จารสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒

 
มศพ.
วันที่  23 ต.ค. 2562
หมายเลข  31249
อ่าน  1,027

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒

คือ

จารสูตร

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๔


๑. จารสูตร

(ว่าด้วยภิกษุไม่ละวิตก ๓ อย่าง)

[๑๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับก็ดี กามวิตก หรือ พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก เกิดขึ้นและภิกษุรับเอาวิตกนั้นไว้ ไม่ละ ไม่ถ่ายถอน ไม่ทำให้สิ้นให้หายไปเสีย ภิกษุเดินอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี ยืนอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นั่งอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับเป็นอย่างนี้ก็ดี เราเรียกว่า ผู้ไม่มีอาตาปะ (ความเพียรอันแรงกล้า) ไม่มีโอตตัปปะ (ความสะดุ้งกลัวบาป) เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรอันต่ำทรามอยู่เนืองนิตย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับก็ดี กามวิตกหรือพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้น แต่ภิกษุไม่รับเอาวิตกนั้นไว้ ละเสียถ่ายถอนเสีย ทำให้สิ้นให้หายไปเสีย ภิกษุเดินอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี ยืนอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นั่งอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับเป็นอย่างนี้ก็ดี เราเรียกว่า ผู้มีอาตาปะ มีโอตตัปปะ มีความเพียรอันปรารภแล้ว ตั้งใจมั่นคงเป็นเนืองนิตย์

(พระคาถา)

ภิกษุใด เดินอยู่ หรือยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ ตรึกวิตก อันเป็นบาป อันอาศัยเรือน ภิกษุนั้นชื่อว่าดำเนินทางผิด สยบอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ภิกษุเช่นนั้น ไม่ควรเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม

ภิกษุใด เดินอยู่หรือยืนอยู่ นั่งอยู่หรือนอนอยู่ สงบระงับวิตก (อันเป็นบาป) ยินดีในทางสงบระงับวิตกแล้ว

ภิกษุเช่นนั้น ย่อมอาจเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ อันอุดม.

จบจารสูตรที่ ๑



อรรถกถาจารสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจารสูตรที่ ๑ แห่งจรวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อธิวาเสติ ได้แก่ ยกขึ้นไว้ให้อยู่ในจิต (คือพักไว้)

บทว่า น ปชหติ ได้แก่ ไม่สละ

บทว่า น วิโนเทติ ได้แก่ ไม่นำออก

บทว่า น พฺยนฺตีกโรติ ได้แก่ ไม่ทำให้สิ้นสุด คือตัดหนทาง

บทว่า น อนภาวํ คเมติ ได้แก่ ไม่ทำให้ถึงความไม่มี ไม่เจริญ คือย่อยยับไป

บทว่า จรมฺปิ คือ แม้เดินอยู่

บทว่า อนาตาปิ คือ ไม่มีความเพียร

บทว่า อโนตฺตาปิ คือ เว้นจากความกลัวการตำหนิติเตียน

บทว่า สตตํ คือ เป็นนิตย์

บทว่า สมิตํ คือ ไม่มีระหว่าง

ผู้ศึกษาทราบความในทุกบทอย่างนี้แล้ว พึงทราบความตามปริยายที่กล่าวไว้แล้วในสุกกปักษ์ฝ่ายธรรมขาว

ในคาถา พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า เคหนิสฺสิตํ ได้แก่ อาศัยกิเลส

บทว่า โมหเนยฺเยสุ ได้แก่ ในอารมณ์ที่ให้เกิดความหลง

บทว่า อภพฺโพ ได้แก่ ไม่เป็นดังภาชนะที่รองรับ

บทว่า ผุฏฺฐํ สมฺโพธิมุตฺตมํ ได้แก่ เพื่อสัมผัสอุดมญาณ กล่าวคือ พระอรหัต

จบ อรรถกถาจารสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 ต.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

จารสูตร

ว่าด้วยภิกษุไม่ละวิตก ๓ อย่าง

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ว่า เมื่อภิกษุเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับก็ดี เมื่อกามวิตก หรือพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก เกิดขึ้นครอบงำ แล้ว ไม่ละ ไม่ถ่ายถอน ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียรอย่างแรงกล้า ไม่มีความสะดุ้งกลัวบาป เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรอันทรามอยู่เนืองนิตย์

ในทางตรงกันข้าม เมื่อภิกษุเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับก็ดี เมื่อกามวิตกหรือพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้น ก็ละ ถ่ายถอน ย่อมชื่อว่า เป็นผู้มีความเพียรอย่างแรงกล้า มีความสะดุ้งกลัวบาป มีความเพียร และตั้งใจมั่นคงเป็นเนืองนิตย์

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

อกุศลวิตก

ขยะในใจ

กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก [สังคีติสูตร]

กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก

ปัญญาไม่สามารถเจริญขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น

การทำความเพียรในพระพุทธศาสนา เพื่อการบรรลุธรรม

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kullawat
วันที่ 24 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ