ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๕๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๕๘ * *
~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูก ความรู้ถูก ความเข้าใจความจริง โดยการที่ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น สำหรับพระพุทธศาสนา ขาดปัญญาไม่ได้เลย เพราะไม่มีปัญญาเมื่อไหร่ ไม่รู้เมื่อนั้น เป็นอวิชชาเมื่อนั้น หลงทางเมื่อนั้น เข้าใจผิดเมื่อนั้น
~ กว่าจะเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็จะต้องอบรมความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าจะเห็นผิดต่อไปทำไมอีกเล่า มีโอกาสเห็นถูกก็ควรจะเห็นถูกเพิ่มขึ้น เป็นการอบรมด้วยความมั่นคง
~ เวลาที่ฟังคำว่า ละชั่ว ไม่ได้หมายความว่าให้ไปละแล้วทำได้ แต่ต้องเป็นการเข้าใจถูกเห็นถูกว่า อะไรชั่ว ชั่วจริงหรือเปล่า ดีต่างกับชั่วอย่างไร ขณะที่รู้อย่างนั้น ไม่ใช่เราเลย แต่เป็นปัญญาซึ่งทำหน้าที่ละความไม่รู้ในขณะนั้นเอง
~ อกุศลเป็นธรรมที่เป็นโทษ แม้เมื่อเกิดขึ้นยังไม่ทำอะไรเลยก็เป็นธรรมฝ่ายชั่ว นำมาซึ่งกาย วาจา (ที่ไม่ดี) ต่อๆ ไป ซึ่งความชั่วก็เพิ่มขึ้นอีก
~ ชีวิตตามความเป็นจริงตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรม (สิ่งที่มีจริง) ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย ขณะนี้ เป็นธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกและอรรถกถา พูดเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้
~ จะไปสนใจความไม่ดีของคนอื่นทำไม ประโยชน์อยู่ตรงไหน เสียเวลาหรือเปล่า แต่การเป็นคนดี ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราก็มีเมตตาและอบรมจิตใจให้มั่นคงในฝ่ายกุศล วันหนึ่งจะเป็นผู้ชนะ (กิเลสของตนเอง) จริงๆ และสบายใจด้วย
~ (กิเลส) มากมายก่ายกอง กำลังฟังธรรมก็ยังมีอกุศลจิตเกิดได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องกล่าวถึงเวลาที่ไม่ฟัง ให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่ความเข้าใจธรรม ไม่สามารถที่จะละกิเลสใดๆ ได้เลย เป็นไปตามกิเลสซึ่งมีกำลังเพิ่มขึ้นด้วย
~ ไม่ว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่า พระสาวกทั้งหลาย เพราะเห็นประโยชน์ของผู้ที่มีโอกาสจะรู้ความจริง จึงได้กล่าวคำจริง
~ ความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก ตราบใดที่เขายังไม่ได้ฟังความเห็นถูก ไม่ได้ฟังคำจริง เมื่อนั้น เขาก็หลงผิด
~ คนที่ถูกโกรธสบายมาก ไม่เดือดร้อนเลย คนโกรธ เสีย ตลอด เพราะเหตุว่า อกุศลเกิดขึ้น ทำร้าย อกุศลทำร้ายจิตในขณะนั้นเองและยังจะทำร้ายคนอื่นต่อไปอีก เพราะมีความรุนแรงขึ้นแล้วอกุศลนั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในจิตของคนนั้นแหละ ไม่ไปอยู่ที่จิตของคนอื่นเลย
~ คนที่มีโทสะ เดือดร้อน คนที่ไม่มีโทสะ ไม่เดือดร้อนเลย และเมื่อมีความเดือดร้อนแล้ว ใจร้อนมากเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ไม่สมควร ผิดปกติทางกาย ทางวาจา นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้คนอื่นด้วย
~ เวลาที่ไม่รู้ ก็คิดว่า เป็นคนอื่นที่ทำร้ายเรา ทำให้เราเสียใจ ทำให้เราผิดหวัง ทำให้เราโกรธ ที่ไม่เป็นไปอย่างใจหวัง แต่ความจริง ไม่มีใครทำร้ายใจใครได้เลย นอกจากกิเลสที่อยู่ในใจของคนนั้นเท่านั้นที่ทำร้ายคนนั้น เวลาที่กิเลสเกิด ทำร้ายทันทีทุกขณะ
~ ทรัพย์สินเงินทอง จากไปได้เร็วมาก ไฟไหม้ น้ำท่วม ถูกโจรลักขโมยไป อะไรได้หมด แต่ว่า ความเห็นถูกหรือความเข้าใจถูก อยู่ในจิตสะสมอยู่ในจิตแล้วก็จะติดตามไปเพิ่มพูนขึ้น
~ ความหวังดี เป็นความหวังดี ขณะที่หวังดี ไม่เดือดร้อน แต่ขณะที่ (บุคคลอื่น) ไม่เป็นไปตามที่หวังดี ก็ต้องไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่า รู้ว่า ธรรม เป็น ธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น
~ พบกัน เป็นมิตรที่หวังดีจริงๆ ไม่หวังร้ายเลย ไม่ว่าในเรื่องใดทั้งสิ้น เพราะว่า แล้วก็จากกัน เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย แต่ละภพแต่ละชาติ
~ ทุกคนอยากดี แล้วอย่างไรถึงจะดีได้ ไม่สามารถที่จะดีได้อย่างที่อยาก ถ้าไม่มีปัญญา แต่ถ้ามีปัญญาความเห็นถูกต้อง สิ่งใดเป็นโทษ ปัญญาละ สิ่งใดเป็นประโยชน์ ปัญญาก็อบรมเจริญ กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
~ เมื่อมีโลภะ (ความติดข้อง) สะสมโลภะมากขึ้น ก็มีการแสวงหามีการขวนขวายกระทำทุกอย่างเพื่อตนเอง เมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการก็จะเกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจ และสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมทุกอย่างได้
~ ไม่เป็นสุขในขณะที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ความต้องการ ก็ทำให้เราเดือดร้อน อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ขวนขวายจนกว่าจะได้ ได้มาแล้วก็เก็บรักษาไว้ ไม่ให้พลัดพราก แตกทำลายไป พอเป็นอย่างอื่นก็เกิดความเศร้าโศก
~ อกุศลทั้งหลายมาจากความไม่รู้ แต่กุศลทั้งหลายจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีความรู้ถูกต้องขึ้น เมื่อมีความรู้เพิ่มขึ้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็จะนำไปสู่หนทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น พ้นจากความทุกข์ได้ในวันหนึ่ง
~ ศัตรู คือ อกุศลที่เกิดกับจิต ขณะนี้มีใครรู้จักศัตรูบ้างแล้ว หรือว่ารู้จักเพียงแต่ชื่อ แต่เวลาที่ศัตรูเกิดจริงๆ กำลังทำร้ายจริงๆ จิตขณะนั้น เสีย เป็นโรค เน่าจริงๆ ขณะนั้น ไม่รู้เลยว่า มีศัตรูแล้ว พระธรรมจะทำให้ทุกท่านรู้จักศัตรูของตนเองดีขึ้น
~ จะเป็นบุคคลนี้เพียงชั่วขณะที่ยังอยู่ในโลกนี้ จากไปก็ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าเคยเห็นอะไร เคยชอบอะไร เคยชังอะไร เคยดีชั่วอย่างไร เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรมก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้สามารถตั้งตนไว้ชอบ คือ เป็นผู้ตรง สำคัญที่สุดคือเป็นผู้ตรง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ถ้ามีปัญญาอย่างนี้เห็นโทษของอกุศลก็จะทำให้ตั้งมั่นในกุศลเพิ่มขึ้น
~ ทุกชีวิตที่เกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติไม่แน่นอนเลย มีการเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นช่วงเวลาของอกุศล ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้การสะสมของกุศลและอกุศลว่า ในกาลไหนจะเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก และในกาลไหนจะเป็นปัจจัยให้กุศลประเภทใดเกิดมาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรประมาทในการเจริญกุศล
~ ทุกชาติต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่มีใครพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น ในยามทุกข์ ใครสามารถจะช่วยคนอื่นให้คลายทุกข์ได้ นั่นก็ต้องเป็นปัญญา เพราะเหตุว่าอย่างอื่นย่อมไม่สามารถทำให้คลายทุกข์ได้
* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๕๗
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศลอาจารย์คำปั่นด้วยความเคารพค่ะ
การฟังพระธรรม เป็นมงคลที่สูงสุดต่อชีวิต ชำะจิตที่สกปรก และความไม่รู้ เห็นประโยชน์ของความรู้ เห็นโทษของกิเลส จึงฟังพระธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก ตราบใดที่เขายังไม่ได้ฟังความเห็นถูก ไม่ได้ฟังคำจริง เมื่อนั้น เขาก็หลงผิด
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูก ความรู้ถูก ความเข้าใจความจริง โดยการที่ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น สำหรับพระพุทธศาสนา ขาดปัญญาไม่ได้เลย เพราะไม่มีปัญญาเมื่อไหร่ ไม่รู้เมื่อนั้น เป็นอวิชชาเมื่อนั้น หลงทางเมื่อนั้น เข้าใจผิดเมื่อนั้น
กว่าจะเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็จะต้องอบรมความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าจะเห็นผิดต่อไปทำไมอีกเล่า มีโอกาสเห็นถูกก็ควรจะเห็นถูกเพิ่มขึ้น เป็นการอบรมด้วยความมั่นคง