พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ ว่าพระภิกษุ ห้ามแตะต้องเงินทองนั้นจะเป็นอาบัติ

 
Patthana2524
วันที่  3 พ.ค. 2563
หมายเลข  31827
อ่าน  703

พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ ว่าพระภิกษุ ห้ามแตะต้องเงินทองนั้นจะเป็นอาบัติ ก็เลย คิดอยากจะถามว่า ถ้าพระวินัยออกมาแบบนี้ แล้ว เหล่าพุทธศาสนิกชน ทำไมยังคิดที่ ถวายเงินพระภิกษุอยู่อีก เช่น นิมนต์ไปทำบุญบ้าน และ ก็นำเงินใส่ซองถวาย ครับ และ บางที่ เช่น คนขับรถแท๊กซี่ , โรงพยาบาลเอกชน , สถานีรถไฟฟ้า อย่างนี้เป็นต้น ทำไมต้องเก็บเงิน พระภิกษุสงฆ์ด้วย หรือ เพื่อจะให้ พระภิกษุสงฆ์ อาบัติหรือไง ครับ ขอถามผู้รู้หน่อย ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่คฤหัสถ์ยังเก็บเงินและพระภิกษุมักเดินทางไปที่ต่างๆ ลืมว่าตัวเองบวชเพราะอะไร ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ต่างก็ไม่ศึกษาพระธรมวินัยและความไม่รู้ อวิชชานั่นเป็นเหตุ ครับ

เข้าใจผิด

๕.ค่าหมอ ค่ายาไม่ฟรี เดินทางไปหาหมอ ก็ไม่ฟรี จำเป็นที่ยุคสมัยนี้ต้องใช้เงิน และ พระต้องรับเงิน

เข้าใจถูก

๕.ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าทำวิธีการที่ถูกต้อง คือ พระไม่รับเงิน แต่ ฆราวาสให้เงินกับคฤหัสถ์ผู้เป็นไวยาวัจกรของวัดโดยตรงดูแล ที่เป็นคนดี มีคุณธรรม และ เมื่อพระต้องการยา การเดินทางไปหาหมอ การเดินทาง ไวยาวัจกรนั้นก็จัดสิ่งที่เหมาะสม สมควรให้กับภิกษุนั้นได้ อันทำให้พระไม่ต้องอาบัติรับเงินทอง ยินดีในเงินทอง เพราะมีเงินส่วนกลางของวัดในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องค่ายา ค่าอื่นๆ ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย อันเป็นสิ่งของที่เป็นกัปปิยะ เหมาะสมกับพระภิกษุ ก็สามารถแจ้งไวยาวัจกรวัดได้ในการจัดหา และในสมัยพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายก็ดูแลกันเอง มียาตามสมัย ที่เป็นเภสัช มี น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ยาดองมูตรเน่า เป็นต้น และแม้ปัจจุบัน จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็สามารถใช้วิธีการให้คฤหัสถ์ดูแลได้ในเรื่องยาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสงฆ์ก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย และ หากเป็นภิกษุที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ก็ย่อมจะเป็นผู้มีโยมอุปัฏฐาก ที่ปวารณาช่วยเหลือในสิ่งที่เหมาะสม


เข้าใจผิด

๘.ภิกษุต้องเดินทางไปไหน มาไหน ค่ารถไม่ฟรี จึงต้องรับเงิน และคฤหัสถ์จึงต้องให้เงินพระ

เข้าใจถูก

๘.ภิกษุในธรรมวินัย คือ เป็นผู้เบา มีกิจน้อย ไม่เป็นผู้เดินทางบ่อย หากมีผู้นิมนต์ไปฉันที่บ้านหรือ แสดงธรรมที่บ้าน ภิกษุผู้ฉลาด ประพฤติตามพระวินัย สามารถแจ้งกับคฤหัสถ์ได้ว่าควรกระทำสิ่งใด ไม่ให้ภิกษุออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ควรมารับ มาส่ง อันไม่เกี่ยวข้องกับเงินและทอง เป็นต้น และพระภิกษุที่ดี หากพิจาณาว่าต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง ไม่สะดวกในการเดินทาง ท่านก็แจ้งกับคฤหัสถ์ไปในเรื่องนั้น ว่าไม่สะดวกโดยประการใด อันเป็นการเคารพพระวินัย ทำตามพระวินัยบัญญัติ และ พระภิกษุไม่มีหน้าที่เรียนหนังสือทางโลก จึงไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สอนหนังสือทางโลก เป็นต้น

และตามที่กล่าวแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าทำวิธีการที่ถูกต้อง คือ พระไม่รับเงิน แต่ ฆราวาสให้เงินกับคฤหัสถ์ผู้เป็นไวยาวัจกรของวัดโดยตรงดูแล ที่เป็นคนดี มีคุณธรรม และ เมื่อพระภิกษุต้องการเดินทางในการประกอบกิจของสงฆ์ คฤหัสถ์ที่เป็นไวยาวัจกรก็สามารถเป็นผู้ดูแล ในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยที่พระไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง อันทำให้พระไม่ต้องอาบัติรับเงินทอง ยินดีในเงินทอง เพราะมีเงินส่วนกลางของวัดในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องค่าเดินทาง ค่ายา ค่าอื่นๆ ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

เชิญคลิกอ่านเรื่อง พระภิกษุกับเงิน ความเข้าใจผิดของสังคมและที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ได้ที่ลิงก์นี้ ครับ

พระภิกษุกับเงิน ความเข้าใจผิดของสังคมและที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

* บวช สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศที่สูงยิ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส หรือ เพื่อรับเงินทองซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลส?

* บวช สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศที่สูงยิ่งแล้วจะมีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ได้หรือ?

* บวช สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศที่สูงยิ่ง เพื่อประพฤติตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ทรงประทานให้บวช พระองค์ไม่ทรงรับเงินทอง แล้วผู้บวชตามพระองค์จะรับเงินทองได้หรือ? เคารพพระองค์หรือ?

* คฤหัสถ์มีเงินทอง ใช้จ่ายเงินทอง กับ ภิกษุมีเงินทอง ใช้จ่ายเงินทอง แล้วจะมีความแตกต่างกันอย่างไร ระหว่าง ๒ เพศ คือ เพศคฤหัสถ์ กับ เพศบรรพชิต?

----------------------

เงินและทองไม่ควรแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง เพราะเงินและทองนำมาซึ่งรูป เสียง กลิ่น รสและสิ่งที่กระทบสัมผัสกายอันเป็นชีวิตของคฤหัสถ์ ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวเลยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มณิจูฬกสูตร ดังนี้

“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตร ย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตร พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายอะไรเลย”

ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่รับเงินและทอง ไม่ยินดีในเงินและทอง ไม่มีเงินและทอง มีเพียงบริขารเครื่องใช้ที่เหมาะควรแก่บรรพชิต และอาศัยปัจจัย (สิ่งที่เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นไปได้) ๔ ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ในการที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส เท่านั้น ได้แก่ จีวรเครื่องนุ่งห่ม อาหารบิณฑบาตที่ได้มาจากศรัทธาของชาวบ้าน ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเมื่อเจ็บป่วย

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีทางที่จะเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงได้ ความไม่รู้ก็มีมากเพราะสะสมมามากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมก็ยิ่งจะสะสมพอกพูนความไม่รู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ก็ทำในสิ่งที่ผิด ยิ่งถ้าเป็นภิกษุก็ประพฤติผิดพระวินัย ล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ เห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระธรรมวินัย ทำทางให้ตนเองไปเกิดในอบายภูมิ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง คฤหัสถ์ที่ไม่เข้าใจพระธรรมก็ทำในสิ่งที่ผิด ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ อันเนื่องมาจากความไม่รู้และการกระทำต่างๆ ที่มีต่อภิกษุก็เป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้ภิกษุต้อง อาบัติ เป็นประหนึ่งผลักภิกษุให้ไปเกิดในอบายภูมิ อย่างเช่น กรณีคฤหัสถ์ถวายเงินแก่ภิกษุ ผู้ไม่รู้ ก็ดูเหมือนว่าคฤหัสถ์จะเป็นผู้ที่หวังดีให้ความสะดวกสบายแก่ภิกษุ แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้หวังดี ไม่ได้ให้ความสะดวกสบายแก่ภิกษุเลย แต่เป็นความหวังร้าย สร้างความเดือดร้อนให้กับภิกษุ ทำให้ภิกษุลำบาก เพราะเหตุว่าเป็นให้ภิกษุล่วงละเมิดพระวินัย เป็นผู้มีอาบัติติดตัว เมื่อภิกษุ ไม่เห็นโทษไม่แก้ไข ไม่กระทำคืนให้ถูกต้องด้วยการปลงอาบัติที่จะสำรวมระวังไม่กระทำอย่างนั้นอีก หากมรณภาพไปในขณะที่เป็นภิกษุ ก็ไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น เพราะความเป็นสมณะถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะฉุดคร่าไปสู่อบายภูมิ มีนรก เป็นต้น เท่านั้น ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ตายนสูตร ดังนี้

“หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ความเป็นสมณะ
อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น”

ดังนั้น คฤหัสถ์ผู้ฉลาดในพระธรรมวินัยจะไม่ถวายเงินทองแก่ภิกษุ แต่จะถวายเฉพาะสิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เท่านั้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Selaruck
วันที่ 3 พ.ค. 2563

กราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นและอาจารย์ผเดิมยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ