สนทนาปัญหาสารพัน : กลุ่มศึกษาธรรมชาวต่างชาติ [Dhamma study group]
สนทนาปัญหาสารพัน : กลุ่มศึกษาธรรมชาวต่างชาติ [Dhamma study group]
รายการสนทนาปัญหาสารพันในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากตัวแทนของกลุ่มผู้ศึกษาพระธรรมชาวต่างชาติ [Dhamma study group] ๓ ท่าน ท่านแรก คุณโจนาธาน แอบบ๊อท (Jonothan Abbott) สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๙๓๑ ศึกษาพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายมาร่วม ๕๐ ปีแล้ว คุณโจนาธานทำงานทางด้านกฏหมายให้กับรัฐบาลฮ่องกง ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่ฮ่องกง ท่านต่อไปคือคุณแอน มาแชล (Ann Marshall) สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๙๒๙ ซึ่งก็ศึกษาพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายมาร่วม ๕๐ ปี แล้วเช่นกัน จากการที่ได้รู้จักกับคุณโจนาธานและคุณโจนาธานได้ชวนมาฟังท่านอาจารย์บรรยายที่วัดบวรนิเวศวิหาร ที่ห้องสมุด มหามกุฏราชวิทยาลัย ตรงข้ามวัดบวรฯ ทุกวันพุธตอนบ่าย คุณแอนเคยเป็นอาสาสมัครมาสอนหนังสือที่ประเทศไทยเมื่อราว ๕๐ ปีที่แล้ว และเคยทำงานทางด้านกฏหมาย ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา และท่านสุดท้าย คุณโรดริโก้ อัลดาน่า (Rodrigo Aldana) สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๔๑๘๑ มีธุรกิจส่วนตัวในประเทศเม็กซิโก ปัจจุบันเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและเม็กซิโก สำหรับคุณโรดริโก้ (คุณโรตี) แม้จะได้เคยพบกับท่านอาจารย์มาก่อนหน้านี้ราวสิบห้าปีที่แล้ว แต่เพิ่งหันมาศึกษาอย่างจริงจัง เมื่อราวสองปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ไปพากเพียรปฏิบัติมานานถึง ๑๕ ปี แล้วพบว่าไม่ได้เกิดมีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น คุณโรดริโก้ ยังเคยเป็นเจ้าของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดตราดมาแล้วอีกด้วย ทั้งยังได้กล่าวในรายการหลายครั้งว่า ตนเองโง่มาก ที่ไปเสียเวลา ทำเช่นนั้น
กลุ่มผู้ศึกษาพระธรรมชาวต่างชาติกลุ่มนี้ หลายท่านศึกษาพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายมาเป็นเวลานานแล้ว เช่นคุณโจนาธานและคุณแอน ได้เริ่มต้นศึกษาพระธรรมตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ท่านอาจารย์เริ่มบรรยายธรรมที่อาคารสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อเกือบ ๕๐ ปี ที่ผ่านมา และต่อมาคุณโจนาธาน และคุณซาร่าห์ แอบบ๊อท ก็ได้ดำเนินการก่อตั้ง กลุ่มศึกษาธรรม on – line และจัดการสนทนาธรรมทั้งในเวปไซต์ที่ตั้งขึ้น และการไปสนทนาธรรมตามสถานที่ต่างๆ กับเพื่อนๆ ต่างชาติจากทั่วโลก มากว่า 20 ปีแล้ว โดยมีสมาชิกที่เข้ามาร่วมกลุ่มสนทนาศึกษาพระธรรมมากมายจากหลายชาติ ในปัจจุบัน
ขอเชิญติดตามชมและฟังการสนทนาที่น่าสนใจดังกล่าวได้ในรายการสนทนาปัญหาสารพัน ตอน กลุ่มศึกษาธรรมชาวต่างชาติ ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้...
ข้อความบางตอนจากการสนทนา :
ผศ.อรรณพ วันนี้คงแปลกหน่อยนะครับ เพราะว่ารายการสนทนาปัญหาสารพันของเรา ได้รับเกียรติจากสหายธรรมชาวต่างชาติ ซึ่งท่านมีความสนใจ และมีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง ๓ ท่าน คุณแอน มาแชล คุณโจนาธาน แอบบ๊อท และคุณโรดริโก้ อัลดาน่า ไม่ทราบว่าท่านผู้ชมเห็นแขกรับเชิญทั้งสามท่าน พอจะเดาได้ไหมว่าท่านเป็นชาติใด ขอสนทนากับคุณแอนก่อนเลยครับ คุณแอนเป็นชาวอะไรครับ
คณแอน ชาวแคนาดาค่ะ
ผศ.อรรณพ ทำไมคุณแอนถึงได้มาสนใจพระพุทธศาสนา นานแล้วใช่ไหมครับ ช่วยเล่าให้พวกเราฟังด้วยครับ
คุณแอน ดิฉ้นมาเมืองไทยปี ๒๕๑๔ มาเป็นอาสาสมัครของแคนาดา ไปสอนหนังสือที่ฉะเชิงเทรา ตอนมาดิฉันไม่รู้เรื่องศาสนาพุทธ ไม่รู้อะไรเลย คิดว่าสนใจ ก็ได้ยินว่ามีแม่ชีเป็นคนฝรั่ง อยู่วัดใกล้ๆ กับศรีราชา ดิฉันไปหาเขา เขาสอนนั่งปฏิบัติธรรม ดิฉันพยายามทำ ไปพยายามทำ
ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไรเลย
คุณแอน ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้อะไร ไม่รู้เรื่องค่ะท่านอาจารย์ (หัวเราะ) ตอนนั้นพูดภาษาไทยไม่เป็น ก็มีแม่ชีเป็นคนอเมริกา พูดภาษาอังกฤษเก่งๆ ง่ายๆ นั่งปฏิบัติธรรมสักสองปีกว่า แล้วก็ได้รู้จักคุณโจนาธาน คุณโจนาธานเป็นคนที่ไปฟังท่านอาจารย์ที่วัดบวรฯ ดิฉันก็ไปฟังท่านอาจารย์ การนั่งปฏิบัติธรรมก็น้อยลงๆ ได้ฟังท่านอาจารย์แล้วก็คิดว่าอันนี้ดีๆ ก็กลับไปฟัง กลับไปฟัง
ผศ.อรรณพ แต่ก็ยังปฏิบัติอยู่
คุณแอน นิดหน่อย น้อยลงๆ แต่ยังทำอยู่ หลายเดือนต่อมาก็ไม่ทำอีกแล้ว
ท่านอาจารย์ แต่ว่าสองปีครึ่ง ใช่ไหม? ปฏบัติครั้งละกี่วัน หรืออย่างไร?
คุณแอน ทุกวัน ตอนเช้าค่ะ
ผศ.อรรณพ ไปที่สำนักปฏิบัติเขา หรือ...
คุณแอน ที่บ้านค่ะ แล้วก็ไปสำนักปฏิบัติเดือนละสองสามครั้ง อยู่บ้าน ทำทุกวัน
ผศ.อรรณพ ทำอย่างไรครับ? ที่ไปสำนักนี่เดือนละสองสามครั้ง แล้วก็ทำที่บ้านทุกวัน ทำอย่างไรครับ?
คุณโรดริโก้ ขยันมากใช่ไหมครับ (หัวเราะกันครืน!!)
ผศ.อรรณพ ขยันมาก เดี๋ยวของคุณโรดริโก้ยิ่งกว่านี้ คุณแอนครับ แล้วทำอย่างไรครับ
คุณแอน นั่งค่ะ
ผศ.อรรณพ นั่งแล้วทำอย่างไรครับ?
ท่านอาจารย์ ค่ะ เดี๋ยวคงได้ฟังวิธีแปลกๆ ของแต่ละท่าน ตอนนี้ขอทราบแต่ละคนก่อน ดีไหมคะ
ผศ.อรรณพ เบื้องต้นก่อน ท่านผู้ชมไม่ทราบว่าจะเดาได้ไหม ถ้าเรามองเห็นชาวต่างประเทศอย่างคุณโจนาธาน เป็นชาวอะไร? คุณโจนาธานเป็นชาวอะไรครับ
คุณโจนาธาน ออสเตรเลียครับ
ผศ.อรรณพ ทำไมถึงสนใจพุทธศาสนา
คุณโจนาธาน สนใจเพราะว่า ตอนนั้นพบคนที่เคยศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ที่กรุงเทพฯ คนนี้แนะนำว่า ถ้าไปเที่ยวเมืองไทย น่าจะไปหาอาจารย์สุจินต์ แล้วก็สนทนากับเขา
ผศ.อรรณพ ท่าน (ที่แนะนำ) เป็นชาวอะไรครับ
คุณโจนาธาน เป็นชาวออสเตรเลีย แต่บวชเป็นพระที่กรุงเทพฯ
ท่านอาจารย์ พระอลัน (Alan Driver) ใช่ไหมคะ
คุณโจนาธาน ใช่ครับ พระอลัน พบเขาที่เมืองอินโดนีเซีย ตอนนั้นที่พบคนนี้ ผมไม่เคยสนใจธรรมะ ไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนาอะไรเลย แต่เขามีหนังสือให้อ่าน ประมาณหนึ่งหรือสองปี หลังจากที่พบคนนี้ มีโอกาสที่จะไปกรุงเทพฯ ก็ไปวัดบวรนิเวศฯ วันพุธตอนที่ได้ไปสนทนาธรรมกับชาวฝรั่งเป็นภาษาอังกฤษ
ท่านอาจารย์ คุณอรรณพจำได้ไหม ที่ดิฉันเคยเล่าให้ฟังว่า มีชาวต่างประเทศที่มาเมืองไทย แล้วก็ลืมพาสปอร์ตหรือหาพาสปอร์ตไม่เจอ
ผศ.อรรณพ ก็คือคุณโจนาธานนี่เอง ช่วยเล่าหน่อยครับ ว่าลืมพาสปอร์ตแล้วทำให้ได้รับสิ่งที่มีค่าอย่างไร
คุณโจนาธาน อ๋อ ใช่ครับ (หัวเราะ) ตอนที่เข้ามาเมืองไทย พักอยู่ที่หาดใหญ่คืนหนึ่ง แล้วก็หาพาสปอร์ตไม่เจอ พอมาถึงกรุงเทพฯ ต้องไปสถานฑูตออสเตรเลียทำพาสปอร์ตใหม่ ต้องรอประมาณสองเดือน ถึงจะได้พาสปอร์ตใหม่ ในช่วงนั้น (ต้องใช้เวลา) สองเดือน ไปฟังท่านอาจารย์สุจินต์ที่วัดบวรฯ เป็นภาษาอังกฤษวันพุธ ตอนนั้นอายุ ๒๘ ปี ตอนนั้นรู้สึกว่าอยู่กรุงเทพฯ ลำบาก เพราะว่านั่งรถเมล์ไปไกล นั่งรถเมล์นาน ถึงจะไปที่วัดบวรฯ ไม่น่าอยู่ (หัวเราะ) แต่ต้องรอสองเดือน ถึงสองเดือนเสร็จก็สนใจธรรมะ อยากจะอยู่ต่อ
ผศ.อรรณพ อยากจะอยู่ต่อเมื่อได้ไปร่วมสนทนาที่วัดบวรฯ
ท่านอาจารย์ แต่หลังจากนั้นแค่ ๗ วัน คุณโจนาธานก็พบพาสปอร์ตในกระเป๋าใช่ไหม
คุณโจนาธาน ตอนนั้นประมาณสองหรือสามเดือน หลังจากที่มาเมืองไทย กำลังเตรียมของที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วก็เจอพาสปอร์ตอยู่ในกระเป๋าที่คิดว่าหาย (หัวเราะ)
ท่านอาจารย์ เหตุที่จะให้ได้ฟังพระธรรม
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ตรงนี้ก็คือว่าแปลกมากที่แต่ละคนจะได้มีจุดเริ่มในการที่จะได้เข้าใจธรรมะ ต่างๆ กัน อย่างคุณโจนาธาน ก่อนที่พาสปอร์ตจะหายก็ยังไม่ได้สนในมาก ใช่ไหมครับ
คุณโจนาธาน ครับใช่ครับ
ผศ.อรรณพ แต่เมื่อพาสปอร์ตหาย แล้วจำเป็นต้องรอพาสปอร์ตจากสถานฑูตออสเตรเลียก็เลยต้องอยู่ ในเมื่อต้องอยู่เมืองไทยอีกสองเดือนก็เลยไปฟัง ไปสนทนา ถ้าไม่ได้มีตรงนั้นก็คงจะไม่...
คุณโจนาธาน คงจะไม่สนใจเท่าที่สนใจ
ผศ.อรรณพ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ธรรมดา ธัมมตา ความเป็นไปของธัมมะที่ต้องเป็น ไม่เป็นไม่ได้
ผศ.อรรณพ แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ต่างกัน
ท่านอาจารย์ แต่คุณโจนาธานดีใจมากกว่าได้พาสปอร์ต ใช่ไหมคะ? แล้วยังอยากอยู่ต่อด้วย
คุณโจนาธาน ใช่ครับ
ผศ.อรรณพ ดีใจที่ได้รับความเข้าใจ เดี๋ยวคงต้องคุยต่อ แต่ว่ารอบแรกนี้ให้ครบก่อน ต่อไป คุณโรดริโก้ อัลดาน่า คนไทยจะทราบไหม ว่าเป็นชาติอะไร?
คุณโรดริโก้ เป็นคนเม็กซิโก แม็กซิกันครับ
ผศ.อรรณพ ถ้าไม่บอกก็อาจจะดูลำบาก
ท่านอาจารย์ ที่ว่าลำบากเพราะเหตุว่าไม่ค่อยจะมีใครที่เราคิดว่าจะสนใจธรรมะ ไม่มีสักคน เข้าว่าคุณโรตี ขอเรียกว่าคุณโรตีนะคะ เป็นชื่อที่เราเรียกกันเองเล่นๆ
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ทำไมคุณโรดริโก้นี่ ถูกเรียกว่าโรตีล่ะครับ
ท่านอาจารย์ เพราะว่ารับประทานโรตีอร่อย (หัวเราะกันสนุก) ชื่อของคุณก็เรียกยากด้วยสำหรับคนไทย ใช่ไหม ง่ายที่สุดก็คือคนไทยก็รู้จักโรตี แล้วก็ชอบทานโรตี แล้วโรตีก็อร่อย ก็พอดีมีชื่อคล้ายๆ กัน ก็โรตีดีกว่า
ผศ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ เราก็จะเรียกคุณโรดริโก้ง่ายหน่อยว่าคุณโรตี คุณโรตีรู้สึกอย่างไรครับ ที่พวกเราเรียกว่าโรตี
คุณโรตี อ๋อ ผมชอบ น่ารักดี
ผศ.อรรณพ คุณโรตีเล่าหน่อยว่า ทำไมถึงได้มาพบพระธรรม เป็นมาอย่างไร? เป็นเบื้องต้นก่อนครับ
คุณโรตี เมื่ออายุ ๑๙ ผมอ่านหนังสือนิกายเซน (Zen) พระพุทธศาสนาที่ญี่ปุ่น แล้วผมรู้สึกว่า สนใจมาก รู้สึกว่าเหมือนความคิดของผม แต่จริงๆ จำไม่ได้ว่าเพราะเหตุอะไรจึงสนใจ แต่จำได้ว่าสนใจมาก
ท่านอาจารย์ สนใจชื่อหรือว่าสนใจเรื่อง หรือสนใจอะไรคะ? ที่ว่าสนใจ
คุณโรตี สนใจเรื่อง แล้วไปอยู่ที่วัด วัดเซนที่อเมริกา ที่แคลิฟอร์เนีย เมื่ออายุ ๑๙ ไปอยู่สองปี แล้วจากอเมริกา ไปอยู่ญี่ปุ่นเมื่ออายุ ๒๑ แล้วจากญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทยเมื่ออายุ ๒๑ เหมือนกัน แล้วบวชพระ ๒ ปี
ผศ.อรรณพ บวชพระด้วย
ท่านอาจารย์ ที่กรุงเทพหรือเปล่าคะ?
คุณโรตี มาบวชที่เมืองไทย ๒ ปี
ท่านอาจารย์ ตอนนั้น บวชเลย ไม่เข้าใจอะไรหรือว่าปฏิบัติธรรมะอย่างไรถึงได้บวช หรือมีใครชวนให้บวช
คุณโรตี ไม่มีใครชวน ผมอยากบวช จริงๆ ไม่รู้ทำไมอยากบวช จำไม่ได้
ท่านอาจารย์ โดยไม่เข้าใจธรรมะ แต่ก็อยากบวช บวชเลย ไม่เข้าใจธรรมะ
คุณโรตี ใช่ครับ (แต่) อาจจะเข้าใจ ว่าเข้าใจ (หัวเราะสนุกมาก ท่านอื่นๆ หัวเราะกันครืน)
ท่านอาจารย์ แล้วตัวเองก็คิดว่าเข้าใจ
คุณโรตี ก็อาจจะก็ได้ จำไม่ได้ครับ เพราะว่านานแล้ว
ท่านอาจารย์ ขอโทษนะคะ สองปีที่บวชนั้น ทำอะไรบ้าง ที่เป็นพระ
คุณโรตี ส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติครับ
ท่านอาจารย์ ทำอะไรคะ ปฏิบัติ?
คุณโรตี ยุบหนอ พองหนอ
ท่านอาจารย์ อ๋อ ยุบหนอ พองหนอ ไม่ใช่แค่กวาดวัดหรืออะไรใช่ไหม?
คุณโรตี ใช่ครับ กวาด (วัด) ด้วยครับ
ผศ.อรรณพ ทำนานไหมครับ พองยุบนี่ทำอยู่นานไหม?
คุณโรตี จำไม่ได้ ก็นานครับ
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมไม่บวชต่อไป ไม่อยู่ต่อไป
คุณโรตี เพราะว่า รู้สึกไม่สะดวก อยากกลับบ้าน (หัวเราะสนุกอีก)
ผศ.อรรณพ อยากกลับเม็กซิโก
คุณโรตี ครับ
ท่านอาจารย์ แล้วก็เลยไม่บวช สึก ไม่เป็นพระ
ผศ.อรรณพ แล้วอย่างไรครับ ถึงได้มาพบกับพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยาย
ท่านอาจารย์ คงอีกนาน เพราะว่า สึกแล้วกลับเม็กซิโกหรือว่าอย่างไร
คุณโรตี สึกแล้วก็กลับเม็กซิโกเมื่ออายุ ๒๓
ผศ.อรรณพ บวชอยู่สองปี แล้วก็สึก ลาสิกขาบท แล้วก็ไปไหนต่อครับ
คุณโรตี แล้วก็ยังปฏิบัติต่อ มาเมืองไทยบ่อย มาปฏิบัติ แล้วไปพม่าด้วย
ท่านอาจารย์ ที่เม็กซิโก ปฏิบัติหรือเปล่าคะ?
คุณโรตี ใช่ครับ เป็นบางครั้ง ไม่ขยันเหมือนคุณแอน (หัวเราะสนุกอีกแล้ว)
คุณแอน แอนทำทุกวันตอนเช้า ไม่ถึงชั่วโมงค่ะ ไม่ทำตลอดวัน (หัวเราะ)
ผศ.อรรณพ ไปๆ มาๆ เมืองไทย แล้วก็ไปพม่า
คุณโรตี ไปพม่า ครั้งหนึ่ง ไปพม่าอยู่ ๑ ปี ปฏิบัติตลอด
ผศ.อรรณพ แนวเดิมตลอดเลยใช่ไหม
คุณโรตี ใช่
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมคิดว่าต้องไปปฏิบัติที่พม่า จะดีกว่า หรือว่าพองยุบที่ไหนก็ได้ เหมือนกันหมด
คุณโรตี ผมเข้าใจว่าที่พม่าดีกว่า
ผศ.อรรณพ เขาเป็นต้นตอ (หัวเราะ) แล้วอย่างไรต่อครับ ไปปฏิบัติพองยุบที่พม่าหนึ่งปี แล้วอย่างไร
คุณโรตี เครียดมาก เครียดทั้งตัว และจิตใจด้วย
ผศ.อรรณพ อ๋อ เหมือนๆ กับที่คุยกับพี่แอ๋ว (อดีตแม่ชีแอ๋ว คุณธวัลรัตน์ อุดมรัชเสฏฐ์) คล้ายๆ กันนะครับ เครียดที่ไปทำ (คลิกอ่านและชม : สนทนาปัญหาสารพัน : อดีตแม่ชีวิปัสสนาจารย์เผยวิกฤตการณ์ชาวพุทธ)
คุณโรตี ใช่ครับ เครียด
ผศ.อรรณพ แล้วอย่างไรต่อครับ พอเครียดแล้วเลิกไหม?
คุณโรตี ใช่ กลับบ้านอีก กลับไปให้หายเครียด กลับไปผ่อนคลายที่บ้าน (หัวเราะสนุกอีกตามเคย)
ผศ.อรรณพ แล้วก็มาเครียดที่เมืองไทยบ้าง พม่าบ้าง
คุณโรตี มาเครียดใหม่ (หัวเราะ)
ท่านอาจารย์ มาเครียด แล้วก็ไม่เครียด แล้วก็กลับมาเครียด ไม่เครียดก็ดีแล้ว แล้วทำไมมาเครียดต่อล่ะคะ?
คุณโรตี เพราะว่า โง่มากครับ
ท่านอาจารย์ อ๋อ โง่มาก
คุณโรตี ครับผม
ผศ.อรรณพ เพราะว่า คิดว่า จะมามุ่งมั่น มาปฏิบัติ พอเครียดมากก็กลับไปอีก
คุณโรตี เข้าใจว่าผ่อนคลายก็ไม่ดี ต้องเครียด ก็เพื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น (หัวเราะขบขัน)
ท่านอาจารย์ ชีวิตธรรมดาปกติผ่อนคลายไม่ดี ต้องมาเครียดถึงจะดี?
ผศ.อรรณพ เราคุยกันแบบดูธรรมดาอย่างนี้ แต่ก็ยังนึกถึงพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า คือหนทางที่เป็นความเพียรเพื่อทำให้ตนเองให้ลำบาก ครับท่านอาจารย์ แล้วก็ ถ้าเป็นผู้สอน ก็สอนให้คนอื่นมาทำอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสสรรเสริญความเพียรหรือว่าตบะทั้งหมด แล้วก็ไม่ได้ตรัสติเตียนตบะทั้งหมด ท่านอาจารย์จะให้ความเข้าใจตรงนี้สักนิดไหมครับ เพราะว่าโดนใจอย่างที่คุณโรตีพูด
ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง และเวลาที่ "เราจะรู้ความจริงได้" ขณะนั้นก็ "ต้องฟังคำที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน" คือ "คำที่พูดให้เข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ตามปรกติ" ไม่เครียด แน่นอน!! ใช่ไหม? ก็เหมือนอย่างนี้ เราจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่เรื่องนั้นไม่ได้ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกับคำสอนอื่น คำสอนอื่นทั้งหมดที่ไม่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่นจากความไม่รู้ "จึงเบิกบาน" ไม่ใช่เครียด!!
ผศ.อรรณพ เมื่อกี้ก็ได้คำตอบจากคุณโรตีนะครับท่านอาจารย์ ว่า มาเครียดเมืองไทย บ่อยๆ แล้วก็ไปเครียดที่พม่าอีกปีหนึ่ง แล้วก็กลับไปคลายเครียดที่บ้านเกิด เม็กซิโก แล้วก็มาอยู่เรื่อยๆ แล้วทำไมคนถึงชอบไปทำให้เกิดความเครียด คิดว่าพุทธศาสนาต้องเป็นเรื่องเครียดๆ ครับ
คุณโรตี เข้าใจว่า "ต้องทำ" ต้องขยัน
ผศ.อรรณพ ก็เป็นความเพียร เป็นการไปมุ่งมั่นทำอะไรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญ
ท่านอาจารย์ เลยเครียด จากความเป็นปกติที่ไม่เครียด ไปขยันจนเครียด
ผศ.อรรณพ แล้วอย่างไรต่อครับ ของคุณโรตีนี่น่าติดตาม จากที่มาเครียดเมืองไทยบ้าง มาเครียดที่พม่าบ้าง ต้นตอคำสอน แล้วก็ไปคลายเครียดที่เม็กซิโก แล้วต่อไปเป็นอย่างไร?
คุณโรตี แล้วประมาณ ๑๕ ปี ที่แล้ว ผมอ่านหนังสือภาษาอังกฤษของท่านอาจารย์สุจินต์
ผศ.อรรณพ ไปเจอได้อย่างไร?
คุณโรตี มีเพื่อนให้ เพื่อนเป็นคนไทย เขาให้ (เพราะว่าหนังสือเล่มนี้) เป็นภาษาอังกฤษ ตอนนั้นผมพูดภาษาไทยยังไม่เก่ง ยังไม่เท่าไหร่
ผศ.อรรณพ ก็เลยได้รับหนังสือ เป็นหนังสืออะไรครับ?
คุณโรตี Abhidhamma in Daily Life (พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน)
ผศ.อรรณพ อ๋อ ของคุณนีน่า [Nina Van Gorkom]
คุณโรตี ครับ ผมชอบมาก แล้ว ผมมาพบท่านอาจารย์ครั้งหนึ่ง ประมาณ ๑๕ ปีที่แล้ว แต่ผมเข้าใจว่า อาจารย์ไม่ชอบทุกข์ ตอนนั้นผมเข้าใจว่าอาจารย์ไม่ชอบทุกข์ เพราะเหตุนั้น อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะว่าไม่ชอบทุกข์ (ทุกคนหัวเราะชอบใจกันสนุก)
ผศ.อรรณพ อ๋อ หมายความว่าไม่ชอบเครียด ไม่ชอบทุกข์ สบายๆ
คุณโรตี อาจารย์ปฏิเสธความทุกข์
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ก็แบบสบายๆ มีชวิตอยู่แบบเป็นปกติอะไรอย่างนี้ ก็เลยไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เมื่อมาเจอตัวจริง
ท่านอาจารย์ ดิฉันก็เลยถามคุณโรตีว่า แล้วคุณโรตีชอบทุกข์ไหม? ก็เหมือนกัน ใช่ไหม? ไม่มีใครชอบทุกข์
ผศ.อรรณพ เพราะว่า คุณโรตีเคยคิดว่าพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่จะต้องไปทุกข์ๆ ยากๆ เครียดๆ
คุณโรตี ใช่ครับ ต้องอยู่กับทุกข์ ไม่ต้องปฏิเสธทุกข์ ถ้าเข้าใจทุกข์ก็ต้องทุกข์ (คุณโรตีหัวเราะขำตัวเอง) ทุกคนหัวเราะสนุกมาก
ผศ.อรรณพ ได้อ่านหนังสือพระอภิธรรมในชีวิตประจำวันของคุณนีน่า รู้สึกสนใจ จนกระทั่งมาพบท่านอาจารย์ แต่เมื่อเห็นท่านอาจารย์แล้วก็ดูว่าอาจารย์คนนี้ไม่ค่อยทุกข์
คุณโรตี แล้วไม่มาพบอีก ไม่มาอีกหลายปี สิบปีไม่ได้มา อ่านหนังสืออย่างเดียว แต่เข้าใจว่าหนังสือก็เกี่ยวกับปริยัติเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความเข้าใจจริงๆ ไม่เกี่ยวกับปฏิบัติ เพราะว่า ถ้าปฏิบัติก็ต้องเครียด (หัวเราะสนุกอีกแล้ว 555 เป็นเทปที่สนุกและเป็นประโยชน์มาก)
ผศ.อรรณพ ณ ตอนนั้นก็คิดว่าการปฏิบัติคือต้องเครียด พอเครียดมากๆ ก็ไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวก็กลับไปคลายเครียด
คุณโรตี (เพราะคิดว่า) ถ้าเครียดมากก็ดีกว่า ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ พบทุกข์ไงคะ เป็นทุกข์ด้วย
คุณโรตี เป็นทุกข์ ใช่ครับ
ผศ.อรรณพ แล้วก็มาเจอท่านอาจารย์ อาจารย์คนนี้ไม่ชอบทุกข์ ก็เลยรู้สึกว่าไม่น่าจะจริงจัง
คุณโรตี อ่านหนังสือก็ได้
ท่านอาจารย์ เรียกว่าไม่ชอบเลยก็ได้ ก็ไม่ชอบทุกข์ไงคะ
คุณโรตี ไม่ชอบเลยก็ได้ อ๋อ ใช่ครับ
ผศ.อรรณพ พอมาพบท่านอาจารย์ เห็นท่านปกติอย่างนี้ ก็เลยรู้สึกว่า อาจารย์คนนี้ไม่ค่อยปฏิบัติ ใช่ไหม? ไม่ค่อยเน้นปฏิบัติ
คุณโรตี ใช่
ท่านอาจารย์ หรืออาจจะคิดว่าไม่ปฏิบัติเลยก็ได้
คุณโรตี ใช่ครับ ผมรู้สึกว่าท่านอาจารย์อยู่สบายๆ ชอบความสุข
ท่านอาจารย์ (หัวเราะด้วยเสียงที่เปี่ยมเมตตามาก)
ผศ.อรรณพ ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะใช่แล้ว เพราะปฏิบัตินี่ต้องทุกข์ แล้วอย่างไรต่อครับ คุณโรตีนี่ผ่านมาเยอะ ไม่มาอีกสิบปีใช่ไหม?
คุณโรตี ประมาณสิบปี เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ผมฟังท่านอาจารย์ในเฟซบุ๊ค ผมอยู่เม็กซิโกตอนนั้น ผมฟังเรื่อยๆ แล้วผมเข้าใจว่ามีอะไรที่น่าสนใจมาก ตอนนั้นก็เลิกปฏิบัติ เพราะรู้สึกว่าจริงๆ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้อะไรเลย เมื่อเลิกแล้ว ผมฟังท่านอาจารย์ในเฟซบุ๊ค แล้วผมรู้สึกว่าท่านอาจารย์มีความเข้าใจคล้ายๆ ผม ที่เกี่ยวกับทำ (ปฏิบัติ) ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าเกี่ยวกับ "อยากได้อะไร"
ผศ.อรรณพ ทำเพราะอยาก
คุณโรตี จริงๆ ตอนนี้ ผมเข้าใจว่า ปฏิบัติ ที่เคยทำ ไม่ใช่ "เจริญปัญญา" (แต่) เกี่ยวกับ "เจริญความอยาก"
.........
ติดตามชมและฟังการสนทนาที่มีเรื่องราวและความเป็นมาที่สนุกและน่าสนใจอย่างยิ่งของการได้พบและศึกษาพระธรรมของท่านทั้ง ๓ ได้ โดยคลิกที่ลิงค์ด้านล่าง...
.........
ท่านที่สนใจฟังเสียงการสนทนาภาคภาษาอังกฤษที่คุณซาราห์และคุณโจนาธาน บันทึกและนำลงเวปไซต์ไว้ สามารถติดตามฟังโดยคลิกที่นี่....
- Discussions with Acharn Sujin
.........
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง โปรดคลิกที่นี่...
- คุณอลัน ไดร์เวอร์ [Alan Driver]
- คุณซาราห์ แอบบ๊อท (Sarah Abbott)
- คุณแอนน์ มาแชล และคุณไพน่า [Mrs. Ann Marshall & Ms. Pinna Indorf]
- สัมภาษณ์คุณโรเบิร์ต (Robert Kirkpatrick)
- ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษที่แก่งกระจาน [ตอน ๑]
- ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษที่แก่งกระจาน [ตอน ๒]
- คุณอีฟ [Ms. Eve.]
- สัมภาษณ์คุณสุขิน นฤหล้า (Sukin Narula)
- คุณ Tam Bach (อาจารย์สุจินต์เวียดนาม)
- คุณ Azita Gill
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ [รวมลิงค์ ๘ กระทู้]