อนใคร่ให้ทำการตระเตรียมเสด็จ ตรัสว่า

เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถเทียมม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง จนกระทั่งสังข์และบัณเฑาะว์ จงตีกลองหน้าเดียว จงตีกลองสองหน้า และรำมะนาอันไพเราะ ขอชาวนิคมจงตามเรามา เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์ทั้งหลาย จงรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ จงรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย ชาวชนบทและชาวนิคม จงมาประชุมรีบเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทแก่ลูกชาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺธริยนฺตุ ได้แก่ จงบรรเลงสนั่น. บทว่า นทนฺตุ ได้แก่ จงเปล่งเสียง. บทว่า เอกโปกฺขรา ได้แก่ กลองหน้าเดียว. บทว่า สนฺนทฺธา ได้แก่ หุ้มไว้อย่างดี. บทว่า วคฺคู ได้แก่ มีเสียงไพเราะ. บทว่า คจฺฉํ แปลว่า จักไป. บทว่า ปุตฺตนิวาทโก ความว่า เราจักไปกล่าวสอน คือให้โอวาทแก่ลูกชาย พระเจ้ากาสิกราชตรัสอย่างนี้ ด้วยมีพระราชประสงค์ว่า เราจะไปเพื่อกล่าวสอนเตมิยกุมาร ให้เชื่อถือคำของเรา แล้วอภิเษกตั้งเขาไว้ในกองรัตนะ ณ ที่นั้นแหละแล้วนำมา. บทว่า เนคมา ได้แก่ พวกคนมีทรัพย์. บทว่า สมาคตา ความว่า จงประชุมกันตามเรามา.

นายสารถีทั้งหลาย ที่พระราชาตรัสสั่งอย่างนี้แล้ว ก็เทียมม้าจอดรถไว้แทบประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ.

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 58

พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า

นายสารถีทั้งหลาย จูงม้าที่เทียมรถและม้าสินธพซึ่งเป็นพาหนะว่องไว มายังประตูประราชวังแล้ว กราบทูลว่า ม้าทั้งสองพวกนี้เทียมเสร็จแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สินฺธเว ได้แก่ ม้าที่เกิดลุ่มน้ำสินธุ. บทว่า สีฆพาหเน ความว่า จูงม้าทั้งหลายที่ถึงพร้อมด้วยความเร็ว. บทว่า สารถี แปลว่า นายสารถีทั้งหลาย. บทว่า ยุตฺเต ได้แก่ เทียมที่รถทั้งหลาย. บทว่า อุปาคญฺฉุํ ความว่า นายสารถีเหล่านั้นจูงม้าทั้งหลายที่เทียมไว้ที่รถทั้งหลายมา ครั้นมาแล้วได้กราบทูลว่า ม้าสองพวกเหล่านี้เทียมไว้แล้ว.

แต่นั้น พระราชาตรัสว่า

ม้าอ้วนเสื่อมความว่องไว ม้าผอมเสื่อมถอยเรี่ยวแรง จงเว้นม้าผอมและม้าอ้วนเสีย จัดเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํสฏฺา ความว่า พระราชาตรัสว่า พวกท่านอย่าถือเอาเหล่าม้าเห็นปานนี้. บทว่า กีเส ถูเล วิวชฺชิตฺวา ความว่า พวกท่านอย่าถือเอาเหล่าม้าผอมและเหล่าม้าอ้วน. บทว่า สํสฏฺา โยชิตา หยา ความว่า เทียมม้าที่ประกอบด้วยวัย วรรณะ ความว่องไวและกำลัง.

ลำดับนั้น พระราชาเมื่อเสด็จไปสำนักพระราชโอรส ตรัสสั่งให้ประชุมวรรณะ ๔ เสนี ๑๘ และพลนิกายทั้งหมด ประชุมอยู่สามวัน ในวันที่สี่ พระเจ้ากาสิกราชเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยเสนา ให้เอาทรัพย์ที่พอจะเอาไปได้ไปด้วย เสด็จถึงอาศรมแห่งเตมิยราชฤาษี ทรงยินดีกับพระราชฤาษีผู้เป็นราชโอรส ทรงทำปฏิสันถารแล้ว.

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 59

พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า

แต่นั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับบนม้าสินธพอันเทียมแล้ว ได้ตรัสกะนางข้างในว่า จงตามเราไปทุกคน เตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ คือ พัด วาลวิชนี พระอุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตร และฉลองพระบาททอง ให้ขนขึ้นรถไปด้วย แต่นั้นพระราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทางเสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่ที่พระเตมิยราชฤๅษีประทับอยู่โดยพลัน พระเตมิยราชฤๅษี ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดากำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ จึงถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปราศจากพระโรคาพาธหรือ ทรงเป็นสุขสำราญดีหรือ ราชกัญญาของพระองค์ และโยมมารดาของอาตมภาพ ไม่มีพระโรคาพาธหรือ.

พระราชาตรัสตอบว่า

พระลูกรัก ดีฉันไม่มีโรคาพาธ สุขสำราญดี ราชกัญญาทั้งปวงของดีฉัน และโยมมารดาของพระลูกรัก หาโรคภัยมิได้.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทูลถามพระราชาว่า

ขอถวายพระพร มหาบพิตรไม่เสวยน้ำจัณฑ์ ไม่ทรงโปรดน้ำจัณฑ์หรือ พระหฤทัยของมหาบพิตรทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทานบ้างหรือ.

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 60

ลำดับนั้น พระราชาตรัสตอบว่า

พระลูกรัก ดีฉันไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดน้ำจัณฑ์ อนึ่ง ใจของดีฉันยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทาน.

พระมหาสัตว์ทูลถามว่า

พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของมหาบพิตร ที่เขาเทียมในยาน ไม่มีโรคหรือ นำอะไรๆ ไปได้หรือ มหาบพิตรไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาพระสรีระหรือ.

พระราชาตรัสตอบว่า

พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของดีฉัน ที่เขาเทียมในยาน ไม่มีโรค อนึ่ง พาหนะนำอะไรๆ ไปได้ และดีฉันไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาสรีระ.

พระมหาสัตว์ทูลถามว่า

ปัจจันตชนบทของมหาบพิตรยังเจริญดีอยู่หรือ คามนิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของมหาบพิตรยังเป็นปึกแผ่นดีหรือ ฉางหลวงและพระคลังของมหาบพิตรยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ.

พระราชาตรัสตอบว่า

ปัจจันตชนบทของดีฉันยังเจริญดีอยู่ คามนิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของดีฉันยังเป็นปึกแผ่นดีอยู่ ฉางหลวงและพระคลังของดิฉันทั้งหมดยังบริบูรณ์ดีอยู่.

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 61

พระมหาสัตว์ทูลถามว่า

ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จมาดีแล้ว พระองค์เสด็จมาไกลก็เหมือนใกล้ ราชบุรุษทั้งหลาย จงทอดราชบัลลังก์ให้ประทับเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาที รถมารุยฺห ความว่า ขนฉลองพระบาททองขึ้นรถ พระราชาทรงสั่งว่า พวกท่านจงเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่างไปด้วย เพื่ออภิเษกลูก ณ ที่ตรงนั้นแหละ ดังนี้ จึงตรัสบททั้งสามเหล่านี้. บทว่า สุวณฺเณหิ อลงฺกตา ตรัสหมายฉลองพระบาท. บทว่า อุปาคญฺฉิ แปลว่า ได้เสด็จเข้าไปแล้ว เวลาอะไร เวลาที่พระมหาสัตว์ทรงนึ่งใบหมากเม่าดับไฟแล้วประทับนั่ง. บทว่า ชลนฺตมิว เตชสา ได้แก่ เหมือนรุ่งเรืองด้วยเดชานุภาพแห่งพระราชา. บทว่า ขคฺคสํฆปริพฺยุฬฺหํ ความว่าแวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ผู้มีความผาสุกด้วยกล่าวถ้อยคำ. บทว่า เอตทพฺรวิ ความว่าพระเตมิยราชฤๅษีทรงต้อนรับพระเจ้ากาสิกราชผู้พักกองทัพไว้ภายนอกเสด็จมาบรรณศาลาด้วยพระบาท ถวายบังคมพระองค์แล้วประทับนั่ง ได้ตรัสคำนี้.

พระเตมิยราชฤๅษี ตรัสถามถึงความไม่มีโรคเท่านั้น ด้วยบทแม้ทั้งสองว่า กุสลํ อนามยํ. บทว่า กจฺจิ อมชฺชโป ตาต ความว่า พระเตมิยราชฤๅษีทูลถามพระเจ้ากาสิกราชว่า พระองค์เป็นผู้ไม่เสวยน้ำจัณฑ์ จะไม่เสวยน้ำจัณฑ์บ้างละหรือ. ปาฐะว่า อปฺปมชฺโช ดังนี้ก็มี ความว่า ไม่ประมาทในกุศลกรรมทั้งหลาย. บทว่า สุรมปฺปิยํ ความว่า การดื่มสุราไม่เป็นที่รักของพระองค์ ปาฐะว่า สุรมปฺปิยา ดังนี้ก็มี ความว่า สุราไม่เป็นที่รักของพระองค์. บทว่า ธมฺเม ได้แก่ ทศพิธราชธรรม. บทว่า โยคํ ความว่า พาหนะมีม้าและโคเป็นต้น ที่ควรเทียมในยานทั้งหลาย. บทว่า กจฺจิ

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 62

วหติ ความว่า ไม่มีโรคยังนำไปได้หรือ. บทว่า พาหนํ ได้แก่ พาหนะทั้งหมดมีช้างเป็นต้น. บทว่า สรีรสฺสุปตาปิยา แปลว่า เข้าไปแผดเผาสรีระ. บทว่า อนฺตา ได้แก่ ปัจจันตชนบท. บทว่า ผิตา แปลว่า มั่งคั่ง มีภิกษาหาได้ง่าย อยู่กันหนาแน่น. บทว่า มชฺเฌ จ ได้แก่ ท่ามกลางรัฐ. บทว่า พหลา ความว่า ชาวคามและชาวนิคมอยู่กันเป็นปึกแผ่น. บทว่า ปฏิสณฺิตํ ความว่า ปกปิดแล้ว คือคุ้มครองดีหรือบริบูรณ์. บทว่า นิสกฺกติ ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสว่า จงทอดบัลลังก์ซึ่งเป็นที่ที่พระราชาจักประทับนั่ง พระราชาไม่ประทับนั่งบนบัลลังก์ด้วยความเคารพพระมหาสัตว์.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ถ้าพระราชาไม่ประทับนั่งบนบัลลังก์ ท่านทั้งหลายจงปูลาดเครื่องปูลาดใบไม้ให้ทีเถิด เมื่อทรงเชื้อเชิญพระราชาให้ประทับนั่งบนเครื่องปูลาดที่ปูลาดไว้นั้น ตรัสคาถาว่า

ขอเชิญมหาบพิตรประทับนั่งบนเครื่องปูลาดใบไม้ที่เขากำหนดลาดไว้ เพื่อพระองค์ในที่นี้ จงทรงเอาน้ำแต่ภาชนะนี้ล้างพระบาทของมหาบพิตรเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิยเต ได้แก่ จัดตั้งไว้อย่างดี พระมหาสัตว์ตรัสแสดงน้ำสำหรับบริโภค ด้วยบทว่า เอตฺโต.

ด้วยความเคารพต่อพระมหาสัตว์ พระราชามิได้ประทับนั่งบนเครื่องปูลาดใบไม้ ประทับนั่ง ณ พื้นดิน พระมหาสัตว์เสด็จเข้าบรรณศาลา นำใบหมากเม่านั้นออกมา เมื่อจะเชิญพระราชาให้เสวย จึงตรัสคาถาว่า

มหาบพิตร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุก ไม่มีรสเค็ม ขอมหาบพิตรผู้เสด็จมาเป็นแขกของอาตมภาพจงเสวยเถิด.

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 63

ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า

ดีฉันไม่บริโภคใบหมากเม่า โภชนะของดีฉันไม่ใช่อย่างนี้เลย ดีฉันบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยมังสะอันสะอาด.

ก็แลครั้นตรัสห้ามแล้ว พระราชาทรงสรรเสริญโภชนะของพระองค์ แล้วทรงหยิบใบหมากเม่าหน่อยหนึ่ง วางไว้ในฝ่าพระหัตถ์ ด้วยทรงเคารพในพระมหาสัตว์ แล้วตรัสถามว่า พ่อเสวยโภชนะอย่างนี้ดอกหรือ พระมหาสัตว์ทูลรับว่า ใช่ มหาบพิตร พระราชาประทับนั่งรับสั่งพระวาจาเป็นที่รักกับพระโอรส.

ขณะนั้น พระนางจันทาเทวีแวดล้อมไปด้วยหมู่นางสนมเสด็จมา ทรงจับพระบาททั้งสองของพระปิโยรส ทรงไหว้แล้วกันแสง มีพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชล ประทับนั่ง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระนางว่า ที่รัก เธอจงดูโภชนาหารของลูกเธอ แล้วทรงหยิบใบหมากเม่าหน่อยหนึ่งวางในพระหัตถ์ของพระนาง แล้วประทานแก่นางสนมอื่นๆ คนละหน่อย นางสนมทั้งปวงเหล่านั้นกล่าวว่า พระองค์เสวยโภชนะเห็นปานนี้หรือพระเจ้าข้า แล้วรับใบหมากเม่านั้นมาวางไว้บนศีรษะของตนๆ กล่าวว่า พระองค์ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง พระเจ้าข้า แล้วถวายนมัสการนั่งอยู่ ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า ลูกรัก เรื่องนี้ปรากฏเป็นอัศจรรย์แก่ดีฉัน แล้วตรัสคาถาว่า

ความอัศจรรย์ย่อมแจ่มแจ้งแก่ดีฉัน เพราะได้เห็นลูกรักอยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว บริโภคอาหารเช่นนี้ เหตุไรจึงมีผิวพรรณผ่องใส.

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 64

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกกํ ความว่า ลูกรัก ความอัศจรรย์ปรากฏแก่ดีฉัน เพราะได้เห็นเธออยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโภชนะนี้. บทว่า อีทิสํ ความว่า พระราชาตรัสถามพระมหาสัตว์ว่า ผู้บริโภคโภชนะไม่มีรสเค็ม ไม่เปรี้ยว ไม่มีการปรุงรส ผสมน้ำ เห็นปานนี้ เหตุไรจึงมีผิวพรรณผ่องใส.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะทูลตอบแด่พระราชา จึงตรัสว่า

มหาบพิตร อาตมภาพนอนผู้เดียวบนเครื่องลาดใบไม้ที่ปูลาดไว้ เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส กองรักษาทางราชการที่ผูกเหน็บดาบของอาตมภาพไม่มี เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ตามเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ปรารถนาถึงอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส คนพาลทั้งหลายย่อมเหี่ยวแห้ง เพราะเหตุ ๒ อย่างนั้น คือ เพราะปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง เพราะตามเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ดุจไม้อ้อที่ยังเขียวสด ถูกถอนทิ้งไว้ที่แดดฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนตฺตึ สพนฺธา ได้แก่ ผูกเหน็บพระขรรค์. บทว่า ราชรกฺขา ได้แก่ พระราชาทรงรักษา. บทว่า นปฺปชปฺปามิ แปลว่า ไม่ปรารถนา. บทว่า หริโต แปลว่า มีสีเขียวสด. บทว่า ลุโต ความว่า ราวกะว่าไม้อ้อที่ถูกถอนทิ้งไว้กลางแดด.

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 65

ลำดับนั้น พระราชามีพระดำริว่า เราจักอภิเษกลูกของเราในที่นี้แหละ แล้วพากลับไปพระนคร เมื่อจะเชิญพระมหาสัตว์ให้ครองราชสมบัติ จึงตรัสว่า

ลูกรัก ดีฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลราบ และกองพลผูกเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศอันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ และขอมอบนางสนมกำนัลในผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพแก่พ่อ พ่อจงปฏิบัติในนางเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดีฉันทั้งหลาย สตรี ๔ คนเป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษามาดีแล้ว จักทำให้ลูกรื่นรมย์ในกาม พ่อจักทำอะไรในป่า ดีฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่นที่ตกแต่งแล้วมาเพื่อพ่อ พ่อจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากๆ แล้วจึงผนวชต่อภายหลัง พ่อยังเยาว์เป็นหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย มีเกศาดำสนิท จงครองราชสมบัติเถิด ขอพ่อจงเจริญ จักทำอะไรในป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถานีกํ ความว่า ช้างโขลงใหญ่ตั้งแต่ ๑๐ เชือกขึ้นไป ชื่อว่ากองพลช้าง กองพลรถก็อย่างนั้น. บทว่า จมฺมิโน ได้แก่ กองทหารกล้าตายสวมเกราะ. บทว่า กุสลา แปลว่า ผู้ฉลาด. บทว่า สุสิกฺขิตา ความว่าเป็นผู้ได้รับการศึกษาดีในหน้าที่ของหญิงแม้อื่นๆ. บทว่า จตุริตฺถิโย ได้แก่ หญิงงามมีเสน่ห์ ๔ คน อีกอย่างหนึ่ง หญิงชาวเมือง ๔ คน อีกอย่างหนึ่ง หญิงฟ้อนรำ ๔ คน. บทว่า ปฏิราชูหิ กญฺา ความว่า ลูกรัก พ่อจักนำราชกัญญาอื่นๆ แต่พระราชาอื่นๆ มาให้ลูก.

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 66

บทว่า ยุวา ได้แก่ ถึงความเป็นหนุ่ม. บทว่า ทหโร แปลว่า หนุ่ม. บทว่า ปมุปฺปตฺติโต ความว่า เกิดขึ้น คือ ขึ้นต้นโดยปฐมวัย. บทว่า สุสู ความว่า ยังหนุ่มแน่นมีเกศาดำขลับ.

ตั้งแต่นี้ไป เป็นธรรมกถาของพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์เมื่อทรงแสดงธรรมถวายพระราชา ตรัสว่า

คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม การบรรพชาควรเป็นของคนหนุ่ม ข้อนั้นท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลายสรรเสริญแล้ว คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของท่านทั้งหลาย เรียกมารดาบิดาซึ่งเป็นบุตรที่รักอันได้มาโดยยาก ยังไม่ทันแก่ก็ตายเสียแล้ว อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นเด็กหญิงที่สวยงามน่าชม สิ้นชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ยังอ่อนที่ถูกถอนฉะนั้น จริงอยู่ นรชนจะเป็นชายหนุ่มหรือหญิงสาวก็ตาม ตายทั้งนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตว่า เรายังหนุ่มอยู่ อายุของคนเราเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้ สัตวโลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เดินไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม.

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 67

พระราชาตรัสถามว่า

สัตวโลกถูกอะไรครอบงำไว้ และถูกอะไรห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเป็นไปอยู่ ดีฉันถามแล้ว พ่อจงบอกข้อนั้นแก่ดีฉัน.

พระมหาสัตว์ตรัสว่า

สัตวโลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความแก่ห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์คือคืนวันเป็นไปอยู่ มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหฺมจารี ยุวา สิยา ความว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ควรเป็นคนหนุ่มทีเดียว. บทว่า อิสีภิ วณฺณิตํ ความว่า ท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว คือชมเชยแล้ว. บทว่า รชฺเชนมตฺถิโก ความว่า อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ. บทว่า อมฺมตาต วทนฺนรํ ได้แก่ ซึ่งนระผู้เรียกว่า แม่จ๋า พ่อจ๋า. บทว่า ปลุตฺตํ ความว่า ถูกความตายถอนขึ้นยึดไว้. บทว่า ยสฺส รตฺยาธิวาเสน ความว่า มหาบพิตร ตั้งแต่เวลาที่เด็กถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา อายุก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคืนวันล่วงไปๆ. บทว่า โกมาริกํ ตหึ

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 68

ความว่า ในวัยนั้น ความเป็นหนุ่มจักทำอะไรได้. บทว่า เกนมพฺภาหโต ความว่า โลกนี้ถูกอะไรครอบงำไว้ พระราชาไม่ทรงทราบเนื้อความของคำที่กล่าวไว้โดยย่อ จึงตรัสถามข้อนี้. บทว่า รตฺยา แปลว่า ราตรีทั้งหลาย มหาบพิตร ราตรีทั้งหลายย่อมทำอายุ วรรณะ และพละของสัตว์เหล่านี้ให้สิ้นไป เป็นไปอยู่ ดังนั้นพึงทราบว่า ชื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่. บทว่า ย ํ ยํ เทโว ปวุยฺหติ ความว่า ในผ้าที่กำลังทออยู่ เมื่อทำส่วนที่เหลือซึ่งจะต้องทอนั้นๆ ให้เต็ม ย่อมเหลืออยู่น้อย ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น. บทว่า น ปริวตฺตติ ความว่า น้ำที่ไหลไปเรื่อยๆ อยู่ในขณะนั้น ย่อมไม่ไหลไปในที่สูง. บทว่า วเห รุกฺเข ปกุลเช ความว่า พึงพัดพาต้นไม้ทั้งหลายที่เกิดใกล้ฝั่งไป.

พระราชาทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ไม่ทรงคิดผูกพันด้วยการครองเรือน มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช ตรัสว่า เราจักไม่ไปพระนครอีก จักบรรพชาในที่นี้แหละ ถ้าลูกของเราไปพระนคร เราจะให้เศวตฉัตรแก่เขา ดังนี้ เพื่อจะทรงทดลองพระมหาสัตว์ จึงตรัสเชื้อเชิญด้วยราชสมบัติอีกว่า

ลูกรัก ดีฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลราบ และกองพลผูกเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศอันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ และขอมอบนางสนมกำนัลใน ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพแก่พ่อ พ่อจงปฏิบัติในนางเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดีฉันทั้งหลาย สตรี ๔ คนเป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษามาดีแล้ว จักทำ

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 69

ให้ลูกรื่นรมย์ในกาม พ่อจะทำอะไรในป่า ดีฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ที่ตกแต่งแล้วมาเพื่อพ่อ พ่อจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากๆ แล้วจึงผนวชต่อภายหลัง ลูกรัก ดีฉันขอให้ฉางหลวง พระคลัง พาหนะ และกองพลทั้งหลาย ตลอดถึงพระราชนิเวศ อันเป็นที่รื่นรมย์แก่พ่อ พ่อจงแวดล้อมด้วยราชกัญญาอันงดงามเป็นปริมณฑล มีหมู่บริจาริกานารีห้อมล้อม จงครองราชสมบัติเถิด ขอพ่อจงเจริญ จักทำอะไรในป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โคมณฺฑลปริพฺยุฬฺโห ความว่า มีเหล่าราชกัญญาผู้สวยงามห้อมล้อมเป็นวง.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อประกาศความที่พระองค์ไม่ต้องการราชสมบัติ ตรัสว่า

มหาบพิตร จะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจักตายเพราะภริยาทำไม ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องแก่ ทำไมจะต้องให้ชราครอบงำ ในโลกสันนิวาสซึ่งมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จะเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภริยาแก่อาตมภาพ มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก มัจจุราชย่อมไม่ประมาทในอาตมภาพผู้

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 70

รู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลเมื่อถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว จะยินดีไปทำไม จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมเกิดภัยแต่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว ย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเช้า บางพวกพอตกเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น บางพวกพอถึงเวลาเช้าก็ไม่เห็นกัน ภูมิประเทศที่ตั้งกองช้าง กองรถ กองราบ ย่อมไม่มีในสงความคือมรณะนั้น ไม่อาจจะต่อสู้เอาชัยชนะต่อมฤตยู ด้วยเวทมนต์ หรือยุทธวิธี หรือสินทรัพย์ได้ มฤตยูมิได้เว้นกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว ควรรีบทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะพึงรู้ว่าตายพรุ่งนี้ เพราะความผัดผ่อนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับไปเถิด อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชิยฺเยถ ความว่า มหาบพิตร พระองค์ทรงเชื้อเชิญอาตมภาพเหตุทรัพย์ทำไม ทรัพย์ซึ่งสิ้นไปย่อมละเสียซึ่งบุคคล บางทีบุคคลย่อมละเสียซึ่งทรัพย์ไป แม้สิ่งทั้งปวงก็ย่อมถึงความสิ้นไปทั้งนั้น พระองค์ทรงเชื้อเชิญอาตมภาพเหตุทรัพย์ทำไม. บทว่า กึ ภริยาย มริสฺสติ

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 71

ความว่า เมื่ออาตมภาพยังดำรงอยู่ ภรรยาก็จักตาย เมื่อภรรยานั้นยังดำรงอยู่ แม้อาตมภาพก็จักตาย พระองค์จักทำอะไรด้วยภรรยานั้น. บทว่า ชิณฺเณน ความว่า อันชราห้อมล้อมครอบงำ. บทว่า ตตฺถ ความว่า ในโลกสันนิวาส ซึ่งมีชราและมรณะเป็นธรรมดา. บทว่า กา นนฺทิ ความว่า จะยินดีไปทำไม. บทว่า กา ขิฑฺฑา ความว่า จะเล่นไปทำไม. บทว่า กา รติ ความว่า จะยินดีในกามคุณห้าไปทำไม. บทว่า พนฺธนา ความว่า เพราะข่มไว้ได้ด้วยฌาน พระมหาสัตว์จึงตรัสอย่างนี้ว่า มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกคือกาม หรือจากเครื่องผูกคือตัณหา. บทว่า มจฺจุ เม ความว่า มัจจุราชไม่ประมาทในเรา. บทว่า นปฺปมชฺชสิ ความว่า เป็นผู้ไม่ประมาทเพื่อจะฆ่าอาตมภาพเป็นนิจเลย. บทว่า โยหํ. ความว่า อาตมภาพทราบอย่างนี้. บทว่า อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส ความว่า เมื่ออาตมภาพถูกความตายครอบงำคือหยั่งลงแล้ว จะยินดีแสวงหาทรัพย์ไปทำไม. บทว่า นิจฺจํ ความว่า ภัยแต่มรณะย่อมเกิดขึ้นในกาลทั้งปวง จำเดิมแต่กาลที่เป็นกลละ. บทว่า อาตปฺปํ ได้แก่ ความเพียรในกุศลกรรม. บทว่า กิจฺจํ แปลว่า พึงกระทำ. บทว่า โก ชญฺา มรณํ สุเว ความว่า ใครจะรู้ว่า จะเป็นจะตายในวันพรุ่งนี้ หรือวันมะรืนนี้. บทว่า สงฺครํ ได้แก่ กำหนด. บทว่า มหาเสเนน ความว่า ผู้มีเสนามาก มีมหาภัย ๒๕ กรรมกรณ์ ๓๒ และโรค ๙๖ เป็นต้น. บทว่า โจรา ธนสฺส ปตฺเถนฺติ ความว่า โจรทั้งหลายเมื่อสละชีวิตเพื่อต้องการทรัพย์ ชื่อว่าปรารถนาทรัพย์. บทว่า ราช มุตฺโตสฺมิ ความว่า มหาบพิตร อาตมภาพพ้นแล้ว จากเครื่องผูกกล่าวคือความปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพไม่ต้องการทรัพย์. บทว่า นิวตฺตสฺสุ ความว่า ขอมหาบพิตรทรงกลับพระหฤทัยโดยชอบตามคำของอาตมภาพ มหาบพิตรจงละราชสมบัติทรงผนวช ทำเนกขัมมคุณให้เป็นที่พึ่ง

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 72

จะมีดีหรือ อนึ่ง มหาบพิตรอย่าได้มีพระราชดำริถึงเรื่องที่มหาบพิตรได้มีพระราชดำริไว้นั้นว่า เราจะให้ลูกของเราคนนี้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ.

ธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์ ชื่อว่า ยถานุสนธิ จบลงด้วยประการฉะนี้.

นางสนมหมื่นหกพันคน และประชาชนมีเหล่าอมาตย์เป็นต้น นับตั้งแต่พระราชาและพระนางจันทาเทวีเป็นต้น ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ได้มีความประสงค์จะบรรพชาในคราวนั้น ครั้งนั้น พระราชาโปรดให้ตีกลองประกาศในพระนครว่า ชนใดๆ ปรารถนาจะบวชในสำนักของลูกเรา ชนนั้นๆ จงบวชเถิด และโปรดให้เปิดประตูพระคลังทองเป็นต้นทั้งหมด แล้วให้จารึกในแผ่นทองผูกไว้ที่เสาท้องพระโรงว่า หม้อขุมทรัพย์ใหญ่มีอยู่ในที่โน้นด้วยในที่โน้นด้วย ผู้ที่ต้องการจงถือเอาเถิด ฝ่ายชาวพระนครทั้งหลาย ก็ละทิ้งร้านตลาดตามที่เปิดเสนอขายของกัน และทิ้งบ้านเรือนซึ่งเปิดประตูไว้ ไปสู่สำนักแห่งพระราชา พระราชาทรงผนวชในสำนักของพระมหาสัตว์ พร้อมด้วยประชาชนเป็นจำนวนมาก อาศรมสถานสามโยชน์ที่ท้าวสักกเทวราชถวาย เต็มไปหมด พระมหาสัตว์ทรงพิจารณาบรรณศาลาทั้งหลาย ทรงมอบบรรณศาลาทั้งหลายในที่ท่ามกลางแก่เหล่าสตรี เพราะเหตุไร เพราะสตรีเหล่านี้เป็นคนขลาด พระมหาสัตว์ทรงพิจารณาแล้วทรงมอบบรรณศาลาหลังนอกๆ แก่เหล่าบุรุษ บรรพชิตชายหญิงทั้งหมดเก็บผลไม้ ที่ต้นไม้มีผลทั้งหลาย อันพระวิสสุกรรมเนรมิตไว้ ซึ่งหล่นลงที่พื้นดิน ในวันรักษาอุโบสถ มาบริโภคแล้วเจริญสมณธรรม บรรดาบรรพชิตเหล่านั้น ผู้ใดตรึกกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก พระมหาสัตว์ทรงทราบวารจิตแห่งผู้นั้น เสด็จประทับนั่งแสดงธรรมสั่งสอนในอากาศ บรรพชิตเหล่านั้นทั้งหมด

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 73

ฟังพระโอวาทนั้นแล้ว ทำอภิญญาห้าและสมาบัติ (แปด) ให้เกิดพลันทีเดียว

กาลนั้น กษัตริย์สามนตราชองค์หนึ่งทรงสดับว่า ได้ยินว่า พระเจ้ากาสิกราชทรงผนวชแล้ว จึงทรงคิดว่า เราจักยึดเอาราชสมบัติในกรุงพาราณสีเสีย จึงเสด็จออกจากพระนคร (ของพระองค์) ถึงกรุงพาราณสี เสด็จเข้าสู่พระนคร ทอดพระเนตรเห็นพระนครซึ่งตกแต่งไว้ จึงเสด็จขึ้นพระราชนิเวศ ทอดพระเนตรดูรัตนะอันประเสริฐเจ็ดประการ ทรงจินตนาการว่า ภัยอย่างหนึ่งพึงมีเพราะอาศัยทรัพย์นี้ รับสั่งให้เรียกพวกนักเลงสุรามาตรัสถามว่า แน่ะ พ่อนักดื่มทั้งหลาย ในพระนครนี้ มีภัยเกิดขึ้นแก่พระราชาผู้เป็นเจ้านายของพวกท่านหรือ.

พวกนักเลง. ไม่มีพระเจ้าข้า.

กษัตริย์สามนตราช. ตรัสถามว่า เพราะเหตุไร.

ก็ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เตมิยกุมารผู้เป็นโอรสของพระราชาของพวกข้าพระองค์ ทรงเห็นว่า จักครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีทำไม มิได้เป็นใบ้ก็แสร้งทำเป็นใบ้ เสด็จออกจากพระนครนี้เข้าป่าทรงผนวชเป็นฤๅษี เพราะเหตุนั้น แม้พระราชาของพวกข้าพระองค์พร้อมด้วยมหาชน ก็ได้เสด็จออกจากพระนครนี้ไปสำนักของเตมิยกุมาร ทรงผนวชแล้ว พระเจ้าสามนตราชตรัสถามว่า พระราชาของพวกเจ้าเสด็จออกทางประตูไหน เมื่อเขากราบทูลว่า เสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก เสด็จออกทางประตูนั้นเหมือนกัน ได้เสด็จไปตามฝั่งแน่น้ำ.

พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า พระเจ้าสามนตราชเสด็จมา ทรงต้อนรับแล้วประทับนั่งในอากาศแสดงธรรมแก่พระเจ้าสามนตราชนั้น พระราชาสามนตราชนั้น พร้อมด้วยบริษัท ทรงสดับธรรมแล้วทรงผนวชในสำนักของ

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 74

พระมหาสัตว์นั้น แม้พระราชาอื่นๆ อีกสามพระองค์ต่างก็ทรงละทิ้งราชสมบัติ ทรงผนวชแล้วอย่างนั้นนั่นแล ด้วยประการฉะนี้ ประเทศตรงนั้นได้เป็นมหาสมาคม ช้างทั้งหลายก็กลายเป็นช้างป่า ม้าทั้งหลายก็กลายเป็นม้าป่า แม้รถทั้งหลายก็ชำรุดทรุดโทรมไปในป่านั่นเอง ภัณฑะเครื่องใช้สอยและกหาปณะทั้งหลายก็เรี่ยรายเกลื่อน ดุจทรายที่ใกล้อาศรมสถาน บรรพชิตทั้งหมดนั้นทำสมาบัติแปดให้บังเกิดในที่นั้นเอง เมื่อสิ้นชีวิตได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แม้ช้างและม้าทั้งหลายซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังจิตให้เลื่อมใสในหมู่ฤๅษีทั้งหลาย ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้น.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราละราชสมบัติออกบวช แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ละราชสมบัติออกบวชเหมือนกัน ดังนี้แล้วทรงประกาศอริยสัจ ๔ แล้วประชุมชาดก เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เศวตฉัตรในกาลนั้น เป็นภิกษุณี ชื่ออุบลวรรณาในบัดนี้ นายสุนันทสารถีเป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกะเป็นพระอนุรุทธ์ พระชนกและพระชนนีเป็นมหาราชสกุล บริษัทนอกนี้เป็นพุทธบริษัท ส่วนบัณฑิตผู้ทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ย คือเราผู้สัมมาสัมพุทธนี่เองแล.

จบเตมิยชาดก