อิทธิบาท 4

 
nano16233
วันที่  28 ส.ค. 2562
หมายเลข  31136
อ่าน  2,422

อิธิบาท 4 มีความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้แสดงอิทธิบาท 4 แสดงแก่ใครบ้าง ผลเป็นอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ส.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ (ฉันทเจตสิก ที่เป็นไปในกุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา) วิริยะ (วิริยเจตสิก ความเพียรที่เป็นไปในกุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา) จิตตะ (จิตที่มีกำลัง ที่ประกอบด้วยปัญญา) และ วิมังสา (ปัญญาเจตสิก ที่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง)

ทั้ง ๔ ประการนี้ ต้องเป็นกุศล ที่เป็นขั้น สมถภาวนา ที่เป็นฌานขั้นต่างๆ และในขั้นวิปัสสนาภาวนาครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงกับผุ้อบรมสะสมปัญญามา มีพระสาวก เป็นต้น และ ผลคือ สำเร็จซึ่งกุศลมีฌานและวิปัสสนา ครับ

ความเพียรซึ่งเป็น สัมมัปปธาน ๔ นั้น ย่อมเป็นบาทให้สำเร็จผลร่วมกับสัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับสภาพธรรมที่เป็น อิทธิบาท ๔ คือ ..

๑. ฉันทิทธิบาท ได้แก่ ฉันทเจตสิก ความพอใจที่จะสังเกตพิจารณา รู้ลักษณะ ของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ๑ การยัง ผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยความพอใจนั้น พึงเห็นเช่นกันกับบุตรอำมาตย์ ผู้ไม่ประมาทในการบำรุงพระราชา จึงได้ฐานันดรโดยอาศัยการบำรุงนั้น

๒. วิริยิทธิบาท ได้แก่ วิริยเจตสิก ความเพียรที่จะสังเกต พิจารณา รู้ลักษณะ ของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ๑ การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดย อาศัยความเพียรนั้นพึงเห็นเช่นกับบุตรอำมาตย์ ผู้ยังพระราชาให้พอพระทัย โดยความเป็นผู้กล้าหาญในการงาน แล้วได้ฐานันดร

๓. จิตติทธิบาท ได้แก่ จิต ๒ การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยจิตนั้น พึง เห็นเช่นกันกับบุตรอำมาตย์ผู้ได้ฐานันดรเพราะความถึงด้วยดีแห่งชาติ

๔. วิมังสิทธิบาท ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ไตร่ตรอง สังเกต พิจารณาลักษณะ ของสภาพธรรม ๓ การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยปัญญานั้น พึงเห็น เช่นกับบุตรอำมาตย์ผู้ได้ฐานันดรเพราะอาศัยความรู้ บุตรอำมาตย์เหล่านั้นแม้ทั้งหมด ถึงแล้วซึ่งฐานันดรโดยกำลังแห่งภาวะอันเป็นที่อาศัย (โดยความสามารถ) ของตนๆ

อิทธิบาทเป็นเรื่องของปัญญาระดับสูง ดังนั้นจะต้องรู้ว่าจะอบรมอิทธิบาทด้วยจุดประสงค์ใดการจะถึงปัญญาระดับสูงได้ก็ต้องมีปัญญาเบื้องต้นก่อน หากไม่มีปัญญาเบื้องต้นแล้วก็ไม่สามารถถึงความเป็นอิทธิบาทได้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งปัญญาเบื้องต้นจะต้องเข้าใจว่าธรรมคืออะไร หากไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไรแล้ว อิทธิบาทคือความสำเร็จที่จะทำให้ถึงการบรรลุธรรมก็มีไม่ได้ เมื่อเริ่มเข้าใจธรรมคืออะไร และมีการอบรมปัญญาขั้นการฟังจนปัญญาสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นก็มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ มีวิมังสาที่เป็นปัญญาในขณะนั้นแล้ว ไม่ต้องไปพยายามทำอิทธิบาทแต่อบรมเหตุคือการฟังธรรมให้เข้าใจโดยเริ่มจากคำว่าธรรมคืออะไร เมื่อนั้นก็จะถึงความเป็นอิทธิบาทเองครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 ส.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด และที่สำคัญไม่ใช่เป็นเรื่องทำหรือเป็นเรื่องใช้ แต่ควรศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แม้แต่ธรรมในหมวดของอิทธิบาท ๔ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริง อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ สภาพธรรมที่พอใจเป็นไปในกุศลธรรม, วิริยะ ความเพียรเป็นไปในกุศลธรรม เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา, จิตตะ ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ วิมังสา คือ ปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง อิทธิบาททั้ง ๔ ประการ เป็นบาทหรือเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งความสำเร็จ ความสำเร็จในที่นี้หมายถึง สำเร็จเป็นฌานขั้นต่างๆ ถ้าเป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนาสามารถข่มกิเลสได้ แต่ไม่สามารถดับได้ และเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์ต่างๆ แต่ถ้าเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถทำให้บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ เพราะอิทธิบาททั้ง ๔ ประการนั้น เป็นฝักฝ่ายในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นธรรมขั้นสูงที่จะต้องเริ่มสะสมอบรมตั้งแต่เบื้องต้นด้วยการสะสมปัญญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nano16233
วันที่ 29 ส.ค. 2562
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 1 โดย paderm ขอบคุณสำหรับคำตอบ

ผมกำลักศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ครับ ผมรู้สึกชอบหลักธรรมนี้มาก จึงนำไปทำวิจัยเรื่อง "ศึกษาวิเคราะห์การปกครองตามหลักอิทธิบาท 4 ของผู้บริหารเทศบาล ในเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" เลยจะมาขอคำแนะนำ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 4 ก.ย. 2562

ธรรมะไม่ใช่เพียงเรียนรู้ชื่อ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าแม้ขณะนี้ก็มีธรรมะ เช่น เห็นมีจริง เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ