อยากขอความกระจ่างของคำว่าอาสภิวาจา

 
Natcharee
วันที่  25 มี.ค. 2563
หมายเลข  31662
อ่าน  734

เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสคำพูดแรกของท่าน ฟังแล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เหมือนท่านโอ้อวดว่าตัวท่านเองยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่พูดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่แต่อย่างใด แค่สงสัยข้องใจในฐานะที่เป็นผู้เริ่มสนใจในพุทธประวัติค่ะ

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำพูดเกิดขึ้นเพราะจิต และ จิตที่พูด แม้คำเดียวกันแต่จิตก็ต่างกันได้ ตามการสะสมว่าจะพูดด้วยกุศลจิต อกุศลจิต อาสภิวาจา คือ วาจาที่สูงสุด อย่างเช่น ในตัวอย่างเมื่อพระโพธิสัตว์แรกทรงประสูติ ทรงเปล่งอาสภิวาจาที่ว่า

เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีต่อไปดังนี้

พระโพธิสัตว์ตรัสด้วยวาจาสูงสุด ที่กล่าวด้วยความจริงว่าพระองค์เลิศที่สุด และ พระองค์จะไม่เกิดอีกด้วยพระปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริง อันกล่าวเพื่อให้สัตว์โลกเกิดความเลื่อมใสและอนุเคราะห์บุคคลที่ได้ฟังแล้ว สะสมปัญญาความเข้าใจถูกมา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศ และ เลื่อมใส เห็นค่าว่าบุคคลที่เกิดมานับชาติไม่ถ้วน แต่ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย มิได้กล่าวด้วยความโอ้อวด แต่ทรงแสดงความจริงและเพื่อปลูกความเลื่อมใสศรัทธากับผู้สะสมปัญญามาครับ

ซึ่งถ้าได้อ่านประวัติพระสาวก เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระอนุรุทธะ ท่านก็กล่าววาจาสูงสุด แสดงถึงความที่ท่านอบรมปัญญา อบรมสติปัฏฐานจนท่านสิ้นกิเลส เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเหล่านั้นกล่าววาจานี้ แสดงถึงความจริงที่ท่านสิ้นกิเลสแล้ว ไม่ได้โอ้อวด นี่แสดงถึง คำพูดเดียวกัน ของปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส กับ ผู้มีปัญญาย่อมแตกต่างกันครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เมื่อประสูติขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ นั้น เป็นความจริง คำที่พระองค์ตรัส ไม่มีโทษแต่ประการใด เกิดจากสภาพจิตที่ดีงาม ถ้าเป็นผู้ไม่ได้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ได้ยินแล้วก็ผ่านไป แต่ความจริงแล้ว ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แสดงถึงความเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุดด้วยพระปัญญาและพระมหากรุณาที่ไม่มีผู้ใดเปรียบได้เลย

ก่อนที่พระองค์จะได้ทรงตรัสรู้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน มีชีวิตที่เป็นไปเพื่อการสะสมคุณความดีประการต่างๆ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด พระปัญญาที่พระองค์ได้สะสมอบรมมาพร้อมกับกุศลที่เป็นบารมีประการต่างๆ เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้พระองค์ได้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งจากการเสด็จอุบัติขึ้นในโลกของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน จากที่สัตว์โลกเป็นผู้มืดมิดไปด้วยอวิชชาและกิเลสประการต่างๆ ก็สามารถได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง พ้นจากความมืดที่เป็นความไม่รู้และกิเลสประการต่างๆ ได้ตามระดับขั้นของปัญญาของแต่ละบุคคล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ต้องเป็นผู้มีศรัทธา สะสมการฟังพระธรรมมาแล้วในอดีต จึงทำให้มีความสนใจที่จะฟังที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นต่อไป แต่ถ้าเป็นบุคคลนอกจากนี้ ที่ไม่มีศรัทธา ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการอุบัติขึ้นในโลกและจากการแสดงพระธรรมของพระองค์ แม้ขณะนี้พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เข้าใจธรรมและแสดงธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็ยังมีอยู่ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมาที่จะได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป พระธรรม ต้องศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ จึงจะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องได้ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.ย. 2565

ขอเชิญรับฟังและอ่านเพิ่มเติม...

ข้อความต่อไปมีว่า

ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ก็เอาผ้าขนสัตว์ที่มีสัมผัสอันสบายซึ่ง สมมติกันว่าเป็นมงคล รับจากพระหัตถ์ของท้าวมหาพรหม ซึ่งยืนรับพระโพธิสัตว์นั้นไว้ด้วยข่ายทอง พวกมนุษย์ก็เอาเบาะผ้าเนื้อดีรับจากพระหัตถ์ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น พระโพธิสัตว์พ้นจากมือมนุษย์ ก็ยืนที่แผ่นดิน มองดูทิศบูรพา เทวดาและมนุษย์ในที่นั้นก็ทูลว่า

ข้าแต่มหาบุรุษ ผู้ที่เสมือนกับพระองค์ในที่นี้ไม่มี ผู้ที่จะยิ่งกว่าจะมีแต่ที่ไหน

พระโพธิสัตว์ทรงเหลียวดูทิศทั้ง ๑๐ ทิศ ไม่เห็นผู้ที่เสมือนกับพระองค์ จึงบ่ายพระพักตร์สู่ทิศอุดร ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว และเมื่อดำเนินไป ก็ดำเนินไปบนแผ่นดินนั่นแหละ มิใช่ดำเนินไปในอากาศ

ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์วงศ์ พระโคตมพุทธเจ้า ที่ ๒๕ มีว่า แต่ปรากฏแก่มหาชนเหมือนดำเนินไปทางอากาศ เหมือนประดับตกแต่งพระองค์ และเหมือนมีอายุ ๑๖ ขวบ แต่นั้นย่างก้าวที่ ๗ ก็ทรงหยุด เมื่อทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส ดังนี้เป็นต้น

ทรงเปล่งสีหนาท

ในสมัยที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ณ ลุมพินีวันนั้น พระเทวีมารดาพระราหุล คือ พระนางยโสธราพิมพา ท่านพระอานนท์ ท่านพระฉันนะ ท่านกาฬุทายีอำมาตย์ พระยาม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิพฤกษ์ และหม้อขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ก็เกิด เหล่านี้ชื่อว่า สหชาติทั้ง ๗

ครั้งนั้น ในวันที่ ๕ พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามพระโพธิสัตว์ว่า "สิทธัตถะ" เพราะทรงทำความสำเร็จประโยชน์แก่โลกทั้งปวง

พระราชาพระราชทานพระพี่เลี้ยงนางนม ๖๔ นาง ผู้ปราศจากโรคทุกอย่าง ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติอย่างยิ่งแด่พระมหาบุรุษ พระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยด้วยบริวารไม่มีที่สุด ด้วยพระสิริยยศใหญ่ยิ่ง

ที่มา ... คลิกที่นี่

และอ่านเพิ่มเติม ...

พุทธประวัติ บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ