การทำสัมมาสมาธิในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำอย่างไร

 
wiwatvn
วันที่  15 เม.ย. 2563
หมายเลข  31741
อ่าน  1,513

เรียนท่านผู้รู้ เท่าที่อ่านในเวปนี้หลายหัวข้อ ทราบว่าเราควรปฎิบัติสัมมาสมาธิในการใช้ชีวิตประจำวัน ดีกว่าไปนั่งสมาธิ ผมอยากขอความรู้ว่า

1. วิธีการทำสัมมาสมาธิในการใช้ชีวิตประจำวันนั้นทำอย่างไร รบกวนยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดและจะได้นำไปปฎิบัติตามได้

2. ในการปฎิบัติสัมมาสมาธิในชีวิตประจำวันนั้น จะเกิด วิกตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกักตาหรือไม่ และถ้าทำต่อเนื่องจะเกิดณาณ 1 , 2, 3 และ 4 หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนา เพราะเป็นผู้มีปัญญาเห็นโทษในการติดข้องในชีวิตประจำวัน เห็นโทษในการยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งทีก่ระทบสัมผัส แต่ผู้ที่ไม่มีปัญญา แต่ถูกความต้องการ ความติดข้องนำไป ก็มีความอยากสงบ อยากจะไม่วุ่นวาย จึงแสวงหาวิธีที่จะทำให้สงบ ขณะนั้นติดข้องที่อยากจะไม่วุ่นวาย ไม่ได้มีปัญญาเห็นโทษของการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสในชีวิตประจำวัน นี่คือความต่างกันของการไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง กับ การได้ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างละเอียด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเชือ่ใคร ที่ใครบอกให้ทำ ก็ทำ โดยไม่มีปัญญาของตนเอง แม้แต่คำว่า สมาธิคืออะไร สมถภาวนาคืออะไร และแม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไร ดังนั้น ชาวพุทธที่ถูกต้องคือรับมรดกของพระพุทธเจ้าด้วยการฟังพระธรรมให้เกิดปัญญาให้ถูกต้อง ไม่ใช่การจะทำอะไรโดยไม่ศึกษาพระธรรม ทำตามคำบอกของผู้ใดผู้หนึ่ง

ซึ่งก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจตั้งแต่คำว่า สมาธิ ว่าสมาธิ คือ อะไร? สมาธิเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมหนึ่งที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่มีเว้น ดังนั้น ทุกขณะมีสมาธิเกิดแน่นอน แต่ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดกับกุศล ก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเป็นความถูกต้อง ในขณะที่เป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ

และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ อกุศลสมาธิ เช่น การนั่งสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปกับด้วยความต้องการ อยากจะสงบ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ความสงบ เป็นเรื่องของกุศลธรรม อกุศลสมาธิไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป

ในสมัยพุทธกาล อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นเพศฆราวาส ไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตผิดปกติ เพราะท่านเข้าใจว่า ธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การเจริญอบรมปัญญา ความสงบจึงไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติโดยการนั่งสมาธิ แต่ท่านเข้าใจถูกและอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน และก็ทำกิจการงาน ดังเช่น คฤหัสถ์ในปัจจุบันด้วย ดังเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่เป็นพ่อค้า และ เป็นอริยสาวก และ อบรมปัญญาเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน มีการให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา โดยไม่ได้ไปปลีกวิเวก หาที่นั่งสงบเลย เพราะ ความสงบ คือ จิตใจที่เป็นกุศลที่เกิดได้ในชีวิตประจำวันเพราะจิตที่ดีสงบ ไม่ได้เลือก

ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสมาธิ ในสมัยพุทธกาลว่า สมาธิ มี สองอย่าง คือ สัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ สมาธิใดที่เป็นความตั้งมั่น ที่ไม่ได้หมายถึง จะต้องไปนั่งสมาธิ แต่ขณะแม้เพียงขณะจิตเดียวก็มีสมาธิ แต่เป็นความตั้งมั่น ขณะจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยที่รู้ความจริงที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้นก็มีสมาธิด้วย และเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็น สมาธิที่ควรเจริญ

ส่วนการกระทำที่ได้แต่ความนิ่ง ไม่ทำให้เกิดปัญญาความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าเป็น มิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะเกิดกับอกุศลจิต มี โลภะ และโมหะ เป็นต้น คือ มีความต้องการที่จะทำ อยากที่จะสงบ อันเป็นความต้องการที่เป็นโลภะ และขณะที่นิ่งก็ไม่รู้อะไร ขณะนั้นก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมิจฉาสมาธิว่าไม่ควรเจริญ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ เรื่อง ต้องทำสมาธิก่อนจึงจะเจริญวิปัสสนาได้

คลกิที่กระทู้ข้างล่าง ครับ

ถ้าเราไม่ได้บรรลุฌานชั้นสูงๆ จะเจริญปัญญาเพื่อให้ถึงซึ่งมรรคแลผลจะได้ไหม?

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรที่จะได้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่า สมาธิ เป็นธรรมที่มีจริง สมาธิเป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง สมาธิแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มิจฉาสมาธิ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ มิจฉาสมาธิ คือเอกัคคตาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต สัมมาสมาธิ เป็นเอกัคคตาที่เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดี

สัมมาสมาธิมีหลายระดับ คือสมาธิที่เป็นไปในวัฏฏะและสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ,สมาธิที่เป็นฌานระดับขั้นต่างๆ มีปฐมฌาน เป็นต้น เพียงเพื่อสงบระงับกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ เป็นต้น และทำให้เกิดในพรหมโลกเท่านั้นไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้พระพุทธองค์ทรงสอนให้สาวกทั้งหลายเจริญสมาธิที่เกิดร่วมกับองค์มรรค เป็นสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีสมาธิเกิดร่วมด้วยทุกขณะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น จนมีกำลังย่อมเป็นการทำกิจร่วมกันในอริยมรรค

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงสำคัญตั้งแต่เบื้องต้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ เพราะสิ่งที่ควรรู้ควรศึกษานั้นมีมาก ไม่ใช่เฉพาะสมาธิเท่านั้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wiwatvn
วันที่ 15 เม.ย. 2563

ขอพระคุณนะครับที่ให้ความรู้

แต่ผมอาจจะยังเป็นผู้ใหม่ จึงยังไม่เข้าใจชัดในความคิดเห็น จึงรบกวนขอความกระจ่างอีกครั้งในคำถามที่ผมถามนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 15 เม.ย. 2563

เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ

พระธรรมเป็นสิ่งที่ยากลึกซึ้งครับ เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เพียงอ่านฟังไม่มากจะเข้าใจได้ทันทีครับ ดังนั้นขอนำพระธรรมเพิ่มเติม บรรยายโดย อ.สุจินต์ สามารถรับฟังได้ ฟังบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจทีละน้อยครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

นั่งสมาธิเพื่ออะไร

สมาธิคืออะไร

เข้าใจสมาธิ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wiwatvn
วันที่ 16 เม.ย. 2563

จากการที่ได้ฟังคลิปที่ท่านลิงค์มาและความเห็นกระทู้ต่างๆ ในเวป

ผมเข้าใจว่า การฟังธรรม ใคร่ครวญในธรรม การทำสติปัฏฐาน จะทำให้เกิดสัมมาสมาธิ อย่างในการทำกายานุปัสนา มีสติอยู่กับกายหรือกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน แล้วพยายามมองให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตา เช่นเวลากินข้าว ก็สังเกตดูอาการต่างๆ แล้วมองให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ สัมมาสมาธิที่เกิดจะประกอบไปด้วยองค์สมาธิทั้ง ๕ หรือเปล่า

และถ้าทำไปเรื่อยๆ นานๆ จะเกิดณาณทััง ๔ ขั้นตามลำดับหรือเปล่าครับ เนื่องจากผมหาคำตอบในเวปต่างๆ ไม่มี เลยรบกวนถามความเห็นผู้รู้ในเวปนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 17 เม.ย. 2563

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

เชิญคลิกอ่านกระทู้นี้ มีคำอธิบายที่ละเอียดครับ

ถ้าเราไม่ได้บรรลุฌานชั้นสูงๆ จะเจริญปัญญาเพื่อให้ถึงซึ่งมรรคแลผลจะได้ไหม?

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ